Latest, จิตวิญญาณ (Spirituality)

เรื่องเล่าเฉพาะสำหรับผู้แสวงหาด้านจิตวิญญาณ

ผมประสบอุบัติเหตุอย่างไม่คาดฝัน ต้องเข้าผ่าตัดครั้งใหญ่ ได้เลือดมาก ได้น้ำเกลือมาก เรื่องที่จะเล่าเริ่มตรงที่เมื่อการผ่าตัดเสร็จแล้ว ผมมารู้ตัวอีกครั้งเหมือนมีใครมาปลุกให้ตื่นแรงๆ ผมตื่นขึ้นมาตามองอะไรไม่เห็น รู้แต่ว่าอึดอัดหายใจไม่ออก พยายามดิ้นก็ไม่สำเร็จเพราะพบว่าทั้งตัวขยับไม่ได้เลย รู้แต่ว่าเตียงที่ตัวเองนอนกำลังเคลื่อนที่ไป ผมเดาว่าคงจะเป็นระหว่างการขนย้ายผู้ป่วยออกจากห้องผ่าตัดไปห้องไอซียู. ผมพยายามพูดให้ทุกคนรู้ว่าผมหายใจไม่ออก แต่ก็ไม่เป็นผล ขณะที่ความอึดอัดกำลังถึงจุดจะไปต่อไม่ได้แล้วนั้น ข้างนอกก็พลันมีแสงเรื่อๆสีนวลๆขึ้น ค่อยๆแผ่เข้ามาใกล้เตียงที่ผมนอน ผมรู้สึกสบาย หายอึดอัดเป็นปลิดทิ้งจนลืมร่างกายไปเลย

ผมเป็นคนที่นานๆครั้งจะมีประสบการณ์ฝันแบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า vivid dream คือผมมักจะฝันว่าผมออกจากตัวเองที่นอนอยู่แล้วลอยไปไหนต่อไหน และที่ที่ผมชอบไปบ่อยจะเป็นที่หนึ่งซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ไหนในโลกนี้ แต่ผมไปที่นั่นบ่อยจนผมจำหุบเขาและบ้านทรงเสปญเก่าๆโทรมๆของคนจนในชนบทสี่ห้าหลังได้ มาคราวนี้การที่ผมออกมาอยู่นอกร่างกายอีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ว่าคราวนี้มันเป็นความตื่นมากกว่าความฝันเท่านั้น ผมมองไม่เห็นร่างกายของตัวเอง เพราะแสงเรื่อๆข้างนอกนั่นจ้าขึ้นๆจนมองอะไรอย่างอื่นไม่เห็นเลย รู้สึกแต่ความสบายผ่อนคลาย และรู้สึกว่าผมกับแสงนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน นี่เป็นประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 1. ที่ต้องย้ำไว้หน่อยนะ ว่าในยามที่ไม่มีร่างกายแล้ว ความเป็นเราหรือเป็น “ฉัน” นี้มีเพียงแค่ความตื่น ความสามารถรับรู้อย่างสบายๆบวกกับความเป็นแสงอุ่นๆเรื่อๆ แค่นั้นก็ประกอบกันเป็น “ฉัน” ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ต้องมี หัว หู หน้า ตา แขน ขา อย่าง “หมอสันต์” ตัวเป็นๆเลย

แล้วผมก็ได้ยินความคิดสองความคิดสนทนากัน

“ข้างนอกบรรยากาศดีมาก ไปเดินเล่นกันก่อนไหม ทางนี้เดี๋ยวค่อยกลับมาก็ได้ “

นี่เป็นประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 2. ว่าแม้ในที่ที่พ้นไปจากร่างกายแล้ว พ้นไปจากการรับรู้ของอายตนะทั้งห้าของร่างกายแล้ว แต่ความคิดยังมีอยู่นะ นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพียงแต่ว่าความคิดในภาวะที่ไม่มีร่างกายนี้มันเป็นความคิดที่แตกต่างจากความคิดปกติซึ่งมีการใช้ตรรกะเหตุผลและมีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นี่มันเป็นแค่ความคิดที่ลอยขึ้นมาแบบเนิบๆไร้ฟีลลิ่งใดๆ ไม่มีเอี่ยวอะไรกับบุคคลที่ชื่อ “หมอสันต์” ด้วย แล้วก็ได้ยินอีกความคิดหนึ่งตอบด้วยอารมณ์เนิบๆพอๆกันว่า

“แต่กรณีนี้เป็น air way obstruction (ทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น) นะ ตามหลักมันต้องแก้ไขตรงนี้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน”

ฟังสองความคิดเขาคุยกันราวกับฟังอาจารย์แพทย์กับแพทย์ประจำบ้านคุยกันเรื่องคนไข้หรือกำลังสอนวิชาซี.พี.อาร์.กันอยู่ ไม่มีความรู้สึกเร่งรีบกังวลเป็นห่วงลูกเมียหรืออยากกลับหรือไม่อยากกลับใดๆทั้งสิ้น เป็นแค่โยนความคิดขึ้นมาแชร์กันเฉยๆแบบไร้อารมณ์

ยังไม่ทันที่จะรู้ว่าข้อสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไรผมก็เหมือนคนถูกโยนโครมลงบนพื้นแข็ง ความอึดอัดขัดข้องเจ็บปวดแน่นหน้าอกหายใจไม่ออกกลับมาเกิดขึ้นทันทีและคุกคามจนอกแทบระเบิด แสงเรื่อๆที่เคยสว่างจ้านั้นหายไปไหนไม่รู้แล้ว ผมพยายามลืมตา เห็นหัวคนมุงอยู่รอบผมไม่ต่ำกว่าห้าคน หนึ่งในนั้นเห็นเป็นผมฟูๆของหมอสมวงศ์ ผมพยายามพูด และได้ยินเสียงพูดของตัวเองกระท่อนกระแท่น ว่า

“ผมหายใจไม่ออก ผมหายใจไม่ออก”

ผมทดลองหายใจให้แรงขึ้น กลับยิ่งหายใจไม่ออกยิ่งขึ้น ผมคิดว่าผมคงจะเกิดภาวะลมคั่งในทรวงอก (tension pneumothorax) ซึ่งมักพบนานๆครั้งในคนประสบอุบัติเหตุระดับรุนแรง จึงพยายามเอานิ้วชี้ทั้งสองข้างชี้ที่ปอดตัวเองเพื่อให้ใครสักคนเอาหูฟังมาฟังเสียงหายใจของผมจะได้วินิจฉัยได้ว่าผมเป็นอะไร แต่ไม่ได้ผล เพราะผมขยับมือผมไม่ได้ ผมไม่รู้ว่ามือและแขนมันอยู่ในเฝือกทั้งสองข้าง ผมพยายามหาวิธีช่วยพวกเขาวินิจฉัยให้ได้ทันเวลา จึงรวบรวมเสียงตะโกนว่า

“ออกซิเจน แซท”

ความหมายคือให้พวกเขาตรวจเปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนในเลือด จะได้วินิจฉัยได้ว่าผมมีปัญหากับการหายใจ และก็ได้ผล อย่างน้อยผมก็ได้ยินเสียงหมอพอตะโกนตอบกลับว่า

“แซท 100%”

ผมได้ยินแล้วก็บอกตัวเองว่าใจเย็นๆ ใจเย็นๆ ยังมีเวลาอีกอย่างน้อยสี่นาที เพราะเมื่อทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น สมองมีเวลานับจากที่ออกซิเจนในเลือดค่อยๆลดลงจากภาวะปกตินานถึง 4 นาที ผมจึงผ่อนคลายตัวเองลง แล้วก็ได้ยินเสียงคนรอบตัวคนหนึ่งพูดว่า

“ออกซิเจนแซทดร็อป”

นั่นเป็นข่าวดี เพราะแสดงว่าตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าผมกำลังมีปัญหากับระบบการหายใจ ขั้นต่อไปคงต้องมีคนใดคนหนึ่งฟังปอดของผม แล้วก็ได้ยินอีกเสียงร้องสั่งการว่า

“เปลี่ยนนาซอลแคทเป็นมาสค์วิทแบ็ก”

แปลว่าเขาหาทางเพิ่มออกซิเจนให้ผมโดยการเปลี่ยนสายออกซิเจนทางจมูกซึ่งให้ออกซิเจนแค่ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็นหน้ากากที่มีถุงเก็บออกซิเจนอยู่ด้วย ซึ่งจะให้ออกซิเจนได้มากถึง 70% ข่าวนั้นยิ่งทำให้ผมผ่อนคลายได้มากขึ้น ผมตั้งสติค่อยๆทดลอง ค่อยๆหายใจเข้า ทำไม่ได้ เพราะลมมันคับอยู่เต็มปอดแล้ว ผมทดลองค่อยๆผ่อนเอาลมหายใจออก มันพอออกได้แฮะ จากนั้นก็ใจเย็นๆค่อยๆหายใจเข้า มันก็พอเข้าออกได้นิดหนึ่งๆแล้วค่อยๆได้มากขึ้นๆ แถมได้ยินเสียววี้ดในจังหวะหายใจเข้า อย่างน้อยก็ทำให้ผมวินิจฉัยได้แล้วว่าผมไม่น่าจะเป็นลมคั่งในทรวงอก น่าจะเป็นสายเสียงเกร็งตัวเฉียบพลัน (vocal cord spasm) จากการใส่และถอดท่อช่วยหายใจมากกว่า จึงค่อยๆตั้งใจหายใจเข้าช้าๆ ออกช้าๆอย่างบรรจง ความสามารถรับรู้ก็ค่อยกลับมา จนลืมตาเห็นและพูดกับหมอและพยาบาลที่มะรุมมะตุ้มรอบตัวผมอยู่ในเตียงที่ไอซียู.ได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ให้ประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 3. ด้วย เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับความใกล้ชิดระหว่างความเป็นกับความตายว่าชีวิตกับความตายนั้นมันสัมพันธ์กันแนบแน่นเป็นเกลียวเชือก ทำให้ผมยอมรับคอนเซ็พท์การตายว่าเป็นของที่อยู่คู่กับการใช้ชีวิตแบบโมเมนต์ต่อโมเมนต์ โดยรอบเวลาที่จะตัดสินว่าจะอยู่หรือจะตายนั้นสั้นแค่ทุกๆหนึ่งลมหายใจเท่านั้นเอง เพราะที่ปลายของการหายใจออก หากไม่มีการหายใจเข้าเมื่อใด ก็เสร็จมะก้องด้องเมื่อนั้น ดังนั้นอยู่กับตายมันเต้นแทงโก้ไปด้วยกันทุกลมหายใจ ถ้าเผลอปล่อยความรู้ตัวไปขลุกอยู่กับความคิดแม้เพียงลมหายใจเดียว ก็อาจจะเผลอตายไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่รู้ตัว

และประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 4. ก็คือความตายซึ่งเริ่มด้วยการที่ “ฉัน” ออกไปอยู่นอกร่างกายนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านหรือการมีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งในชีวิตเท่านั้น เพราะแม้องค์ประกอบที่สร้างอีโก้หรือความเป็น “หมอสันต์” อันได้แก่ร่างกาย ความรู้สีก ความจำ และความคิดนี้จะไม่มีแล้ว แต่ “ฉัน” ที่แท้จริงซึ่งอยู่ลึกลงไปนั้นยังมีอยู่ในรูปของความตื่นที่สามารถรับรู้อะไรได้อย่างสบายๆและสงบเย็น และที่สำคัญ การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้อึกทึกครึกโครมหรือลำบากหรือน่ากลัวอะไรเลย น่าขำที่ตลอดชีวิตสิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคือความตาย แต่ตอนนี้สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดไม่ใช่ความตายแล้ว แต่ผมกลัวว่าในแต่ละลมหายใจที่กำลังมีชีวิตอยู่นี้ผมจะหมดเวลาในชีวิตไปกับการเผลอปล่อยให้ความสนใจไปขลุกอยู่ในความคิดไร้สาระซึ่งจะพาให้ตัวเองทุกข์ฟรีมากกว่า แทนที่จะได้ใช้เวลานั้นวางความคิดแล้วทำความรู้จักกับ “ฉัน” ที่แท้จริงที่อยู่ข้างในให้มากขึ้น เพราะนั่นน่าจะเป็นหนทางที่จะเปิดให้ผมใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้มากที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์