Latest

จม.ถึงลุงตู่ (2) ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคในกทม.และปริมณฑล

กราบเรียนลุงตู่ที่เคารพ

สถานะการณ์ตอนนี้ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นแก้ไม่ได้

ในภาพใหญ่ ในด้านหนึ่ง ข้อมูลที่ผมได้จากจอห์นฮอพคินส์คือมีการติดเชื้อแน่นอนแล้ว 543,361คน (0.08% ของประชากร) ตายไปแล้ว 4,397 คน (0.8% ของผู้ติดเชื้อ) ฉีดวัคซีนครบไปแล้ว 3,652,990 คน (5.45% ของประชากร) โดยที่โรคกำลังอยู่ในระยะมีอัตราเร่ง (acceleration phase)

ในอีกด้านหนึ่ง เฉพาะกทม.และปริมณฑล จากข้อมูลโครงการชมรมแพทย์ชนบทร่วมกันสป.สช.ตรวจคัดกรองในชุมชน 12 จุด ตรวจได้ 31518 คน พบว่าตรวจ Rapid test ได้ผลบวก 5,086 คน ตรวจ PCR ได้ผลบวก 5,133 คน หรือได้ผลบวก 16.28 % ข้อมูลชุดนี้สื่อตรงๆว่าการติดเชื้อในชุมชนนั้นแพร่ไปถึง 16.28% แล้ว หากหักทอนความลำเอียงของข้อมูลว่าพวกที่ยอมมารับการตรวจมักเป็นพวกมีความเสี่ยงมากไปสัก 1 หรือ 2 เท่า ภาพใกล้ความจริงของการติดเชื้อในชุมชนของกทม.ก็น่าจะอยู่ที่ 5-10% ของประชากร กทม.ทั้งหมด หรือประมาณ 285,069 -570,138 คน

มองข้อมูลทั้งสองชุดนี้จะเห็นว่าเฉพาะกทม.และปริมณฑลเป็นจุดที่มีปัญหาโดดเด่นแตกต่างจากภาพรวมของประเทศ อัตราการติดเชื้อระดับ 5-10% เป็นระดับการติดเชื้อที่มากพอที่จะก่อโมเมนตั้มให้ขึ้นถึงจุดระเบิดปัง..ง…ง ที่พ้นการควบคุมได้โดยไม่ยาก

เอกลักษณ์ของ กทม. ปริมณฑล โรงงาน บ้านจัดสรร และชุมชนแออัด

กทม.นั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประเทศไทยโดยรวม ไฮไลท์ที่ระบบบริหารเมืองแม้ที่จะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้ว่ากทม.แต่ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ยังไม่มีวิธีบูรณาการในการจัดการปัญหาวิกฤติ ในส่วนของการดูแลสุขภาพประชาชน สำนักงานแพทย์กับสำนักอนามัยของกทม.เองก็เป็นเหมือนโลกคนละใบกันที่มีความเชื่อมโยงกันน้อยมาก ต่างจากชนบทที่มีการบูรณาการการดูแลสุขภาพขั้นมูลฐานของประชาชนผ่านรพ.สต.และอสม. ควบคู่ไปกับการบริหารชุมชนของอบต.อย่างค่อนข้างได้ผล

เขตปริมณฑล มีเอกลักษณ์ที่มีวิถีชีวิตแบบโรงงาน คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร และชุมชนแออัด วิถีชีวิตทั้งสี่รูปแบบนี้ดำเนินมาแบบดูแลตัวเองของใครของมันมาช้านาน โดยแทบไม่มีระบบดูแลสุขภาพขั้นมูลฐานของรัฐใดๆเข้าถึงเลย แม้การระบาดในต่างจังหวัดทุกวันนี้ หากสาวไปถึงต้นตอจริงๆก็จะพบว่าเกิดจากรูปแบบวิถีชีวิตหนึ่งในสี่อย่างนี้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบโรงงาน

เมื่อโควิด19 มาเยือนไทย ชนบทใช้ยุทธศาสตร์ร่วม อบต. รพ.สต. อสม. รับมืออย่างได้ผล แต่กทม.และปริมณฑลใช้ยุทธศาสตร์แบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่เคยมี หรือมีก็ไม่เคยใช้ หรือพยายามใช้แล้วก็ใช้ไม่ได้ การรับมือกับโรคโควิดต้องไปอาศัยการบริหารสถานะการผ่านสื่อมวลชน ซึ่งทำได้แค่ปฏิบัติการด้านจิตวิทยา แต่การควบคุมโรคที่แท้จริงซึ่งต้องอาศัยความถึงลูกถึงคนในเรื่องการค้นหาโรค สอบสวนโรค กักกันโรค นั้นไม่มีกลไกเอื้อให้ทำได้ทันการณ์ ตอนนี้มันจำเป็นแล้วที่จะต้องมียุทธศาสตร์การควบคุมโรคสำหรับ กทม.และปริมณฑล

หน้าตาของยุทธศาสตร์ควบคุมโรคในกทม.และปริมณฑล

ผมเสนอตุ๊กตาหน้าตาของยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ให้ลุงพิจารณานะครับ

1..ต้องเปลี่ยนหน่วยย่อยของการควบคุมโรค จากหมู่บ้าน ตำบล หรือแขวง เขต มาเป็น โรงงาน คอนโด หมู่บ้านจัดสรร ชุมชนแออัด หมายความว่าโรงงานหนึ่งโรงก็เป็นหนึ่งหน่วยควบคุมโรค คอนโดหนึ่งหลังก็เป็นหนึ่งหน่วยควบคุมโรค บ้านจัดสรรหนึ่งหมู่บ้านก็เป็นหนึ่งหน่วยควบคุมโรค หนึ่งชุมชนแออัดก็เป็นหนึ่งหน่วยควบคุมโรค โดยรัฐเข้าไปร่วมกับชุมชนตั้งหน่วยควบคุมโรคนี้ขึ้น ไม่ต้องมีอะไรมาก แค่โต๊ะหนึ่งตัว โทรศัพท์หนึ่งเครื่องก็เริ่มทำงานได้แล้ว หน่วยควบคุมโรคนี้เป็นของรัฐ และเชื่อมโยงโดยตรงกับหน่วยงานสาธารณสุขทั้งเอกชน กึ่งเอกชน และภาครัฐ หลายๆหน่วยที่เกี่ยวข้อง (เช่นศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาล เป็นต้น)

2..ต้องเปิดรับสมัครและฝึกอบรม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ในทุกชุมชนเพื่อสร้างเป็นทีมงานอสม.ที่แข็งแกร่งที่เข้าถึงสมาชิกชุมชนทุกคนทุกครัวเรือนได้ ยกตัวอย่างเช่นในหนึ่งชั้นของคอนโดมิเนียมก็อาจจะมีอสม.หนึ่งหรือสองคน ในโรงงานก็มีอสม.หนึ่งหรือสองคนต่อหนึ่งแผนก เป็นต้น

อสม.หนึ่งคนจะทำงานกับสมาชิกในชุมชุนประมาณ 5 -10 ครอบครัว โดยการพบปะกันแบบ face to face และการทำงานแบบโค้ชชิ่งผ่านแอ๊พมือถือที่คนในชุมชนทุกคนต้องใช้แอ๊พนี้ในการบอกสถานะเขียวเหลืองแดงของตัวเอง และโค้ชสามารถเข้าไปติดตามดูสถานะของลูกข่ายของตนเอง หากเห็นห่างหายไม่ลงข้อมูลก็สามารถเดินไปเยี่ยมพูดคุยได้ เป้าหมายสุดท้ายของการทำงานของอสม.กับแอ๊พก็คือให้ระบบสามารถเกาะติดสถานะเขียวเหลืองแดงของประชาชนทุกคนในกทม.และปริมณฑลได้แบบวันต่อวัน

3..เมื่อสามารถเกาะติดสถานะเขียวเหลืองแดงของประชาชนทุกคนในกทม.และปริมณฑลได้แล้ว ศูนย์บริหารสถานะการณ์ (command post) ก็จะสามารถปรับยุทธวิธีในการรับมือกับโรคได้ล่วงหน้า นอกเหนือจากการคอยรับมือเป็นรายวันอย่างที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ home isolation, community isolation, hospitel, hospital ก็ตาม

4.. เมื่อแต่ละวันรู้ว่าประชาชนทุกคน ใครอยู่ที่ไหน มีสถานะอะไรเขียวเหลืองแดง ก็จะใช้ยุทธวิธีระบาดวิทยามาตรฐานคือวินิจฉัย สอบสวน กักกัน เข้าไปควบคุมโรคได้ในเวลาไม่นาน เราทำได้แน่ เพราะการควบคุมโรคคือจุดแข็งของเรา อย่าลืมว่าวงจรชีวิตของโรคนี้มันสั้นมาก และพาหะก็มีอย่างเดียวคือคน ช่วงที่โรคติดต่อกันได้จริงๆมีแค่ 8 วันเท่านั้น คือสองวันก่อนมีอาการ และ 6 วันหลังมีอาการ หลังจากนั้นแม้จะยังป่วยอยู่ แต่ไวรัสก็หมดความสามารถที่จะไปติดต่อคนอื่นแล้ว

ลุงรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

(รักลุง ตั้งแต่ครั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง และยังรักลุงอยู่)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์