Latest, จิตวิญญาณ (Spirituality)

หมอสันต์ตอบคำถามเด็กนักเรียนอายุ 12 ขวบ

กราบเรียนนายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์

ดิฉันชื่อดญ. … อายุ 12 ปี อยู่ชั้น ประถมศีกษาปีที่ 6 โรงเรียน … ดิฉันมีคำถามที่สงสัย ถามคุณครูที่โรงเรียนแล้วได้คำตอบที่ยังไม่เข้าใจ คุณครูบอกว่าหากอยากรู้มากกว่านี้ให้เขียนมาถามนายแพทย์สันต์ คำถามของดิฉันคือ ข้อ 1. คำว่าศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญานั้นหมายความว่าอย่างไร ข้อ 2. มรรค 8 ที่บอกให้ทำอาชีพชอบ ทำความเพียรชอบ หมายความว่าอย่างไร ทำอาชีพชอบหมายถึงอาชีพสุจริตไม่ค้าน้ำเมาไม่ค้าชีวิตเป็นต้นถูกหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งการมีความเพียรมันก็เป็นสิ่งที่ชอบหรือถูกต้องของมันอยู่แล้ว มีความเพียรแบบไม่ชอบด้วยหรือ ข้อ 3. มัชฌิมา ปฏิปทา หรือทางสายกลางนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าทำอะไรก็ตามเอาแค่กลางๆไม่ตึงไม่หย่อนเกินไปเหมือนดีดพิณสามสายเท่านั้นหรือ แปลว่าในชีวิตเราทำได้ทุกอย่างแต่อย่าทำมากไปหรือน้อยไปใช่หรือไม่ หรือมีอะไรมากกว่านี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

………………………………………………….

ตอบครับ

ผมเรียกคุณว่า “คุณ” ก็แล้วกันนะ แม้ว่าคุณจะมีอายุแค่ 12 ขวบปี สมัยลูกชายของผมเป็นเด็กอายุ 7 ขวบไปเข้าโรงเรียนสาธิต ม. เกษตร เวลาผมไปรับเขาที่โรงเรียนได้ยินแม่บ้านของโรงเรียนเรียกเขาว่า “คุณพอ” ผมรู้สึกว่าเป็นการเรียกเด็กที่ให้เกียรติแก่ศักยภาพของเด็กเป็นอย่างดียิ่ง ดังนั้นให้ผมเรียกคุณว่า “คุณ” ก็แล้วกัน และผมจะตอบคำถามนี้ด้วยความเคารพในศักยภาพของการเป็นคนเปิดกว้างอย่างไม่มีขีดจำกัดของคุณ

ก่อนตอบคำถามคุณต้องเข้าใจสภาพการณ์แวดล้อมของการตอบคำถามนี้ก่อนนะ ว่า

(1) คำถามของคุณถามถึงความหมายของคำสอนที่ใช้กันอยู่ในพุทธศาสนา แต่หมอสันต์ไม่ได้มีความรู้เรื่องรู้ราวในพระพุทธศาสนามากมายอะไร ไม่เคยศึกษาเล่าเรียนวิชาพุทธในสถาบันใดๆอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีปริญญาตรีโทเอกทางพุทธ หรือแม้แต่คุณวุฒินักธรรมตรีก็ไม่มี แค่จำขี้ปากจากการอ่านพระไตรปิฎกเหมือนที่เคยอ่านหนังสืออื่นๆมาบ้างเท่านั้นเอง คำตอบของผมจึงอาจไม่เข้าแก๊ป หรือไม่ลึกซึ้ง คุณต้องใช้วิจารณญาณ

(2) คำตอบของผมเป็นผลจากการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบเอาแต่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่การตีความไปตามนิรุกติศาสตร์หรือความหมายของศัพท์ในเชิงภาษา วิธีจับสาระของหนังสือพระไตรปิฎกนี้ผมจะมีวิธีของผมเองอยู่สามขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง เรื่องใดที่ไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้าผมตัดทิ้งเลย อย่างเช่นประมาณหนึ่งในสามของพระไตปิฎกเป็นอภิธรรมปิฎก ผมไม่เอาเลย ตัดทิ้งหมด ไม่ใช่ว่ารังเกียจอะไร แต่มันเยอะเกิน แค่ศึกษาเฉพาะที่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าก็แยะพอแล้ว

ขั้นตอนที่สอง ผมจะดูความเข้ากันได้กับเนื้อหาใหญ่ในภาพรวมก่อน เรื่องใดที่ไม่เข้ากับเนื้อหาใหญ่ในภาพรวมผมตัดทิ้งเลย เพราะพระไตรปิฎกเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วตั้ง 460 ปี จึงอาจมีความเพี้ยนได้มาก เรื่องเล็กๆใดๆที่ขัดกับสาระใหญ่ผมตัดทิ้งเลย

ขั้นตอนที่สาม ผมจะเทียบเคียงสาระของเรื่องกับการใช้ชีวิตส่วนตัวของพระพุทธเจ้า เรื่องใดหรือคำสอนใดที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริงๆของพระพุทธเจ้าผมตัดทิ้งไม่เอาเลยเช่นกัน เพราะพระพุทธเจ้าย่อมจะไม่สอนอย่างแต่ใช้ชีวิตอีกอย่าง ดังนั้น โดยวิธีกลั่นกรองสามขั้นตอนนี้ การมองของผมจึงอาจจะผิดแผกแตกต่างจากการมองของคนอื่นไปมาก คุณต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ถามว่าศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญาหมายความว่าอย่างไร ตอบว่าก่อนอื่นขอให้เข้าใจก่อนว่าคำในภาษาบาลีก็เหมือนภาษาอื่นๆ ที่บางครั้งคำเดียวมีหลายความหมาย คำว่า “ศีล” นี้ก็มีอย่างน้อยสองความหมาย

ความหมายที่ 1. หมายถึงคอก หรือวินัย หรือข้อปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นวินัยตนเอง หรือวินัยสังคม เช่นศีล 5 เป็นต้น

ความหมายที่ 2. หมายถึงความปกติของใจ ใจที่ปกติก็คือใจที่ไม่มีความคิด มีแต่ความรู้ตัว ซึ่งมันจะโล่งๆเบาๆสบายๆอยู่ นี่เรียกว่าใจที่ปกติ

คำว่าศีลอบรมสมาธิ หมายถึงศีลในความหมายที่เป็นความปกติของใจ หมายความว่าใจที่ปลอดความคิด จะเป็นพื้นฐานบ่มให้เกิดสมาธิ สมาธิหมายถึงการที่ใจหรือความรู้ตัวของเราตั้งมั่นโด่เด่อยู่ได้อย่างเดียวดายได้นานๆโดยไม่มีความคิดมาแทรกแซงยุ่งเกี่ยว

ส่วนคำว่าสมาธิอบรมปัญญาหมายความว่าเมื่อใจเป็นสมาธิดีถึงระดับหนึ่ง มันจะเกิดพลังงานขึ้น พลังงานนั้นจะพาใจเจาะทะลุทะลวงไปให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นจริงๆโดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือภาษา เรียกว่าเกิดปัญญาญาณ หรือเกิดญาณทัศนะก็ได้ คล้ายกับการเกิดปิ๊งแว้บไอเดียอะไรใหม่ๆขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการคิดใคร่ครวญหรือไตร่ตรองเอาตามเหตุผลของตรรกะนะ แต่เกิดจากพลังงานของสมาธิชักนำให้เกิดขึ้นล้วนๆ

ขอโทษ ขอย้อนกลับไปนิดหนึ่งซึ่งมันสำคัญ ว่าแล้วจะทำยังไงให้เกิดศีลหรือความปกติของใจขึ้นได้ละ ตอบว่าก็ต้องหัดวางความคิดให้ได้ก่อน วางอย่างไรหรือ ก็ต้องหัดแอบเหลือบมองความคิดของตัวเองให้เป็น คือเมื่อไรก็ตามที่นึกขึ้นได้ก็แอบเหลือบมองเข้าไปในใจของตัวเองเสียทีหนึ่งว่าในใจมีความคิดอะไรอยู่หรือเปล่า ความคิดเมื่อถูกแอบมองมันจะฝ่อหายไปเอง ขยันแอบมองใจของตัวเองบ่อยๆในที่สุดความคิดก็จะลดลงและหมดไปเอง ก็จะเหลือแต่ใจที่ปลอดความคิด หรือใจที่ปกติ หรือเกิดศีลขึ้น ศีลหรือความปกติของใจนี้มันดีนัก เพราะมันจะเป็นฐานที่มั่นให้เราใช้ชีวิตได้อย่างฉลุยโดยไม่มีทุกข์โศกใดๆ

2.. ถามว่ามรรค 8 ที่ให้ทำอาชีพชอบ ทำความเพียรชอบ หมายความว่าอย่างไร ทำอาชีพชอบหมายถึงทำอาชีพสุจริตไม่ค้าน้ำเมาไม่ค้าชีวิตเป็นต้นถูกหรือไม่ แล้วการมีความเพียรมันก็เป็นสิ่งที่ชอบหรือถูกต้องของมันอยู่แล้ว ทำไมจึงสอนให้ทำความเพียรชอบอีก มีความเพียรแบบไม่ชอบด้วยหรือ ตอบว่า ฮี่ ฮี่ ถามได้เด็ดสะระตี่มากนะหนู อุ๊บ..ขอโทษ นะคุณ คือมันยังงี้นะ ยังโง้นนะ ยังงั้นนะ หิ หิ คือมันตอบยาก กล่าวโดยสรุปคุณติดใจคำว่า “ชอบ” ซึ่งแปลมาจากคำว่า “สัมมา” ว่ามันหมายความว่าอย่างไร ผมจะตอบเจาะเฉพาะที่ตรงนี้นะ เมื่อตะกี้ผมตั้งต้นว่าถ้ามีศีลหรือมีความปกติของใจแปลว่ามีใจที่ปลอดความคิดแล้วมันจะเป็นฐานที่มั่นให้เราไปทำอะไรในชีวิตต่อได้อย่างฉลุยโดยไม่ทุกข์ “มรรค 8” ก็คือการทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจ การคิด การพูด การทำ การประกอบอาชีพ ฯลฯ ให้ทำออกไปจากศีลหรือออกไปจากใจที่ว่างจากความคิดทุกครั้งไป อย่าลืมว่าความคิดนั้นชงขึ้นมาโดยสำนึกว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่งนะ ทำอะไรแบบว่างจากความคิดก็หมายถึงการทำอะไรจากมุมมองที่ว่าเรานี้ไม่ได้เป็นบุคคล เออ.. ไม่ได้เป็นบุคคลแล้วเราเป็นอะไรละ หิ หิ ในขั้นตอนนี้คุณยังไม่ต้องไปรู้หรอกว่าเรานี้แท้จริงแล้วเป็นอะไร รู้แค่ว่าเราไม่ใช่ร่างกายนี้ ไม่ใช่บุคคลที่ชื่อ … นี้ ความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจนี้ก็ไม่ใช่ความคิดของเราแต่เป็นความคิดที่สำนึกว่าเป็นบุคคลที่ชื่อ … นี้กุขึ้นมาต่างหาก หิ หิ งงแมะ งงนะดีแล้ว จะได้ไม่รีบ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” อะไรง่ายๆ งงหมายความว่าไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ไว้อย่างนั้นดีแล้ว วันหนึ่งอาจมีโอกาสรู้ได้ แต่หากรีบเชื่อหรือรีบไม่เชื่อทั้งๆที่ยังไม่รู้เขาเรียกว่างมงาย ดังนั้นงงย่อมดีกว่างมงาย เออ ยิ่งพูดยิ่งพาเด็กงงหนักแล้วไหมละ ข้อนี้จบแค่นี้ดีกว่า

3.. ถามว่า มัชฌิมา ปฏิปทา หรือทางสายกลางนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าทำอะไรก็ตามให้ทำแค่พอดีไม่ตึงไม่หย่อนเกินไปเหมือนดีดพิณสามสายใช่หรือไม่ แปลว่าในชีวิตเราทำได้ทุกอย่างแต่อย่าทำมากไปหรือน้อยไปใช่หรือไม่ หรือมีความหมายอะไรมากกว่านี้ ตอบว่า หิ..หิ เรื่องพระอินทร์ดีดพิณสามสายนั้นผมว่าผมก็อ่านพระไตรปิฎกแยะพอสมควรแล้วนะแต่ผมไม่เห็นมีใครพูดถึงพระอินทร์ดีดพิณไว้ตรงไหนของพระไตรปิฎกเลย พูดง่ายๆว่ามันเป็นการยกเมฆกันขึ้นภายหลัง คุณอย่าไปอะไรกับตรงนั้นมากเลยเพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องทางสายกลางดอก มาฟังการตีความเรื่องทางสายกลางของหมอสันต์ดีกว่า คุณตั้งใจฟังนะ คือการดำเนินชีวิตนี้มันมีสองแบบ แบบที่หนึ่ง คือการอยู่ในโลกของความคิดหรือโลกของภาษาที่นิยามทุกอย่างขึ้นมาโดยวิธีแยกแยะให้เห็นความแตกต่างกันเป็นสองขั้ว เช่น สูง-ต่ำ, ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, บริสุทธิ์-แปดเปื้อน, รัก-เกลียด, ชอบ-ชัง, แนบแน่น-ห่างเหิน, บ้ากาม-หนีจากกาม เป็นต้น เพราะสำนึกว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นความคิดอีกเหมือนกัน) เป็นผู้รับเอาแนวคิดสองขั้วนี้มาเพราะอยากแยกแยะตัวเองออกจากสรรพสิ่งภายนอกซึ่งมีธรรมชาติปนเปกันมั่วซั่วแบบเป็นหนึ่งเดียว ที่สำนึกว่าเป็นบุคคลแยกแยะทุกอย่างเป็นสองขั้วนี้ก็เพื่อปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยมั่นคง แต่ว่าสองขั้วที่สำนึกว่าเป็นบุคคลอุปโลกน์ขึ้นมานี้มันไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ มันมีอยู่แค่ในจินตนาการของมนุษย์เท่านั้น ธรรมชาติของจริงมีแต่ความมั่วซั่วและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สำนึกว่าเป็นบุคคลไปพยายามต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงและพยายามจัดระเบียบความมั่วซั่ว เช่นเมื่อเรารักใคร เราก็อยากจะให้คนที่เรารักรักเรานานๆอยู่กับเรานานๆตลอดไป แต่ธรรมชาตินั้นทุกคนที่มาพบกันต้องพลัดพรากจากกันไปในที่สุด ดังนั้นการมีชีวิตอยู่ในโลกที่มีการจัดระเบียบและแบ่งทุกอย่างเป็นสองขั้วจึงมีแต่จะจบลงด้วยความผิดหวังและเป็นทุกข์ มัชฌิมาปฏิปทาก็คือการถอยออกมาจากโลกแบบที่หนึ่งนี้เสียไม่ยอมข้องแวะด้วยกับการแบ่งทุกอย่างเป็นสองขั้ว ถอยมาอยู่ในโลก แบบที่สอง ซึ่งเป็นโลกของธรรมชาติก่อนที่ความคิดจะเข้ามาจัดระเบียบแบ่งขั้ว เป็นโลกที่มองเห็นทุกอย่างเป็นกลางๆตามที่มันเป็นของมันจริงๆอยู่แล้วโดยไม่ต้องไปจัดระเบียบแยกแยะหรือแบ่งมันให้เป็นสองขั้ว ด้วยวิธีนี้ก็ไม่ต้องไปเป็นทุกข์กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคลองกับทฤษฎีสองขั้วในใจเรา นี่แหละคือ มัชฌิมา ปฏิปทา ฉบับหมอสันต์ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์