Latest

บอลลูนมาแล้ว 7 ครั้ง ไม่อยากมีครั้งที่ 8

สวัสดีครับคุณหมอสันต์​ ใจยอดศิลป์
ผมชื่อ … ผมได้ทำบอลลูน ครั้งที่7​ วันที่​ 23​ธ.ค.63 ที่เส้น LCX ตีบ 80% ซึ่งเคยทำที่ตำแหน่งนี้มาแล้ว3ครั้ง​ in-stent​ restenosis​ หลังทำผ่านไปเกือบ 2 เดือน​ ทุกอย่างปกติดี อออกกำลัง​ได้​ สอนโยคะได้ แต่ เมื่อช่วงหนึ่งสัปดาห์์​ที่ผ่านม​า​ (15กพ.) ​มันกลับมามีอาการของหัวใจอีกครั้ง เจ็บหน้าอกเวลาเดินขึ้นบันได หรือแค่เริ่มจ๊อกกิ้งไปสัก10นาที​ ก็เจ็บหน้าอก​ ร้าว​แขน​ พอพักก็จะหาย พอกลับไปวิ่งก็เป็นอีก​ พักก็หาย หลังๆเปลี่ยนมาเดิน อาการก็เบาลง บางครั้งก็มีเพียงแต่แน่นหน้าอกไม่มาก แต่บางครั้งก็เดินต่อเนื่อง1ชม.ได้ไม่มีอาการ แต่เชื่อว่าตีบซ้ำแน่นอน จึงกลับมาดูแลด้วย plant based 100% ทันที​ เชื่อและกังวลใจว่าถ้าไปรพ.​ ก็คงไม่พ้นครั้งที่ 8 แน่นอน​ และต่อด้วย bypass ในอนาคต​ แต่ผมไม่ต้องการวิถีนั้น
1.ตอนนี้หันมา plant based 100% (จากเมื่อก่อน80% ทาน​ป​ลา​ งด​ทอด​ งดมัน สัตว์)​ จะช่วยอะไรเกี่ยวกับการอุดตันได้มั๊ยครับ

2.ถ้าอยู่กับอาการแบบเจ็บๆแน่นๆแบบนี้ต่อไป เสี่ยงหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่

3.ตอนนี้ต้องหยุดสอนโยคะ เพราะออกแรงมากก็จะมีอาการแน่นจุกอก มึนศรีษะ ต่อไปร่างกายจะกลับมาออกกำลังอีกได้มั๊ย ในเมื่อที่ตีบอยู่มิได้จัดการ

4.ผมเข้าใจว่า​ plant based มิได้ช่วยลดการตีบของหลอดเลือดลงสำหรับคนที่ใส่บอลลูน ต่างจากเคสที่ยังไม่ได้ทำใช่มั๊ยครับ​ แล้้วอย่างนี้ plant based ช่วยอย่างไรกับการตีบซ้ำของขดลวดได้บ้างครับ

  1. ถ้าอาการมีพัฒนาการแค่ไปอย่างไรครับ ถึงควรจะต้องไปทำบอลลูนครั้งที่8​ แต่ผมยังเชื่อในวิถี plant based อยู่เต็มที่ จากนี้ไปต้อง 100% เท่านั้น
  2. ขอคำชี้แนะ ชี้ทางเพิ่มเติมด้วยครับคุณหมอ

ขอบพระคุณในเมตตาของคุณหมออย่างยิ่ง
รักและเคารพ
……………………………………………………………………………………

ตอบครับ

อามิตตาภะ พุทธะ อาการอย่างนี้ภาษากำลังภายในเขาเรียกว่า “หัวร่อไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้” คือการทำบอลลูน 7 ครั้งฟังดูแล้วตลก แต่ทั้งคนไข้ทั้งหมอก็หัวเราะไม่ออก คนไข้นั้นหัวเราะไม่ออกแน่ แต่หมอเมื่อทำอะไรซ้ำซากอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะผุดขึ้นที่ลึกๆในใจว่าตัวเองกำลังให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คนไข้อยู่หรือเปล่า

ผมตอบคำถามของคุณไปทีละประเด็นตามแต่ผมจะนึกได้นะ

ประเด็นที่ 1. กรณีสุดโต่งอย่างของคุณนี้ ไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ใดๆครอบคลุมถึง เพราะงานวิจัยทางการแพทย์ทุกงาน แม้ว่าจะทำให้กลุ่มคนไข้ที่จำเพาะอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยการรักษาผู้ป่วยที่ต้องเบิ้ลบอลลูนถึง 7 ครั้งว่าวิธีใดจึงจะดีที่สุด ดังนั้นกรณีของคุณนี้ไม่อาจพึ่งผลวิจัยเก่าๆได้ ต้องพึ่งดุลพินิจ (การเดา) และดวง (หิ หิ ขอโทษ เผลอพูดเล่น แต่เป็นความจริง) ดังนั้นการแก้ปัญหาในกรณีของคุณนี้ต้องเอาทุกท่า ใครว่าอะไรดีลองมันให้หมด

ประเด็นที่ 2. ถามว่าเคยมีงานวิจัยผลของการกินอาหารแบบกินแต่พืชกับโอกาสเกิดการอุดตันในขดลวดถ่างไหม ตอบว่าไม่เคยมีครับ งานวิจัยผลของการกินอาหารต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำไว้แต่ในคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทั่วไป ซึ่งมีผลสรุปว่าอาหารแบบกินพืชเป็นหลักทำให้โรคหลอดเลือดถอยกลับได้ในคนไข้จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนไข้ส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้เจาะจงทำเพื่อติดตามดูโอกาสตีบซ้ำในคนไข้ที่ใส่ขดลวดแล้ว

ประเด็นที่ 3. ผมดูยาต้านเกล็ดเลือดที่ใช้ มียา clopidogrel อยู่ด้วย มีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจมีความบกพร่องของยีน CYP2C19 ที่ยังผลให้การเปลี่ยนยาไปอยู่ในรูปที่แอคทีฟทำได้น้อยลง ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อย เลือดจึงจับกันเป็นลิ่มง่าย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ควรทำแน่นอนคือต้องตรวจดูยีน CYP2C19 ถ้าพบความบกพร่องก็ต้องเบิ้ลโด้สของยา clopidogrel ขึ้นไป หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น นั่นเป็นช่องทางหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาการตีบซ้ำซากได้

ประเด็นที่ 4. สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนแต่หมอโรคหัวใจส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ นั้นคือมีหลักฐานชัดเจนแน่นอนว่าการคั่งของสารตัวหนึ่งชื่อ homocysteine เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงตัวอื่นๆจะบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีเลย แต่แค่มีตัวนี้สูงตัวเดียวก็เป็นโรคได้ ดังนั้นผมแนะนำให้เช็คระดับ homocysteine ในเลือดเป็นระยะๆ หากมันสูง คือสูงเกิน 7 ก็ให้ถือว่าสูงแล้ว ไม่ต้องรอให้เกิน 15 ซึ่งเป็นเกณฑ์สูงสุดของค่าปกติสำหรับคนทั่วไป เพราะตัวคุณตอนนี้ไม่ใช่คุณทั่วไป คุณเป็นคนพิเศษ ถ้าพบว่ามันสูงก็ต้องหาทางแก้ไปทุกวิธีที่วงการแพทย์มี คือแก้แบบครอบจักรวาล รวมทั้งการให้วิตามินบี.12 บี.6 โฟเลท และ Trimethylglycine

ประเด็นที่ 5. การอักเสบใดๆในร่างกายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบซ้ำซากที่แพทย์โรคหัวใจมักไม่ค่อยได้คิดถึง เพราะการอักเสบนี้มันมีเหตุเยอะแยะแป๊ะตราไก่ แต่ในกรณีของคุณซึ่งเป็นคนพิเศษ ผมแนะนำว่าให้สืบค้นหาสาเหตุของการอักเสบ เริ่มด้วยการเจาะเลือดดูสารชี้บ่งการอักเสบคือ CRP และ ESR หากพบว่าสองค่านี้สูงผิดปกติก็ควรสืบค้นไปทางโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองด้วยการเจาะเลือดดูยกชุดแบบที่เขาเรียกว่า rheumatoid profile ซึ่งนอกจาก CRP และ ESR แล้วยังรวมถึง Anti-cyclic citrullinated peptide (anti-CCP), Antinuclear antibody (ANA), HLA tissue typing, Lyme serology test, Rheumatoid factor (RF), และ Uric acid ทั้งหมดนี้ต้องบริหารการเจาะและประเมินผลโดยหมอโรคข้อ (rheumatologist) เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยแยะ หมอนอกสาขานี้จะรู้ไม่ลึกละเอียดเท่า

ประเด็นที่ 6. ถามว่าถ้าอยู่กับอาการแบบเจ็บๆแน่นๆแบบนี้ต่อไป จะเสี่ยงหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ตอบว่าไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบคนเจ็บหน้าอกหลังทำบอลลูนระหว่างทิ้งไว้ไม่ทำอะไรกับการทำบอลลูนซ้ำพวกไหนจะตายมากกว่ากัน จึงตอบคำถามของคุณตรงๆไม่ได้ แต่มีงานวิจัย COURAGE ที่เปรียบเทียบคนเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วนอย่างคุณนี้แต่ว่าไม่เคยทำบอลลูนมาก่อน ซึ่งสรุปผลสุดท้ายได้ว่าทำบอลลูนกับไม่ทำก็ตายเท่ากัน แต่การทำบอลลูนให้คุณภาพชีวิตระยะสั้น (1 ปี) ที่ดีกว่า

ประเด็นที่ 7. ถามว่าอาการเจ็บหน้าอกที่เป็นขึ้นมาแล้ว ต่อไปจะทุเลาได้ไหม ตอบว่าทุเลาได้ หากเหตุปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดอักเสบหรือทำให้ลิ่มเลือดก่อตัวนั้นหายไป เพราะการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของลิ่มเลือดเป็นดุลยภาพระหว่างการก่อลิ่มเลือดและการสลายลิ่มเลือดซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกาย บัดเดี๋ยวก่อลิ่มมาก บัดเดี๋ยวสลายมาก อนึ่ง อาการใดๆที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรานี้ ไม่มีอาการใดเกิดแล้วจะอยู่ไปถาวร รับประกันว่าไม่มี

ประเด็นที่ 7. อย่าลืมว่าจุดตั้งต้นการทำบอลลูนแต่ละครั้งของคุณคืออาการเจ็บหน้าอกนะ การมีอาการถูกเหนี่ยวไกด้วยปัจจัยหลายตัวเช่น (1) ความเครียด (2) ร่างกายขาดน้ำ (3) มีเกลือโซเดียมเพิ่มสูงฉับพลันในกระแสเลือด (4) มีไขมันเพิ่มสูงฉับพลันในกระแสเลือด (5) อดนอน (6) ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่นได้รับสารพิษเช่นยาฆ่าหญ้าเข้าไปในกระแสเลือด หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM 2.5 และรถติดก็ช่วยเหนี่ยวไกให้เกิดอาการได้ ในบรรดาตัวเหนี่ยวไกเหล่านี้ความเครียดเป็นตัวเอ้ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกลัว ซึ่งเป็นความคิด โดยที่มีความกลัวตายเป็นแม่ของความกลัวทั้งหลาย ตราบใดที่คุณยังไม่เลิกกลัวตายตราบนั้นคุณก็จะยังถูกเหนี่ยวไกให้เจ็บหน้าอกไม่สิ้นสุดเพราะความกลัวทำให้หลอดเลือดของคุณหดตัวจนเลือดวิ่งไม่ได้ก็ยังทำได้เลย ทำอย่างไรจึงจะเลิกกลัวตายได้สำเร็จ มันมีวิธีปฏิบัติสองระดับ คือในระดับความคิดซึ่งคุณต้องเริ่มด้วยการยอมรับ (acceptance) ยอมรับความตายว่าตายก็ตาย ในระดับสูงกว่านั้นคือคุณวางความคิดใดๆทั้งสิ้นไปซะเลยเพราะอย่าลืมว่าความกลัวเป็นความคิด ให้คุณหัดออกไปมีชีวิตอยู่นอกโลกของภาษาและความคิด ฟังทุกคำพูดที่คนพูดเข้าหูเป็นเสียงดนตรีไม่ใช่เป็นภาษาที่มีความหมายชวนให้หงุดหงิดงุ่นง่าน วันสองวันนี้ผมเพิ่งเขียนเรื่องนี้ไปแหม็บๆ คุณลองหาอ่านดู ขอย้ำตรงนี้หน่อยว่า ความกลัวเป็นความคิด ซึ่งเป็นคนละอันกับความรู้ตัวซึ่งเป็นตัวจริงของคุณ ความคิดก็คือความคิด ไม่ใช่ตัวคุณ คุณสังเกตดูมันได้ อย่าปล่อยให้มันมาบงการชีวิตคุณ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์