Latest

โรคหลอดเลือดแดงอักเสบแบบเป็นปม Polyarteritis Nodosa

เรียนคุณหมอสันต์

อยากถามถึงโรค polyarteritis nodosa (PAN) ว่ามันเป็นอย่างไร มันเกิดจากอะไร หมอจะรักษาโดยสะเตียรอยด์แต่ไม่อยากได้ มันจำเป็นหรือเปล่าเพราะไม่ชอบใช้ยากดภูมิคุ้มกันอย่างสะเตียรอยด์ มีวิธีรักษาอย่างอื่นไหม เช่นใช้การรักษาทางเลือก หรืออาหาร หรือธรรมชาติบำบัด

ตอบครับ

1.. ถามว่าโรค polyarteritis nodosa คืออะไร ตอบว่าคือโรคที่เกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลางที่ส่วนใหญ่เลี้ยงอวัยวะภายใน เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้หลอดเลือดแดงโป่งพองหรือแตกจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

2..ถามว่าโรคนี้มีอาการอย่างไรและวินิจฉัยได้อย่างไร ตอบว่าวิทยาลัยโรคข้ออเมริกัน (ACR) ได้ให้เกณฑ์ไว้ว่าการจะวินิจฉัยจากอาการว่าใครเป็นโรคนี้ต้องมีอย่างน้อยสามข้อในสิบข้อต่อไปนี้ โดยที่ไม่มีสาเหตุจากโรคอื่น

2.1 น้ำหนักลดอย่างน้อย 4 กก.ขึ้นไป

2.2 มีผื่นผิวหนังแบบตาข่ายแห (Livedo reticularis)

2.3 มีอาการปวดหรือกดเจ็บที่ลูกอัณฑะ (ถ้าเป็นชาย)

2.4 ปวดหรือเปลี้ยหรือกดเจ็บที่กล้ามเนื้อขา

2.5 ปลายประสาทเสียการทำงานเส้นเดียวหรือหลายเส้น

2.6 ความดันเลือดตัวล่างสูงเกิน 90 mm/Hg

2.7 ไตเสียการทำงานโดย BUN หรือ creatinine โดยที่ร่างกายไม่ได้ขาดน้ำ

2.8 มีตัวเชื้อ (HBsAg) หรือมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี. (HBsAb) อยู่ในเลือด

2.9 ตรวจหลอดเลือดด้วยการฉีดสีพบหลอดเลือดเลี้ยงอวัยวะภายในโป่งพองหรืออุดตัน

2.10 ตัดชิ้นเนื้อหลอดเลือดขนาดกลางมาตรวจพบเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลแบบหลากหลายรูปร่าง (PMN) อยู่ในผนังหลอดเลือด

3.. ถามว่าโรคนี้รักษาอย่างไร ตรงนี้มันเป็นเรื่องของหมอเขา หมอที่รักษาโรคนี้คือหมอโรคข้อ (rheumatologist) ผมตอบแค่ให้คุณรู้ไว้แค่นั้นแต่คุณจะเอาไปรักษาตัวเองไม่ได้นะ ว่าหมอเขารักษาโดยใช้ยากดภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสะเตียรอยด์ซึ่งอาจให้ร่วมกับ cyclophosphamide ในกรณีมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.ร่วมด้วยก็ให้ยาต้านไวรัสร่วม กรณีดื้อสะเตียรอยด์ก็อาจใช้ยา “ล็อคเป้า” ที่ได้จากการโคลนนิ่งเม็ดเลือดขาว (monoclonal antibody) เช่นยา tocilizumab, infliximab กรณีรุนแรงมากทำอย่างไรก็เอาไม่อยู่เลยก็อาจต้องถ่ายน้ำเหลือง (plasma exchange)

4. ถามว่าหมอเขาจะให้สะเตียรอยด์แต่ไม่อยากเอาจะดีไหม ตอบว่าคิดอย่างนั้นไม่ดีครับ โรคนี้ตั้งใจให้หมอโรคข้อเขารักษาให้จบเป็นดีที่สุด ส่วนการจะใช้อาหารหรือธรรมชาติบำบัดคุณก็ทำควบคู่ไปกับการรักษาของหมอเขาได้ เพราะโรคนี้ยามที่มัน “เห่อ” ขึ้นมาแล้ว หากไม่รักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันเลยโอกาสรอดตายใน 5 ปีมีเพียง 13% มิใยว่าคุณจะใช้อาหารหรือธรรมชาติบำบัดอย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเส็งไปภายในสามเดือนแรกนับตั้งแต่โรคเริ่มเกิดขึ้น แต่ถ้าได้สะเตียรอยด์อัตรารอดชีวิตเพิ่มเป็น 50-60% ยิ่งถ้ามีการควบยากดภูมิคุ้มกันหลายตัวอัตรารอดชีวิตยิ่งเพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 80% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตรารอดชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนปกติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Lightfoot RW Jr, Michel BA, Bloch DA, Hunder GG, Zvaifler NJ, McShane DJ. The American College of Rheumatology 1990 criteria for the classification of polyarteritis nodosa. Arthritis Rheum. 1990 Aug. 33(8):1088-93. [Medline].
  2. de Menthon M, Mahr A. Treating polyarteritis nodosa: current state of the art. Clin Exp Rheumatol. 2011 Jan-Feb. 29(1 Suppl 64):S110-6. [Medline].
  3. Akiyama M, Kaneko Y, Takeuchi T. Tocilizumab for the treatment of polyarteritis nodosa: a systematic literature review. Ann Rheum Dis. 2020 Sep 9. [Medline].