Latest

กลุ่มอาการตามหลังโรคโควิดระยะเฉียบพลัน (PASC)

รบกวนคุณหมอสันต์ครับ

ผมป่วยเป็นโควิด เข้าโรงพยาบาล เข้าไอซียูหกวัน รวมอยู่โรงพยาบาล 14 วันแล้วหมอให้กลับบ้านทั้งๆที่ผมยังหอบเหนื่อยให้ออกซิเจนอยู่เลย ที่บ้านผมไม่มีใครดูแลผมด้วย ขออยู่โรงพยาบาลต่อก็ไม่ให้อยู่ ขอตรวจเชื้อไวรัสก่อนกลับก็ไม่ยอมตรวจให้ ทั้งหมดนี้หมอรักษาผมแบบผิดมาตรฐานหรือเปล่าครับ แล้วผมควรไปหาตรวจไวรัสที่รพ.เอกชนไหม ผมจะเอาโรคมาติดลูกเมียหรือเปล่า ถ้าผมหายแล้วอย่างที่หมอว่าจริงทำไมผมยังหอบเหนื่อยและไออยู่ อย่างนี้เขาเรียกว่าผมเป็นโรคอะไรอีกครับ

ขอบพระคุณครับ

……………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าป่วยเป็นโควิดรักษาได้ 14 วันอาการยังไม่หายดีแพทย์ก็ให้กลับบ้านแล้ว แบบนี้เป็นการรักษาที่ผิดวิธีหรือเปล่า ตอบว่าไม่ใช่การรักษาที่ผิดวิธีครับ แพทย์ตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายไหนจะกลับบ้านได้โดยปลอดภัยเขาดูองค์ประกอบหลายอย่างรวมทั้งผลตรวจการทำงานของอวัยวะหลักและแนวโน้มการลดลงของอาการ เมื่อดูภาพรวมเห็นว่าปลอดภัยแล้วเขาก็ให้กลับ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้อาการหมดเกลี้ยง เนื่องจากโรคบางโรคเช่นโรคโควิดนี้ ในบางคนกว่าอาการจะหมดเกลี้ยงก็พ้นสามเดือนหลังจากได้กลับบ้านไปแล้ว ดังนั้นมันไม่มีเหตุผลเลยถ้าจะให้คุณอยู่ในโรงพยาบาลอีกสามเดือนเพื่อรอให้อาการหมด

2. ถามว่ากลับมาบ้านก็ไม่มีคนดูแล ขออยู่โรงพยาบาลต่อไม่ได้หรือ ตอบว่า โรงพยาบาลไม่ใช่ของเราคนเดียว แบ่งๆให้คนอื่นเขาใช้บ้างก็ดีนะครับ ส่วนเรื่องอยู่บ้านไม่มีคนดูแลนั้นมันก็เป็นปัญหาที่มีเหมือนกันทุกคน เพราะสมัยนี้ทุกคนล้วนกลัวบ้านของตัวเอง ป่วยก็ไม่กล้าอยู่บ้าน จะตายก็ไม่กล้าตายที่บ้าน ทั้งหมดนี้มันเป็นความผิดของวงการแพทย์ที่ไปเสี้ยมให้ผู้คนเสพย์ติดโรงพยาบาลจนสูญสิ้นศักยภาพที่จะดูแลตัวเองไปหมด สำหรับคุณนี่เป็นโอกาสดีแล้วที่จะหัดดูแลตัวเอง ถึงแฟนบล็อกหมอสันต์ท่านอื่นทุกท่านก็เถอะ วันหนึ่งเราจะต้องมาถึงตรงนี้ คือวันที่เราต้องดูแลตัวเองโดยที่คนอื่นเขาช่วยอะไรเราไม่ได้เลย

เวลาหมอเขาให้ออกจากโรงพยาบาลคุณอย่าไปโทษเขาเลย หมอเขามีหน้าที่ตัดสินใจว่าใครจะได้ประโยชน์จากเตียงโรงพยาบาลคุ้มค่าที่สุด การตัดสินใจตรงนี้มีหลักจริยธรรมแพทย์กำกับไว้ข้อหนึ่ง คือหลักยุติธรรม (Principle of justice) ว่าเมื่อจำเป็นต้องจัดสรรสิ่งที่มีอยู่จำกัดให้แก่คนไข้ แพทย์พึงยึดถือหลักยุติธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอคติเช่นชาติ ศาสนา ความเชื่อ สีผิว เพศ ของคนไข้ สรุปว่าแพทย์เขาตัดสินใจของเขาดีแล้ว ส่วนเมื่อกลับบ้านแล้วคุณจะดูแลตัวเองอย่างไร นั่นเป็นปัญหาของคุณ

3. ถามว่าก่อนกลับบ้านขอตรวจไวรัสแพทย์ไม่ตรวจให้ ควรจะไปขอตรวจไวรัสที่รพ.เอกชนดีไหม ตอบว่าไม่ดีครับ การตรวจดูตัวไวรัสก่อนกลับบ้านไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรคโควิด เพราะงานวิจัยพบว่าคนป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วมีจำนวนมากที่ยังตรวจพบไวรัสอยู่ในตัวได้นานหลังจากนั้นตั้งหลายเดือน ซึ่งวงการแพทย์ถือว่าเป็น “ซากของไวรัส” เพราะเมื่อพยายามเอาไวรัสที่ตรวจพบหลังป่วยไปเพาะเลี้ยงก็เลี้ยงไม่ขึ้น และเมื่อติดตามดูไปก็ไม่พบว่ามีใครเอาซากไวรัสนี้ไปติดคนอื่นได้ ดังนั้นการตรวจหาไวรัสก่อนออกจากรพ.นอกจากไม่จำเป็นแล้วยังไม่สมควรตรวจอีกต่างหาก เพราะตรวจไปก็ไลฟ์บอย ยังไงก็ต้องกลับบ้านอยู่ดี แถมได้โรคประสาทกลับบ้านมาด้วยหากผลตรวจพบว่ายังมีไวรัสอยู่แม้จะเป็นแค่ซากก็ตาม แล้วจะไปตรวจมันทำไม

4. ถามว่ารักษาโควิดเพิ่งได้ 14 วันและอาการไม่หมดดี จะเอาโควิดมาติดลูกเมียไหม ตอบว่างานวิจัยยังไม่เคยพบว่ามีผู้ป่วยรายไหนที่มีชีวิตรอดมาได้นานเกิน 6 วันนับจากวันที่มีอาการและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิดแล้วจะเอาไวรัสในตัวเองไปติดคนอื่นได้ ดังนั้นจากสถิตนี้คุณพ้นหกวันอันตรายสำหรับลูกเมียมาแล้ว ให้คุณสบายใจได้ว่าคุณจะไม่เอาไวรัสไปติดพวกเขา แต่เนื่องจากโควิดเป็นโรคใหม่ที่ความรู้แพทย์อาจจะยังมีไม่ครบถ้วน ดังนั้นแม้กลับบ้านแล้วคุณก็สมควรใช้มาตรการป้องกันโรค สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ไว้ตลอดเวลาแม้จะอยู่ในบ้านตัวเอง

5. ถามว่าถ้าหายจากโควิดจริงแต่ยังทำไมไอและเหนื่อยหอบอยู่ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นโรคอะไรอีกหรือเปล่า และต้องทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าคนที่จบการรักษาโควิดในโรงพยาบาลกลับมาบ้านนานเกินหนึ่งเดือนไปแล้วแต่อาการยังไม่จบ คำวินิจฉัยทางแพทย์เขาเรียกรวมกันเป็นเข่งเดียวว่า “กลุ่มอาการที่เป็นผลตามหลังโรคโควิดช่วงเฉียบพลัน” หรือ post-acute sequelae of SARS-CoV-2 infection (PASC)

อาการที่ยังคงอยู่อาจเป็นอาการเก่าที่เคยเป็น หรืออาการเกิดขึ้นใหม่ก็ได้ เช่นหอบเหนื่อย หายใจลึกไม่ได้ เปลี้ยล้า เพลียง่าย สมองมึนงงสับสน ไอ เจ็บหน้าอก ปวดหัว ใจสั่น ใจเต้นเร็ว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เหน็บชา นอนไม่หลับ เป็นไข้ โหวงเหวงในหัว ทำกิจวัตรไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่สะดวก จมูกไม่ได้กลิ่น กังวล ซึมเศร้า เป็นต้น อาการอาจเป็นอยู่นานหลายเดือนและอาจทำให้อวัยวะหลายอวัยวะทำงานผิดปกติไป

ณ ตอนนี้วงการแพทย์ยังมีแค่คำวินิจฉัย แต่ยังไม่รู้สาเหตุและยังไม่รู้วิธีรักษามันเลย การรักษา PASC ที่ดีที่สุดตอนนี้คือเฉยไว้ การขยันไปตรวจเพิ่มเติมก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแถมยังมีแต่จะก่อความกังวล ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) จึงแนะนำแค่ให้ดูแลตัวเองหรือรักษากับหมอประจำครอบครัวไปตามอาการ โดยไม่แนะนำให้สืบค้นรายละเอียดใดๆเลยใน 45 วันแรกแม้จะมีอาการมากอยู่ หรือใน 90 วันแรกหากไม่มีอาการแล้ว การใจร้อนตรวจในช่วงนี้ไม่มีประโยชน์ ถ้าเกิน 45 วันแล้วอาการยังมากค่อยกลับไปหาหมอที่โรงพยาบาลใหม่เพื่อวินิจฉัยแยกการติดเชื้อเบิ้ล (re-infection) ซึ่งเกิดขึ้นได้นานๆครั้ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Korea Centers for Disease Control and Prevention. Findings from Investigation and Analysis of re-positive cases. Press Release May 19, 2020.

2. Cheng HW, Jian SW, Liu DP, Ng TC, Huang WT, Lin HH, et al. Contact Tracing Assessment of COVID-19 Transmission Dynamics in Taiwan and Risk at Different Exposure Periods Before and After Symptom Onset. JAMA Intern Med 2020 May 1; doi:10.1001/jamainternmed.2020.2020