Latest

กินพืชเป็นหลักแล้วเนื้องอกมดลูกเล็กลง

สวัสดีค่ะอาจารย์

หนูเป็นเภสัชกร เคยเข้าแคมป์ GHBY รุ่น 47 กับอาจารย์ เมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาค่ะ หลังจากหนูกลับจากเข้าแคมป์ที่เวลเนส ก็จริงจังกับการทาน Plant Based Whole Food มากค่ะ ฝึกทำกับข้าวทานเองทุกมื้อ ไม่ใช้น้ำมัน งดน้ำตาล ปรุงรสอ่อน งดเนื้อสัตว์ ทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว ทุกวัน ปลูกผักทานเองแบบไร้สารเคมี หนูปลูกบนดาดฟ้าร้านยาค่ะ ^^

ก่อนหน้าที่หนูจะไปเข้าแคมป์ หนูมีเนื้องอกมดลูกขนาด 4-5 ซม. ต้องส่องกล้องออก เพราะมีอาการเยอะช่วงมีประจำเดือนค่ะ หลังจากส่องกล้อง ก็ต้อง FU ทุกปี เนื้องอกมดลูกเล็ก ๆ ก็ยังมีอยู่ค่ะ ขึ้นตะปุ่มตะป่ำ แถมตรวจพบซีสต์รังไข่เพิ่มมาที่รังไข่ด้านขวาด้วยค่ะ ช่วงที่หนูทานอาหารพืชเป็นหลัก แบบไขมันต่ำ ตามที่อาจารย์อบรม สังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณสดใสขึ้น น้ำหนักลดลง สัดส่วนลง ไขมันเลวลง การขับถ่ายดีมาก สบายท้อง สบายตัว สบายใจค่ะ

ทานอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำต่อเนื่องได้ 1 ปี ไปตรวจติดตามเนื้องอกมดลูก ขนาดเนื้องอกดูไม่แตกต่างจากปีก่อน คือดูไม่โตขึ้นค่ะ ซึ่งแตกต่างจากทุกทีที่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนซีสต์รังไข่ข้างขวาก็ยังตรวจเจออยู่ค่ะ คุณหมอเลยให้ทาน Primolut-N 10 วัน 3 รอบ แล้วนัดดูอีกทีว่ามันจะฝ่อหายไปมั้ย แต่พอดีติดช่วงโควิดระลอกแรก เลยเบี้ยวนัด ไม่ได้ไปตรวจค่ะ เพิ่งมีโอกาสได้ไปตรวจติดตามเมื่อวานนี้ค่ะ เลยนัดมา 1 ปีเลยค่ะ ผลตรวจพบว่า เนื้องอกมดลูกเล็ก ๆ ที่ขึ้นตะปุ่มตะป่ำ คุณหมอบอกว่า มันไม่มีแล้วค่ะ มดลูกดูปกติมาก
รังไข่ข้างขวาก็ดูปกติแล้ว หนูแทบไม่เชื่อสายตา ไม่เชื่อหูตามที่คุณหมอบอกเลยค่ะ (ถึงกับถามย้ำกับคุณหมอหลายรอบ จนคุณหมอขำ) รู้สึกดีใจมาก ๆ ไม่คิดว่า แค่เปลี่ยนอาหาร ทาน plant based แบบไขมันต่ำ มา 2 ปีกว่า จะทำให้เราพลิกผันโรคได้ขนาดนี้ค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ ที่จุดประกาย และอบรมให้หนูดูแลสุขภาพตนเองเป็น ปัจจุบันนี้ หนูสนุกและมีความสุขกับการทำอาหารพืชเป็นหลักทุกวัน ได้ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ และแฟนทานด้วยค่ะ
ทุกคนในบ้านสุขภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ หนูมีความสุขกับการปลูกผักทานเองบนดาดฟ้าร้านยา ผักชนิดไหนที่ออกผลผลิตมาก ก็แบ่งมาขายในร้านยาด้วยค่ะ สุดท้ายนี้ ขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัยช่วยคุ้มครองและขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงนะคะ

ปล.หนูแนบผลอัลตราซาวน์มาด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณมากค่ะ
… GHBY47

…………………………………………..

ตอบครับ

1.. ขอขอบคุณที่เขียนมาเล่า นี่เป็นตัวอย่างของคนที่เมื่อประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพของตัวเองแล้ว คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่มีแต่ตัวเอง แต่คนรอบข้างจำนวนมากจะพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย

2.. ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกินพืชผักผลไม้มากกับการเป็นเนื้องอกมดลูกน้อยลง ในทางการแพทย์ก็มีหลักฐานวิจัยอยู่จำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสารการวิจัยสูตินรีเวช (JOGR) ได้ศึกษาย้อนหลังผู้หญิงที่เป็นเนื้องอกมดลูกแล้ว 600 คนเทียบกับผู้หญิงวัยเดียวกันที่ไม่ได้เป็นเนื้องอกมดลูกอีก 600 คน พบว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นเนื้องอกมดลูกแล้วมีปริมาณการกินพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งบร็อคโคลี่ กล่ำปลี มะเขือเทศ แอปเปิล มากกว่ากลุ่มที่เป็นเนื้องอกมดลูก บางงานวิจัยก็แสดงความแตกต่างในการกินพืชผักผลไม้โดยรวมว่ายิ่งไม่กินพืชผักผลไม้ก็ยิ่งสัมพันธ์กับการเป็นเนื้องอกมดลูกมากขึ้น ทั้งหมดนั้นยังเป็นงานวิจัยในระดับแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบย้อนหลัง (match case control) ไม่ใช่งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบไปข้างหน้า (RCT) พูดง่ายๆว่ายังไม่ใช่หลักฐานระดับสูง แต่หมอสันต์เดาว่าหลักฐานระดับสูงอาจจะไม่ใครทำวิจัยเลยไม่ว่าจะในอนาคตอันใกล้หรืออนาคตอันไกล เพราะหัวเรื่องมันไม่มีสิ่งจูงใจ (เงิน) ให้ทำวิจัย เมื่อพิจารณาประกอบกับความจริงที่ว่าการกินพืชผักผลไม้มากไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร แถมยังมีข้อดีต่อสุขภาพทุกด้าน ผมจึงแนะนำว่าหญิงที่ไม่อยากเป็นเนื้องอกมดลูก หรือเป็นแล้วอยากให้เนื้องอกมดลูกเล็กลง ควรกินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือเปลี่ยนแนวทางอาหารมากินอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก

3.. อีกสิ่งหนึ่งที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดคือความสัมพันธ์ระหว่างการมีวิตามินดี.ในร่างกายต่ำกับการเป็นเนื้องอกมดลูก หมายความว่าคนเป็นเนื้องอกมดลูกจะมีระดับวิตามินดีต่ำกว่าคนทั่วไป ความสัมพันธ์นี้มันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ข้อมูลแค่นี้ก็มากพอที่จะให้ผมแนะนำได้ว่าคนที่มีเนื้องอกมดลูกควรตรวจดูระดับวิตามินดี. หากพบว่าต่ำก็ควรปรับวิธีใช้ชีวิตให้ได้ออกแดดมากขึ้นหรือควรกินตามินดี.เสริมจนระดับกลับมาปกติก็น่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Shen Y, Wu Y, Lu Q, Ren M. Vegetarian diet and reduced uterine fibroids risk: A case-control study in Nanjing, China. J Obstet Gynaecol Res. 2016 Jan;42(1):87-94. doi: 10.1111/jog.12834. Epub 2015 Oct 12. PMID: 26458740.
  2. He Y, Zeng Q, Dong S, Qin L, Li G, Wang P. Associations between uterine fibroids and lifestyles including diet, physical activity and stress: a case-control study in China. Asia Pac J Clin Nutr. 2013;22(1):109-17. doi: 10.6133/apjcn.2013.22.1.07. PMID: 23353618.
  3. Ciebiera M, Włodarczyk M, Ciebiera M, Zaręba K, Łukaszuk K, Jakiel G. Vitamin D and Uterine Fibroids-Review of the Literature and Novel Concepts. Int J Mol Sci. 2018 Jul 14;19(7):2051. doi: 10.3390/ijms19072051. PMID: 30011902; PMCID: PMC6073230.

………………………………………………………………