Latest

โรคโควิดแบบลากยาว (Long Covid)

คุณหมอสันต์ครับ

ผมอายุ 55 ไม่เคยฉีดวัคซีน ติดโรคโควิด นอน hospitel 14 วันแล้วกลับบ้านมาได้ 13 วันแล้ว อาการไอค่อยๆลดลง แต่พอผมเริ่มเดินออกกำลังกายตอนเย็นพอตกกลางคืนก็มีไข้วัดได้ 37.4 พอเช้าก็หายไป แต่จะมีอาการอ่อนเปลี้ยราวกับจะเป็นอัมพาตเอา ทดลองหยุดออกกำลังกาย พอค่อยย้งชั่วก็ออกอีกก็เป็นอีก อาการอ่อนเปลี้ยไม่สบายรอบหลังนี้เป็นนานสี่ห้าวัน ขณะที่ไข้มีทุกคืน เป็นไปได้ไหมว่าผมติดเชื้อโควิดซ้ำสอง จะมีวิธีตรวจได้ไหมครับ ผมไปหาหมอคลินิกหมอให้ยาปฏิชีวนะมากินป้องกันติดเชื้อในปอด ผมกินสองสามวันแล้วอาการไม่เห็นดีขึ้นเลย ผมควรดูแลตัวเองอย่างไร

ขอบพระคุณครับ

………………………………………………………………………………

ตอบครับ

โรคของคุณนี้ภาษาบ้านๆเขาเรียกว่าโรคโควิดแบบลากยาว ซึ่งผมแปลมาจากคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า Long covid ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผลตามหลังเฉียบพลันของการติดเชื้อซาร์สโควี2” (post-acute sequelae of SARS-CoV-2 infection – PASC) ผมเคยตอบเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วไม่นานมานี้ แต่ตอบอีกก็ได้ เพราะคำถามแนวนี้มีเข้ามาไม่หยุด

นิยามของโรคโควิดแบบลากยาว

Long covid นิยามว่าคือโรคโควิดที่อาการป่วยยังคงมีอยู่แม้จะพ้น 3-4 สัปดาห์หลังติดเชื้อไปแล้ว อาการอาจคงอยู่ไปจนถึงหลายเดือนหลังการติดเชื้อ ซึ่งโควิดลากยาวนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนยังประเมินยากได้เพราะบางรายงานบอกว่าเกิดได้ 5% แต่บางรายงานบอกว่าเกิดได้ถึง 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ที่แน่ๆคือเป็นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่มีสะเป๊คที่จะบอกล่วงหน้าได้ว่าคนแบบไหนจะแจ๊คพ็อตเป็นโควิดแบบลากยาวมากกว่าคนแบบไหน

สาเหตุของโรคโควิดแบบลากยาว

โรคโควิดแบบลากยาวจริงๆแล้วอาจเป็นเข่งรวมของหลายๆโรคก็ได้ เช่น

(1) เกิดจากอวัยวะเสียหายจากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นได้หลายระบบตั้งแต่ระบบหายใจ หัวใจหลอดเลือด ไต ผิวหนัง ระบบประสาท และอาการป่วยทางจิตเวช

(2) ภาวะแทรกซ้อนของการอักเสบหลายอวัยวะ (MIS)

(3) ยังมีบ่อของเชื้อไวรัสที่ก่ออาการของโรคได้อยู่ในตัว

(4) ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันน้อยเกินไป

(5) เป็นอาการของโรคเรื้อรังโรคดั้งเดิมอื่นๆ เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

(6) เป็นผลพวงจากการนอนโรงพยาบาลนาน เช่น หลอดคอตีบเพราะใส่ท่อนาน กลุ่มอาการหลังนอนไอซียูนาน (PICS) กลุ่มอาการประสาทสงคราม (PTSD)

อาการของโรคโควิดแบบลากยาว

มีอาการประหลาดๆได้ทุกชนิด แต่อาการยอดนิยมได้แก่หอบเหนื่อยหายใจลำบาก เปลี้ยล้า หมอกลงสมอง (brain fog) ไอ เจ็บหน้าอก ปวดหัว ใจสั่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เหน็บชา ปวดท้อง ท้องร่วง นอนไม่หลับ เป็นไข้ โหวงเหวง (lightheadedness) ผื่นผิวหนัง ทำกิจวัตรไม่ได้ จมูกไม่ได้กลิ่น ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น

ส่วนอาการที่คุณเป็นนี้เรียกว่าอาการเปลี้ยหลังออกกำลังกาย (post exercise maliase – PEM) กล่าวคือออกกำลังกายสลึงเดียวแต่เหนื่อยร้อยบาท บางครั้งออกกำลังกายเบาๆครั้งเดียวแต่เหนื่อยไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวไปถึงเจ็ดวัน คือมันเหนื่อยเกินระดับสำออยหรือขี้เกียจ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ได้ หิ..หิ ไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่าคำว่า PEM นี้มาตั้งกันขึ้นเมื่อมีโรคโควิดมานี่เอง

วิธีรักษาโรคโควิดแบบลากยาว

วงการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาโควิดแบบลากยาว มีการทดลองสาระพัด แต่ไม่มีวิธีไหนได้ผล ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกขณะนี้คือโยนคนป่วยกลับไปให้แพทย์ประจำครอบครัวดูแลกันไปตามมีตามเกิด ถ้าจะมีข่าวดีบ้างก็คืองานวิจัยพบว่าการจับผู้ป่วยเข้าโปรแกรมฟื้นฟูอย่างเป็นกิจจะลักษณะราว 6 สัปดาห์ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ทั้งทางอวัยวะต่างๆของร่างกายและทางจิตใจ ตัวหมอสันต์เองก็เป็นแพทย์ประจำครอบครัว และก็เริ่มมีคนไข้โรคโควิดแบบลากยาวถูกส่งกลับมาให้ดูแลแล้ว จนหมอสันต์เองร่ำๆจะเปลี่ยนศูนย์เวลเนสวีแคร์เป็นศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโควิดแบบลากยาวซะแล้ว

ที่ผมว่ารักษากันไปตามมีตามเกิดผมหมายความว่ารักษาไปตามอาการ มีอาการอะไรโผล่ขึ้นมาก็หาทางแก้ปัญหาเอาที่ปลายเหตุให้พอทนอยู่ได้โดยที่ไม่รู้ว่าต้นเหตุมันอยู่ตรงไหน อย่างในกรณีของคุณนี้หากคุณถามว่า ต้องหยุดออกกำลังไหม หรือว่าต้องทู่ซี้ออกกำลังกายต่อไปไหม ผมตอบไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ หมอคนอื่นก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้น ผมแนะนำให้คุณทดลองกับตัวเอง สองสัปดาห์แรกทดลองทู่ซี้ออกกำลังกายดู ดูซิว่าจะตายไหม (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น) ดูซิว่าอาการเปลี้ยจะดีขึ้นไหม ถ้ายิ่งแย่ลงก็เปลี่ยนไปทดลองหยุดออกกำลังกายสองสัปดาห์บ้าง แล้วเปรียบเทียบผลและเลือกวิธีที่เห็นว่าตัวเองชอบที่สุด เอาแบบที่คุณชอบก็แล้วกัน

การวินิจฉัยแยกการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection)

ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ทั่วโลกจะงดเว้นการวินิจฉัยว่าใครติดเชื้อซ้ำไว้อย่างน้อย 90 วันหลังป่วยครั้งแรก (หรือ 45 วันถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง) เพราะหากรีบไปวินิจฉัยก็จะวินิจฉัยแยกไม่ออกจากการติดเชื้อครั้งแรก เพราะการวินิจฉัยจะแค่ตรวจ RT-PCR ซ้ำไม่ได้เนื่องจากได้ผลบวกแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นของโควิดตัวเก่าหรือของตัวใหม่ ต้องทำการตรวจเปรียบเทียบจีโนม (genomic sequencing) ของตัวอย่างเชื้อที่ติดครั้งใหม่กับครั้งเก่าซึ่งเป็นการตรวจที่ยุ่งยากและผมเข้าใจว่าเมืองไทยยังทำไม่ได้ (ถ้ามีที่ไหนทำได้ก็วานบอกผมเอาบุญด้วยนะครับ) ดังนั้นคุณอย่าไปคิดถึงเรื่องการติดเชื้อซ้ำเลย เพราะคิดไปก็ไม่ตลอด

คำตอบที่ผมตอบคุณวันนี้อีกไม่นานก็ต้องเปลี่ยนไปอีกนะ เพราะความรู้ใหม่เรื่องโรคโควิดลากยาวเกิดขึ้นตลอดเวลาและวิธีรักษาก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปตามความรู้ใหม่ วันนี้รู้แค่นี้ก็ใช้ประโยชน์จากความรู้แค่นี้ไปก่อนนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Nalbandian A, Sehgal K, Gupta A, Madhavan MV, et al. Post-acute COVID-19 syndrome. Nat Med. 2021 Apr;27(4):601-615. doi:10.1038/s41591-021-01283
    2. Huang Y, Pinto MD, Borelli JL, et al. COVID Symptoms, Symptom Clusters, and Predictors for Becoming a Long-Hauler: Looking for Clarity in the Haze of the Pandemic. medRxiv. 2021 Mar 5. doi: 10.1101/2021.03.03.21252086
    3. Havervall S, Rosell A, Phillipson M, Mangsbo SM, Nilsson P, Hober S, Thålin C. Symptoms and Functional Impairment Assessed 8 Months After Mild COVID-19 Among Health Care Workers. JAMA. 2021 Apr 7. doi:10.1001/jama.2021.5612
    4. Huang C, Huang L, Wang Y, et al. 6-month consequences of COVID-19 in patients discharged from hospital: a cohort study. Lancet. 2021 Jan 16;397(10270):220-232. doi:10.1016/S0140-6736(20)32656-8
    5. Pavli A, Theodoridou M, Maltezou HC. Post-COVID syndrome: Incidence, clinical spectrum, and challenges for primary healthcare professionals. Arch Med Res. 2021 May 4. doi:10.1016/j.arcmed.2021.03.010
    6. Cabrera Martimbianco AL, Pacheco RL, Bagattini ÂM, et al. Frequency, signs and symptoms, and criteria adopted for long COVID: a systematic review. Int J Clin Pract. 2021 May 11:e14357. doi:10.1111/ijcp.14357
    7. Donnelly JP, Wang XQ, Iwashyna TJ, et al. Readmission and Death After Initial Hospital Discharge Among Patients With COVID-19 in a Large Multihospital System. JAMA. 2021 Jan 19;325(3):304-306. doi:10.1001/jama.2020.21465
    8. Akinbami LJ, Petersen LR, Sami S, et al. COVID-19 symptoms and SARS-CoV-2 antibody positivity in a large survey of first responders and healthcare personnel, May-July 2020. Clin Infect Dis. 2021 Jan 30. doi:10.1093/cid/ciab080
    9. Sisó-Almirall A, Brito-Zerón P, Conangla Ferrín L, et al. Long Covid-19: Proposed Primary Care Clinical Guidelines for Diagnosis and Disease Management. Int J Environ Res Public Health. 2021 Apr 20;18(8). doi:10.3390/ijerph18084350
    10. Logue JK, Franko NM, McCulloch DJ, et al. Sequelae in Adults at 6 Months After COVID-19 Infection. JAMA Netw Open. 2021 Feb 1;4(2):e210830. doi:10.1001/jamanetworkopen.2021.0830
    11. Li Z, Zheng C, Duan C, et al. Rehabilitation needs of the first cohort of post-acute COVID-19 patients in Hubei, China. Eur J Phys Rehabil Med. 2020 Jun;56(3):339-344. doi: 10.23736/S1973-9087.20.06298-X. PMID: 32672029. doi:10.23736/s1973-9087.20.06298
    12. Daynes E, Gerlis C, Chaplin E, et al. Early experiences of rehabilitation for individuals post-COVID to improve fatigue, breathlessness exercise capacity and cognition – A cohort study. Chron Respir Dis. 2021 Jan-Dec;18:14799731211015691. doi:10.1177%2F14799731211015691

13. Baek Y.J., Lee Y.J., Yoon J.S. Duration of culturable SARS-CoV-2 within different specimens among mild and severe COVID-19 patients: a longitudinal study. J Infect. 2021 doi: 10.1016/j.jinf.2021.04.025. doi:https://doi.org/

14. Cheng HW, Jian SW, Liu DP, Ng TC, Huang WT, Lin HH, et al. Contact Tracing Assessment of COVID-19 Transmission Dynamics in Taiwan and Risk at Different Exposure Periods Before and After Symptom Onset. JAMA Intern Med 2020 May 1; doi:10.1001/jamainternmed.2020.2020external icon