Latest

ท่าทางคุณจะมาตายด้วยโรคปสด. มากกว่าโรคหัวใจ ARVD นะ

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 39ปี เพศชาย น้ำหนัก 72 ส่วนสูง 175 ความดัน 115/75 อัตราการเต้นหัวใจ 79 คลอเรสเตอรอล 177 (หลังจากกิน LIVALO 2mg 3 เดือน) ซึ่งปกติแล้ว คลอเรสเตอรอลผมจะอยู่ที่ 280 น้ำตาล 92 ไตรกลีเซอไรด์ 51 HDL 75 LDL 92
ขอเริ่มเรื่องเลยนะครับ ปกติผมค่อนข้างเป็นคนสุขภาพดี ลงงานวิ่งประจำ ออกกำลังสม่ำเสมอ มันใจในสุขภาพตลอดว่าแข็งแรง จะมีแต่คลอเรสเตอรอลตัวเดียวเท่านั้นที่ตรวจทุกปีก็จะเกินเป็นประจำ แต่ก็ไม่ยอมกินยามาตลอด เรื่องที่เกิดขึ้น เริ่มเมื่อเดือน กันยายน 2564 ผมเจ็บหน้าอกบ่อย เลยไปตรวจหัวใจแบบละเอียดที่ รพ.เอกชน ผล EKG ปกติ ผล EST ดีเยี่ยม ผล Echo ลิ้นหัวใจไม่รั่ว ไม่มีหัวใจตีบ แต่หมอบอกว่าโครงสร้างหัวใจห้องล่างขวาแปลกๆ เลยอยากให้ MRI ผล MRI สรุปว่า ผม เป็น ARVD หัวใจห้องล่างขวาบางผิดปกติ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่เจ็บหน้าอกเลย เนื่องจาก ARVD เป็นมาตั้งแต่เกิดแล้ว
พอทราบผลเรื่องโรคที่เป็น ผลก็ไป follow up ต่อที่ รพ รัฐบาลที่สามารถเบิกได้ โดยการ monitor หัวใจ 24 ชั่วโมง ผล ออกมา ปกติ หมอหัวใจ แนะนำ กิน bisloc 2.5mg อันนี้ผมเข้าใจว่าทำให้หัวใจทำงานไม่หนัก และ ให้กิน livalo 2mg เรื่องไขมัน คือ ตั้งแต่ผมทราบโรคที่เป็น ทำให้จิตใจผม เรียกว่า Down ลงแบบผิดปกติเลยครับ อาการที่เป็น นอนไม่หลับ เหงื่อแตก ตลอด ลุกมากลางดึก น้ำหนักลดลง จาก 75 เหลือ 68 กิโลกรัม มีเสียงหวีดในหู จนนอนแทบไม่ได้ ไปหาหมอหู ตรวจทุกอย่างก็ปกติ แอดมิดโรงพยาบาลไปรอบนึง เนื่องจากไข้ขึ้น ให้น้ำเกลือ พะอืดพะอม ท้องไส้ปั่นป่วน ร่างกายไม่มีแรง เวียนหัว ปวดเมื่อยตัว จนเมื่อเดือน ธันวาคม 2563 ผมตัดสินใจไปหาหมอสุขภาพจิต ได้รับยา zanor กับ ยานอนหลับ กินยาได้ 3 เดือนค่อยลดยาลง จนไม่ได้กินยาแล้ว น้ำหนักกลับมาขึ้น จาก 68 ไป 74 กิโลกรัม อีกครั้ง จนมาเมื่อเดือน มิย 2564 ผมรู้สึกมีความเครียด จากอาการปวดท้อง โรคกระเพาะ เนื่องจากผมตื่น 9 โมง กินข้าวเช้า 10 โมง เป็นแบบนี้ 2อาทิตย์ จนไปหาหมอทางเดินอาหาร ก็ได้ยาโรคกระเพาะมากินอีก จนถึงปัจจุบัน หมอแนะนำส่องกล้องทางเดินอาหาร แต่ผมคิดว่า ไม่ใช่ ละ ผมไม่ได้ส่องกล้องนะครับ เพราะผมคิดว่ามันจะทำให้ผมเจ็บตัวโดยใช่เหตุและผมคิดว่าเกิดจากความเครียด ผมจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ละ จนผมมาปรับพฤติกรรม คือ กลับมาตื่น 6.30 กินข้าว 7.30 เหมือนตอนสุขภาพดีๆ จนอาการปวดท้องดีขึ้น แต่ท้องไส้ยังปั่นป่วน ผมคิดว่าน่าจะมาจากโรคเครียด ผมค่อยข้างกังวลว่า กลัวจะเป็นโรคร้ายแรง

ผมติดตามคุณหมอตลอด คุณหมอแนะนำให้ วางความคิด แต่ผมก็ยังทำไม่ได้เลยครับ
เรื่องที่ผมจะปรึกษาคือ ผมเคยพยายามลดคลอเรสเตอรอลด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ไม่กินของมัน ออกกำลังกาย ทดลองมา 3เดือน แต่ก็ลงไม่มาก ยัง200 กว่าๆ โดยหมอหัวใจอธิบายว่ามันเกิดจากที่ตับเราสร้าง เป็น กรรมพันธุ์ ทำตัวให้ดีแค่ไหนก็ลงยาก อันนี้จริงเท็จแค่ไหนครับ โรคที่ผมเป็นคือเรื่องเกี่ยวกับวิตกกังวล มีชื่อโรคไหมครับ เช่น เป็นซึมเศร้าไหมครับ ผมควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดไหมครับ ช่วงฝึกทำสมาธิ เป็นแบบที่คุณหมอบอกเลยครับ คือ ผมดันไปจมอยู่กับความคิด ไม่ได้เกิดสมาธิเลย ต้องทำอย่างไรดีครับ หรือต้องพยายามไปเรื่อยๆ อาการตอนนี้ท้องไส้ปั่นป่วน ไม่มีเรื่ยวแรง พะอืดพะอม วันๆไม่อยากทำอะไรเลยครับ นอนซม อย่างเดียว
ทุกวันนี้ Work From Home ทำให้ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน รู้สึกไม่ค่อยได้คุยกับใครเลย ยกเว้นคุยกับลูกและภรรยา บางทีก็รู้สึกหงุดหงิดๆ เหมือนอารมณ์ไม่ดี
ตอนนี้น้ำหนักเริ่มลงอีกแล้วครับ แต่ลงมาแค่1กิโลกรัม ผมก็พยายามกิน เพราะน้ำหนักลง ผมก็ยิ่งกังวล ว่าเป็นโรคอะไรไหมนะ ชั่งน้ำหนักตลอดเลย
แล้วโรค ARVD นี่ให้ผมกิน bisloc 2.5mg ถูกต้องไหมครับ ตอนแรกกินเช้าเม็ดเดียว มาทีหลังกินเช้าเย็น แล้วเวียนหัว หมอเลยให้กลับมากินเช้าเม็ดเดียวเหมือนเดิม
สรุปยาที่ผมกินตอนนี้ จะมี bisloc, livalo, B12 (หมอหูจ่ายให้ครับ) และ tanakan ใบแปะก๊วย (หมอหูจ่ายยามาให้ครับ)

ขอขอบพระคุณ คุณหมอสันต์ ที่คอยให้ความรู้ทางเพจเรื่อยๆครับ และขอให้คุณหมอสุขภาพแข็งแรงนะครับ

(ส่งรายละเอียด EKG, Echo, MRI มาด้วย)

……………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าที่ชอบคิดนั่นคิดนี่นี้เป็นโรคอะไรมีชื่อเรียกไหม ตอบว่ามี เขาเรียกว่าโรคปสด. ย่อมาจากประสาทแด๊กซ์ (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น) ชื่อจริงเขาเรียกว่าโรค anxiety disorder ซึ่งฟังตามเรื่องที่เล่าแล้วมันเป็นปัญหาหลักของคุณ ถ้าคุณจะตายก็น่าจะเพราะโรคปสด.นี่มากกว่า ไม่ใช่โรคห้วใจดอก

2. ถามว่าโรค ARVD มันแย่มากไหม ก่อนอื่นผมขอบอกก่อนว่าคุณเป็นโรค ARVD จริงหรือเปล่ายังไม่รู้นะ โรคนี้ชื่อเต็มมันคือ Arrhythmogenic Right Ventricular Dysplasia แปลว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาพิการ มันเป็นโรคพันธุกรรมที่แต่เดิมต้องวินิจฉัยจากสี่มุมมอง คือ (1) เช็คพันธุกรรมพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่ามีใครเป็นบ้าง (30-90% มีบรรพบุรุษเป็น) (2) เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาที่ตัดออกมาตรวจมีความพิการแบบมีไขมันและพังผืดแทรกเนื้อ (3) ภาพโครงสร้างการทำงานหัวใจห้องล่างขวา (จาก echo หรือ mri หรือ cag) เสียหายระดับรุนแรง (4) มีหลักฐานว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สอดคล้องสัมพันธ์กับอาการที่เกิด ซึ่งมองจากเกณฑ์เก่าที่มีความแม่นยำ (specificity) สูงเป็นที่ยอมรับกัน จะเห็นว่ายังไงคุณก็ยังถือว่าเป็นโรคนี้ไม่ได้เพราะไม่มีอะไรเข้าเกณฑ์สักกะอย่าง แต่ต่อมามีการตั้งเกณฑ์ใหม่ให้มันหลวมขึ้นด้วยเหตุผลว่าเกณฑ์เก่ามันไม่ไว (ไม่sensitive) กรณีของคุณนี้หมอเขาวินิจฉัยโดยอาศัยเกณฑ์สมัยใหม่ว่ามีหนึ่งเกณฑ์ใหญ่ (พบคลื่น Epselon ในคลื่นไฟฟ้าห้วใจ) บวกอีกสองเกณฑ์ย่อย (คือภาพ mri และ echo มีความผิดปกติของโครงสร้างการทำงานระดับไม่มาก และมีภาพการแทรกของพังผืดและไขมันในผนังหัวใจล่างขวา)

ในแง่การวินิจฉัยหมอเขาได้ว่าไปตามเนื้อผ้าหรือตามบาลีอย่างถูกต้องดิบดีไม่มีที่ติแล้ว แต่ในแง่ของการตีความเอาไปใช้ประโยชน์มันมีความหมายแค่ว่าคุณมีโอกาสมากพอควรที่จะเป็นโรคนี้ แต่จะเป็นจริงหรือเปล่ายังไม่รู้ แปลไทยให้เป็นไทยว่าประโยชน์จากการวินิจฉัยครั้งนี้คือคุณควรปรับวิธีใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงการตายจากโรคนี้อันได้แก่การไม่เข้าแข่งขันกีฬาหรือออกกำลังกายแบบหนักๆเป็นต้น แต่ไม่ต้องเป็นบ้าไปกับคำวินิจฉัยที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่นี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่คุณไม่ควรบ้าไปกับคำวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้คือติ๊งต่างว่าคุณเป็นโรคนี้จริงๆ โอกาสตายกะทันหันก็ใช่ว่าจะมาก เพราะงานวิจัยดูสาเหตุการตายกะทันหันของคนหนุ่มสาวในอเมริกันจำนวน 286 คน พบว่าที่ตายเพราะเป็นโรค ARVD นี้มีเพียง 4% เท่านั้นเอง แล้วคุณควรจะบ้าเพราะกลัวโรคนี้หรือเปล่าละ

3.. ถามว่าหมอให้กินยา Bisloc เม็ดเดียวพอไหม ตอบว่าเหลือเฟือแล้วครับ เพราะโรคนี้วงการแพทย์ยังไม่รู้เลยว่าจะรักษามันอย่างไร ยาที่ให้ก็ให้ไปงั้นๆแหละ ผลวิจัยที่ว่ายานี้ลดอัตราตายของโรคนี้ได้หรือไม่ยังไม่มี

4. ถามว่าปรับอาหารลดไขมันแล้ว LDL ยังสูงต้องทำอย่างไร ตอบว่าต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่เป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัวครับ แล้วรับประกัน LDL ลงแน่นอน

5. ถามว่าฝึกสมาธิวางความคิดแล้วยังมีความคิดแยะจะทำอย่างไร ผมอธิบายเทคนิคปฏิบัติเรื่องนี้ไปบ่อยมาก ให้คุณหาอ่านเอาจากคำตอบเก่าๆในบล็อกนี้ เช่นที่ https://drsant.com/2020/10/blog-post_11-2.html ถ้าทำไม่สำเร็จจริงๆก็ให้หาโอกาสมาฝึกใน Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. McKenna WJ, Thiene G, Nava A, et al. Diagnosis of arrhythmogenic right ventricular dysplasia/cardiomyopathy. Task Force of the Working Group Myocardial and Pericardial Disease of the European Society of Cardiology and of the Scientific Council on Cardiomyopathies of the International Society and Federation of Cardiology. Br Heart J. 1994 Mar. 71(3):215-8.
  2. Dalal D, Nasir K, Bomma C, et al. Arrhythmogenic right ventricular dysplasia: a United States experience. Circulation. 2005 Dec 20. 112 (25):3823-32. 
  3. AE, DiMarco JP, Ellenbogen KA, et al. 2012 ACCF/AHA/HRS focused update incorporated into the ACCF/AHA/HRS 2008 guidelines for device-based therapy of cardiac rhythm abnormalities: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines and the Heart Rhythm Society. J Am Coll Cardiol. 2013 Jan 22. 61(3):e6-75.