Latest

ผลวิจัยความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 ในคนไทยที่กินมังสวิรัติกับที่กินอาหารทั่วไป

วันนี้ผมขอแปลบทคัดย่อผลวิจัยเรื่องความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 ในคนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติกับที่กินอาหารทั่วไปซึ่งผมเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยเอง งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bangkok Medical Journal สาระของงานวิจัยน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคอันเกิดจากการขาดวิตามินบี.12 ในหมู่ผู้กินอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่ไม่กินนม

โปรดสังเกตว่าในงานวิจัยนี้ใช้วิธีวัดโฮโมซีสเตอีนซึ่งเป็นสารที่จะคั่งค้างในร่างกายเมื่อขาดวิตามินบี.12 เป็นตัวชี้วัดแทนการวัดค่าวิตามินบี.12 โดยตรง เนื่องจากค่าโฮโมซีสเตอีนมีความไวในการตรวจคัดกรองภาวะขาดวิตามินบี 12. (95.6%) มากกว่าการวัดตัววิตามินบี.12 โดยตรง (50%) เพราะตัววิตามินบี.12 มีโมเลกุลชนิดที่ไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดผลลบเทียมได้มาก

อนึ่ง ก่อนอ่านงานวิจัยผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดหน่อยว่าโรคขาดวิตามินบี. 12 แสดงอาการผิดปกติบนร่างกายได้ 3 แบบใหญ่ๆคือ

(1) เป็นโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโต (megaloblastic anemia)

(2) เป็นโรคเกี่ยวกับความเสื่อมหรือการอักเสบของระบบประสาทและสมอง รวมทั้งโรคปลายประสาทอักเสบและโรคสมองเสื่อม

(3) เป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งรวมถึงหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจด้วย อันสืบเนื่องจากการคั่งของสารโฮโมซีสเตอีน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง

(คำแปล) บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์:

เพื่อตรวจดูสถานะของวิตามินบี.12 โดยอาศัยการวัดระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดในคนไทยผู้ใหญ่สามกลุ่ม แต่ละกลุ่มจำนวน 100 คน คือ กลุ่มที่ 1. คนไทยที่กินอาหารทั่วไปซึ่งไม่ใช่มังสวิรัติ กลุ่มที่ 2. คนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติชนิดไม่กินไข่ไม่กินนม (vegan) กลุ่มที่ 3 คนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติไม่กินไข่ไม่กินนมและเป็นผู้มีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 สูงคือกินมังสวิรัติมาเกิน 20 ปี หรืออายุเกิน 64 ปี หรือมีอาการหรืออาการแสดงที่สงสัยว่าเกิดจากการขาดวิตามินบี.12

ระเบียบวิธีวิจัย:

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณาแบบตัดขวาง (descriptive cross sectional study) เพื่อตรวจดูระดับโฮโมซีสเตอีนในคนไทยที่กินอาหารทั่วไปและอาหารมังสะวิรัติรวม 300 คน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 โดยใช้เทคนิคทางห้องปฏิบัติการ chemiluminescent microparticle immunoassay (CMIA) โดยใช้เครื่องตรวจ Architec machine เมื่อได้ผลระดับโฮโมซีสเตอีนแล้วก็เอาของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน

ผลการวิจัย:

มีอาสาสมัครคนไทยวัยผู้ใหญ่เข้าร่วมการวิจัย 300 คน (เป็นชาย 105 คน เป็นหญิง 195 คน) ในจำนวนนี้ 100 คนเป็นผู้กินอาหารทั่วไปที่ไม่ใช่มังสวิรัติ อีก 100 คนเป็นผู้กินอาหารมังสวิรัติ อีก 100 คนเป็นผู้กินอาหารมังสวิรัติที่มีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 สูงร่วมด้วย พบว่าในจำนวน 100 คนที่เป็นผู้กินอาหารทั่วไปที่ไม่ใช่มังสวิรัตินั้น พบผู้มีระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงผิดปกติ (มากกว่า 15.4 Umol/L) เพียง 1 คน (1%) ขณะที่ในจำนวน 100 คนของไทยที่กินอาหารมังสวิรัติชนิดไม่กินไข่ไม่กินนม พบผู้มีระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงผิดปกติ 52 คน (52%) และในจำนวน 100 คนของคนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติไม่กินไข่ไม่กินนมที่เป็นผู้มีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 อยู่แล้วด้วย พบผู้มีระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงผิดปกติ 70 คน (70%)

บทสรุป:

คนไทยวัยผู้ใหญ่ที่กินอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่ไม่กินนมมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบี.12 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการสะสมของสารโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงกว่าคนไทยที่กินอาหารทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ (p 0.001) คณะผู้วิจัยจึงแนะนำว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่ที่กินอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่ไม่กินนมควรกินวิตามินบี.12 เสริมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขนาดการกินเสริมที่แนะนำโดยสมาคมแพทย์มังสวิรัติอเมริกัน (AVMA) คือ 50-100 ไมโครกรัม ต่อวัน หรือ 500-1000 ไมโครกรัมต่อสัปดาห์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Chaiyodsilp, MD S, Phuriwattanapong, MD S, Chaiyaphak, MD W, Chaiyodsilp, MD S, Pruisart, MSc P. Determination of Vitamin B12 Deficiency Status in Vegan and Non-Vegan Thais by Assessment of Homocysteine Level. BKK Med J [Internet]. 2021Feb.27 [cited 2021Mar.7];17(1):15-9. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/bkkmedj/article/view/216161