Latest

SR17 รีทรีตทางจิตวิญญาณ (ในยุคโควิด19)

  1. Spiritual Retreat คืออะไร

Spiritual หมายถึงองค์ประกอบของชีวิตที่ข้ามพ้นส่วนที่เป็นร่างกายและความคิด นั่นก็คือองค์ประกอบส่วนที่เรียกว่าเป็นความรู้ตัว (awareness)

Retreat คือการปลีกวิเวกหลีกเร้น ไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ได้มีเวลาที่สันโดษและเป็นส่วนตัวไม่ถูกรบกวนหรือชักใบด้วยสื่อชักนำความคิดจากภายนอก อันจะทำให้เข้าถึงความรู้ตัวได้ง่าย

Spiritual retreat ก็คือการปลีกวิเวกหลีกเร้นเพื่อหันเหความสนใจจากโลกภายนอก ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งหกคือตาหูจมูกลิ้นผิวหนังและความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจ กลับเข้าไปสนใจความตื่นรู้และสงบเย็นที่ภายในตัวในสภาวะที่ไร้ความคิด แล้วอ้อยอิ่งซึมซับรอดูอยู่ที่นั่นว่าแต่ละวินาทีที่ผ่านไปจะมีอะไรโผล่เข้ามา เป็นการขยายการรับรู้ (perception) ให้ลึกละเอียดยิ่งไปกว่าอายตนะ โดยเรียนรู้ผ่านการอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นเวลานานหลายวันบ้าง หลายสัปดาห์บ้าง หลายเดือนบ้าง อาจจะอยู่คนเดียว หรืออยู่กับกลุ่มที่ต่างมุ่งแสวงหา “ความหลุดพ้น” เหมือนกัน

ถึงแม้ว่าแค้มป์นี้จะกำเนิดจากความตั้งใจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการความเครียด แต่ผ่านไปหลายปีมาถึงป่านนี้แล้วแค้มป์ได้เปลี่ยนหน้าตาตัวเองมาจนไม่เหลือความเกี่ยวข้องกับวิชาแพทย์แผนปัจจุบันหรือวิทยาศาสตร์เลย แค้มป์นี้เลือกเอาคำสอนที่เด่นของทุกศาสนามาใช้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาใดๆทั้งสิ้น (spiritual but not religious) ไม่มีพิธีกรรม ไม่ต้องปฏิบัติบูชา แต่งกายตามสบาย ไม่ต้องนุ่งห่มแบบใดแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่มีการใช้ศัพท์แสงของทางศาสนา ไม่ต้องนอนตื่นเช้าเกินเหตุ (เริ่มกิจวัตร 7.00 น.)ไม่ต้องอดอาหาร แต่อาหารที่มีให้เป็นอาหารแบบมังสะวิรัตแบบมีไข่ด้วย (ovo-vegetarian)เพื่อให้ร่างกายไม่มีความเปลี้ยล้าจากอาหารเนื้อสัตว์ เนื้อหาสาระที่เรียนเป็นการเรียนทักษะ (ปฏิบัติ) ไม่ใช่เรียนความรู้หรือคอนเซ็พท์ ในแค้มป์จะพูดหรือทำสิ่งเดียวเท่านั้น คือเรื่องที่จะหลุดพ้นไปจากความยึดติดในความเป็นบุคคลไปสู่ความตื่น โดยโฟกัสที่..ที่นี่ เดี๋ยวนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน SR-17

SR ทำมาแล้ว 16 ครั้ง ถูกเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ขยายเวลาจาก 1 วันเป็น 2 แล้วก็เป็น 3 แล้วก็เป็น 4 วัน รูปแบบก็เปลี่ยนจากการฝึกปฏิบัติแบบหนึ่งต่อหนึ่งมาเป็นการแชร์ประสบการณ์ในกลุ่ม ซึ่งถูกจำกัดไว้ไม่ให้เกิน 25 คน ใน SR-17 นี้เนื่องจากเป็นช่วงโควิด19 จะต้องเพิ่มข้อจำกัดอีกข้อคือห้องหนึ่งนอนได้แค่ 1 คน ยกเว้นคนที่มาด้วยกันให้นอนด้วยกันได้ จะไม่ให้นอนกับคนแปลกหน้า เนื้อหาสาระก็ค่อยๆเปลี่ยนจากการอิงคอนเซ็พท์ของศาสนาต่างๆมาเป็นการมุ่งตรงไปสู่การฝึกปฏิบัติเลยโดยไม่ยุ่งกับศาสนาใดๆทั้งสิ้นแม้ว่าจะอาศัยคำสอนที่โดดเด่นของแต่ละศาสนาอยู่ หลักคิดพื้นฐานของการฝึกเพื่อหลุดพ้นจากกรงความคิดของตัวเองนี้คือ ให้มองว่าสิ่งที่เราได้มา คือชีวิตนี้ เป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ซับซ้อนมากๆชิ้นหนึ่ง เมื่อเราได้เครื่องยนต์ที่ซับซ้อนมา สมมุติว่าได้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่มาเครื่องหนึ่ง สิ่งแรกที่เราจะทำคือการอ่านคู่มือการใช้งาน (user’s manual) ว่าในการจะใช้งานอุปกรณ์ใหม่ที่ได้มานี้เราจะต้องใช้เครื่องมืออะไรเข้าไปกดไปจิ้มไปหมุนตรงไหนบ้าง SR ก็คือการเรียนรู้ถึงรายละเอียดของคู่มือการใช้งานอุปกรณ์ชิ้นสำคัญคือชีวิตนี้และทดลองใช้เครื่องมือเหล่านั้น มาถึง SR-17 ซึ่งเป็นชั้นเรียนที่กำลังจะเปิดนี้ ผมคัดเครื่องมือในกล่องที่ต้องเรียนอยู่แค่ 7 ชิ้น คือ

(1.) Attention หมายถึงความสนใจของเรา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด เมื่อความสนใจไปจดจ่ออยู่ที่สิ่งใด สิ่งนั้นก็จะมีความสำคัญยิ่งใหญ่ล้นฟ้าขึ้นมาทันที ไฮไลท์ของการใช้เครื่องมือชิ้นนี้คือการถอยความสนใจออกมาจากความคิด

(2.) Breathing หมายถึงลมหายใจหรือการหายใจซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานของร่างกาย ตรงนี้เป็นหลักกิโลเมตรที่หนึ่ง มันเป็นจุดพักระหว่างทางที่จะฝึกถอยความสนใจออกมาจากความคิด นอกจากนั้นตัวลมหายใจเองยังเป็นความเชื่อมต่อระหว่างร่างกายซึ่งเป็นเสมือนเนื้อตันๆกับพลังชีวิตซึ่งเป็นเสมือนพลังงานที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ ในแง่นี้ลมหายใจจึงเป็นปากทางที่จะนำความสนใจไปสู่ชีวิตในส่วนที่เป็นพลังงานลึกละเอียดลงไปยิ่งกว่าเนื้อหนังตันๆนี้

(3.) Relaxation การผ่อนคลายร่างกาย อาศัยประสบการณ์ของผมที่สรุปได้ว่าธรรมชาติของความคิดปรากฎเป็นสองขา ขาหนึ่งคือเนื้อหาสาระของความคิด อีกขาหนึ่งปรากฎเป็นอาการบนร่างกาย โดยเมื่อลงมือกระทำบนขาหนึ่ง ก็จะมีผลต่ออีกขาหนึ่ง เช่นเมื่อผ่อนคลายร่างกาย ความคิดก็จะฝ่อลงไป เทคนิคนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากวิธีรับรู้ข้อมูลป้อนกลับ (bio-feedback) ที่นิยมใช้ในทางตะวันตกด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้ใช้อุปกรณ์อีเล็คโทรนิกใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง

(4) Life energy หมายถึงพลังชีวิต ที่ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” และภาษาแขกเรียกว่า “ปราณา” ทั้งนี้ผมแบ่งง่ายๆว่าชีวิตนี้เป็นการประกอบกันขึ้นจากสี่ชั้น คือ ร่างกาย พลังชีวิต ความคิด และ ความรู้ตัว พลังชีวิตรับรู้ได้จากอาการบนร่างกาย การเรียนให้รู้จักและเพิ่มพูนพลังชีวิตทำได้โดยฝึกดึงความสนใจออกจากความคิดให้มาอยู่กับความรู้สึกต่างๆบนร่างกายเช่นความรู้สึกวูบๆวาบๆ ซู่ๆซ่าๆ จิ๊ดๆจ๊าดๆ เจ็บๆคันๆ โดยใช้เทคนิคลาดตระเวณความสนใจไปรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (body scan)

(5) Aware of a thought เมื่อถอยความสนใจออกมาจากความคิดหนึ่ง อีกความคิดหนึ่งจะผุดขึ้นมาแทนแบบไม่ขาดสาย เทคนิคที่จะวางความคิดใช้วิธีสังเกตดูความคิดจากข้างนอกโดยไม่ไปผสมโรงคิด ให้ความคิดฝ่อไปเอง

(6.) Alertness หมายถึงเทคนิคการกระตุ้นตัวเองให้ตื่นมารับรู้ปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะเมื่อประสบความสำเร็จในการวางความคิดได้ระดับหนึ่งแล้ว เป็นธรรมชาติว่าความง่วงจะเข้ามาครอบครองที่ว่างนั้นแทน การฝึกใช้เทคนิคนี้จะช่วยพาฝ่าข้ามความง่วงไปสู่การตื่นอย่างยิ่ง คือตื่นขึ้นมาในภาวะที่ปลอดความคิด ซึ่งเป็นสภาวะจำเป็นก่อนที่จะฝ่าข้ามอายตนะทั้งหกไปสู่ความรู้ตัวในความว่างได้สำเร็จ

(ุ7.) Concentration ก็คือการจดจ่อให้เกิดสมาธินั่นเอง การเน้นเครื่องมือนี้มากเกิดจากประสบการณ์ของผมเองที่พบว่าเมื่อจดจ่อที่อะไรก็ตามอย่างยิ่งโดยผ่อนคลายไปด้วย นอกจากความคิดจะหมดไปแล้ว สิ่งที่ตั้งใจจดจ่อก็จะหายไปด้วย เหลือแต่ความรู้ตัวในความว่างโดยไม่มีความคิดอะไร ตรงนี้เป็นหลักกิโลเมตรที่สาม ณ ตรงนี้คือการเปิดรับหรือขยายการรับรู้ (perception) ให้กว้างขวางลึกซึ้งโดยไม่ผ่านอายตนะทั้งหก เป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ได้เห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น

ตลอดสี่วันที่อยู่ด้วยกัน เราจะวนเวียนอยู่กับการฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือทั้ง 7 ชิ้นนี้

  1. Spiritual Retreat เหมาะสำหรับใครบ้าง

(1.) ผู้ที่มีความเครียดซึ่งแก้เองไม่ตก และผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆที่มีความเครียดเป็นสาเหตุร่วม

(2.) ผู้ที่ต้องการแสวงหาความสงบทางใจ ด้วยการฝ่าข้ามหรือหลุดพ้นไปจากกรงความย้ำคิดของตัวเอง

(3.) ผู้ที่ต้องการค้นหาความหมายของชีวิต ว่ามีอะไรอยู่อีกบ้าง นอกเหนือจากสิ่งเร้าที่รับรู้ได้ผ่านอายตนะทั้งหก และนอกเหนือจากกิจกรรมหลักของชีวิตทั่วไปอันได้แก่การเกิดมา กิน ขับถ่าย สืบพันธุ์ นอน แก่ แล้วตายไป

  1. ตารางกิจกรรม Spiritual Retreat

(สี่วันสามคืน) สำหรับ SR17 คือ 11 – 14 มีค. 64

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ อ.มวกเหล็ก

วันแรก

11.00 – 12.00 น. Learn from previous experience เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน

12.00 – 14.00 น. Lunch break พักกลางวัน ในความเงียบสงบ

14.00 – 15.30 น.

  1. Attention ความสนใจ
  2. Breathing ลมหายใจ
  3. Muscle Relaxation การผ่อนคลายร่างกาย
  4. Feeling & Life energy ความรู้สึกและพลังชีวิต
    3,1 Feeling the breath
    3.2 Where are my hand
    3.3 Body scan การรู้ตัวทั่วพร้อม
  5. Sheaths of life องค์ประกอบของชีวิต

15.30 – 16.00 น. Coffee Break พักผ่อนในความเงียบสงบ

16.00 – 17.00 น. Muscle relaxation through Yoga
โยคะภาวนา วางความคิดผ่านการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

17.00 – 18.00 น. เวลาส่วนตัว

18.00 – 19.00 น. Dinner อาหารเย็น

วันที่สอง

07.00 – 08.00 น. Morning routine กิจวัตรยามเช้า (โยคะ+สมาธิ+ชี่กง)

8.00 – 09.30 น. Breakfast รับประทานอาหารเช้า เวลาส่วนตัว

09.30 – 10.45 น.Thought ความคิด (Thought formation กลไกการเกิดความคิด, Identity สำนึกว่าเป็นบุคคล, Compulsive thinking, Thinking a thought การคิด, Aware of a thought การสังเกตความคิด),

10.45-11.15 Break พักผ่อนในความสงบ

11.15 – 12.00 Thought enquiry การสอบสวนความคิด, Though dismissal การทิ้งความคิด, Acceptance การยอมรับยอมแพ้

12.00 – 14.00 น. Lunch break พักกลางวัน ในความเงียบสงบ

14.00 – 15.00 น. Alertness + Pranayama การกระตุ้นตัวเองให้ตื่นและใช้พลังชีวิตทิ้งความคิด

15.00 – 15.30 น. Meditative Concentration การจดจ่ออย่างผ่อนคลาย

15.30 – 16.30 น. Break พักในความเงียบสงบ

16.30-17.30 น. Balance in movement

วันที่สาม

07.00 – 08.00 น. Forest Bath  เดินป่า

08.00 – 09.30 น. Breakfast รับประทานอาหารเช้า และเวลาส่วนตัว

09.30 – 10.30 น. Painting to focus on process เขียนภาพลายเส้นและสีน้ำ

10.30 – 11.00 น. Coffee Break พักในความเงียบสงบ

11.00 – 12.00 น. Painting assignment ทำการบ้านเขียนภาพสีน้ำ

12.00 – 14.00 น. Lunch Break พักกลางวัน

14.00 – 15.30 Awareness ความรู้ตัว, Mantra มันตรา, และ Anapanasati อานาปานสติ เทคนิคการปล่อยจิตไปไม่ควบคุม

15.30 – 16.00 น. Break ในความเงียบสงบ ไตร่ตรองสิ่งที่ได้เรียนรู้

16.00 – 17.00 น. Sat Sang สนทนาถามตอบแก้ไขปัญหาการปฏิบัติ

วันที่สี่ (วันสุดท้าย) 

06.00 – 08.00 น. Sunrise meditation นั่งสมาธิรับอรุณที่ลานบนเขา + Managing Prana การปลูกพลังชีวิต

08.00 – 09.30 น. รับประทานอาหารเช้าและทำกิจส่วนตัว

09.30 – 10.30 น. Acceptance การหลุดพ้นด้วยวิธียอมรับยอมแพ้
10.30 – 11.00 น. Coffee Break ในความเงียบสงบ

11.00 – 12.00 น. Satsang: Summary of techniques สรุปเทคนิคการวางความคิด

12.00 – 13.00 น. ปิดแค้มป์ รับประทานอาหารกลางวันแล้วอำลา

ตารางอาจเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น

………………………………………..

  1. ค่าใช้จ่ายในการมาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat

คนละ 9,000 บาท ราคานี้รวมอาหารวันละสามมื้อ อาหารว่างวันละสองเบรค ค่าที่พักห้องพักเตียงคู่ห้องละ 2 คน สี่วัน สามคืน ทั้งหมดนี้ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปและกลับด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง (ช่วงโควิด19 คนที่ไม่ได้มาด้วยกันต้องนอนคนเดียว

  1. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์

รับไม่เกิน 25 คน

  1. วิธีลงทะเบียนเข้าแค้มป์

ลงทะเบียนบนเว็บและจ่ายเงินทางออนไลน์ โดยท่านสามารถลงทะเบียนได้โดยโทรศัพท์ติดต่อคุณเฟิร์น ที่หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์