Latest, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

หมอสันต์เริ่มยอมรับเวชศาสตร์ชลอวัย (Anti-aging)

หมอสันต์เริ่มยอมรับ “เวชศาสตร์ชลอวัย” ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องมีสาระในทางวิทยาศาสตร์น้อยมาก เพราะผมมองการดำเนินของโรคสมองเสื่อมว่าโรคนี้เป็นตัวชี้วัดว่า “เวชศาสตร์ชลอวัย” เป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่เรื่องวิทยาศาสตร์เทียมเพื่อหาทางขายวิตามินและอาหารเสริมในราคาแพงๆให้ชาวบ้าน เพราะสำหรับผมตราบใดที่วงการแพทย์ยังไม่มีปัญญาชลอหรือรักษาโรคสมองเสื่อมได้ ตราบนั้นก็อย่ามาพูดให้ยากเลยว่าความชราของคนเรานี้มันจะชลอได้

เมื่อประมาณห้าปีก่อน ผมได้เห็นรายงานทางการแพทย์ชิ้นเล็กชิ้นหนึ่งเสนอโดยหมอด้านประสาทวิทยาที่มหาลัยยูซีแอลเอ. แคลิฟอร์เนีย ชื่อดร.เบรเดเซน (D E Bredesen) เนื้อหาสาระมีอยู่ว่าเขารายงานผลการรักษาคนไข้สมองเสื่อมของเขาสิบคนว่าได้ผลดีมาก ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจ เพราะแค่นี้มันเป็นหลักฐานระดับ “เรื่องเล่า” ซึ่งมีโผล่มาให้เห็นแทบทุกวันแล้วก็ดับหายไป เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว โดยที่โรคสมองเสื่อมยังค่อยๆขยับลำดับการเป็นสาเหตุของการตายขึ้นมาทีละนิดๆจนปัจจุบันนี้กลายมาเป็นสาเหตุการตายอันดับสามตามหลังโรคหัวใจและโรคมะเร็งแล้ว

พอไม่นานมานี้มีเพื่อนแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกันดีได้เปรยให้ผมฟังถึงงานของดร.เบรเดเซนอีก โดยเธอได้นำห้ผลวิจัยของเขาซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสารโรคอัลไซเมอร์มาให้อ่านด้วย คราวนี้เขารายงานผลการรักษาโรคอัลไซเมอร์ 100 รายว่าประสบความสำเร็จด้วยดีเป็นเวลาติดต่อกันนานหลายปี รูปแบบของการรายงานก็ยังเป็นเรื่องเล่าอยู่ คือไม่ใช่หลักฐานวิจัยระดับสูงที่มีการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ แต่จำนวนคนไข้ที่มากเป็นร้อยทำให้ผมยอมนั่งอ่านรายงานของเขาอย่างจริงจัง พบว่าในคนไข้ร้อยคนที่โรคอัลไซเมอร์ดีขึ้นนี้เขาใช้วิธีหลายอย่างผสมผเสกันเปะปะ จนไม่รู้ว่าคนไข้ดีขึ้นจากอะไร ผมสรุปให้ว่าแต่ละคนเขาใช้สักยี่สิบวิธีปนกันไปดังนี้

  1. กินอาหารที่มีพืชผักผลไม้ถั่วและนัทมาก มีเนื้อสัตว์น้อย
  2. ลดน้ำตาลและแป้งขัดขาวลงเหลือน้อยที่สุด
  3. อดอาหารแบบ IF12/12 คืองดกินวันละ 12 ชั่วโมง
  4. ทำให้สุขภาพลำไส้ดีจนการขับถ่ายปกติ โดยใช้ prebiotic, probiotic
  5. ออกกำลังกาย
  6. ลดความเครียด ด้วยโยคะบ้าง สมาธิบ้าง ดนตรีบ้าง
  7. แก้ไขการนอนหลับให้ได้ 8 ชั่วโมง ถ้ามีโรคนอนกรนก็แก้เสีย ถ้าจำเป็นก็ใช้เมลาโทนิน 0.5 มก.ก่อนนอน หากยังตื่นกลางดึกก็ให้กิน Tryptophan 500 มก. นานสามสัปดาห์
  8. ทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง
  9. ตรวจดู Homocystein หากสูงกว่า 7 ก็ทำการรักษาโดยใช้วิตามินบี.12 บี.6 โฟเลท และ Trimethylglycine
  10. รักษาระดับวิตามินบี.12 ในเลือดให้สูงกว่า 500
  11. วัดและแก้ไขการอักเสบในร่างกายโดยเจาะเลือดดู CRP ถ้าสูงก็ใช้ขมิ้นชันและ DHA/EPA ช่วย
  12. รักษาระดับน้ำตาลสะสมให้ต่ำกว่า 5.5% และให้อินสุลินหลังอดอาหารต่ำกว่า 7.0
  13. รักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เอสโตรเจน คอร์ติซอล ให้ปกติ
  14. รักษาระดับวิตามินดีให้อยู่ระหว่าง 50-100 ng/ml โดยเสริม D3+K2 ถ้าจำเป็น
  15. ตรวจระดับโลหะหนัก ปรอท ดีบุก แคดเมียม ตะกั่ว ถ้ามีพิษก็หาทางแก้พิษ
  16. ลด Amyloid beta โดยใช้ขมิ้นชันและโสมอินเดีย (Ashwagandha)
  17. ให้กินสมุนไพรอินเดีย Bacopa monnieri (สกุลเทียนเกล็ดหอย) และแมกนีเซียม รักษาความจำ
  18. ให้กิน MCT ในรูปของน้ำมันมะพร้าว
  19. ให้กินสารต้านอนุมูลอิสระและสารช่วยไมโตคอนเดรียเพียบ ทั้ง vitE, vitC, NAC, alphalipoic acid, Se, blueberry, CoQ10, thiamine, resveratrol, PQQ, ALCAR, Se, Zn เป็นต้น

ผมดูวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ของดร.เบรเดเซนแล้วให้คิดถึงที่แพทย์จำนวนหนึ่งที่ทำเวชปฏิบัติในสาขาที่เขาเรียกตัวเองว่า “เวชศาสตร์ชลอวัย” หรือ Antiaging ว่าช่างเป็นวิธีที่ละม้ายคล้ายคลึงกันเสียจริง แม้ว่าแพทย์พวกนี้จะยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นสาขาความชำนาญอย่างเป็นทางการของอเมริกา แต่ก็มีการตั้งวิทยาลัยขึ้นและออกวุฒิบัตรของตัวเองเรียกว่า ABAARM ซึ่งย่อมาจาก American Board of Antiaging and Regenerative Medicine แพทย์ในสายหลักก็เหล่แพทย์เวชศาสตร์ชลอวัยว่าเป็นพวกแหกคอกออกไปหากินด้วยการขายวิตามินและอาหารเสริมในราคาแพงๆให้คนไข้ ส่วนตัวแพทย์ที่ทำงานด้านนี้เองผมเข้าใจว่าคงจะมีสองพวก พวกหนึ่งอาจจะเป็นอย่างที่แพทย์ในกระแสหลักเขาว่า แต่อีกพวกหนึ่งผมมั่นใจว่าเป็นพวกที่มีความเชื่อในศักยภาพของแนวทางเวชศาสตร์ชลอวัยว่าจะทำได้ในสิ่งที่การแพทย์กระแสหลักยังทำไม่ได้ พวกหลังนี้เป็นหน่วยกล้าตายในการเสาะหาสิ่งใหม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าพวกเขาไปถูกทางหรือไปผิดทาง

งานวิจัยของเบรเดเซนกระตุกให้ผมหันมามองเวชศาสตร์ชลอวัยอย่างจริงจัง การรักษาโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมาพร้อมกับความชราเป็นสมรภูมิใหม่ของวิชาแพทย์ หากไม่สนับสนุนคนที่แหกคอกออกไปเสาะหาวิธีใหม่ แล้ววงการแพทย์จะก้าวหน้าไปได้อย่างไร คิดอย่างนี้ใจผมจึงยอมรับเวชศาสตร์ชลอวัยมากขึ้น และตั้งใจว่าหากมีโอกาสจะช่วยสนับสนุนการบุกเบิกแนวรบด้านนี้ให้ก้าวหน้าไป อาจจะโดยให้เงิน เวลา สถานที่ หรือชวนหรือดึงน้องๆแพทย์รุ่นหลังที่จบบอร์ด ABAARM และทำงานด้านนี้มานานพอแล้วมาทำอะไรด้วยกันในลักษณะการวิจัยตามดูกลุ่มคน (cohort) เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่อาจเป็นการกรุยทางให้การแพทย์กระแสหลักเดินตามได้ในที่สุด หิ หิ คิดนะ ตอนนี้ได้แต่คิด ยังไม่ได้พูดอะไรกับใคร และแน่นอนว่ายังไม่ได้ลงมือทำ คิดอยู่ว่าวันหนึ่งถ้าไม่ตายเสียก่อนคงจะได้ลงมือทำ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Bredesen DE, Sharlin K, Jenkins D, Okuno M, Youngberg W, et al. (2018) Reversal of Cognitive Decline: 100 Patients. J Alzheimers Dis Parkinsonism 8: 450. DOI: 10.4172/2161-0460.1000450