Latest

รากเหง้าของความคิด…ที่แท้มันคืออะไรกันแน่?

ขอเรียนถามปัญหาที่ติดขัดในการฝึกวางความคิดกับอาจารย์นะครับ
1.ปัญหาการวางความคิดในบางครั้งไม่ได้ เนื่องจากในช่วงนั้นอารมณ์และความรู้สึก เช่น ความอยากพ้นทุกข์ ความสงสัยในสิ่งที่กำลังปฏิบัติ รวมถึงวิธีการและอาจารย์ผู้สอนตามสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่ง ความเสียใจ ความวิตกกังวลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต การย้ำคิดย้ำทำกับเรื่องเดิมทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดี ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดจากการเผชิญ middle crisis ในช่วงชีวิตหรือเปล่า (อายุ 42)? เลยสงสัยว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากฮอร์โมนหรือ middle crisis ที่มีคำถามสงสัยกับตัวเองว่า…ชีวิตเกิดมาทำไม เราจะอยู่เพื่ออะไร และเราจะทำชีวิตให้ดีได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชีวิตก็ปกติไม่มีคำถามอะไรกับชีวิต ดังนั้น พอเกิดความรู้สึกนี้ ผมได้ใช้วิธีการ self inquiry เมื่อมีความคิดหรือความรู้สึกเกิดขึ้นในหัว โดยถามตัวเองว่า“ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า…. ใครคือผู้รู้” ถามในลักษณะแบบท่องมันตรา กล่าวคือ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมาทุกครั้ง ผมก็จะถามย้ำไปเรื่อยๆ ร่วมกับการผ่อนคลายร่างกาย “หายใจเข้า จดจ่อ ตื่น หายใจออก ผ่อนคลาย ซู่ซ่า” ร่วมกับการทำ body scan แบบทีเดียวตั้งแต่หัวจรดเท้าซ้ำ 3-4 รอบ แล้วจึงหันมายกมือสร้างจังหวะเพื่ออยู่กับการเคลื่อนไหว ของมือในการเบี่ยงเบนความคิดเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล แต่ทำไมเมื่อทำแล้วจึยังมีความคิดเกิดขึ้นภายในหัว เป็นภาพ หรือความรู้สึกรุนแรงต่างๆ ที่สามารถสัมผัสจากจิตใจรุกล้ำเข้ามาได้ ทั้งๆ ที่อาจารย์เคยบอกว่า เมื่อร่างกายผ่อนคลายความคิดมันจะไม่เข้ามา นี่ผมยังท่องมันตรา และทำ body scan
ร่วมกับการสร้างจังหวะ ทำไมมันยังเอาความคิดและความรู้สึกในข้างต้นไม่อยู่ครับ บางทีสังเกตตัวเองว่าทำเป็นชั่วโมงๆ แล้วบางวันยังนอนหลับๆ ตื่นๆ เหมือนมีกังวล ทั้งๆ ที่เรา delete ความคิด เพื่อจะเข้าหาความรู้ตัว เหตุการณ์ แบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ และจะมีวิธีแก้ทางไหนอีก ทั้งที่ผมใช้เครื่องมือเกือบครบทั้ง 7 ชิ้น ที่อาจารย์ให้มาจนจะครบองค์ประชุมอยู่แล้ว

2..เป้าหมายในการปฏิบัติคือ ลดเสพติดความคิดแบบย้ำคิดย้ำทำ ให้มีความทุกข์น้อยลง เข้าถึงความรู้ตัวมากขึ้น ในกรณีของผมนี้ มีปัญหาในขั้นตอนไหนครับถึงต้องเผชิญรากเหง้าความคิดหรือความรู้สึกทางใจที่รู้สึกไม่ดีแบบนี้ได้

3..ผมเข้าใจถูกหรือไม่ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าถึงความรู้ตัวคือเราต้องผ่อนคลายร่างกายเพื่อให้ความคิดมันหายก่อนที่จะเริ่มทำ body scan และ self inquiryหรือยกมือสร้างจังหวะ หรือแม้กระทั่งทำสมาธิ เราจะต้องให้ความคิดมันหมดก่อนใช่ไหมครับ

4..กรณีแบบผมภาวะ middle crisis หรือฮอร์โมนอาจส่งผลให้เกิดอาการแบบนี้ใช่หรือไม่ครับ หากผมออกไปตากแดด หรือรำไทชิ แทนการใช้เครื่องมือที่กล่าวมาในข้างต้น มันจะทำให้ผมอยู่กับความรู้ตัวได้ดีขึ้นกว่าที่ผมใช้แต่เครื่องมือแบบเดิมหรือเปล่าครับ

5.. ที่ผ่านมาผมได้เปิด youtube หรือเคยไปฝึกปฏิบัติ (เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ) ผมกลับพบว่ายิ่งเปิด ยิ่งฟัง สื่อพวกนี้ กลับทำให้เกิดความสงสัย ลังเล ในปฏิบัติที่มากกว่าเดิมเสียอีกแต่ที่ผมต้องเปิดดูเนื่องจากทุกๆ สำนักต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปฏิบัติโดยไม่มีผู้รู้ ผู้ชี้แนะ หรือแนะนำจะทำให้เข้ารก เข้าพง ทำให้การปฏิบัติผิดวิธี ส่งผลเสียต่อการเข้าถึงสติและความรู้ตัว ผมควรจะกลับมาอยู่กับความรู้ตัวแบบเดิมของผมหรือไม่ครับขอแนวทางการใช้ชีวิตในช่วง middle crisis ให้มีความสุขกับปัจจุบันหน่อยครับ ว่ามีวิธีการยอมรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทุกอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องทำอย่างไรบ้าง

6..เป็นไปได้หรือไม่ครับที่เราจะอยู่กับความรู้ตัวได้ตลอดเวลาในทุกกิจกรรมของชีวิต เช่น ขับรถ ทำงาน ล้างจาน หรือแม้กระทั่งนอนหลับอย่างรู้ตัว
ขอบคุณครับ

………………………………………………………………………….

ตอบครับ

คุณนี่เป็นคนโคตรซีเรียสเลยนะ การเป็นคนซีเรียสคุณบรรลุความหลุดพ้นไม่ได้หรอก เพราะความซีเรียสก็คือการยึดกุมคอนเซ็พท์หรือความคิดที่อีโก้วางไว้ในหัวคุณแล้วอย่างเหนียวแน่น คุณต้องหัดทำอะไรบ้าๆบอๆที่ทำลายความเหนียวแน่นของคอนเซ็พท์ในหัวคุณเสียบ้าง คุณดีดกีตาร์เป็นแมะ คนรุ่นคุณน่าจะดีดกีต้าร์เป็นนะ ถ้าดีดเป็นผมแนะนำให้คุณแต่งตัวมอๆ สวมหมวกเก่าๆ หิ้วกีต้าร์ไปที่สถานีรถไฟฟ้าที่ไหนสักแห่ง แล้วปักหลักวางหมวกหงายขึ้นรับเงินบริจาคทาน แล้วดีดกีตาร์ขอทานไป ยิ้มอย่างจริงใจให้กับคนที่เดินผ่านไปมาซึ่งทำสีหน้ารำคาญเพลงของคุณไปด้วย ถ้าคุณทำอย่างนี้ได้ โอกาสที่คุณจะหลุดพ้นก็เริ่มจะเห็นรำไร (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่นให้คุณเห็นความเป็นคนซีเรียสของตัวเอง)

1.. ถามว่าวางความคิดไม่ได้ เกิดจากการเผชิญ midlife crisis หรือฮอร์โมนหรือเปล่า ตอบว่าความคิดเกิดขึ้นมาจากการประชุมแห่งเหตุ คุณไม่ต้องไปเสียเวลาวิเคราะห์เหตุเหล่านั้นหรอกครับ เพราะการวิเคราะห์ก็คือการบ่มความคิดใหม่ เมื่อความคิดมันเกิดขึ้นมาแล้ว ให้คุณแค่สังเกตรับรู้ว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วเพิกเฉยต่อมันเสีย หันหลังให้มันเสีย ไม่ไปคิดต่อยอด หันไปหาอะไรอื่นที่บ้าๆบอๆเสีย ความคิดมันก็จะฝ่อไปเอง

2.. ถามว่าใช้เครื่องมือทั้งเจ็ดชิ้นที่หมอสันต์ให้มา ทั้ง หายใจเข้า จดจ่อ ตื่น หายใจออก ผ่อนคลาย ซู่ซ่า” ร่วมกับการทำ body scan แบบทีเดียวตั้งแต่หัวจรดเท้าซ้ำ 3-4 รอบ แถมด้วยยกมือสร้างจังหวะเพื่ออยู่กับการเคลื่อนไหว แต่ทำไมเมื่อทำแล้วจึงยังมีความคิดเกิดขึ้นภายในหัว ตอบว่าการใช้เครื่องมือวางความคิดมันมีสองแบบนะครับ

แบบแรก คือใช้เครื่องมือเป็นแบบพิธีกรรมโดยที่ความคิดก็ยังเป็นผู้กำกับใหญ่อยู่ กับ

แบบที่สอง คือใช้เครื่องมือเป็นเป้าของความสนใจ เพื่อดึงความสนใจออกมาจากความคิด

คุณกำลังใช้แบบไหนอยู่ละครับ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าหมดความคิด เราพูดถึงหมดเมื่อเดี๋ยวนี้เท่านั้นเองนะ แว้บนี้เท่านั้นเอง เราไม่ได้คาดหมายว่าคุณยกมือโบกหนี่งแว้บแล้วความคิดจะหมดไปจากหัวคุณตลอดกาล

3.. ถามว่าคุณมีปัญหาในขั้นตอนไหนหรือจึงถอนรากเหง้าความคิดทางใจในทางลบไม่ได้ ตอบว่าคุณยังออกมาจากความคิดมานั่งสังเกตดูความคิดจากข้างนอกไม่ได้เลย คุณยังอยู่ในความคิด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคุณยัง “เป็น” ความคิดอยู่ แล้วคุณก็ตั้งท่าหักหาญกับความคิดว่าเอากันให้แตกหักซะทีวะ เท่ากับว่าคุณกำลังใช้ความคิดตีกับความคิด ความคิดหนึ่งเป็น “ผู้กำกับ” ซึ่งคุณเข้าใจผิดว่าเป็นความรู้ตัวของคุณเอง ความจริงมันยังไม่ใช่ความรู้ตัว มันเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีซึ่งก็คือชื่อเรียกของอีกความคิดหนึ่งแค่นั้นเอง ดีหรือเลวไม่รู้แต่เป็นแค่อีกความคิดหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งที่มาตบตีกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นพวกความคิดมโนสาเร่งี่เง่าหน้าเก่าๆ เมื่อความคิดตีกับความคิด ทั้งสองฝ่ายมีแต่จะใหญ่ขึ้น ไม่มีเสียหรอกที่จะเล็กลง เพราะความคิดมันมีธรรมชาติต่อยอดไปบนความคิดด้วยกัน มันมีแต่จะใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น

สำหรับคนอย่างคุณ รวมทั้งท่านผู้อ่านท่านอื่นที่เป็นคนตรรกะแน่นเหลือเกิน ฉลาดเหลือเกิน เป็นคนดีเหลือเกิน เป็นคนเนี้ยบเหลือเกิน ผมแนะนำให้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการวางความคิดว่าอย่าไปเล่นกับตรรกะ อย่าไปสอบสวนความคิด อย่าไปตั้งคำถามแล้วพยายามหาคำตอบ แต่ให้เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเล่นกับนาฬิกาในหัวแทน คือนาฬิกาในหัวของเราปกติมีพิสัยกว้างตั้งแต่อดีตถึงอนาคต แล้วเราก็รู้ว่าความคิดทุกความคิดมันมีชีวิตอยู่ในมิติของเวลา ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความหวัง ความเสียใจ ก็ล้วนต้องอิงอาศัยเวลาทั้งสิ้น ความกลัวกับความหวังอิงอนาคต ถ้าไม่มีอนาคตความกลัวกับความหวังก็ไม่มี ส่วนความเสียใจนั้นอิงอดีต ถ้าไม่มีอดีตความเสียใจก็ไม่มี ในยุทธศาสตร์นี้คือให้คุณทุบนาฬิกาในหัวทิ้งไปเสีย ชีวิตมีแต่เดี๋ยวนี้เท่านั้น เรื่องที่อ้างอิงหรือพาดพิงไปถึงอดีตอนาคตไม่เอา เอาแต่เดี๋ยวนี้ทีละลมหายใจแค่นั้น

4.. ถามว่าก่อนจะเริ่มทำ body scan หรือ self inquiry หรือยกมือสร้างจังหวะ หรือแม้กระทั่งทำสมาธิ เราจะต้องผ่อนคลายร่างกายให้ความคิดมันหมดก่อนใช่ไหมครับ ตอบว่าไม่ใช่ครับ เครื่องมือทั้งหลายที่คุณว่ามานั้นเราหยิบมาใช้เพื่อดึงความสนใจออกมาจากความคิด เพราะมีความคิดอยู่ เราจึงต้องอาศัยเครื่องมือเหล่านั้นดึงความสนใจออกมาจากความคิด ดังนั้น ณ ขณะที่ใช้เครื่องมือเหล่านั้น ความคิดยังมีอยู่ ถ้าความคิดไม่มี เราก็ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆแล้ว เพราะเรารู้ตัวแล้ว

5.. ถามว่าคนเขาท้วงว่าการฝึกสมาธิต้องมีผู้รู้คอยชี้แนะไม่งั้นจะเข้ารกเข้าพง แต่พอพยายามเสาะหาผู้ชี้แนะทั้งไปฝึกด้วยทั้งผ่านยูทูปกลับยิ่งเกิดความสงสัยมากกว่าเดิม ควรจะเลิกเสาะหาผู้ชี้แนะเสียดีไหม ตอบว่าเลิกเสียดีแน่ครับ เพราะผู้ชี้แนะมีสามแบบ คือ

(1) คนที่จำขี้ปากคนอื่นมาเล่าต่อ

(2) คนที่ท่องบ่นคัมภีร์คำสอนศาสนาได้ขึ้นใจแล้วเอามาเล่าต่อ

(3) คนที่เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าต่อ

ทั้งสามแบบนี้ไม่มีผู้ชี้แนะแบบไหนที่จะทำให้คุณหลุดจากความคิดของคุณเองได้สักแบบเดียว เพราะความคิดของคุณเขาจะมาแกะออกไปจากหัวคุณได้อย่างไร ดังนั้นผมแนะนำให้คุณเลิกอ่านเลิกฟังเลิกเสาะหาผู้ชี้แนะเสีย แล้วเดินเข้ารกเข้าพงไปด้วยตัวคุณเอง สรุปบทเรียนมาปรับวิธีการด้วยตนเอง วิธีนี้เท่านั้นที่คุณจะหลุดพ้นได้

6.. ถามว่ารากของความคิดนี้มันมาจากไหน ทำไมจึงขุดรากถอนโคนยาก ตอบว่าความคิดทุกความคิด สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ล้วนมาจากสำนึกว่าตัวเรานี้เป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมเป็นเอกคนหนึ่ง (อีโก้) ทั้งนั้น มาด้วยจุดประสงค์เดียว คือจะมาปกป้องอีโก้นี้ให้สูงเด่นอยู่ตลอดกาล ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่ความคิดก็ดิ้นจะให้มันเป็นอย่างนั้นให้ได้ การมีชีวิตอยู่ในโลกของความคิดจึงเป็น mission impossible หากคุณจะขุดรากถอนโคนความคิด คุณต้องเปลี่ยน identity ของคุณก่อน คือทุบอีโก้ของคุณทิ้งก่อน มองให้เห็นก่อนว่าตัวตนหรือความคิดนี้ไม่ใช่คุณ ร่างกายนี้ไม่ใช่คุณ หากเห็นตรงนี้แล้ว ไม่ต้องไปขุดอะไรหรอก ความคิดมันจะฝ่อไปเองเพราะรากของมันไม่มีแล้ว

7.. ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะอยู่กับความรู้ตัวได้ตลอดเวลาในทุกกิจกรรมของชีวิต เช่น ขับรถ ทำงาน ล้างจาน หรือแม้กระทั่งนอนหลับอย่างรู้ตัว ตอบว่าเป็นไปได้สิครับ แต่ในการเริ่มต้นคุณอย่าโลภมาก หากทุกวันนี้คุณแทบไม่มีโอกาสได้รู้ตัวเลย คุณได้รู้ตัววันละครั้งสองครั้งก็ดีขึ้นแล้วใช่ไหม แล้วหากนับทุกโมเมนต์หรือทุกลมหายใจในหนึ่งวันรวมกันเป็น 100% แค่คุณรู้ตัวสัก 50% ชีวิตคุณก็สงบเย็นแล้ว คุณไม่ต้องโลภมากจะเอา 100% ทันทีดอก ปัญหาที่คนเราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะเราไป “เป็น” ความคิดเสีย 100% มีความรู้ตัว 0% นั่นแหละปัญหา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์