Latest

กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเอ็นไซม์กล้ามเนื้อ (CK) สูงต่อเนื่องแม้จะหยุดยาลดไขมันไปนานแล้ว

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 62 ปี กินยาลดไขมันชื่อ atorvastatin วันละ 20 มก.อยู่ประมาณสามเดือนแล้วมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจึงหยุดยาเอง หลังจากนั้นอีกสามเดือนอาการยังอยู่จึงไปตรวจซ้ำพบว่าเอ็นไซม์ CK สูงถึง 800 หมอบอกว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบแต่ยังไม่ทราบสาเหตุ ผมสงสัยว่าผมหยุดยา atorvastatin ไปตั้งสามเดือนแล้วยังจะเป็นกล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมันอยู่ได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เกิดจากยามันเกิดจากอะไรได้บ้าง และผมควรจะทำอย่างไรต่อไป

………………………………………………..

ตอบครับ

  1. ถามว่ากินยาสะแตตินแล้วปวดกล้ามเนื้อ เอ็นไซม์ CK สูง แต่หยุดยาไปหลายเดือนแล้วทำไมยังปวดอยู่และ CK ไม่ลง มันยังเกิดจากยาได้ไหม ตอบว่าผลของยาลดไขมันกลุ่มสะแตติน (statin) ต่อกล้ามเนื้อนี้มันมีได้ 3 แบบ คือ

แบบที่ 1. อาการทางกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับสะแตติน (statin-associated muscle symptoms – SAMS) คือกินยาแล้วปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว หรือเจ็บกล้ามเนื้อ ซึ่งพบได้ถึง 60% จากการวิจัยสอบถามผู้เคยใช้ยาสะแตตินทั้งหมด เมื่อหยุดยาสะแตตินไม่กี่สัปดาห์อาการก็จะหายไป

แบบที่ 2. โรคกล้ามเนื้อสลายตัว (rhabdomyolysis) คือมีอาการของกล้ามเนื้อร่วมกับมีเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อ (creatinine kinase – CK ) ในกระแสเลือดสูงผิดปกติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 0.6-1.2 ต่อหมื่นคนต่อปี ถ้าเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและวินิจฉัยได้ไม่ทัน อาจทำให้เสียชีวิตจากไตวายและโปตัสเซียมคั่งได้

แบบที่ 3. โรคภูมิคุ้มกันตนเองทำลายกล้ามเนื้อหลังกายใช้ยาสะแตติน (statin-induced necrotizing autoimmune myopathy – SINAM) คือมีอาการของกล้ามเนื้อรุนแรงและ CK สูงทั้งๆที่หยุดยาสะแตตินไปนานแล้วก็ไม่หาย ตรวจเลือดพบมีภูมิคุ้มกันต่อต้าน HMG-CoA และต้องรักษาโดยยากดภูมิคุ้มกันจึงจะดีขึ้น

ดังนั้นของคุณหากจะเกี่ยวกับยาสะแตตินก็เป็นไปได้ คือเป็นแบบที่่ 3 หรือที่เรียกว่า SINAM

2. ถามว่าหากไม่เกี่ยวกับยาสะแตติน ภาวะกล้ามเนื้อลีบลง อ่อนแรง และปวดเมื่อย ร่วมกับมีเอ็นไซม์จากกล้ามเนื้อ(CK) สูงขึ้นในเลือด เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง ตอบว่า มันเกิดขึ้นได้จากหลายโรคมากชนิดที่ว่าถือเอาตามที่นักศึกษาแพทย์ท่องจำกลุ่มสาเหตุของโรคทั้งเก้ากลุ่มได้เลย คือ (1) ติดเชื้อ, (2) อักเสบ, (3) บาดเจ็บ, (4) เนื้องอก, (5) เป็นแต่กำเนิด, (6) เกิดจากการเผาผลาญ, (7) ภูมิต้านทาน, (8) ฮอร์โมน, และ (9) โรคจากการรักษา ทั้งหมดเป็นสาเหตุได้หมด

ดังนั้นก่อนการสืบค้นสาเหตุต้องรอให้แน่ใจก่อนว่าการอาการมันมีมากจริงจังหรือเปล่า และที่ว่า CK สูงนี้มันสูงจนมีนัยสำคัญไหม ผมหมายถึงว่าค่าปกติที่ทางแล็บยึดถือกันทั่วไปคือผู้ใหญ่ชาย ไม่เกิน 170 IU/L นั้นมันยังไม่ใช่ค่าที่มีนัยสำคัญ กรณีที่ไม่มีอาการอะไรเลยค่าที่มีนัยสำคัญสำหรับผู้ชายฝรั่งผิวขาวคือเกิน 504 IU/L ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นผู้ชายอเมริกันผิวดำต้องเกิน 1200 IU/L ขึ้นไปจึงจะมีนัยสำคัญ ของคุณที่ว่าสูงถึง 800 นั้นผมเองยังไม่แน่ใจว่ามันมีนัยสำคัญหรือเปล่า เพราะคนไทยเป็นคนผิวสีเหมือนกัน และเราไม่มีข้อมูลว่าค่าปกติของ CK ในคนไทยจริงๆแล้วคือเท่าไร

ผมแนะนำว่าถ้าอาการทางกล้ามเนื้อมาก คุณไปหาหมอทางด้านประสาทวิทยาเพื่อเริ่มการสืบค้นหาสาเหตุเลยก็ได้ แต่ถ้าอาการมันน้อยไม่มีนัยสำคัญ ผมแนะนำให้ใช้นโยบายดูเชิงไปก่อนสามเดือนหกเดือนแล้วเจาะเลือดดู CK ซ้ำ ถ้ามันนิ่งๆหรือมันลดต่ำลงมาก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้ามันเพิ่มขึ้นก็ค่อยไปสืบค้นหาสาเหตุจริงจัง ซึ่งต้องไปเริ่มที่หมอประสาทวิทยา และหมอเขาก็จะตรวจเลือดปูพรมเพื่อคัดกรองโรคที่อาจเป็นสาเหตุได้ ตรวจไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG) อาจจะต้องตัดตัวอย่างชิ้นกล้ามเนื้อออกมาตรวจด้วย ถ้าพบสาเหตุก็รักษาไปตามเหตุ แต่มันมีโอกาสสูงมากที่จะไม่พบสาเหตุอะไรเลย ถ้าไม่พบสาเหตุคุณก็ต้องหันมาเน้นที่การทำการฟื้นฟูหรือกายภาพบำบัดตัวเองเพื่อให้ใช้ชีวิตเคลื่อนไหวทำงานอย่างปกติไปให้ได้นานที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Efficacy and tolerability of lovastatin in 459 African-Americans with hypercholesterolemia. Prisant LM, Downton M, Watkins LO, Schnaper H, Bradford RH, Chremos AN, Langendörfer AAm J Cardiol. 1996 Aug 15; 78(4):420-4.
  2. EFNS guidelines on the diagnostic approach to pauci- or asymptomatic hyperCKemia.Kyriakides T, Angelini C, Schaefer J, Sacconi S, Siciliano G, Vilchez JJ, Hilton-Jones D, European Federation of Neurological Societies.Eur J Neurol. 2010 Jun 1; 17(6):767-73.