Latest

กำลังเป็นทุกข์กับการดูแลคุณแม่

เรียนคุณหมอสันต์

หนูกำลังมีความทุกข์อยู่กับการดูแลคุณแม่อายุ 84 ปี หนูเครียดมาก คุณพ่อเสียไปแล้วสองปี คุณแม่อยู่บ้านคนเดียวแต่ก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านของหนู หนูไปดูแลคุณแม่ทุกวัน คุณแม่ซึมเศร้า สมองเสื่อมจำอะไรไม่ได้ เอาแต่คิดถึงพ่อและบ่นอยากตาย พาไปหาจิตแพทย์ได้ยามาก็ไม่ทาน หนูก็ต้องมาเหนื่อยกับการบังคับให้คุณแม่ทานยา ตื่นนอนก็ไม่เป็นเวลา บางวันกว่าจะตื่นก็สิบโมงสิบเอ็ดโมง เสื้อผ้าไม่เคยเปลี่ยน ต้องแอบเอาของที่ซักแล้วไปยัดไว้ให้แทนผ้าที่ชอบใช้ซ้ำ บางครั้งก็แอบเห็นมีคราบอุจจาระเปื้อนเสื้อผ้า ยังอาบน้ำเข้าห้องน้ำเองได้ ชอบออกไปนอกบ้านไปคุยกับชาวบ้าน ให้สวมหน้ากากก็ไม่ยอมสวม จนหนูต้องกักตัวไว้ ท่านก็ยิ่งซึมเศร้าหนัก ให้ทำกิจกรรมฝึกสมองก็ไม่ทำ ให้ออกกำลังกายก็ไม่ออก การทานอาหารก็ลดลงไปมาก หนูดูแลคุณแม่อยู่กับคุณแม่ทุกวันจนตัวหนูเองก็พลอยดูดซับความซึมเศร้าไปด้วยและเครียดมากๆ อยากออกไปต่างจังหวัดบ้างแต่ชวนคุณแม่ก็ไม่ยอมไป จะเอาแต่นั่งคิดถึงคุณพ่อและร้องไห้บ่นอยากตายเท่านั้น

หนูควรจะทำอย่างไรดีคะคุณหมอ

…………………………………………………………………………….

ตอบครับ

หลักคิดในการดูแลผู้สูงอายุของผมมาจากประสบการณ์ชีวิตตัวเอง บวกการได้เห็นคนไข้ของผมซึ่งที่เป็นคนสูงอายุ บวกกับการได้เห็นคนป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหลักคิดของผมอาจจะไม่เหมือนหลักทั่ว ๆไปที่เขาพูดกันบ่อยๆว่าการดูแลผู้สูงอายุต้องมีสถานที่ที่ดียังงั้นยังงี้ ต้องมีเงิน ต้องโฟคัสเรื่องสุขภาพ ต้องสะอาด ต้องมีแผนกิจกรรม สิ่งเหล่านั้นจริงๆแล้วผมไม่ได้สนใจ แต่ผมสนใจไม่กี่ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. คุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้ดูแล (care giver)

โปรดสังเกตว่าเราคุยเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ แต่ผมเอาคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลขึ้นมาคุยก่อน เพราะมันสำคัญที่สุด เพราะหากผู้ดูแลไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็อย่าไปหวังว่าผู้สูงอายุที่เป็นผู้รับใบบุญจากเธอจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ความรับผิดชอบลำดับที่หนึ่งของผู้ดูแลจึงเป็นการดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรงดีก่อน เพื่อที่ตนจะได้มีพลังไปดูแลคนสูงอายุหรือคนป่วยเรื้อรังที่เป็นผู้ต้องพึ่งพาตัวเราได้ คุณควรจะมีการทำตารางประจำวันสำหรับตนเอง ซึ่งอย่างน้อยต้องรวมถึงเวลาพักส่วนตัวโดยไม่ได้อยู่กับคุณแม่ด้วย เพื่อจะได้ไปผ่อนคลายหรือออกกำลังกายและฝึกจิตของตัวเอง ในการดูแลก็ควรรู้จักใช้ยุทธวิธีที่พอเหมาะพอดี ไม่ถอยห่างจนผู้สูงวัยถดถอย ไม่ดูแลหรือเอาใจผู้สูงวัยมากไปจนกลายเป็นการเข้าไปครอบงำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยเสียไป โดยต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงวัยว่าย่อมจะต้องมีความเสื่อมของร่างกายและสมองเป็นธรรมดา เป็นต้นว่า เคยน่ารักกลายเป็นไม่น่ารัก อารมณ์ขึ้นๆลงๆ หงุดหงิด โกรธง่าย เอาแต่ใจตัวเองแบบไร้เหตุผล เรียกร้องความสนใจด้วยวิธีแหย่ให้โกรธ ทำให้แค้น หรือชวนทะเลาะ หรือที่แย่กว่านั้นคือติดผู้ดูแลเป็นตังเมและชอบกดดันผู้ดูแลให้อยู่รับใช้ตนเองไม่ให้ไปไหนห่าง ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่ผู้ดูแลต้องเรียนรู้ที่จะรับรู้แบบเฉยๆ หรือฝึกวิชาหูทวนลมให้บรรลุ ไม่ใส่ใจอะไรว่าเป็นเรื่องซีเรียส ปลงหรือปล่อยวางในเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ให้อภัย แผ่เมตตา ใช้สามัญสำนึกและอารมณ์ขันในการทำงานดูแล ไม่ตะโกนหรือตะคอกโต้ตอบ แต่พูดให้ช้าๆชัดๆ พูดตรงหน้าให้ท่านมองเห็นเราเวลาพูด ตั้งใจพูด ขยันพูด หรือถ้าไม่ไหวจริงๆก็เดินหนีไปชั่วคราว

ประเด็นที่ 2. คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

ชีวิตที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงวัยคือชีวิตที่

1. มีที่พักนอนที่สะดวกสบายตามอัตภาพ ยิ่งได้มีโอกาสใช้วัยชราบั้นปลายในที่อยู่ของตัวเอง (age in place) อย่างคุณแม่ของคุณนี้ยิ่งเจ๋ง

2. มีอาหารที่มีคุณค่าตามวัยรับประทาน คืออาหารพืชเป็นหลักที่หลากหลาย หิวเมื่อไหร่ก็มีอาหารให้ทาน ไม่หิวไม่อยากทานก็ไม่มีใครมาบังคับให้ทานอาหาร

3. มีอิสระเสรีในการกำหนดกิจกรรมและวัตรปฏิบัติของตัวเองว่าวันไหนอยากทำอะไรก็ได้ทำ

4. ไม่มีใครมาบีบบังคับหรือคาดหวังกับตัวผู้สูงอายุเอง ไม่มีลูกสาวมากะเกณฑ์ว่าคุณแม่จะต้องทำตัวอย่างนั้น จะต้องทำตัวอย่างนี้ ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้

5. การสามารถอยู่ได้ตามลำพังด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น คือทำได้เองทั้งกิจจำเป็น (ADL) ห้าอย่าง ได้แก่ เดิน กิน ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว และกิจสำคัญ (IADL) เจ็ดอย่าง ได้แก่ อยู่คนเดียวได้โดยไม่เหงา, ไปไหนมาไหนเองได้, เตรียมอาหารกินเองได้, ไปจ่ายตลาดเองได้, ดูแลห้องหับของตัวเองได้, จัดการยาของตัวเองได้, จัดการเงินของตัวเองได้

6. การสามารถวางความคิดเป็น พาตัวเองออกจากสถานะการณ์อันเศร้าหมองในชีวิตซึ่งแท้จริงแล้วล้วนเป็นความคิด ออกมาใช้ชีวิตอย่างผู้สังเกตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ไปทีละลมหายใจได้ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับอดีตหรืออนาคต อะไรผ่านเข้ามาก็ยอมรับได้หมดแบบชิลๆสบายๆ

คุณลองไล่เลียงดูซิ ว่าทั้งหกประการนี้ การดูแลข้อไหนของคุณไปทำให้คุณภาพชีวิตของท่านเสียไปหรือเปล่า การที่คุณขยันแวะไป visit ท่านทุกวันเอาอาหารไปให้ เก็บเสื้อผ้ามาซักให้นั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่การที่คุณไปบังคับท่านให้กินข้าว กินยา เปลี่ยนเสื้อผ้า ทำกิจกรรม ขณะเดียวกันก็ห้ามออกนอกบ้านไปไหนเพราะคุณเองกลัวโน่นกลัวนี่ คุณกำลังทำลายคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอยู่นะ

ผมแนะให้คุณใจเย็นๆทบทวนสถานะการณ์ใหม่ และเปลี่ยนวิธีดูแลท่านเสียใหม่ คุณแค่ดูแลที่พักให้ จัดอาหารให้ จะทานจะไม่ทานก็สุดแล้วแต่ท่าน ที่เหลือปล่อยให้ท่านเป็นอิสระของท่าน ท่านจะทรงชุดเดิมทุกวันก็เรื่องของท่าน อย่าไปบังคับท่านให้ทำอะไร หรือห้ามไม่ให้ทำอะไร ปูนนี้แล้วท่านอยากทำอะไรให้ท่านทำ แม้หากท่านอยากสูบกัญชาขึ้นมาหากท่านมีปัญญาไปหามาสูบเองก็ให้ท่านสูบ ท่านอยากไปไหนหากท่านมีปัญญาไปของท่านเองก็ให้ท่านไป ปูนนี้แล้วอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด คุณอย่าเอาความกลัวซึ่งเป็นเพียงความคิดในหัวของคุณไปจำกัดคุณภาพชีวิตของท่าน เพราะแท้จริงแล้วคุณต้องการให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายไม่ใช่หรือ

และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ตัวคุณนั่นแหละควรจะฝึกทักษะการวางความคิด ฝึกถอยออกจากสถานะการณ์ในชีวิต มาอยู่กับความรู้ตัวทีละขณะๆ หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม หายใจออก ผ่อนคลาย พอคุณทำเป็นแล้วก็หาจังหวะชวนคุณแม่ทำบ้าง นี่จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่อย่างเอนกอนันต์ และตัวคุณเองก็ควรจะฝึกหัด “ซ้อมตาย” ให้ชำนาญ สิ่งที่เหมือนการตายมากก็คือการที่เราหลับไปนี่ไง พอเราหลับจิตสำนึกหรือ consciousness ของเราจะดับวูบลงทันทีทันใด การตายก็เป็นแบบนั้น วิธีซ้อมตายก็คือตอนเข้านอนทุกคืนให้คุณบอกตัวเองว่าฉันจะตายละนะ อีกไม่กี่นาทีฉันก็จะตายแล้ว พรุ่งนี้ไม่มีแล้ว แล้วก็นอนเฝ้าดูเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นไปอย่างจดจ่อเพื่อเป็นสักขีพยานต่อความตายของคุณเอง ถ้าความคิดแล่นไปไหนก็ลากมันกลับมาเฝ้าดูเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น ดูไปเพื่อให้เห็นว่าโมเมนต์ที่คุณหลับไปนั้นมันจะเป็นอย่างไร เพื่อให้คุ้นเคยกับการที่จิตสำนึกของเราต้องดับวูบไป มันจะทำให้ไม่กลัวตาย เมื่อไม่กลัวตายเสียอย่าง ความกลัวอย่างอื่นที่คุณมีอยู่เต็มหัวก็จะหมดไป พอคุณทำได้แล้วก็ไปชวนคุณแม่ซ้อมตายบ้าง ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ถ้าคุณทำได้ตามที่ผมบอกมาทั้งหมดนี้ คุณก็เป็นสุดยอดลูกสาวได้แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์