Latest

เข้าใจระบบภูมิคุ้มกัน ก่อนจะโวยว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วเหมือนฉีดน้ำเปล่า

เรียนนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ผมอายุ 42 ปี ไปฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเข็มที่ 1 แล้วเหมือนฉีดน้ำเปล่า ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย ได้ทราบมาจากความรู้ทางเน็ทและที่มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากฉีดแล้วมีปฏิกริยาปวดเป็นไข้ยิ่งแรงยิ่งแสดงว่าภูมิคุ้มกันขึ้นดี จึงอยากปรึกษาคุณหมอว่าผมควรจะชลอเข็มที่สองโดยไปจองฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอนาแบบเสียเงินแทนวัคซีนซิโนฟาร์มดีไหมครับ

……………………………………………………………….

ตอบครับ

อามิตตาภะ พุทธะ นี่มันเป็นผลจากการเสพย์ข้อมูลมากเกิน “ขนาด” และเสพย์มาผิด “ขนาน” อีกต่างหาก ความรู้ที่คุณได้รับมาที่ว่าไปฉีดวัคซีนเข็มแรกถ้าวัคซีนดี ภูมิคุ้มกันขึ้นดี ต้องมีปฏิกริยามาก แบบว่าปวดแขน เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวพับ พับ พับ จึงจะแสดงว่าภูมิคุ้มกันขึ้นดีนั้นเป็นความเข้าใจผิด ปฏิกริยาต่อการฉีดวัคซีนเข็มแรก กับภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากวัคซีนนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน การจะเข้าใจเรื่องนี้ต้องเข้าใจกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในระดับลึกซึ้งสักหน่อย ผมจะอธิบายให้คุณนะ เพราะท่านผู้อ่านท่านอื่นจะได้ทราบไปด้วย

ระบบภูมิคุ้มก้นของร่างกายเรานี้มีสองประเภท หรือหากเปรียบเทียบเป็นกระทรวงทบวงกรมก็คือกระทรวงภูมิคุ้มกันโรคนี้แบ่งออกเป็นสองกรม ดังนี้

กรมที่หนึ่งคือ Innate immunity แปลว่าระบบสร้างภูมิคุ้มกันแบบครอบจักรวาล เป็นระบบที่มีไว้คุ้มกันร่างกายจากเชื้อโรคอะไรก็ตามที่รุกเข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นเชื้ออะไร ระบบนี้แยกย่อยออกเป็นส่วนหรือกองย่อยๆอีกสี่กองซึ่งทำงานไม่เกี่ยวกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ
กองที่ 1. คือ external barrier แปลว่าปราการด่านนอก เช่นผิวหนังที่หุ้มร่างกายอยู่ กลไกการปั้นขี้ฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินลมหายใจให้เป็นเสมหะและน้ำมูก กลไกการใช้ขนโบกพัดเสมหะให้ออกไปจากหลอดลม กลไกการไอ สารฆ่าเชื้อโรคในน้ำตาและน้ำลาย น้ำกรดในกระเพาะ กลไกการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่เป็นมิตรไว้ในลำไส้หรือในช่องคลอดเพื่อกันท่าไม่ให้แบคทีเรียที่เป็นศัตรูเข้ามาเติบโต เป็นต้น
กองที่ 2. คือ Inflammation แปลว่าการกลไกการอักเสบ เป็นปฏิกริยาที่ตั้งต้นขึ้นโดยเซลชื่อมาโครฟาจโดยการปล่อยสารเรียกเม็ดเลือดขาวมารุมกินโต๊ะสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ทำให้เกิดการอักเสบที่มีเอกลักษณ์ว่า “ปวด บวม แดง ร้อน หย่อนสมรรถภาพ” ผลผลิตสำคัญของการอักเสบก็คือปวดและไข้ เพราะไข้หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเครื่องมือฆ่าเชื้อโรคโดยตรง
กองที่ 3. คือ Cellular barrier หรือ natural killer (NK) แปลว่าเซลนักฆ่า มันเป็นเม็ดเลือดขาวเล็กที่ผลิตขึ้นมาทางสายต่อมน้ำเหลือง การเรียกว่าเม็ดเลือดขาวเล็กนี้ก็เพื่อให้แตกต่างจากเม็ดเลือดขาวที่ผลิตมาทางสายไขกระดูกซึ่งมีขนาดโต เซลนักฆ่าถูกสร้างมาให้มีหน้าที่ฆ่าได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง คือเห็นอะไรเป็นสิ่งแปลกปลอมให้เข้าไปฆ่าได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบสวนให้รู้จักว่าเป็นใครมาจากไหน เซลนักฆ่านี้เป็นกำลังสำคัญทั้งในการกำจัดเชื้อโรคทันทีที่เห็นและทั้งในการกำจัดเซลมะเร็งที่ไม่มีวิธีอื่นมากำจัดและทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยวัคซีนหรือการรู้จักเชื้อโรค
กองที่ 4. คือ Compliment system แปลว่าระบบช่วยฆ่า มันเป็นโปรตีนหลายสิบชนิดอยู่กระจายทั่วกระแสเลือดเหมือนตำรวจนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่ทั่วไป เมื่อมีเหตุการเช่นการอักเสบขึ้นตัวหัวหมู่ที่ซุ่มเงียบอยู่ก็จะลุกขึ้นมาปลุกลูกน้องให้ปลุกกันต่อๆไปเป็นทอดๆแล้วทั้งหมดเฮโลมารุบเคลือบเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมอื่นหรือกองอื่นมาฆ่าสิ่งแปลกปลอมได้ง่ายขึ้น

กรมที่ 2. คือ Adaptive immunity แปลว่าระบบสร้างภูมิคุ้มกันแบบเจาะจงเชื้อ หน้าที่หลักคือทำความรู้จักกับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามาก่อน แล้วเอาหน้าตาประพิมประพายของเชื้อโรคนั้นไปสร้างผู้สามารถเจาะจงทำลายเชื้อโรคชนิดนั้นขึ้นมา กรมนี้แบ่งออกไปเป็นสองกอง
กองที่ 1. คือ Cell mediated immune response (CMIR) แปลว่าการผลิตเม็ดเลือดขาวไปฆ่า วิธีการทำงานก็คือเมื่อสดับได้แน่ชัดว่าเชื้อโรคมีหน้าตาอย่างไรต่อมน้ำเหลืองก็สร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นมาเพื่อไปฆ่าเชื้อโรคนััน ที่รู้จักกันดีสองชนิดคือ Killer T cell ซึ่งบางครั้งเรียกตามโปรตีนที่ผิวว่า CD8 ทำหน้าที่ลงมือฆ่า และ Helper T cell ซึ่งบางครั้งเรียกตามโปรตีนที่ผิวว่า CD4 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยฆ่า
กองที่ 2. คือ Humoral immune response แปลว่าการผลิตแอนตี้บอดี้ไปฆ่า หน่วยผลิตคือเม็ดเลือดขาวเล็กชื่อ B-cell วิธีทำงานคือเมื่อสดับข่าวทราบหน้าตาเชื้อโรคผู้บุกรุกแน่ชัดแล้ว B-cell ก็จะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่าแอนตี้บอดี้ (antibody) แล้วปล่อยเข้ากระแสเลือดเพื่อให้ไปจับกับตัวเชื้อโรคให้เชื้อโรคตายโดยตรงบ้าง ให้เซลเจ้าหน้าที่กรมกองอื่นมาเก็บกินบ้าง

เมื่อเราไปฉีดวัคซีนเข็มแรก ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นเช่น แขนบวม ปวด มีไข้สูง หนาวสั่นไม่สบาย ล้วนเกิดจากการทำงานของกรมที่ 1 หรือ innate immunity จากการเห็นสิ่งแปลกปลอมคือทั้งตัววัคซีนและหรือสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับวัคซีนเข้ามาในร่างกาย โดยยังไม่เกี่ยวกับว่าวัคซีนนั้นจะเป็นวัคซีนที่ดีหรือไม่ดี แรงหรือไม่แรง ดังนั้นอย่าไปด่วนสรุปว่าฉีดแล้วเหมือนฉีดน้ำเปล่าแสดงว่าวัคซีนนั้นไม่แรง

การที่วัคซีนนั้นจะดีหรือไม่ดี จะแรงหรือไม่แรงนั้นต้องอาศัยเวลาให้กรมที่ 2. คือ adaptive immunity เขาทำงาน เพราะวัคซีนมีหน้าที่เป็นตัวแทนเชื้อโรคในการเป็นเป้า (antigen) ให้ข้อมูลแก่ adaptive immunity เพื่อจะได้สร้างอาวุธทำลายขึ้นมาแบบตรงสะเป๊ก ปกติจะใช้เวลาสร้างประมาณ 2 สัปดาห์ และยิ่งมีการฉีดกระตุ้นอีกครั้งสองครั้งก็ยิ่งผลิตอาวุธทั้งในรูปแบบเม็ดเลือดขาวและในรูปแบบแอนตี้บอดี้ให้ไปทำลายเชื้อโรคได้เต็มที่ การจะบอกว่าวัคซีนนั้นดีหรือไม่ดีก็ต้องตรวจดูเม็ดเลือดขาวชนิด CD8, CD4 และแอนตี้บอดี้ หรือจะให้ดีกว่านั้นก็ลองให้สัมผัสกับเชื้อโรคดูว่าจะรอดจากการติดเชื้อสักกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนการดูปฏิกริยาของร่างกายหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกนั้นใช้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้เลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์