Latest

(script) หลักฐานวิทยาศาสตร์ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 มีมากพอแล้ว

(script, last update Aug10, 2021)

สวัสดีครับ ผมสันต์ ใจยอดศิลป์ นะครับ

ผมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวหรือ family medicine หน้าที่หนึ่งก็ของการเป็นแพทย์สาขานี้ก็คือการให้ความรู้และตอบคำถามแก่คนทั่วไปเรื่องการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี ซึ่งผมทำผ่านอีเมล เฟซบุ้ค และบล็อก ปรากฎว่าคำถามที่เข้ามาในระยะหลังนี้มีแต่คำถามเรื่องโควิดในประเด็นต่างๆรวมทั้งการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดด้วย ยิ่งความหวังที่จะพึ่งพาวัคซีนได้นั้นต้องถอยห่างออกไปอีกอย่างน้อยสองปี ในระหว่างนี้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่วัคซีนก็มีมากขึ้น หนึ่งในสิ่งที่อาจจะพึ่งได้เหล่านั้นก็คือฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) นี่แหละ

ในอดีตผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหัวใจอยู่นานประมาณ 20 ปี ตัวผมเองมีความสนใจในการเลือกใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์มากำหนดแนวทางรักษาผู้ป่วยมากเป็นพิเศษ เพราะช่วงหนึ่งในชีวิตประมาณช่วงปีค.ศ. 2000 ผมได้ไปทำงานเป็นอนุกรรมการคัดเลือกหลักฐานวิทยาศาสตร์มาออกคำแนะนำการช่วยชีวิตให้กับสมาคมหัวใจอเมริกัน หรือ American heart association ทำให้ผมมีประสบการณ์ในการจัดชั้นของหลักฐานและการเลือกใช้หลักฐาน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมมาพูดกับท่านในวันนี้ ประเด็นของวันนี้คือหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรมารักษาโรคโควิด19 ตอนนี้มันมีหลักฐานมากพอแล้วหรือยัง

วันนี้ผมอยู่ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ที่มวกเหล็ก ตรงที่ผมนั่งอยู่นี้เป็นสวนสมุนไพรของเวลเนสวีแคร์ ข้างๆผมนี่ก็คือต้นฟ้าทะลายโจร นั่นคือกระชายขาว ต้นเขียวสูงๆนี่คือขมิ้นชัน

ก่อนอื่นเรามาพูดถึงระดับชั้นความเชื่อถือได้ของงานวิจัยทางการแพทย์สักหน่อยนะครับ เพราะสิ่งที่เราเรียกว่าการวิจัยนั้นมันมีหลายระดับชั้นความน่าเชื่อถือ ความจริงวงการแพทย์แบ่งหลักฐานวิจัยออกเป็น 7 ระดับ แต่วันนี้ผมจะแบ่งระดับชั้นให้เห็นง่ายที่สุดเป็นสามระดับก็แล้วกัน

ระดับต่ำ ก็คือผลวิจัยในสัตว์หรือในห้องทดลอง ซึ่งเรายังเอาผลมาใช้ในคนไม่ได้

ระดับกลาง ก็คือผลวิจัยในคนโดยไม่มีการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม ถ้ามีการเปรียบเทียบกันก็เรียกว่างานวิจัยแบบตามดูกลุ่มคน (cohort) ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบก็เรียกว่าเป็นรายงานผู้ป่วย (case series) ซึ่งงานวิจัยระดับนี้เอาผลมาใช้ในคนได้ แต่อาจจะยังมีปัจจัยกวนที่ไม่เป็นไปตามผลวิจัยได้อยู่

ระดับสูง ก็คือผลวิจัยในคนที่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ หรือ randomized controlled trial เรียกย่อติดปากในวงการแพทย์ว่างานวิจัยระดับ RCT เป็นงานวิจัยทางการแพทย์ระดับสูงสุดที่ใช้เป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนวิธีรักษาโรคต่างๆในวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน

กลับมาพูดถึงเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้ ในการวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจร ทั่วโลกนิยมใช้สารออกฤทธิ์ตัวหนึ่งชื่อแอนโดรกราฟโฟไลด์ (andrographolide) เป็นตัวแทนฟ้าทะลายโจรเพื่อความง่ายในการนับหน่วยน้ำหนักและกำหนดขนาดยา ดังนั้นเมื่อผมพูดถึงมิลลิกรัมของยา ผมจะหมายถึงมิลลิกรัมของแอนโดรกราฟโฟไลด์

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด19 ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ใช้ป้องกันโรคหวัดและใช้รักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนอยู่ทั่วโลกมานานแล้วโดยมีงานวิจัยระดับ RCT ในเรื่องนี้อยู่ 33 รายการ งานวิจัยในสัตว์ทดลองและในห้องทดลองมีแยะมาก ประมาณ 600 กว่าเปเปอร์ สามารถแยกสารออกมาได้ถึง 344 ตัว ศึกษาครอบคลุมทั้งประเด็นการฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย มาลาเรีย ต้านมะเร็ง ป้องกันตับ ป้องกันระบบประสาท รักษาเบาหวาน เป็นต้น ในจำนวนงานวิจัยเหล่านี้ ที่เป็นผลงานของนักวิจัยไทยก็มีไม่น้อย

เมื่อแรกเริ่มมีโควิดระบาด ที่ใต้หวันได้มีการทำวิจัยในห้องทดลองซึ่งพิสูจน์ได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถยังยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโควิดในจานเพาะเลี้ยงได้ โดยผ่านกลไกการระงับเอ็นไซม์โปรตีเอสของตัวไวรัส โดยได้ตีพิมพ์ผลวิจัยไว้ในวารสาร Biochem Biophys Res Commun. เมื่อปีกลาย ต่อมาในปีนี้ ม.มหิดลได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในห้องทดลองซึ่งยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรในรูปสารสกัดหยาบที่มีแอนโดรกราฟโฟไลด์อยู่ด้วยสามารถทำลายไวรัสนอกเซลและยับยังการขยายตัวของไวรัสในเซลได้ดีพอที่จะเดินหน้าทำเป็นยาต้านไวรัสได้ งานวิจัยหลังนี้ได้ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Natural Products นอกจากนี้ยังมีอีกงานวิจัยหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ทำวิจัยในห้องทดลองที่ได้ผลในลักษณะเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ กล่าวโดยสรุป ในระดับงานวิจัยในห้องทดลอง มีหลักฐานแน่ชัดแล้วว่าฟ้าทะลายโจรทำลายไวรัสที่ก่อโรคโควิด19 ได้ทั้งไวรัสในเซลและนอกเซล ยังขาดอยู่ก็แต่งานวิจัยในคนว่ามันได้ผลจริงไหม ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครตีพิมพ์ผลวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ในคนไว้เป็นหลักฐานให้อ้างอิงเลย มีก็แต่งานวิจัยที่กำลังตั้งต้นทำโดยสถาบันสมุนไพรสวีเดนซึ่งลงทะเบียนไว้กับ ClinicalTrial.gov หนี่งรายการ และมีงานวิจัยของไทยที่ทำเสร็จแล้วแต่รอการตีพิมพ์อยู่ 3 รายการ ทำให้แพทย์ยังไม่มีหลักฐานที่จะขยับใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาคนไข้โควิด19อย่างจริงจังได้เสียที

โดยธรรมชาติของการตีพิมพ์ผลงานวิจัย วารสารที่มีมาตรฐานดีจะต้องใช้เวลา 1-2 ปีในการตรวจนิพนธ์ต้นฉบับ รับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (peer review) อีกอย่างน้อยสองคนซึ่งแน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญก็ต้องการเวลาในการค้นคว้าก่อนให้ความเห็น หากผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นขัดแย้งกันก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญคนที่สามก็ต้องยืดเวลาออกไปอีก เพราะตัวผมเองก็เคยเจอปัญหาแบบนี้มาแล้วเวลาส่งผลวิจัยของตัวเองไปตีพิมพ์ แต่ในกรณีเรื่องฉุกเฉินอย่างการรักษาโรคโควิด19นี้ เมื่อวิจัยออกมาแล้วกว่าจะได้ตีพิมพ์ ผลวิจัยนั้นก็เสียโอกาสที่จะนำออกใช้ให้ทันการณ์ไป คือกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ไปเสียแล้ว

แต่เป็นที่น่ายินดีที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นเจ้าของงานวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ในคนที่รอการตีพิมพ์อยู่ทั้งหมด 3 รายการ (ซึ่งเป็นผลงานร่วมของหลายสถาบัน) ได้ยอมเปิดเผยผลวิจัยที่กำลังรอตีพิมพ์แก่แพทย์และนักวิชาชีพด้านสุขภาพผ่านทางการประชุมวิชาการแบบ online เมื่อวันที่ 17 มิย. 64 ที่ห้องประชุมของกรม ซึ่งผมขอนำข้อมูลผลวิจัยสามชิ้นนี้มาเล่าให้ท่านฟังวันนี้

งานวิจัยชิ้นที่ 1. เป็นงานวิจัยทำที่รพ.สมุทรปราการในคนป่วยเป็นโควิด ในรูปแบบที่เรียกว่า case series คือเอาผู้ป่วยโควิด19 มา 6 คน ให้กินยา 180 มก. ติดต่อกัน 5 วัน แล้วตรวจดูจำนวน(ก๊อปปี้)ของไวรัสซาร์ส์โควี2ซึ่งเป็นต้นเหตุโรคโควิดเป็นระยะๆ พบว่าสองรายที่ก่อนกินยามีไว้รัสต่ำอยู่แล้วพอครบห้าวันไวรัสหายเกลี้ยง อีกสามรายที่ก่อนกินยามีไวรัสสูงมาก พอครบห้าวันไวรัสลดจำนวนลงไปมากหลายร้อยถึงหลายพันเท่าแม้จะไม่หมดเกลี้ยง ทั้งหมดไม่มีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

ตารางแสดงจำนวนไวรัสหลังให้ฟ้าทะลายโจร

อาสาสมัครก่อนให้ยาวันที่3วันที่5
1907600
27252,0720
39,857,464,593344,507,73631,754,737
4296,46630813,935
515,7311,92431
6000

งานวิจัยชิ้นที่ 2. เป็นการวิจัยในรูปแบบย้อนหลังกลับไปดูกลุ่มคน (retrospective cohort study) ทำในโรงพยาบาล 9 แห่ง ที่รับคนไข้คลัสเตอร์ใหญ่ตลาดกุ้งมหาชัยโดยย้อนไปดูคนไข้โควิด19 ที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรที่มีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันนาน 5 วัน จำนวน 296 คน แล้วเอาผลไปเทียบกับผู้ป่วยโควิด19 อีก 243 คนจากแหล่งเดียวกันที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจรเป็นปอดอักเสบหรือปอดบวม 71 คน (24%) ขณะที่คนที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเป็นปอดอักเสบ 1 คน (0.4%) เมื่อตามไปดูหนึ่งคนที่เป็นปอดอักเสบนี้พบว่าเริ่มกินฟ้าทะลายโจรเอาเมื่อวันที่ 11 หลักจากพิสูจน์ได้ว่าติดเชื้อแล้ว ซึ่งเป็นการเริ่มกินช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยนี้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมาก (p=<0.001) ระหว่างการใช้กับไม่ใช้ฟ้าทะลายโจร โดยที่ผลข้างเคียงที่สำคัญก็ไม่ปรากฎให้เห็น

กลุ่มผู้ป่วยได้ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ฟ้าทะลายโจรP value
จำนวนผู้ป่วย296 คน243 คน 
เป็นปอดอักเสบ1 คน (0.4%)71 คน (24%)<0.001

งานวิจัยชิ้นที่ 3. ทำกับคนไข้ในด่านกักกันโรคหรือสะเตทควารันทีน เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นระดับหลักฐานชั้นสูงสุดของการวิจัยทางการแพทย์ รายละเอียดของงานวิจัยมีอยู่ว่าผู้วิจัยได้ใช้ผู้ป่วย 57 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง 29 คน ให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วัน อีกกลุ่มหนึ่ง 28 คน ให้กินยาหลอก โดยใช้การเกิดปอดอักเสบ (pneumonia) และการเพิ่มของสารบ่งชี้การอักเสบ CRP เป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่กินยาหลอกเกิดปอดอักเสบ 3 คน (10.7%) ขณะที่กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรไม่เกิดปอดอักเสบเลย (0 คน) และเมื่อดูตัวชี้วัดการอักเสบ CRP ตอนสิ้นสุดการใช้ยาว่ากลุ่มไหนมีคนที่ยังเหลือ CRP มากเกิน 10 mg/L ก็พบว่ากลุ่มได้ฟ้าทะลายโจรไม่มีเลย แต่กลุ่มได้ยาหลอกมี CRP เกินสิบอยู่ 5 คน (17.9%) ข้อมูลทั้งหมดนี้บ่งชี้ไปทางว่าฟ้าทลายโจรป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อโควิดได้ แต่เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไป ไปภายหน้าผมหวังว่าจะมีงานวิจัยที่ใช้กลุ่มตัวอย่างใหญ่กว่านี้เพื่อให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้น

กลุ่มผู้ป่วยได้ฟ้าทะลายโจรได้ยาหลอกP value
จำนวนผู้ป่วย29 คน28 คน 
เป็นปอดอักเสบ0 คน (0%)3 คน (10.7%)<0.039
CRP >100 คน (0%)5 คน (17.9%)<0.023

งานวิจัยทั้งสามชิ้นนี้เป็นหลักฐานการวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19ในคนที่สรุปผลได้สอดคล้องต้องกันว่าใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19แล้วดีกว่าไม่ใช้ สมัยที่ผมทำงานเป็นอนุกรรมการคัดเลือกหลักฐานวิจัยมาทำคำแนะนำการช่วยชีวิตของสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) หลักเกณฑ์ที่เราใช้คัดหลักฐานมาออกคำแนะนำคือหากมีหลักฐานวิจัยในมนุษย์สองชิ้นขึ้นไปที่ให้ผลสอดคล้องต้องกันโดยไม่มีหลักฐานอื่นใดให้ผลขัดแย้ง และหนึ่งในสองชิ้นนั้นเป็นหลักฐานระดับ RCT ก็ถือว่าหลักฐานมากพอที่จะนำมาทำเป็นคำแนะนำให้ปฏิบัติได้ ดังนั้นเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด19นี้ ข้อมูลแค่ที่มีอยู่นี้ผมมีความเห็นว่า “มากพอแล้ว” ที่จะตัดสินใจใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอการตีพิมพ์ผลวิจัยให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเพราะความเร่งด่วนของสถานะการณ์ไม่เอื้อให้รอได้

นอกจากหลักฐานวิจัยทั้งสามชิ้นในคนที่ผมเล่าไปแล้ว ยังมีข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเมื่อเกิดการระบาดของโควิดครั้งใหญ่ในเรือนจำเมื่อต้นปีนี้ ข้อมูลนี้แถลงโดยปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ ของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมกรมราชทัณฑ์ว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อสะสมรวม 37,656 คน หายป่วยสะสม 35,472 ราย (94.2%) ตายสะสม 47 ราย (0.1%) ซึ่งเมื่อเปรียบกับข้อมูลระดับประเทศซึ่งมีอัตราตายสะสม 0.8% แล้วก็พบว่าในเรือนจำมีอัตราตายต่ำกว่าถึง 8 เท่า 

กลุ่มผู้ป่วยผู้ป่วยทั้งประเทศผู้ป่วยในเรือนจำ
จำนวนผู้ป่วย345,027 คน37,656 คน
ตาย2,791 คน (0.8%)47 คน (0.1%)

สรุปว่าหล้กฐานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับ cohort และ RCT ในคน และข้อมูลเชิงระบาดวิทยาตามที่ผมแสดงให้เห็นแล้วนี้เป็นหลักฐานที่มากพอแล้วที่จะใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด19 ได้ทันที แน่นอนว่าการวิจัยเพิ่มเติมยังจะต้องทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อตอบคำถามอีกหลายประเด็นที่เรายังไม่ทราบ แต่การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดควรทำไปก่อนทันทีโดยไม่ต้องรอผลวิจัยเพิ่มเติม

การใช้ฟ้าทะลายโจรควบคุมโรคโควิด19

เนื่องจากฟ้าทะลายโจรหาง่าย ราคาถูก และจากงานวิจัยทั้งสามรายการข้างต้นพบว่ามีความปลอดภัยสูง ยิ่งใช้เร็วยิ่งได้ผลกำจัดโรคได้เด็ดขาด ในสถานะการณ์ของประเทศจากนี้ไปอีกสองปีข้างหน้าซึ่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม (vaccine coverage) ยังจะไม่ถึงเป้า ในระหว่างนี้ผมแนะนำว่าควรใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมโรคควบคู่ไปมาตรการค้นหาสอบสวนกักกันโรค โดยให้คนทุกคนที่เข้าข่ายสามกลุ่มต่อไปนี้กินฟ้าทะลายโจรในขนาดรักษาโควิด คือ180 มก. (เทียบเท่าแคปซูลผงของอภัยภูเบศร์ 15 แคปซูล) ต่อวันทันที กินนาน 5 วัน ทั้งสามกลุ่มได้แก่

(1) ผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิดมาไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม

(2) ผู้ที่มีอาการเป็นหวัดที่มีไข้แบบทั่วๆไปแม้จะไม่มีประวัติว่าได้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิดมาก็ตาม

(3) ผู้ที่ได้รับการตรวจพิสูจน์แล้วว่าติดเชื้อโรคโควิด19 ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม

ถ้าคนไทยทั้งสามกลุ่มนี้รีบกินฟ้าทะลายโจร 180 มก.ทุกวันนาน 5 วันทันทีทุกคน โรคโควิด19 ก็น่าจะหมดไปจากเมืองไทยอย่างรวดเร็ว

การใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด19

ในระดับประเทศ การระดมให้คนทั่วไปที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อและไม่มีอาการอะไรเลยกินฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มก. ต่อวันนาน 5 วันเพื่อกำจัดโรคนั้นผมมีความเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นยาฆ่าไวรัส การกินยาฆ่าไวรัสเมื่อยังไม่มีไวรัสอยู่ในตัวย่อมได้ประโยชน์น้อย อีกทั้งการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยยังเพิ่งอยู่ในระยะเป็นหย่อมๆ (clusters of cases) ไม่ใช่ระยะการระบาดในชุมชน (community spreading) เราเพิ่งมีผู้ป่วยเป็นโรคแล้วเพียงไม่ถึง 1% ของประชากรไทยทั้งหมด การให้คนอีก 99% ซึ่งไม่มีไวรัสอยู่ในตัวกินฟ้าทะลายโจรแบบปูพรมพร้อมกันคราวเดียวเพื่อทำลายเชื้อให้หมดประเทศจะต้องใช้ยาจำนวนมหาศาล ทำได้ยาก ไม่คุ้มลงทุน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยากกินฟ้าทะลายโจรในเชิงป้องกันโรคเป็นการส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวกับคนอื่น คือชอบกินยา หรือกินรักษาโรคประสาทก็แล้วแต่ ผมแนะนำให้กินเลียนแบบงานวิจัยที่ทำโดยสถาบันสมุนไพรสวีเดน (Swedish Herbal Institute) ซึ่งเขาเอาฟ้าทะลายโจรให้คนกินป้องกันการเป็นหวัด ในขนาด 11.2 มก. (เทียบเท่าแคปซูลผงบดอภัยภูเบศร์ 1 แคปซูล) ต่อวันกินติดต่อกันห้าวันสลับกับหยุดกินสองวัน กินอย่างนี้เรื่อยไปจนครบสามเดือน พบว่าป้องกันการเป็นหวัดได้หนึ่งเท่าตัว คือกลุ่มที่กินยาหลอกเป็นหวัด 62% กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรเป็นหวัด 30% โดยไม่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยาระดับรุนแรงเกิดขึ้นเลย วิธีกินแบบนี้ปลอดภัย แต่จะป้องกันโควิดได้หรือไม่ไม่รู้นะครับ อันนั้นตัวใครตัวมัน

โอเค.ครับ เราคุยกันมานานพอควรแล้ว ผมต้องขอลาท่านไปก่อน เอาไว้พบกันอีกในโอกาสหน้า สวัสดีครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. Biochem Biophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
  2. Khanit Sa-ngiamsuntorn, Ampa Suksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
  3. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. การเสวนาวิชาการฟ้าทะลายโจรสมุนไพรไทยใน COVID-19 เมื่อ 17 มิย.64. https://www.youtube.com/watch?v=2phuTUSCld8&t=7681s
  4. กรุงเทพธุรกิจ 14 กค. 64. กรมราชทัณฑ์เผยผู้ต้องขังหายป่วยโควิด-19 แล้ว 94.2%. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948538
  5. Caceres DD, Hancke JL, Burgos RA, Wikman GK. Prevention of common colds with Andrographis paniculata dried extract. A pilot double blind trial. Phytomedicine. 1997;4(2):101-4.
  6. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
  7. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(f Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233