Latest

ออกมาจากถ้ำ แล้วใช้ชีวิตอยู่กับโควิดกันเถอะ

ข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับโรคโควิดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคตาม มิฉะนั้นเราจะหลงทางดุ่ย ดุ่ย ดุ่ย ไปโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น

ประเด็นที่ 1. เลิกฝันถึง Herd Immunity ได้แล้ว

ด้วยอัตราการเกิด breakthrough infection (การติดเชื้อธรรมชาติหลังการฉีดวัคซีนครบแล้ว) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งในบางรายงานมีสูงถึง 40% มันเป็นไปไม่ได้ที่จะอาศัยวัคซีนมาสร้างภูมิคุ้มกันฝูงชนหรือ herd immunity เพื่อให้โรคสงบ ยุทธศาสตร์มุ่งให้โรคสงบตอนนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว ควรเลิกยุทธศาสตร์นั้นเสีย เปลี่ยนยุทธศาสตร์มามุ่งให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) หมายถึงเป็นโรคของเมืองไทย แบบไทยๆ (local) ที่เราพอคาดเดาพฤติการณ์ของโรคได้ (predictable) และพอจัดการมันได้ (manageable) โดย..

ประเด็นที่ 2. ถ้าเราสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการใช้ กับการให้บริการของรพ.ได้ เราก็จัดการโรคได้

ทางด้านความต้องการใช้ วิธีลดความต้องการใช้โรงพยาบาลลง เรารู้อยู่แล้วว่า 92% ของคนป่วยโควิดถึงขั้นต้องเข้ารพ.เป็นคนสูงอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป และเราก็รู้อยู่แล้วว่าการได้วัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกจะทำให้ความรุนแรงของโรคถึงขั้นเข้ารพ.หรือถึงขั้นตายลดน้อยลงไปมาก มากระดับเกินสองในสามทีเดียว เราก็เอาความรู้สองอย่างนี้มาลดความต้องการใช้เตียงในรพ. โดยระดมฉีดวัคซีนผู้สูงอายุอย่างน้อยเข็มแรกให้ครอบคลุม เลิกฉีดวัคซีนคนกลุ่มอื่นไว้ก่อน มาเอากลุ่มนี้กลุ่มเดียว แค่เอาวัคซีน mRNA ที่จะได้มา 2 ล้านโด้สมาฉีดแบบ ID ซึ่งจะลดขนาดลงได้ 10 เท่าเราก็จะฉีดคนได้ถึง 20 ล้านคน แค่นี้ก็ครอบคลุมเข็มแรกสำหรับผู้สูงอายุทั้งหมดแล้ว และเมื่อมีวัคซีน เราเคยฉีดได้ถึงวันละ 4 แสนโด้ส 20 ล้านโด้สก็ใช้เวลาเพียงเดือนครึ่งก็จบแล้ว

ทางด้านฝั่งการให้บริการของรพ. เราก็หันมาวางระบบการจัดการโรคใหม่โดยลงมือรักษาเสียตั้งแต่ต้นมือที่นอกโรงพยาบาล ยาที่มีศักยภาพว่าจะได้ผล ไม่ว่าจะเป็นไอเวอร์เมคติน ฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทลายโจร เราก็เร่งทำวิจัยและรีบเอาออกใช้เสียตั้งแต่ระยะแรกของโรค ยาที่มีความปลอดภัยสูงและราคาถูกยกตัวอย่างเช่นฟ้าทลายโจร เราสามารถเริ่มการรักษาได้ตั้งแต่เริ่มมีหลักฐานว่าได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ คือยังไม่ทันมีอาการเราก็เริ่มรักษาได้แล้ว เพราะประโยชน์มันคุ้มความเสี่ยงอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นด้านอัตราตายหรือด้านต้นทุนการรักษา คือเราหันมาโฟกัสที่การรักษานอกโรงพยาบาลซึ่งเป็นของใหม่ที่เราไม่เคยทำ ส่วนในโรงพยาบาลนั้นมันเป็นเรื่องของการรับมือกับภาวะภูมิคุ้มกันแรงเกินเหตุ (hyperactive immunity) มันเป็นเรื่องยากแต่ไม่ใช่เรื่องจะไปเปลี่ยนภาพใหญ่ของโรคได้ เราก็ทำการรักษาในรพ.ไปอย่างที่เราทำมา ซึ่งเราก็มีระบบการเคลื่อนย้ายแชร์เตียงระหว่างรพ.และระหว่างเมืองเพื่อลดภาวะผู้ป่วยล้นที่เวอร์คดีมากอยู่แล้ว

เมื่อทำทั้งสองฝั่งนี้คู่กันไป เราก็จะทำให้โรคโควิดเป็นโรคที่จัดการได้ (manageable)

ประเด็นที่ 3. เราต้องเปิดให้ผู้มีความเสี่ยงตายต่ำได้ติดเชื้อตามธรรมชาติมากๆ

งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่จากอิสราเอลพบว่า การติดเชื้อธรรมชาติให้ภูมิดีกว่าการฉีดวัคซีนมากระดับมากกว่ากัน 13 เท่า และเมื่อติดเชื้อธรรมชาติแล้วไปฉีดวัคซีนซ้ำก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยที่อังกฤษทำให้รู้ว่าคนที่ได้วัคซีนแล้ว การเกิดลิ่มเลือดหลังได้วัคซีนต่ำกว่าหลังการติดโรคจริง และเมื่อได้วัคซีนแล้วแม้เข็มเดียวแล้วไปติดโรคจริงเข้า การเกิดลิ่มเลือดก็น้อยกว่าการติดโรคจริงโดยไม่ได้วัคซีนมาก่อน ดังนั้น ในข้อ 2 เราเปลี่ยนคนสูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงตายสูงมาเป็นผู้มีความเสี่ยงตายต่ำด้วยวัคซีน ในข้อนี้เราเปิดให้ผู้มีความเสี่ยงต่ำทั้งหมดรวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงคนหนุ่มคนสาวได้ติดเชื้อจริงตามธรรมชาติโดยไม่ต้องรอให้ได้วัคซีนก่อน เพราะถึงติดยังไงเสียอัตราตายก็ต่ำมาก และติดแล้วมันดีกว่าฉีดวัคซีน คนที่ติดโรคจริงแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปฉีดวัคซีนซ้ำอีก เท่ากับด้านหนึ่งเราประหยัดวัคซีน อีกด้านหนึ่งเราได้ประชากรที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงที่จะอยู่กับโควิดในฐานะโรคประจำถิ่นไปได้อีกนานเท่านาน ดีกว่าคอยหลบอยู่ในถ้ำแล้วขยันฉีดกระตุ้นวัคซีนซ้ำซากเข็ม 3, 4, 5 โดยไม่รู้ว่าจะออกจากถ้ำได้เมื่อใด

ประเด็นที่ 4. ต้องดึงคนออกมาจากถ้ำ มาใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิดในฐานะโรคประจำถิ่น

ยกตัวอย่างเช่นในกทม. กลุ่มเสี่ยง หมายถึงผู้สูงอายุ ตอนนี้ 95.8% ได้วัคซีนไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งโด้ส(สถิติเมื่อต้นเดือนสค.) ดังนั้นกทม.ตอนนี้เท่ากับว่าคนเสี่ยงสูงที่จะเข้าไปถล่มใช้เตียงในรพ.ไม่มีแล้ว มีแค่คนเสี่ยงต่ำ เราต้องลากเอาคน กทม.ทั้งหมดซึ่งมีแต่คนเสี่ยงต่ำออกมาใช้ชีวิตสัมผัสกับโรคโควิด ให้เขาได้ติดเชื้อโควิดของแท้ตามธรรมชาติ เพราะไม่ว่าจะหลบซ่อนหรือขยันฉีดวัคซีนอย่างไร ด้วยเปอร์เซ็นต์การเกิด breakthrough infection ที่สูงขนาดนี้ อย่างน้อยจุดหนึ่งในชีวิตเขาจะต้องติดเชื้อจริงเข้าสักวันจนได้ ยิ่งติดเชื้อเร็วยิ่งได้ประโยชน์เร็ว คือจะได้ไม่ต้องตะบันกระตุ้นวัคซีนซ้ำซาก

ประเด็นที่ 5. อุปสรรคใดๆที่จะขัดขวางการดึงคนออกมาใช้ชีวิตกับโรคโควิด ควรเลิกเสีย

ซึ่งผมเสนอให้

  1. ยุบเลิกศบค.เสีย
  2. เลิกการตรวจคัดกรอง (ATK) ผู้ไม่มีอาการป่วยเสีย เพราะการตรวจคัดกรองเป็นการยั้งไม่ให้คนออกมาใช้ชีวิต ควรหันไปเน้นการรักษาเร็วด้วยตนเองด้วยยาที่หาง่ายและปลอดภัยเช่นฟ้าทลายโจรแทน
  3. เลิกมาตรการ lock down หรือห้ามโน่นนี่นั่นเสีย
  4. เปิดโรงเรียน
  5. ถ้าไม่ใช่ผู้สูงอายุก็ควรเลิกการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนเป็นใบอนุญาตเข้าร้านอาหารหรือเข้าทำกิจกรรมใดๆเสีย
  6. เปิดประเทศแบบพลั้วะ อ้าซ่าเลย ไม่ต้องไปสนใจว่าประเทศอื่นเขาจะทำอะไรกัน ใครจะมาเที่ยวใครจะไม่มา เพราะเรากำลังจัดการโรคโควิดแบบโรคประจำถิ่นของเรา เราคาดการณ์ของเราเองไปตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ทะยอยโผล่ออกมา และจัดการโรคให้ “อยู่” ตามประสาเรา แล้วท่านผู้อ่านเชื่อผมเถอะครับ ไม่เกินเดือนตุลาคมปีนี้ ทั่วโลกจะต้องเปิดประเทศและเลิกพิธีกรรมเกี่ยวกับโควิดกันหมด เพราะหลักฐานวิทยาศาสตร์ตอนนี้มันชี้ชัดแล้วว่าพิธีกรรมเหล่านั้นมันไร้ประโยชน์ เพราะไม่ว่าจะมีพิธีกรรมเหล่านั้นหรือไม่มี โรคโควิดก็จะยังอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน และคนส่วนใหญ่ก็จะต้องได้ป่วยเป็นโควิดกันอย่างน้อยคนละครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะขยันฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม แต่ผมย้ำว่าทุกคนก็ยังตัองฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็มอยู่นะ เพราะผลวิจัยจากทุกประเทศให้ผลตรงกันว่าเมื่อถึงคราวเป็นโรค การได้วัคซีนมาก่อนมันลดความรุนแรงของโรคลงได้ทุกมิติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Comparing SARS-CoV-2 natural immunity to vaccine-induced immunity: reinfections versus breakthrough infectionsSivan Gazit, Roei Shlezinger, Galit Perez, Roni Lotan, Asaf Peretz, Amir Ben-Tov, Dani Cohen, Khitam Muhsen, Gabriel Chodick, Tal Patalon. medRxiv 2021.08.24.21262415; doi: https://doi.org/10.1101/2021.08.24.21262415
  1. Risk of thrombocytopenia and thromboembolism after covid-19 vaccination and SARS-CoV-2 positive testing: self-controlled case series study. BMJ 2021;374:n1931