Latest

ถ้าผมพูดแล้วใจคุณมีความคิดมากขึ้น แสดงว่าผมพูดผิด

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกใน Spiritual Retreat)

คนที่ยิ่งมา SR บ่อย คงจะสังเกตเห็นว่ายิ่งนานไป ผมยิ่งพูดน้อยลง แต่ว่าผมจะยังคงพูดอยู่นะ ไม่ได้คิดจะเลิกพูด เพียงแต่เป้าหมายแต่ละคำที่ผมพูดก็คือเพื่อสร้างความเงียบขึ้นในใจของคุณ ถ้าผมพูดแล้วใจของคุณเกิดมีความคิดมากยิ่งขึ้น..นั่นผมพูดผิดแล้ว

ก่อนเริ่มฝึก ผมขอพูดถึงบางประเด็นที่สมาชิกถามก่อนหน้านี้

คำถามที่ 1 ขอให้อธิบาย “ความรู้ตัว” ให้เข้าใจมากขึ้นสักหน่อย

คำว่าความรู้ตัวนี้เป็นคำที่ผมใช้แทนคำในภาษาอังกฤษว่า consciousness หรือ awareness ไม่ว่าจะเลือกใช้คำไหนก็มีข้อจำกัดของภาษาทั้งน้้น เพราะความรู้ตัวเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนภาษา มันจึงใช้ภาษาอธิบายให้เห็นชัดไม่ได้ แต่แม้จะพูดให้เห็นทุกมุมพร้อมกันไม่ได้ ภาษามันก็ยังพอสื่อให้เห็นบางมุมได้บ้าง

ในมุมหนึ่ง ผู้รับรู้ประสบการณ์ หรือ experiencer นั่นแหละคือความรู้ตัว

ในอีกมุมหนึ่ง ความรู้ตัวเป็นเสมือนอากาศธาตุที่โอบรอบและรับรู้ความคิด เหมือนท้องฟ้าโอบรอบก้อนเมฆ หรือพูดอีกอย่างถ้าเปรียบความคิดเป็นคลื่นน้ำ ความรู้ตัวก็เป็นมวลน้ำในมหาสมุทรที่ให้กำเนิดคลื่นนั้น ความคิดไม่อาจออกไปอยู่นอกความรู้ตัวได้ อุปมาเหมือนร่างกายเรานี้ไม่อาจออกไปอยู่นอกช่องว่างหรือ space รอบๆตัวเราได้

ในอีกมุมหนึ่ง ความรู้ตัวเป็นพลังงาน มันเป็นพลังงานที่สอดแทรกหล่อเลี้ยงทุกความคิด ซึ่งเราสัมผัสรับรู้พลังงานที่สอดแทรกในความคิดได้ในรูปของความรู้สึกหรือ feeling เช่นชอบไม่ชอบ ที่สอดแทรกเป็นฐานรากของทุกความคิดเสมอ

ในอีกมุมหนึ่ง ความรู้ตัวมันเป็นพลังงานที่เป็นส่วนผสมของความสามารถ “รู้” กับพลังที่เรียกว่า “เมตตาธรรม” ซึ่งทั้งสองส่วนบวกกันกลายเป็นเป็นพลังงานพื้นฐานที่เชื่อมโยงทุกชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

พูดถึงการเข้าถึงเมตตาธรรม คุณไม่ต้องไปบังคับตัวเองให้แผ่เมตตา แค่ให้สมองของคุณว่างเปล่าจากความคิด ให้หัวใจของคุณไร้อคติแปดเปื้อนจากความพยายามที่จะปกป้องหรืออุ้มชูสำนึกว่าเป็นบุคคลของตัวเอง ทำแค่นี้ สิ่งที่ออกไปจากคุณมันก็จะเป็นความจริงใจที่ปรารถนาจะเชื่อมต่อกับทุกชีวิตโดยอัตโนมัติ นั่นแหละคือเมตตาธรรม

คำถามที่ 2. ถามว่าการนั่งสมาธิหรือ meditation จริงๆแล้วคืออะไร

ในมุมหนึ่ง meditation เป็นการเดินทางจากสภาวะที่มีการเคลื่อนไหวยุกยิกไปสู่สภาวะที่สงบนิ่ง คือ from movement to stillness และในอีกมุมหนึ่ง meditation เป็นการเคลื่อนย้ายจากสรรพเสียงไปสู่ความเงียบสงัด หรือ from sound to silence วิธีทำก็คือคุณปล่อยวางความคิดลงไป ย้ายความสนใจที่ขลุกอยู่กับความคิดมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า เอาพลังงานจากภายนอกเข้ามา หายใจออก ยิ้ม ผ่อนคลายร่างกาย เอ้า คุณลองทำตามดูเลย นั่งยืดหลังให้ตรงขึ้น หลับตา หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม กลั้นไว้ รับรู้พลังงานที่ถูกดึงเข้ามาสู่ร่างกาย ผ่อนคลายร่างกาย แล้วปล่อยลมหายใจออกไปตามธรรมชาติ ผ่อนคลายร่างกาย รับรู้พลังงานที่ซาบซ่านไปทั่วร่างกายในรูปของความรู้สึกซู่ซ่า ทำอย่างนี้ไปหลายๆลมหายใจ บอกตัวเองว่า ฉันไม่ต้องการอะไรจากใครทั้งสิ้น ฉันไม่ตั้งใจจะทำอะไรทั้งสิ้น ฉันไม่ตั้งใจจะเป็นอะไรทั้งสิ้น แค่ปล่อยวางความคิด ผ่อนคลาย จนทุกอย่างนิ่ง เงียบ มีแต่ความตื่น รู้ตัวอยู่ สบายๆ ตรงนั้นแหละ คือความรู้ตัวซึ่งเป็นฐานรากของชีวิตเราทุกคน ทุกคนมีรากอยู่ตรงนี้ คนที่ลืมไปก็คือคนที่ยังเข้าไม่ถึง ส่วนคนที่อยู่นิ่งๆอยู่ที่รากของตัวเองได้ คนนั้นได้เข้าถึงความรู้ตัวเรียบร้อยแล้ว

คำถามที่ 3. ขอให้หมอสันต์เล่าประสบการณ์การแสวงหาให้ฟังบ้าง

อืม..ม ผมเลิกแสวงหาอะไรไปนานแล้ว ผมไม่ได้ทำอะไรเลยในแง่ของการค้นหา ผมแค่อยู่ที่นี่ ยอมรับทุกอย่างที่โผล่ขึ้นมาที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ สำหรับคนที่รู้อยู่แล้วว่าร่างกายนี้และความคิดนี้ไม่ใช่ตัวเอง แค่ยอมรับทุกอย่างที่โผล่เข้ามาก็พอแล้ว ไม่ต้องไปพยายามยอมแพ้อะไรก็ได้เพราะไม่มีตัวตนที่ตั้งใจจะไปเอาชนะคะคานอะไรกับใคร แค่ตื่นขึ้นมาอยู่ในความว่างเปล่า และใช้ชีวิตในวันนี้ไปอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ก็พอแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังจมอยู่ในความคิดหรืออารมณ์ที่มุ่งปกป้องอัตตาที่ตัวเองสมมุติขึ้น คนแบบนั้นอาจจะต้องเพิ่ม “การยอมแพ้” ให้เป็นวาระสำคัญในการใช้ชีวิตอีกอย่างหนึ่งด้วย การยอมแพ้ก็คือการปล่อยวางนั่นแหละ เมื่อยอมแพ้ได้คุณก็จะผ่อนคลายได้

แล้วไม่ต้องแสวงหาความสุขหรือ

ไม่ต้องเลย การแสวงหาความสุขก็คือความอยากสุข ความอยากโน่นอยากนี่นี่แหละที่ทำให้เราเพลินไปกับความคิดแล้วทิ้งรากของเราเองซึ่งเป็นความสงบเย็น แค่วางความอยากโน่นอยากนี่ไปเสีย นิ่งๆอยู่ตรงนี้ ยอมรับทุกอย่างที่โผล่ขึ้นมาที่ตรงนี้ คุณก็เป็นอิสระเสรีไม่ต้องแสวงหาอะไรอีกแล้ว

คำถามที่ 4. คนเป็นโรคจิตจะมา spiritual retreat ได้ไหม

โรคจิตทุกชนิดก็คือความบาดเจ็บทางใจที่เกิดขึ้นเพราะเราปล่อยวางความคิดไม่ได้ เหมือนเราเขียนกระดานแล้วไม่ยอมลบ เอาแต่เขียนทับๆๆ ในที่สุดกระดานนั้นก็จะมีแต่อะไรไม่รู้สับสนอลหม่านเต็มไปหมด อ่านกระดานนี้เมื่อไหร่ก็จะได้แต่ข้อความที่เพี้ยนเมื่อนั้น

โดยนิยามอย่างนี้คนเราทุกคนก็ล้วนเป็นโรคจิตคนละมากบ้างน้อยบ้าง Spiritual Retreat เป็นที่ฝึกวางความคิด ซึ่งเป็นวิธีรักษาโรคจิตที่ต้นเหตุของมันโดยตรง ดังนั้นคนเป็นโรคจิตก็ต้องมาได้สิ

คำถามที่ 5. อยากให้หมอสันต์แนะวิธีแก้ไข midlife crisis

คำว่า midlife crisis นี้หมายถึงวิกฤติการณ์ชีวิตเมื่อวัยกลางคน แต่ในความเป็นจริง หากมองชีวิตคนว่าเป็นหนังเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง ช่วงวัยกลางคนเป็นเพียงช่วง intermission ของหนังเพื่อให้บรรดาผู้ชมลุกไปเข้าห้องน้ำห้องท่าเท่านั้นนะ ส่วนที่โหดที่สุดของหนังมักจะเก็บไว้ฉายให้ดูในครึ่งหลัง ดังนั้นอย่าเพิ่งไปตื่นเต้นอะไรกับ midlife crisis ยังมีมากกว่านี้อีกแยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากท้ายๆ ประเด็นสำคัญคือชีวิตมีอยู่เฉพาะเมื่อเดี๋ยวนี้เท่านั้น การเรียกเดี๋ยวนี้ว่าเป็น crisis แสดงถึงการไม่ยอมรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาที่เดี๋ยวนี้ ลองมองชีวิตใหม่ว่าไม่มี early หรือ mid หรือ late มีแต่เดี๋ยวนี้ แล้วให้มองชีวิตเป็นสนามเด็กเล่น มีแต่ความสนุกท้าทายหรือ wonder ถ้ามองชีวิตอย่างนี้ เวลาไหนก็โอเค.ทั้งนั้น crisis หรือไม่ crisis ก็โอเค.ทั้งนั้น เพราะยิ่งมีอะไรท้าทายก็ยิ่งสนุก

คำถามที่ 6. ปัญหาในชีวิตคู่ที่ไปกันไม่ได้

ให้คุณดูเส้นสองเส้นที่เริ่มด้วยสองจุดที่อยู่ใกล้กัน หากเส้นทั้งสองวิ่งขนานกันไป คือต่างก็มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันที่อยู่ไกลโพ้น มันก็จะวิ่งคู่กันไปได้ถึงอินฟินิตี้ แต่หากเส้นใดเส้นหนึ่งไปโฟกัสที่อีกเส้นหนึ่ง หรือคอยจะดึงอีกเส้นหนึ่งมาหาทางตัวเองอยู่เรื่อย มันก็จะวิ่งตัดกันแล้วจากนั้นก็จะวิ่งแยกห่างกันออกไป ห่างกันออกไป

คุณเคยเข้าสนามม้าแข่งหรือดูหนังเวลาเขาแข่งม้าไหม ทำไมเขาต้องปิดตาม้าแข่งด้วยละ ก็เพราะถ้าม้ามันมัวดูม้าตัวอื่น มันจะลืมโฟกัสการวิ่งของตัวเอง แล้วมันก็จะไม่ท็อปฟอร์ม และแพ้ การแก้ปัญหาในชีวิตคู่ง่ายนิดเดียว คือเลิกโฟกัสที่คู่ครองของคุณเสีย เพราะเวลาคุณมัวแต่โฟกัสอยู่ที่เขา ตัวคุณเองจะล้มเหลวในการทำหน้าที่ของคุณ ถ้าชีวิตคู่ต้องล่มเพราะการล้มเหลวในการทำหน้าที่ของคุณ คุณอาจจะต้องมาเสียใจหรือเสียดายภายหลัง แต่ถ้าชีวิตคู่ล่มทั้งๆที่คุณโฟกัสการทำหน้าที่ของคุณเป็นอย่างดีที่สุดแล้ว คุณจะไม่มีอะไรที่จะต้องมาเสียใจหรือเสียดายเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์