Latest

(แปล) บทสนทนากับหมอสันต์เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด

(ถอดเทปและแปลบทสนทนา นพ.สันต์ กับคุณวิเวก ดาวัน จากภาษาอังกฤษ ที่สื่อทางยูทูปออกไปให้พนักงานและครอบครัวในเครือเมก้าและคนทั่วไปทั่วโลก เรื่องการมีชีวิตอยู่กับโควิด ท่านที่สนใจชมวิดิโอในยูทูปกรุณาคลิกดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=7HfGEFC4Xn8&t=428s)

คุณวิเวก:

สวัสดีครับ ชาวเมก้าและท่านผู้ชมทุกๆท่าน สำหรับ ep2 เรื่องสุขภาพ โดยศูนย์สุขภาพเวลเนสวีแคร์ ซึ่งเป็นความริเริ่มของเมก้าวีแคร์ที่จะช่วยให้ ท่านมีสุขภาพดีนานตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ คราวนี้ผมก็ได้ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิม คุณหมอสันต์ มาตอบคำถามทั้งหลายทั้งปวงที่ยังตอบได้ไม่หมดหรือไม่ครอบคลุมเมื่อครั้งก่อน

ครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับโควิด คราวนี้เราจะคุยกันถึงวิธีมีชีวิตอยู่กับโควิด ข่าวเกี่ยวกับโควิดมีแยะเหลือเกินจนชวนสับสน เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เป็นต้นว่า เชื้อกลายพันธ์เดลต้าติดต่อง่ายกว่าเชื้อเก่า 5-8 เท่า รุนแรงกว่า หนึ่งเท่าครึ่งถึงสองเท่า คนได้วัคซีนจะมีอาการน้อยกว่า เข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า ขณะที่คนไม่ได้วัคซีนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่า

แล้วก็มาเรื่องปลายทางของการระบาด มีการคุยกันมากเหลือเกินเรื่องโรคระบาดใหญ่หรือ pandemic กับโรคประจำถิ่นหรือ endemic บ้างก็ว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันตลอดไป การเปลี่ยนจากนับหัวคนติดโรคมาลดความรุนแรงเมื่อติดโรคแล้วกำลังเป็นเรื่องที่คนสนใจกันมาก ประเทศที่เชื่อว่าคุมโควิดได้ระดับเหลือศูนย์มานานอย่างสิงค์โปร์ ออสเตรเลีย ก็ยังต้องทบทวนยุทธศาสตร์ว่าน่าจะต้องหันมาอยู่กับโควิดเสียแล้ว ท่าทางเจ้าโรคโควิดนี้คงจะไม่ไปไหน เราคงต้องอยู่กับมัน วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้จับเข่าคุยกับคุณหมอสันต์ ถึงหลายๆเรื่องเหล่านี้ที่เราสงสัยกันอยู่ครามครัน

แล้วเด็กๆจะไปโรงเรียนได้หรือยัง เราจะเปิดบริษัทได้ไหม ผมเองก็อยากจะเปิดออฟฟิศเพื่อให้เพื่อนพนักงานกลับมาทำงาน เพราะนี่มันปีกว่าแล้ว น่าจะได้กลับมาพบหน้าค่าตากันอีกครั้งได้แล้วไม่ใช่หรือ นี่ก็เป็นคำถามใหญ่เช่นกัน อย่างที่ผมพูดไปเมื่อครั้งที่แล้ว เราคุยกันถึงหลักฐาน ถึงวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของเรื่องโดยที่วิทยาศาสตร์ใหม่ๆก็โผล่ขึ้นมาทุกวัน ไม่กี่ชั่วโมงมานี้ทางอิสราเอลก็เพิ่งตีพิมพ์ว่าการฉีดวัคซีนเข็มสามให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่าแม้ว่าจะเป็นระยะสั้นก็ตาม ข้อมูลระยะยาวยังไม่มี ภูมิคุ้มกันมันจะแผ่วลงหรือเปล่า นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องเกาะติด.

ทุกอย่างต้องรอวิทยาศาสตร์โผล่ออกมาก่อน เราคุยกันวันนี้บนพื้นฐานของหลักฐานข้อมูลที่มีถึงวันนี้เท่านั้นนะ ก่อนจะคุยกันต่อไปขอผมแจ้งนิดหนึ่งว่าคราวนี้จะเป็นการคุยกันแบบสั้นๆ 45 นาทีจบ เหลือ 15 นาทีไว้สำหรับการถามตอบ อย่างอื่นเหมือนเดิม ก่อนอื่นผมขอประกาศก่อนว่าแม้ผมจะบริหารเมก้าวีแคร์แต่เราจะไม่มาซื้อมาขายมาโปรโมทอะไรบนเว็บไซท์นี้ เราจะคุยกันแต่เรื่องโรคโควิดและผลของโรคต่อทุกคนเท่านั้น

เราต้องกักตัวเองอยู่ในบ้านต่อไปหรือเปล่าหรือออกจากบ้านได้เสียที แล้วเราจะต้องสวมมาสก์ต่อไปอีกไหม สิ่งเหล่านี้อยู่ในใจผมเรื่อยมา เพื่อนๆครับ มาต้อนรับคุณหมอสันต์ ผู้เชี่ยวชาญของเรากัน ผมชอบเรียกเขาว่าคุณหมอ Saint นั่งถัดอยู่ข้างผมไปนี่แหละ สวัสดีครับ คุณหมอสันต์ [crosstalk 00:03:53]. ดีใจที่ได้เจอคุณหมออีกครั้ง

เพื่อไม่ให้ใช้เวลามาก ให้ผมถามคำถามคุณหมอเลยนะ ซึ่งเพื่อนๆก็คงอยากรู้ ว่าเจ้าโควิดนี้มันจะจบไหม หรือมันจะอยู่กับเราไม่ไปไหนตลอดไป ผมเคยได้ยินว่าโรค MERS โรค SARS-1 แล้วก็โรค ซึ่งมาแล้วก็ไป คราวนี้มาเชื้อซาร์สโควี 2 ซึ่งเป็นโคโรน่าไวรัสเหมือนกัน คราวนี้มันจะอยู่กับเราไปอีกนานหรือเปล่า คุณหมอคิดว่าอย่างไรครับ คุณหมอสันต์

นพ.สันต์ (04:37):

โควิดจะอยู่นี่ไม่ไปไหมหรือเปล่า ตอบว่าใช่ ผมคิดว่ามันจะอยู่ที่นี่ ออกจะโชคไม่ดีสักหน่อย มันอาจจะอยู่สักหลายปีอยู่มั้ง อย่างน้อย หรืออย่างดีมันก็มาๆไปๆ แต่ที่แน่ๆก็คือมันจะอยู่กับเราอีกนาน ซึ่งก็นำไปสู่อีกคำถามว่าก็ในเมื่อมันจะไม่ไปไหนอยู่แล้ว ต้องเป็นโรคนี้กันถ้วนหน้าอยู่แล้ว แล้วเราจะต้องฉีดวัคซีนอยู่หรือเปล่าละ คำตอบก็คือว่าเราต้องฉีดวัคซีนให้ครบอยู่ เพราะเมื่อฉีดวัคซีนครบ ถึงเวลาเป็นโรค อัตราตายและอัตราการต้องเข้าโรงพยาบาลมันลดต่ำลงมาก

ขอผมชี้แจงตรงนี้เพิ่มหน่อยนะ เนื่องจากมันเกิดปรากฏการติดเชื้อแม้ได้วัคซีนครบขึ้นมา ที่เรียกว่า breakthrough infection อัตราการติดเชื้อแม้ได้วัคซีนครบนี้ก็สูงไม่เบาอยู่ เราจึงคาดหวังว่าวัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ให้เราไม่ได้ หรือพูดแบบบ้านๆก็คือวัคซีนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้ พวกเราเกือบทุกคนจะต้องได้เป็นโรคนี้กันถ้วนหน้าไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งในชีวิต อย่างดีที่สุดที่เราจะปกป้องเราเองไม่ให้ได้รับอันตรายจากโรคนี้ได้ก็คือ (1) ฉีดวัคซีนให้ครบ (2) ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่ทำให้เป็นโรคเรื้อรังอะไรก็จัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นเสีย (3) ทันทีที่ติดเชื้อ ต้องรีบรักษา ซึ่งถ้ามีเวลาเราค่อยคุยกันในรายละเอียด

เอาเป็นว่าในภาพใหญ่คือโควิดจะอยู่นี่แหละไม่ไปไหน แต่เราก็ต้องฉีดวัคซีนให้ครบ

คุณวิเวก:

เอาละ ดีมากครับ ขอบคุณ คุณหมอ การจะมีชีวิตอยู่กับโควิด สำคัญที่สุดอันแรกคือต้องฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็ม มีหลักฐานมากพอที่จะบ่งชี้ว่าอย่างน้อยเราก็ป้องกันโรคไม่ให้รุนแรงได้ ป้องกันการต้องเข้าโรงพยาบาลได้ ลดภาระของโรงพยาบาลลง ทำให้จัดการโรคโควิดได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ยินอย่างนี้

คุยกันไปเราก็อาจได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นมาว่าวัคซีนมันป้องกันเราไม่ให้เป็นโรครุนแรงได้อย่างไร แต่พวกเราจำนวนมากกังขาว่าก็ในเมื่อจะต้องติดโควิดกันอยู่แล้ว จะไปฉีดวัคซีนทำไม ใช่ไหมครับ? มาคุยกันเรื่องความเสี่ยงของวัคซีนหน่อยดีกว่า เพราะฟังไปฟังมาไม่ว่าวัคซีนไหนก็มีปัญหาทั้งนั้น  ฉีด mRNA ก็ได้ยินว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ฉีด AstraZeneca หรือ vector vaccine ตัวอื่นก็เกิดเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม แล้วผมก็ได้ยินมาจากไหนสักแห่ง ไม่รู้ถูกหรือผิด ว่ายิ่งไม่ฉีดวัคซีนแล้วไปติดโรคจริงเข้า ความเสี่ยงที่กลัวจะได้จากวัคซีนนั้นยิ่งจะได้จากการติดโรคจริงมากเข้าไปใหญ่ อันนี้จริงไหม?

นพ.สันต์ (07:56):

ใช่ครับ เป็นความจริง มีข้อมูลวิจัยชุดหนึ่งจากอังกฤษ เป็นงานวิจัยที่ดีมาก เปรียบเทียบผลของการฉีดวัคซีน กับการติดเชื้อแบบไม่ได้วัคซีนมาก่อน ดูว่าใครจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเรื่องการก่อตัวของลิ่มเลือดมากกว่ากัน ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดน้อยกว่าพวกติดเชื้อจริงมาก คือพวกติดเชื้อจริงทั้งเป็นลิ่มเลือดก่อตัวมากกว่าและรุนแรงกว่า

อีกข้อมูลหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างคนที่ได้วัคซีนแล้วติดเชื้อภายหลัง กับพวกที่ติดเชื้อเลยโดยยังไม่เคยได้วัคซีน พบแบบเดียวกัน คือพวกที่ได้วัคซีนมาก่อน เมื่อมาติดเชื้อจะมีภาวะแทรกซ้อนเกินลิ่มเลือดก่อตัวน้อยกว่าพวกที่มาติดเชื้อโดยไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน ดังนั้นเมื่อเทียบความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแล้ว การได้วัคซีนอย่างไรเสียก็ดีกว่าไม่ได้เลยแน่นอน

คุณวิเวก:

โอเค ดีครับ ทำให้ผมหายข้องใจได้ เดินหน้าไปเรื่องถัดไปกันดีกว่า เรามักได้ยินเรื่องการไขว้วัคซีน บางประเทศไม่มีวัคซีนชนิดที่เราต้องการมากพอ เราอยากได้ mRNA แต่ไปได้ Astra แทนเพราะมี Astra อยู่ บางประเทศก็ต้องเอา Sinovac เพราะมีอยู่ บางประเทศก็ฉีดไขว้กัน เข็มแรก Astra เข็มสองไป หรือเข็มแรก Pfizer เข็มสองไป Astra หรือบางทีเข็มแรก Sinovac เข็มสองหรือสามเติม Astra เพิ่มเข้าไป

คุณหมอคิดว่าสูตรไหนดีกว่าเพื่อน หรือคุณหมอคิดว่ามีอะไรก็เอาอันนั้นจนกว่าจะมีวัคซีนมากพอให้เลือก คุณหมอคิดว่าอย่างไร เพราะพวกเราจำนวนมากคิดอยู่ในใจว่าเราอยากได้อันที่ดีที่สุดแก่ลูกๆของเรา แก่พ่อแม่ของเรา หรือว่าเราควรจะรีบฉีดของที่มีก่อนดีกว่าจะไปรอของที่เราคิดว่าดีที่สุด มีไหมครับ สูตรที่ดีที่สุด  

นพ.สันต์ (10:13):

เรามองได้จากสองมุมนะ มองจากมุมของประสิทธิผล ผมหมายถึงอุบัติการณ์เกิดการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ เปรียบเทียบการติดเชื้อหลังได้วัคซีนระหว่างเข็มแรก Astra สองเข็ม กับ Pfizer สองเข็ม พบว่าทั้งสองแบบต่างก็ติดเชื้อหลังได้วัคซีนพอๆกัน ประมาณ 75% กับ 80% คือไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

แล้วประสิทธิผลมันเท่ากันไหมถ้าไขว้วัคซีน อันนี้เรามีแต่ข้อมูลภูมิคุ้มกันที่เจาะเลือดตรวจได้ ซึ่งเป็นคนละมุมมองกับประสิทธิผล มีข้อมูลแยะมากเพราะการตรวจภูมิคุ้มกันมันง่าย เท่าที่หลักฐานมีตอนนี้ก็รือ เข็มแรก Astra เข็มสอง Pfizer ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Astra สองเข็ม ทำนองเดียวกันในประเทศไทยเข็มแรก Sinovac เข็มสอง Astra ก็ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Sinovac สองเข็ม คือสรุปว่าการไขว้วัคซีนทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น ส่วนจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซี่นดีขึ้นหรือไม่ยังไม่รู้

คุณวิเวก:

โอเค. มันมีสองเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ประสิทธิผล และภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องของการสร้างแอนตี้บอดี้ และยังมี T cell, B cell เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การไขว้วัคซีนจะให้ประสิทธิผลดีขึ้นหรือไม่ยังไม่ทราบชัด คุณหมอจะพูดอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

นพ.สันต์ (11:51):

ใช่ครับ อะไรไขว้กับอะไร จะดีกว่ากันตอนนี้ยังไม่รู้ เพราะเรายังไม่มีผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบหรือ RCT ที่จะบอกตรงนี้ได้ .

คุณวิเวก:

โอ้ โอเค. ยังไม่มีงานวิจัยระดับ RCT ซึ่งเป็นหลักฐานระดับมาตรฐาน ซึ่งในอนาคตคงจะมี ตอนนี้เอาเป็นว่าข้อมูลยังไม่พอที่จะสรุปได้ ถูกไหมครับ ดี..

มาคุยกันเรื่องคำถามใหญ่ถัดไป ทั่วโลกเลย ประธานาธิบดีไบเด็นบอกว่าจะให้เข็มสามบูสเตอร์ อิสราเองฉีดเข็มสามไปแล้ว บ้างก็รอ 5 เดือน บ้างก็รอ 8 เดือนหลังเข็มสอง โดยเริ่มฉีดให้คนอายุ 60 ขึ้นไปก่อน แล้วก็มาคนอายุ 50 ขึ้นไป แล้วก็มาคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เข้าใจว่าเพื่อลดภาระของสังคมเมื่อคนเหล่านี้ป่วย เราฟังข่าวแล้วก็อยากไปจองหรือหาซื้อวัคซีนเข็มสาม ผมเองก็อยากเหมือนกัน ผมควรจะวิ่งหาวัคซีนเข็มสาม หรือว่าควรจะรอไปอีกห้าหกเดือนเผื่อมีหลักฐานใหม่ๆขึ้นมา คุณหมอมีความเห็นอย่างไร

นพ.สันต์ (13:03):

ผมคิดว่าเราควรมองภาพใหญ่เปรียบเทียบระหว่างการติดเชื้อตามธรรมชาติล้วนๆ การฉีดวัคซีนครบโดยไม่ติดเชื้อ กับการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนที่เรียกว่า breakthrough infection มีงานวิจัยหนึ่งทำการเปรียบเทียบทั้งสามกรณีนี้ที่อิสราเอล ซึ่งพบว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือติดเชื้อจริงๆ ให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดวัคซีนครบเป็นอย่างมาก คือมากกว่ากันประมาณ 13 เท่า

ถ้าดูข้อมูลนี้ เมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว รอให้ติดเชื้อตามธรรมชาติเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะจะได้ภูมิคุ้มกันมากที่สุด น่าจะดีกว่าการมาคอยฉีดกระตุ้นเข็ม 3, 4, 5 เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะต้องกระตุ้นกันต่อไปอีกกี่เข็ม ดังนั้น ณ ขณะนี้ ผมแนะนำตามข้อมูลที่ได้จากอิสราเอลนี้ว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็พอแล้ว ใช้ชีวิตปกติไป หากติดเชื้อตามธรรมชาติก็ดี น่าได้กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นไปอย่างแน่นอนจริงจังกว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3, 4, 5

คุณวิเวก:

สงสัยเราได้วัคซีนกันครบแล้วนี่ คงจะต้องจัดโควิดปาร์ตี้เผื่อจะได้ติดเชื้อตามธรรมชาติบ้าง

ผมสกัดจากที่คุณหมอพูด นับถึงขณะนี้ข้อมูลยังไม่พอเรื่องเข็มสามดีหรือไม่ดี แต่คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องเข็มสามอาจมีประโยชน์กับพวกเขาก็ได้เพราะภูมิคุ้มกันอาจจะขึ้นไม่ดีจากสองเข็ม คนกลุ่มนี้น่าจะได้เข็มสามก่อน ส่วนพวกเรารอไว้ให้คนทั่วโลกได้วัคซีนครบก่อนแล้วค่อยมาว่ากันก็ได้

คราวนี้มาคุยกันถึงการมีชีวิตอยู่กับโควิดบ้าง พวกเราจำนวนมากที่ผมได้พบได้คุยด้วย เขาห่วงลูกๆของเขา ตอนนี้มีวัคซีนที่ได้อนุมัติให้ใช้ในเด็กอายุ 12-18 แล้ว ในอังกฤษก็พูดกันถึงการจะขยับลงมาฉีดในอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่อายุต่ำกว่า 12 ปียังถกเถียงกันไม่เลิก วัคซีนก็ยังไม่มี โรงเรียนก็จะเปิด เด็กจะต้องสวมมาสก์หรือเปล่า ครูต้องฉีดวัคซีนก่อนหรือเปล่า เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนจะไปโรงเรียนได้หรือเปล่า

คุณหมอมีความเห็นว่าอย่างไร พวกเราที่มีลูก เราอยากส่งเด็กไปโรงเรียน ถ้ายังไม่ได้วัคซีนไปแล้วก็อาจติดเชื้อกลับมา แล้วผมได้ยินว่าอัตตราเข้าโรงพยาบาลของเด็กต่ำก็จริง แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จริงหรือเปล่าไม่ทราบ คุณหมอช่วยแนะนำอะไรบ้างที่ให้เราเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ และให้เรามีความเข้าใจว่าจะจัดการกับเรื่องลูกๆอย่างไรดี

นพ.สันต์(15:57):

ในแง่ของการมีหรือไม่มีวัคซีน เด็กอายุเกิน 12 ปีเรามีวัคซีนฉีดให้ได้เลย เพราะทั้ง Moderna และ Pfizer ต่างก็ทำวิจัยโดยมีคนไข้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปอยู่ด้วย แต่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังไม่มีวัคซีนที่จะฉีดให้ จึงยังไม่ต้องพูดว่าควรฉีดหรือไม่ควรเพราะยังไงก็ไม่มีวัคซีนให้ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเราพูดถึงวัคซีนเด็กในวันนี้ เราพูดถึงเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะเรามีวัคซีนพร้อมให้ได้แล้ว

ให้ผมแสดงภาพในด้านประโยชน์ของวัคซีนในเด็กก่อนนะ ประโยชน์ที่จะได้ก็คือลดอัตราตายของเด็กลง ข้อมูลจากอังกฤษพบว่าอัตราตายของเด็กจากโรคโควิดต่ำมาก ระดับสองราย ต่อล้าน 0.001 % มีเลขศูนย์สามตัวนะ ประโยชน์มันน้อยเหลือเกิน เพราะอัตราตายมันต่ำเหลือเกิน

แต่ว่าศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐหรือ CDC เชียร์ให้ฉีดวัคซีนในเด็กเพราะเขาอ้างอัตราตายของเขา แต่วิธีนับอัตราตายของ CDC คือนับเด็กทุกคนที่ตายโดยมีผลตรวจ PCR ได้ผลบวก เขาเทียบอัตราตายที่นับได้นี้กับอัตราตายของโรคที่ได้วัคซีนอื่นๆเช่นโรคหัด แล้วก็สรุปว่าอัตราตายมันมีนัยสำคัญ ก็จึงเชียร์ให้ฉีดวัคซีน

ผมมองจากสองมุมนะ ด้านประโยชน์นั้นมีน้อยมาก น้อยมากๆ คราวนี้มามองทางด้านความเสี่ยงบ้าง ผมจะพูดถึงสองสามประเด็นนะ ประเด็นที่ 1. เรายังไม่รู้ผลเสียระยะยาวของวัคซีนรุ่นใหม่ คือ mRNA และ vector virus vaccine มันเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ออกฤทธิ์โดยอาศัยเซลให้ผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่แอนติเจนให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง vector vaccine นั้นทำงานโดยเข้าไปในนิวเคลียสของเซลไปยุ่งกับรหัสพันธุกรรมของเซลมนุษย์ หรือ DNA โดยตรง เพื่อให้มีการก๊อปปี้ mRNA ออกมาสั่งให้เซลผลิตแอนติเจน เรายังไม่รู้เลยว่าในระยะยาววัคซีนแบบนี้จะมีผลตามไปถึงชั่วอายุหน้าหรือไม่ ต้องรอไปอีก 20-30 ปีจึงจะรู้

ประการที่ 2 จำนวนเด็กที่ใช้ในงานวิจัยวัคซีนเฟสสามมีจำนวนค่อนข้างน้อย ผมจำคร่าวๆได้ว่า 3,000 คนใน Pfizer 2,000 คนใน  Moderna จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยขนาดนี้หากมีผลเสียรุนแรงของวัคซีนที่มีอุบัติการณ์สูงระดับ 1 ใน 5,000 เราก็ยังจะไม่พบผลเสียนั้นในงานวิจัยนี้  ความเสี่ยงอาจจะมีอยู่นั่นแหละ แต่เราไม่รู้ สรุปว่าประโยชน์มีน้อยมาก ความเสี่ยงยังบอกไม่ได้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจะฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กเท่าไหร่

คุณวิเวก:

คุณหมอไม่ค่อยจะเห็นด้วย แม้ว่าเราทุกคนไม่มีใครอยากให้เด็กเป็นอะไรไปแม้แต่คนเดียว แต่คุณหมอบอกว่าความเสี่ยงมันต่ำมาก อัตราตายก็ต่ำมาก ขณะที่ด้านความเสี่ยงยังไม่รู้ชัด  ผมเห็นงานวิจัยหนึ่งว่ามีเด็กเป็นโควิดราว 250,000 คน ต้องเข้าโรงพยาบาลราว 25,000 คน ประเด็นคือเตียงในโรงพยาบาลเด็กถูกใช้มากในบางรัฐของอเมริกา ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ทั่วไปก็ต่ำด้วย  

ผมเห็นว่ามีประเด็นที่ทำให้พ่อแม่ต้องกังวล จะส่งลูกไปโรงเรียนดีไหม หรือจะไม่ให้ไปโรงเรียนดี ถ้าไปแล้วติดโรค จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ผมคิดว่าที่คุณหมอพูดคือเราต้องติดตามดูข้อมูลต่อไป ณ ขณะนี้ในเมืองไทยก็เริ่มมีการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปีแล้ว

นพ.สันต์ (20:20):

พูดตรงๆก็คือผมเชื่อสถิติของทางอังกฤษมากกว่าของทางสหรัฐอเมริกา เพราะทางอเมริกานับว่าเด็กที่ตรวจได้ PCR ได้ผลบวกทุกคนเป็นโรคโควิดตายจากโควิดทั้งๆที่เด็กป่วยด้วยโรคอื่นด้วยและมักตายด้วยโรคอื่น วิธีการนับและแยกแยะทางอังกฤษเชื่อถือได้มากกว่า

คุณวิเวก:

อังกฤษมีการบริหารจัดการข้อมูลดี ใช่ครับ NHS มีระบบข้อมูลที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ZOE ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลโควิดที่ทำโดยองค์กรไม่แสวงกำไรเอกชน ทำได้ดีมาก ช่วยรัฐบาลเก็บข้อมูลได้แยะมาก เอาเป็นว่าเรื่องวัคซีนในเด็กนี้ยังเป็นเรื่องที่เปิดให้โต้เถียงกันได้อยู่ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ที่กังวลจะวิ่งหาวัคซีน Pfizer มาฉีดให้ลูก ในเมืองไทยก็เริ่มมีการฉีดแล้ว ก็ดีครับ มีสองทางเลือก จะเลือกทางไหนก็แล้วแต่ท่าน

คุณหมอสันต์ครับ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นให้ได้ยินอยู่เรื่อย ว่าเป็นโควิดแล้วกลายเป็นโควิดแบบลากยาวหรือ long covid คือเป็นโควิดแล้วยืดเยื้อไม่เลิก มีข้อมูลบางอันบอกว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้วไปเป็นโควิดจะมีโอกาสเป็น long COVID น้อยกว่าถึง 40-50% หมายความว่าวัคซีนลดโอกาสเป็น long covid ได้ใช่ไหม คุณหมอมีข้อมูลอะไรใหม่ๆเพิ่มเติมเรื่อง long COVID ไหม เราจะจัดการมันได้อย่างไรบ้าง ครั้งที่แล้วเราคุยกันถึงคนเป็น long COVID ผ่านไป 12 เดือนแล้วก็ยังปวด เปลี้ยล้า นอนไม่หลับ เรื่องเหล่านี้เราก็กลัวเหมือนกัน คุณหมอมีอะไรแนะนำบ้าง

นพ.สันต์(21:54):

ผมทบทวนหน่อยนะ ว่า long COVID นิยามว่าเมื่อใดก็ตามที่อาการของโควิดลากยาวไปเกิน 28 วันก็เรียกว่าเป็น long COVID แล้ว มีงานวิจัยอยู่สองสามชิ้นที่เปรียบเทียบโอกาสเป็น long COVID ระหว่างการติดเชื้อตามธรรมชาติ กับการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน ซึ่งพบผลตรงกันว่าการติดเชื้อหลังติดวัคซีนมีอุบัติการเป็น long COVID ต่ำกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง วัคซีนช่วยป้องกันการเป็น long COVID อันนั้นแน่นอน ถือว่าเป็นประโยชน์อีกอันหนึ่งของวัคซีน

แล้วเราจะรับมือกับ long COVID อย่างไร ตั้งแต่คุยกันไปครั้งที่แล้วมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะใรใหม่ แต่ผมอยากย้ำตรงนี้อีกสักครั้งถึงวิธีรับมือกับ  long COVID ทางฝั่งยุโรปใช้ยุทธศาสตร์เก้าอย่างในการรับมือ คือ

  1. เรียนรู้ที่จะย่างก้าวตามมันไป เพราะโรคนี้มันไปแบบขึ้นๆลงๆ เราก็ต้องตามไปให้ได้จังหวะ
  2. เรียนรู้ที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน เพราะ Long COVID เป็นตัวอย่างของโรคที่คาดเดาอะไรไม่ได้อย่างแท้จริง อาการบางอย่างนึกว่าหายแล้ว อ้าว กลับมาอีกละ เป็นต้น
  3. การพักผ่อนเป็นกุญแจสำคัญ อาจจะต้องนอนกลางวันวันละสองสามครั้ง ต้องพักให้พอ
  4. นอนหลับให้ดี ให้ได้หลับสนิท
  5. อาหาร ต้องเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารพืชที่มีความหลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
  6. ให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ
  7. ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ให้ได้แสงแดด
  8. เล่นกล้าม ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะเอกลักษณ์อันหนึ่งของลองโควิดคือกล้ามเนื้อพิการ คือรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  9. ใช้ชีวิตให้สนุก เราไม่รู้หรอกว่าลองโควิดจะอยู่ด้วยนานเท่าใด อาจนานเป็นปี ดังนั้นให้อยู่กับมันแบบสนุก

คุณวิเวก:

โอเค. เยี่ยมมาก กลับมาเรื่องเก่าที่เราเคยคุยกันว่าการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการโรคโควิด ผมจำได้ว่าคุณหมอพูดถึงงานวิจัยในวารสาร British Medical Journal ที่ตามดูเจ้าหน้าที่สุขภาพเจ็ดล้านคนแล้วพบว่ายิ่งกินอาหารดี ออกกำลังกายดี ก็ยิ่งเกิดลองโควิดน้อย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่สำคัญแค่วัคซีน เราดูแลตัวเองอย่างไรก็สำคัญในการมีชีวิตอยู่กับโควิด ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่นของเรา

เมื่อครู่เราพูดถึงวัคซีนกับภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ มันหมายความว่าอย่างไร จะดีไหมถ้าให้คนติดโควิดก่อนที่จะมาเจอสายพันธ์ใหม่อย่างอัลฟา เพราะพอติดอัลฟ่าแล้วก็ไม่มีภูมิต่อสายพันธ์เดลต้า แต่ถ้าติดเดลต้าแล้วฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนแล้วติดเดลต้า ข้อมูลที่คุณหมอพูดถึงเมื่อครู่มีรายละเอียดไหมที่ว่าได้วัคซีนครบแล้วมาติดเชื้อโรคจริงมันให้ภูมิคุ้มกันสูงมาก 13 เท่า ถ้าอย่างนั้นเมื่อได้วัคซีนสองเข็มแล้วเราหาเรื่องพบปะผู้คนเผื่อติดเชื้อธรรมชาติจะดีไหม จะได้ไม่ต้องคอยฉีดกระตุ้น

คุณหมอมีความเห็นอย่างไรเรื่องฉีดวัคซีนแล้วมาติดเชื้อธรรมชาติ นั่นเป็นคำถามแรก อีกคำถามหนึ่ง คุณหมอพูดถึงว่าภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้ว มันไม่เวอร์คแล้ว ไม่ว่าจะ 50, 70% โดยเฉพาะกับเดลต้าซึ่งติดต่อง่ายมากกว่า 5-8 เท่ามันต้องให้คนเป็นโควิดให้ได้ 100% เลยหรือเปล่าโรคถึงจะจบ ทางแก้ปัญหาคืออย่างไร การให้ทุกคนติดเชื้อโควิดเป็นคำตอบหรือเปล่า จากนี้ไปต้องทำยังไงกันต่อดี

นพ.สันต์ (26:55):

ให้ผมลงลึกถึงงานวิจัยที่ทำในอิสราเอลในเรื่องนี้หน่อยนะเพราะมันตอบคำถามของคุณได้ ในงานวิจัยนี้เขาดูคนไข้จำนวนมาก ราว  600,000 คน แบ่งเป็นสามกลุ่ม

กลุ่มที่ 1. ติดเชื้อธรรมชาติ ไม่ได้วัคซีนเลย

กลุ่มที่ 2. ติดเชื้อธรรมชาติ แล้วมาฉีดวัคซีนหนึ่งเข็ม

กลุ่มที่ 3. ได้วัคซีนครบสองเข็ม ไม่เคยติดเชื้อ  

จากนั้นตามดูการติดเชื้อครั้งใหม่หลังจากนั้น แล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงของการติดเชื้อครั้งใหม่ ได้ผลว่าในสองกลุ่มที่เคยติดเชื้อธรรมชาติมามีความเสี่ยงในการติดเชื้อครั้งใหม่ซ้ำต่ำมาก ต่ำกว่าพวกที่ได้วัคซีนครบสองเข็มแต่ไม่เคยติดเชื้อธรรมชาติมาก่อนถึง 13 เท่า มองจากมุมของงานวิจัยนี้เรามีทางไปสองทาง คือ

ทางเลือกที่ 1. รับวัคซีนให้ครบสองเข็มเพื่อลดการเข้าโรงพยาบาลและการตายหากติดเชื้อ แล้วออกมาใช้ชีวิตกับโควิด ซึ่งเป็นทางเลือกที่เข้าท่าหากมองจากงานวิจัยอิสราเอลนี้

ทางเลือกที่ 2. รับวัคซีนให้ครบสองเข็ม แล้วคอยฉีดกระตุ้นเรื่อยไป ผมไม่รู้หรอกว่าต้องฉีดกระตุ้นกันไปอีกนานกี่ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่ให้ประสิทธิผลดีจริงๆออกมาใช้โน่นแหละ ไม่รู้เมื่อไหร่

ตัวผมเชียร์ให้เลือกทางเลือกที่ 1. คือฉีดวัคซีนให้ครบ แล้วออกมาใช้ชีวิตกับโควิด พร้อมเมื่อเกิดการติดเชื้อตามธรรมชาติก็รับได้และถือว่าก็ดีที่จะได้มีภูมิคุ้มกันที่ถาวรกว่า

คุณวิเวก:

โอเค. นั่นตอบคำถามผมเรื่อง herd immunity ไปด้วย คืออย่ากังวลมากเกินไป ออกมาใช้ชีวิต หลังจากนี้ผมก็อยากกลับเข้าออฟฟิศ เพื่อนร่วมงานทั่วโลกก็คงคิดเหมือนกัน แต่ด้านหนึ่งรัฐบาลก็ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามโน่นห้ามนี่ อีกด้านหนึ่งเราเองก็ยังไม่พร้อม ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนได้วัคซีนแล้วหรือยัง เขาเป็นโควิดอยู่หรือเปล่า ครอบครัวของเขาได้วัคซีนกันครบหรือยัง แล้วเราจะเปิดออฟฟิศของเราอย่างไรดี

คนในออฟฟิศบางคนอาจไม่ได้วัคซีนเลย บางคนได้มาครบสองเข็ม แล้วการนั่งละ ผมนั่งกับคุณหมอวันนี้นี่เป็นการพบกันหลังจากที่ต่างก็ได้วัคซีนครบมาเกินสองสัปดาห์แล้ว ซึ่งว่ากันว่าได้สร้างแอนตี้บอดี้แล้ว เราก็อาจจะปลอดภัยกว่าก่อนหน้านี้ ถ้าอย่างนั้นเรานั่งอยู่ด้วยกันโดยไม่สวมมาสก์ได้ใช่ไหม ก่อนหน้านี้เรานั่งอย่างนี้ไม่ได้ นี่ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการได้วัคซีน

เราจะไปต่อยังไงดี มีคำแนะนำอะไรไหมในเรื่องการเปิดออฟฟิศ ต้องมีระเบียบปฏิบัติอย่างไร มันถึงเวลาที่เราจะเปิดออฟฟิศแล้ว พวกเราส่วนใหญ่ก็ได้วัคซีนครบสองเข็มแล้ว คุณหมอมีคำแนะนำยังไงครับ

นพ.สันต์ (30:19):

มองจากมุมของปัจเจกบุคคล ทุกคนที่ได้วัคซีนครบแล้วก็ควรจะไปไหนมาไหนทำอะไรอิสระได้ แต่มองจากมุมของสังคม สิ่งที่เรียกว่ามาตรการป้องกันสากลคือสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ก็ยังต้องทำอยู่จนกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดในสังคมจะได้รับวัคซีนครบแล้ว เพราะทุกวันนี้คนที่มีความเสี่ยงสูงจำนวนหนึ่ง ก็ยังได้วัคซีนไม่ครบ

เมื่อคนที่มีความเสี่ยงสูงทุกคนได้วัคซีนครบแล้ว ถึงตอนนั้นทุกคนเป็นอิสระไปไหนมาไหนได้ โดยที่มาตรการป้องกันสากลก็จะเป็นเพียงทางเลือก ไม่ใช่ข้อบังคับ

คุณวิเวก:

เมื่อคุณหมอพูดถึงมาตรการป้องกันสากล หมายถึงเฉพาะในห้องที่ใช้ร่วมกัน หรือรวมทั้งในที่เปิดด้วย ทั้งการสวมมาสก์ เป็นต้น ยังต้องสวมอยู่ไหม

นพ.สันต์ (31:33):

อยู่ห่าง สวมมาสก์.

คุณวิเวก:

อยู่ห่าง สวมมาสก์

นพ.สันต์ (31:34):

ล้างมือบ่อย

คุณวิเวก:

มาตรการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมอยู่ ควรจะทำต่อไป แต่ถ้านั่งอยู่กับคนที่ฉีดวัคซีนมาครบแล้ว 100% คุณก็อาจจะ..

นพ.สันต์ (31:42):

ใช่ครับ

คุณวิเวก:

ในครอบครัว ลูกเมียผมฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว ผมก็ไม่ต้องสวมมาสก์เวลานั่งกับพวกเขาใช่ไหม

นพ.สันต์ (31:51):

ไม่ต้อง มาตรการป้องกันสากล ใช้ในสังคมที่ยังมีคนที่ความเสี่ยงสูงส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ เราปฏิบัติมาตรการป้องกันสากลเพื่อปกป้องคนส่วนนั้น

คุณวิเวก:

โอเค. มาถึงอีกคำถามหนึ่ง คุณหมอพูดถึงเด็ก เมื่อจะต้องให้เด็กกลับไปโรงเรียน พ่อแม่ก็กังวลอยากให้เด็กได้วัคซีน เมื่อเด็กไปโรงเรียนแล้ว เด็กต้องสวมมาสก์ไหม ผมหมายถึงเด็กอายุ 12-18 แล้วเด็กอายุต่ำกว่า 12 ซึ่งยังไม่มีวัคซีนจะไปโรงเรียนได้ไหม หรือว่าต้องรอให้รัฐบาลอนุญาต

นพ.สันต์ (32:35):

มันขึ้นอยู่กับว่า.. มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองออกจากมุมไหน หากมองออกจากมุมที่มุ่งจะปกป้องผู้มีความเสี่ยงสูงที่อยู่ที่บ้านคือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เราจะเปิดโรงเรียนและให้เด็กไปโรงเรียนได้ก็ต่อเมื่อผู้มีความเสี่ยงสูงที่บ้านได้รับวัคซีนครบแล้วทุกคน นั่นเป็นมุมมองที่ 1

หากมองออกมาจากอีกมุมหนึ่ง คือมองจากมุมของอัตราตายของเด็กจากโรคโควิด ถ้าใช้สถิติของอังกฤษ เมื่อผู้มีความเสี่ยงสูงที่บ้านได้วัคซีนครบก็เปิดโรงเรียนได้เดี๋ยวนี้เลยไม่ต้องรอให้เด็กได้วัคซีน เพราะอัตราตายของเด็กจากโรคโควิดต่ำมากจนตัดทิ้งไม่ต้องเอามาพิจารณายังได้เลย

แต่ถ้าใช้สถิติแบบอเมริกาซึ่งเขาอ้างว่าอัตราตายของเด็กมากอย่างมีนัยยะ หากถือตามเขาก็ต้องรอจนกว่าเด็กทุกคนจะได้วัคซีนครบจึงจะเปิดโรงเรียนได้ ที่อายุต่ำกว่า 12 ปีก็ต้องรอจนมีวัคซีนก่อน

คุณวิเวก:

ตอนนี้วัคซีนเด็กเล็กยังไม่ได้รับอนุมัติ ผมเข้าใจว่าคงจะได้รับอนุมัติเร็วๆนี้ คุณหมอพูดถูก เราต้องรอดู เปิดโรงเรียน ใช่ เข้าใจ กลับมาพูดถึงผู้มีความเสี่ยงสูงที่บ้าน ถ้าเด็กได้วัคซีนไปโรงเรียน กลับบ้านก็ยังปลอดภัยต่อคนที่บ้าน นั่นเป็นวิธีคิดวิธีหนึ่ง ผมอยากพูดถึงเรื่องมีความเสี่ยงสูง ผมอยากเข้าใจว่าคุณหมอหมายความว่าอย่างไรที่ว่ามีความเสี่ยงสูง เด็กเองก็อาจมีความเสี่ยงสูงถ้าอ้วน หรือถ้าเป็นโรคบางโรค เป็นต้น

นพ.สันต์ (34:10):

เมื่อผมพูดถึงผู้มีความเสี่ยงสูง ผมหมายถึงผู้สูงอายุที่บ้านของเด็ก ที่บ้านนะ ไม่ได้หมายถึงตัวเด็กเอง เพราะหากถือตามสถิติของอังกฤษ ไม่มีเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งประเทศมีเด็กตายแค่ 25 คน ในจำนวนนี้ 15 คนเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากจำนวนที่ตายรวมมีน้อยมาก จึงไม่มีประเด็นว่าเด็กคนไหนความเสี่ยงสูง

คุณวิเวก:

คุณหมอไม่แยกเด็กอ้วนหรือเด็กเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆหรือ เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการป้องกันมากกว่าเด็กอื่นที่สุขภาพดีกว่าไม่ใช่หรือ

นพ.สันต์ (34:51):

ผมเห็นด้วยกับนโยบายของอังกฤษนะ คือปฏิบัติต่อเด็กทุกคนเหมือนกันหมด ไม่จำแนกใครเสี่ยงสูงต่ำ ไม่มีการฉีดวัคซีนให้เด็ก อัตราตายรวมมันต่ำเกินกว่าที่จะไปเสียเวลาลงมือทำอะไร

คุณวิเวก:

เข้าใจละ เข้าใจละ มีอีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเข้าใจ ผมยังไม่เคลียร์ ว่าคุณหมอนิยามว่าอย่างไรเมื่อเราพูดว่าโควิดเป็นโรคระบาดใหญ่หรือ pandemic เดี๋ยวนี้คนมาเรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือ endemic ว่ามันจะมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง สิงค์โปร์เองก็เปลี่ยนจุดยืนจากเดิมที่จะมีโควิดเป็นศูนย์มาใช้แนวนี้เหมือนกัน เมื่อมันกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั่นหมายความว่าทุกคนต้องมีโอกาสเป็นโรคนี้กันหมดใช่ไหม เหมือนอย่างหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และมันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราใช่ไหม คุณหมอหมายความว่าอย่างนั้นหรือเปล่า เราทุกคนต้องอยู่กับมัน และมันก็จะไม่ไปไหน คุณหมอช่วยไขข้อข้องใจตรงนี้หน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมเราต้องตรวจ ต้องกักตัว หากโรคจะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่งแล้ว มันถึงตรงนั้นแล้ว หรือว่ายัง

นพ.สันต์ (35:54):

เรามีอยู่สองคำนะ คำแรกคือโรคระบาดใหญ่หรือ pandemic ซึ่งนิยามว่าโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลกพ้นการควบคุมใดๆ ซึ่งโควิดตั้งต้นแบบนั้น อีกคำหนึ่งคือโรคประจำถิ่น หรือ Endemic ซึ่งหมายถึงว่าเป็นโรคประจำถิ่น คาดเดาได้ จัดการได้ ทุกประเทศพยายามเปลี่ยนโควิดจากการเป็นโรคระบาดใหญ่ให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการใช้เตียงโรงพยาบาล กับจำนวนเตียงโรงพยาบาลที่มีอยู่ เพราะถ้าตรงนี้มีดุลยภาพ มีเตียงพอกับคนไข้ โรคก็จัดการได้ในระดับท้องถิ่น ไม่มีปัญหา

ในฝั่งความต้องการใช้เตียงนั้น เราจะทำอะไรได้บ้าง เราลดความต้องการใช้เตียงลงได้โดย

  1. ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า 92% ของคนป่วยโควิดที่กินเตียงโรงพยาบาลและตายคือผู้สูงอายุ เราจึงต้องฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงนี้ก่อน
  2. มองจากมุมมองปัจเจกบุคคล เราทุกคนต้องจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพของเราให้ดี ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
  3. เมื่อใดก็ตามที่ติดเชื้อ ต้องเริ่มการรักษาทันที อย่าลืมว่าเราพูดถึงโรคประจำถิ่นอย่างหวัดและไข้หวัดใหญ่เราต้องจัดการมันได้ด้วยตัวเราเอง ขึ้นอยู่กับว่าประเทศของท่านมีอะไรให้ใช้ อย่างในประเทศไทยที่ใช้ง่ายที่สุดคือฟ้าทะลายโจร บางประเทศมีไอเวอร์เมคติน อะไรก็ตามที่ท่านมีในประเทศของท่าน เริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด นั่นเป็นวิธีรับมือกับโรคประจำถิ่น

คุณวิเวก:

ถ้ามีเตียงพอและเข้าถึงได้ คนสูงอายุได้วัคซีนครบ ความต้องการใช้เตียงก็น้อยลง โรคก็จัดการได้ เรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้ คุณหมอหมายความว่าอย่างนั้น โอเค. ดีมาก คำถามต่อไปอย่างเร็วเลย เพราะเวลาเรางวดลงแล้ว คุณหมอนิยามว่าความเสี่ยงสูงว่าอย่างไร ผู้สูงอายุเป็นความเสี่ยงสูง แล้วโรคเรื้อรังอื่นๆละ เช่นโรคหัวใจหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง ได้ยากดภูมิคุ้มกัน พวกนี้ก็เป็นความเสี่ยงสูงด้วยใช่ไหม แล้วเด็กมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงพิเศษไหม แล้วหญิงตั้งครรภ์ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยไหม ขอความเข้าใจตรงนี้หน่อย

และอยากเข้าใจด้วยว่าผมจะทำตัวผมเองเพื่อเปลี่ยนจากคนเสี่ยงสูงเป็นเสี่ยงต่ำได้ไหม ผมจะทำอะไรได้บ้าง ผมต้องเปลี่ยนตัวเองตอนนี้เลยไหม หรือว่ามันเป็นไปไม่ได้ มีวิธีไหม

นพ.สันต์ (38:59):

เราแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ออกเป็นสามกลุ่ม

  1. ผู้สูงอายุ แน่นอนว่าอายุอย่างเดียวก็เป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่แล้ว เราจัดการอะไรกับอายุไม่ได้
  2. โรคเรื้อรัง เมื่อพูดว่าโรคเรื้อรัง ผมหมายถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเจ็ดแปดโรค เช่น โรคอ้วน ความดันสูง โรคหัวใจหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทุกโรคเหล่านี่เพิ่มอัตราตายให้โรคโควิดหมด
  3. หญิงมีครรภ์ ใช่ ตอนนี้เราจำแนกหญิงมีครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะหญิงมีครรภ์เมื่อติดโควิดแล้วจะมีอัตราตายและทุพลภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งอาจจบลงด้วยการเสียชีวิตได้

ทั้งสามกลุ่มนี้เราลดความเสี่ยงลงได้ทั้งนั้นแหละ แม้แต่ผู้สูงอายุก็ลดความเสี่ยงลงได้ ผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ มีภูมิคุ้มกันโรคดีก็มีอัตาตายต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพตัวเองไม่ดี กลุ่มคนเป็นโรคเรื้อรังหากจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคของตัวเองให้โรคของตัวเองลดความรุนแรงลงอัตราตายจากโควิดก็ลดลง ยกตัวอย่างเช่นคนเป็นโรคหัวใจอยู่หากจัดการไขมันในเลือด จัดการความดันเลือด จัดการอาหาร และออกกำลังกาย ได้ดี ความเสี่ยงจากโควิดก็ลดลง

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นที่เห็นพ้องกันทั่วโลกว่าเราควรเชียร์ให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนให้ครบเพื่อลดความเสี่ยงจากความรุนแรงของโรคโควิด

คุณวิเวก:

ตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าหญิงมีครรภ์ควรได้วัคซีน และคุณหมอบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ และสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะในกลุ่มเสี่ยงไหน ก็ควรมุ่งหน้าเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้สุขภาพตัวเองดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกินอาหารที่ถูกต้องโดยมุ่งไปทางกินพืชเป็นหลัก มีกากมาก มีผลไม้มาก เคลื่อนไหวมากขึ้น ด้วยการเดิน หรือออกกำลังกาย นอนหลับให้ดีและให้พอ ทั้งหมดนี้มีผลต่อสุขภาพและภูมิคุ้มกันของท่าน แนวนี้จะช่วยท่านให้พ้นจากผลข้างเคียงรุนแรงของโรคโควิดได้

เอาละ ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าความเสี่ยงสูงหมายถึงอะไรและจะจัดการมันอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาคือการที่มันมีข่าวให้กังวลว่าเชื้อกลายพันธ์ใหม่เกิดขึ้นอีกแล้วและจะเกิดตามมาอีก เดลต้ามาแล้วพร้อมกับติดต่อเร็วขึ้น 5-8 เท่า แล้วก็มี “มิว” เข้ามาอีก มันจะจบแบบเดลต้าหรือเปล่า แล้วจะมีเชื้อกลายพันธ์ใหม่อื่นเข้ามาอีกหรือเปล่า เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง มันจะมีผลกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร

นพ.สันต์ (42:21):

ผมคิดว่าเราเดาได้นะว่าเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆเพราะอัตราการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในระดับทั่วโลกยังต่ำมาก ตราบใดที่ในระดับโลกโรคยังแพร่ไปได้เร็ว ตราบนั้นเชื้อกลายพันธ์ใหม่ๆก็ยังจะเกิดขึ้น

สำหรับสายพันธ์มิว ผมยังไม่เห็นอะไรที่น่ากังวล ประเด็นเดียวที่ทำให้คนสนใจมิวก็คือมันมีโครงสร้างในเชิงภูมิคุ้มกันวิทยาที่เอื้อต่อการหลบรอดวัคซีนได้ แค่นั้นเอง พิษสงจริงๆในแง่การติดต่อเร็วมีน้อย ในชีวิตจริงมันถูกแซงหน้าด้วยเดลต้าไปแล้วแบบไม่เห็นฝุ่น ดังนั้นมิวไม่ใช่เชื้อกลายพันธ์ที่น่ากังวง เดลต้าต่างหากที่น่ากังวล.

คุณวิเวก:

ยังเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ ถ้าท่านผู้ชมมีคำถามกรุณาคีย์เข้ามาในยูทูปหรือเฟซบุ้คของคุณได้เลยนะครับ เรามีทีมที่ปรึกษาทางแพทย์ดูแลอยู่ เผื่อว่ามีอะไรที่ท่านผู้ชมอยากทราบแต่เราไม่ได้พูดถึง เรายินดีที่จะตอบให้ในช่วง 15 นาทีสุดท้าย

ผมเข้าใจว่าคุณหมอคาดเดาไม่ได้ว่าอีกกี่ปีโควิดจึงจะหมด แต่อยากจะเข้าใจว่าเราจะอยู่กับโควิดนี้ไปอย่างไรหลังจากได้วัคซีนครบสองโด้สแล้ว และผ่านไปสองสัปดาห์แล้ว แล้วเราควรทำอย่างไรต่อไป ผมได้ยินคุณหมอพูดเลาๆแต่อยากจะขอยืนยันว่าผมออกมาจากบ้านได้แล้ว ออกไปข้างนอกได้ พบผู้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วได้ แต่ยังควรปฏิบัติมาตรการป้องกันสากลอยู่ มีอะไรที่คุณหมออยากพูดเรื่องเราจะมีชีวิตอยู่กับโควิดต่อไปอย่างไรอีกไหม   

ข้อมูลสถิติบอกว่า 28 เดือนเข้ามาแล้ว เราคงอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ มันน่าจะได้เวลากลับไปเดินทาง กลับไปท่องเที่ยว กลับไปทำธุรกิจ คุณหมอคิดว่าอย่างไร

นพ.สันต์ (44:42):

การฉีดวัคซีนให้ครบเป็นสิ่งต้องทำก่อน ทุกคนต้องได้วัคซีนครบ สองเข็ม

วิถีชีวิตที่มุ่งสู่การมีสุขภาพดีก็เป็นสิ่งต้องทำ กินอาหารพืชเป็นหลัก ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ  ออกกำลังกาย นอนหลับให้พอ ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ให้ได้แสงแดด ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ

มาตรการป้องกันสากลคือสวมมาสก์ อยู่ห่าง ล้างมือ ก็ต้องทำไปจนคนมีความเสี่ยงสูงในประเทศจะได้วัคซีนครบกันหมดแล้ว

ประเด็นสำคัญคือ เมื่อได้วัคซีนครบแล้ว ออกจากถ้ำ มาเริ่มใช้ชีวิตกันเถอะ

คุณวิเวก:

ชีวิตจะกลับไปสู่ปกติแล้ว แต่ว่าเรายังต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์บางอย่าง คุณหมอว่าถ้าอยู่ในที่สาธารณะก็ยังควรสวมหน้ากากแม้ว่าจะได้วัคซีนครบแล้ว ทำอย่างนั้นไม่มีอะไรเสีย ใช่ไหมครับ เว้นเสียแต่ว่าทั้งประเทศได้วัคซีนกันครบหมดแล้ว อันนี้ใช้ได้กับการกลับไปสู่ชีวิตปกติด้วยใช่ไหม

อีกเรื่องหนึ่งที่เราทราบดีและคุณหมอได้ทำสิ่งนี้กับผู้ป่วย COVID ที่นี่ ที่ศูนย์ Wellness We Care คุณหมอได้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงทุกประเภท โรคที่เกิดจากวิถีชีวิตของเราเอง และคุณหมอได้สอนพวกเขามาเป็นเวลานานเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต การมีสุขภาพดีขึ้นอาจหมายถึงการลดความเสี่ยงของโรค ตามที่ผมได้ยินจากคุณหมอ และข้อมูลยังแนะนำว่าไม่เพียงแต่วิตามินดี สังกะสี วิตามินซี ฯลฯ เท่านั้น ที่จะช่วย แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมด การรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย น้ำหนักดี การนอนหลับ ก็สำคัญ ทำให้คุณมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

ก่อนที่เราจะสรุป คุณหมอช่วยให้ข้อคิด เพราะเราเข้าใจดีว่าโลกกำลังเคลื่อนจากการเอาแต่นับหัวคนติดเชื้อไปสู่การจัดการดูแลคนป่วยให้ทันและให้ลงตัว การประเมิน ตามติด และจัดการรับมือผู้ป่วย นั่นหมายถึงให้มีเตียงโรงพยาบาลเหลือเพียงพอ ทำให้เราอยู่กับโรคประจำถิ่นนี้ไปได้ นั่นเป็นสิ่งที่รัฐโดยหน่วยงานทางด้านสุขภาพกำลังทำให้เรา ในส่วนของตัวเราก็ต้องมีมีสุขภาพที่ดีด้วยตัวเอง ตราบเท่าที่คุณมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าก่อนที่เราจะจบและไปช่วงคำถามและคำตอบ คุณหมอช่วยให้คำแนะนำอะไรสักหน่อยในเรื่องที่เราจะกลับไปใช้ชีวิตในแต่ละวันต่อไป เชิญคุณหมอครับ

นพ.สันต์ (47:34):

นานมาแล้วองค์การอนามัยหรือ WHO โลกใช้คำว่า “การจัดการตนเอง” ผมชอบคำนี้นะ การจัดการตัวเอง มันมีองค์ประกอบหกประการสำหรับยุคโควิดนี้

อันดับหนึ่ง คืออาหาร ต้องหันไปหาอาหารจากพืชหลากหลายชนิด นั่นคืออันดับหนึ่ง

อันดับสอง คือการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็คือออกกำลังกายทุกวัน

อันดับสาม คือการนอนหลับที่เพียงพอเพราะการนอนหลับมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน

อันดับที่สี่ คือการจัดการความเครียด และเรียนรู้ที่จะวางความคิดของคุณลง อย่าไปมั่วอยู่กับความคิดของคุณมากเกินไป

อันดับห้า คือการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ถูกแสงแดดบ้าง

นี่คือวิธีใช้ชีวิตกับโควิด โดยเฉพาะกับโควิดแบบลากยาว เท่าที่ผมดูคนไข้โควิดแบบลากยาวที่นี่ การใช้ชีวิตกลางแจ้งทำให้พวกเขาดีขึ้นได้เร็วมาก ผมขอแนะนำอย่างยิ่งให้ออกไปกลางแจ้ง รับแสงแดด อย่างน้อยก็ในช่วงยุคโควิดนี้

อันดับที่หก คือ อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุ หากการรับประทานอาหารตามธรรมชาติมีจำกัดหรือไม่เพียงพอ มีการศึกษามากมายที่ผู้ป่วยโควิดระดับรุนแรง พวกเขามีวิตามินและแร่ธาตุในระดับต่ำ เช่น วิตามินดี วิตามินซี และสังกะสี เป็นต้น ดังนั้น หากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ผมแนะนำให้เสริมวิตามินและแร่ธาตุด้วย นั่นคือองค์ประกอบหกประการของสิ่งที่ WHO เรียกว่าการจัดการตนเอง

คุณวิเวก:

เยี่ยมมาก คุณหมอสันต์ อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าต้องอยู่กับโควิดอย่างไร เรากำลังคิดว่าในเดือนตุลาคมเราคงฉีดวัคซีนกับเกือบครบแล้วและน่าจะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ทุกวันนี้ผมเองพยายามจะออกแดดให้มากๆ และอยู่กลางแจ้ง ทานวิตามินบางชนิด นั่นเป็นทางเลือกของผม เอาละ.. ผมคิดว่าเราใกล้จะสิ้นสุดการพูดคุยกันแล้ว 
ผมมีคำถามสองสามข้อจากผู้ชม ผู้ที่เคยเข้าร่วม บางคำถามเาคุยกันไปแล้ว ผมจะขอให้หมอสันต์ตอบบางข้ออีกครั้ง ผมคิดว่าคำถามหนึ่งคือ ถ้าฉันได้รับวัคซีนครบแล้ว และหลังจากนั้นฉันก็ติดเชื้อตามธรรมชาติ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่? คุณบอกว่ามันสูงขึ้น หรือว่ามันไม่เปลี่ยนความเสี่ยง 
นพ.สันต์(50:34):
คำถามนี้ถามถึงภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนครบแล้ว ตอบว่าความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีน้อยมาก นั่นเป็นข่าวดี การติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อตามธรรมชาติโดยไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน ดังนั้นคุณฉีดวัคซีนแล้วคุณปลอดภัยกว่าแน่นอนในแง่ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
คุณวิเวก:              
การฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อตามธรรมชาติ ยังจะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อครั้งต่อไปเหลือต่ำมาก คำถามต่อไปคือถ้าวัคซีนป้องกันโรคโควิดในหลายประเทศไม่มีให้บริการสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี คุ้มหรือไม่ที่จะให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่เด็กไหม? 
นพ.สันต์ 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนปกติที่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปรับทุกปี ปีละครั้ง. ฉีดได้ ไม่มีอะไรจะเสีย วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันเด็กจากโควิดได้หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับภูมิคุ้มกันโควิด ไม่มีหลักฐาน ผมขอเน้นที่นี่อีกครั้งเกี่ยวกับโรคโควิดในเด็ก ว่าอัตราการตายของเด็กจากโควิดนั้นน้อยมากจนเราไม่ต้องกังวลอะไรเกี่ยวกับเด็กเลยดีกว่า
คุณวิเวก:
อายุต่ำกว่า 12 ปี คุณยังไม่รู้ว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้ได้ผลหรือไม่ อย่าไปฉีดเลยดีกว่า เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะป้องกันเด็กจากโควิดได้ คำถามต่อไป ผมคิดว่าคุณหมอได้ตอบไปแล้วขณะคุยกัน แต่ผมจะอ่านอีกครั้ง ถามว่าฉีด Astra เข็มแรก แล้วไฟเซอร์เข็มที่สอง ปลอดภัยไหม มันมีประสิทธิภาพหรือไม่? ฉันคิดว่าคุณหมอตอบว่าสิ่งที่เรารู้คือภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ประสิทธิภาพ ถูกต้องไหม
นพ.สันต์(52:38):
ใช่ครับ. ถูกต้อง. ดีกว่าแอสตร้าบวกแอสตร้า
คุณวิเวก:
หรือไฟเซอร์บวกไฟเซอร์? หรือแอสตร้าบวกแอสตร้า
นพ.สันต์ (52:42):
ในขณะนี้แอสตร้าบวกไฟเซอร์ เป็นส่วนผสมที่ดีที่สุดในแง่ของระดับภูมิคุ้มกัน ในแง่ของระดับภูมิคุ้มกันนะ
คุณวิเวก:
นั่นอาจเป็นข้อมูลระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นข้อมูลระยะสั้น ข้อมูลระยะยาวคงต้องรอก่อน ผมเข้าใจว่าที่อังกฤษกำลังรับสมัครคนเข้าวิจัย 8,000 คนต่อวัน วิจัยว่าพัฒนาการของภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อซ้ำว่ามันจะเป็นอย่างไรในระยะยาว  คงจะมีข้อมูลตามมาอีก
นพ.สันต์ (53:17):
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึงที่นี่อีกครั้งก็คือ การติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบ บางรายงานมีสูงถึง 40% ของการติดเชื้อทั้งหมด ด้วยการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนที่มากขนาดนี้ ในที่สุดพวกเราเกือบทุกคนคงจะติดเชื้อจริงกันสักครั้งในชีวิต แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้ว 
คุณวิเวก:
คำถามสุดท้ายก่อนที่เราจะจากกัน ฉันได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบถ้วนแล้ว แต่ฉันต้องเดินทาง ฉันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่? มันเป็นคนละเรื่องกันไหม การเดินทางและไข้หวัดใหญ่? ฉันไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาก่อน แต่ฉันต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ถ้าฉันเป็นโควิด
นพ.สันต์ (54:06):
มันเป็นสองประเด็นที่แยกจากกัน ผมแนะนำว่าทุกคนที่มีอายุมากกว่าหกเดือนควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งหรือสองครั้ง นั่นคือคำแนะนำระดับโลก จนถึงตอนนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับโควิด แต่การเกิดภูมิคุ้มกันข้ามโรคนั้นยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่ามันเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่าสำหรับนักเดินทาง การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบควบกับฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
คุณวิเวก:
สำหรับนักเดินทาง ตกลง. มีคนถามว่าเราควรเริ่มเดินทางเมื่อไร? ถ้ารัฐบาลอนุญาต เราควรเริ่มเดินทางได้เลยหรือควรรอดู? หากคุณได้รับวัคซีนครบสองเข็มและและติดเชื้อโควิดมาแล้วด้วย คุณมีภูมิคุ้มกันมากกว่าคนได้วัคซีนอย่างเดียว 13 เท่า ดีกว่าคนอื่น ผมไม่รู้ เมื่อรัฐบาลอนุญาต สำหรับผม และเมื่อรัฐบาลเลิกกักตัวอยู่คนเดียว 14 วัน ผมก็จะเริ่มเดินทาง นั่นคือมุมมองของผมนะ คุณหมอสันต์มีความเห็นอย่างไรบ้างว่า หลังฉีดวัคซีน หลังติดโควิด เดินทางดีไหม หรือยังอันตรายอยู่ เพราะอยู่ในห้องเล็กๆ ที่ปิดมิดชิด และอยู่ในเครื่องบิน?
นพ.สันต์ (55:37):
การแยกตัวเองไม่จำเป็นสำหรับตัวเราเองเมื่อเราได้วัคซีนครบแล้ว แต่จำเป็นเพื่อปกป้องคนอื่นที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 
คุณวิเวก:
ผมคิดว่าในประเทศที่คุณเดินทางไป อาจจะเป็นอย่างที่คุณหมอพูด ผมคิดว่าความท้าทายที่ผมได้ยินคือโลกจะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบจนถึงปีหน้า ครึ่งปีหน้าหรือจนกว่าจะสิ้นปีหน้า น่าจะเป็นต้นปี 2565 ความพร้อมของวัคซีน มีความต้องการวัคซีนหนึ่งหมื่นสี่พันล้านทั่วโลก ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอในแอฟริกาและอีกหลายประเทศ ที่ได้ไปแล้วคือ 35, 40% สหรัฐอเมริกาน่าจะ 50 บวก อังกฤษน่าจะ 76 บวก มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ไปถึงระดับนั้น 100% หรือ 70 ถึง 80%
คงต้องใช้เวลาสักพัก นั่นเป็นความท้าทายที่อาจมากกว่าสิ่งอื่นใด คุณสบายดี แต่เมื่อคุณไปพบคนอื่นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเขาอาจติดเชื้อจากคุณ และคุณก็มีโอกาสติดเชื้อจากเขา เพราะคนที่ฉีดวัคซีนก็สามารถแพร่เชื้อ COVID ไปยังผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนได้เช่นกัน ตัวคุณเองติดเชื้อแล้วอาจไม่มีผลกระทบมากหรือไม่ตาย แต่คนที่ยังไม่ได้วัคซีนเขาติดเชื้อแล้วเขามีผลกระทบมากอาจถึงตายได้ ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนต่ำอาจเป็นกรณีนี้
นพ.สันต์ (56:59):
ถูกต้อง.
คุณวิเวก:
บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลประกอบการวางแผนเดินทางของคุณ ผมคิดอย่างนั้น นั่นเป็นหนึ่งในคำถาม เรามาถึงจุดสิ้นสุดของการพูดคุยของเรา ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เพื่อนร่วมงานของผมจากส่วนต่างๆ ของโลก ขอบคุณมากที่รับฟังเราและให้โอกาสเราได้พูดคุยกับท่าน ผมหวังว่าการพูดคุยนี้จะเป็นประโยชน์และให้ความคิดใหม่ๆ แก่ท่าน บางทีท่านอาจรู้ทุกอย่าง แต่เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแบ่งปันหลักฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในภาษาง่ายเพื่อให้ท่านเข้าใจ ครอบครัวของท่านเข้าใจ และท่านสามารถอยู่ได้โดยปราศจากความกลัวและเริ่มออกมาใช้ชีวิต ขอขอบคุณคุณหมอสันต์ ผู้เชี่ยวชาญของเรา สวัสดีจากประเทศไทย 
นพ.สันต์ (57:47):
ขอขอบคุณครับ. ลาก่อน.
คุณวิเวก:
ลาก่อน. พบกันกันเร็วๆนี้. ขอขอบคุณ.

......................................