Latest

เป็นมะเร็ง กินวีแกน โรค GERD และการสวนล้างลำไส้ใหญ่

สวัสดีค่ะคุณหมอ
หนูอายุ 48 นะคะ เคยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แล้วลามมากระดูกอุ้งเชิงกราน ฉายแสง คีโมครบ ก็เปลี่ยนมาทานวีแกน ตั้งแต่ กพ 63 ไม่ทานเนื้อสัตว์ นมไข่ น้ำมันผ่านความร้อน น้ำตาล ..โดยจะทานเทมเป้ เต้าหู้แทนเนื้อสัตว์ แล้วก็ทานสารพัดถั่ว แต่จะทานพวกอัลมอนด์ แมคคาเดเมีย พิททาชิโอ วอลนัท พีแคน เฮเซลนัท คือเอาไปปั่นเป็นเนยถั่วด้วย เรียกว่าชอบทานมากค่ะ เอามาทานกับข้าว ก็อร่อยละค่ะ แล้วก็สกัดน้ำผักผลไม้ทานด้วย หลักๆก็จะเป็นพวกแครอท ผักสลัด แอปเปิ้ล มีผักอื่นๆเสริมเป็นระยะ เท่าที่หาได้ ..ตั้งแต่เปลี่ยนมาทานแบบนี้ ก็จะมีปัญหาเรื่องกระเพาะ กรดไหลย้อนตลอด ปีที่แล้วก็เป็นหนักจนต้องไปส่องกล้อง คุณหมอว่า กระเพาะอักเสบ มาตอนนี้ กรดไหลย้อนก็กลับมาเป็นหนักอีก เป็นมาเกือบ 2 เดือนแล้วค่ะ เจนก็ซื้อยา Rabeprazole sandoz 20 mg มาทานเอง ทุกวัน ก่อนอาหารเช้า ทานมาได้ 5 สัปดาห์ อาการก็ทรงๆ ทรุด จนตอนนี้อาการแย่ลง เลยไปหาหมอค่ะ คุณหมอให้ลองทานยา GASMoton 5 MG(LASA) (20TA) ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น กับ DEXILANT 60 MG(Dexiansoprazole)(7 CA) ทานครบสัปดาห์ ถ้าไม่หาย จะส่องกล้องค่ะ หนูบอกคุณหมอด้วยว่า หนูสวนล้างลำไส้ทุกวัน คุณหมอบอกว่า ระยะยาวจะไม่ดี อาจเกิดแผลที่ก้น เพราะหนูเคยฉายแสงบริเวณนี้ หนูก็ว่าจะลดๆลงค่ะ แต่ฟังแล้วก็ไม่รู้จะทำตามศาสตร์ไหนดีนะคะ  ที่เล่ามาทั้งหมด จะรบกวนถามคุณหมอว่า

1. หนูควรจะทานอาหารพืชอย่างไรดีคะ ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน และไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดสารอาหาร ซึ่งหนูไม่ทาน นม กับไข่ด้วยอ่ะค่ะ หรือคุณหมอมีความคิดเห็นว่าอย่างไรคะ
2. การสวนล้างลำไส้ มีผลเสียมั้ยคะ หรือสวนล้างลำไส้ได้บ่อยแค่ไหนคะ
กราบขอบพระคุณคุณหมอนะคะ สำหรับความเมตตาที่มีให้หนูมาโดยตลอด หนูรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอ เนื่องจากมักจะมีคนบอกให้หนูทานเนื้อสัตว์ ทานปลา และอื่นๆ เพราะจะได้สารอาหารครบ โดยเฉพาะเวลาหนูป่วย ทุกคนมักจะบอกว่า เพราะหนูทานแบบนี้ คือ หนูว่า การทานอาหารพืช หรือทานวีแกนดีนะคะ แต่หนูอาจจะยังทานไม่ถูกหลัก แต่ก็ไม่มีความรู้พอจะอธิบาย หรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นทานแบบเราอ่ะค่ะ ไม่อยากให้คนอื่นเห็นเราแล้วคิดว่า ทานอาหารแบบนี้ ไม่เห็นดี ดูจะทำให้วงการเสียหายอ่ะค่ะ รบกวนคุณหมอเท่านี้ค่ะ สุดท้ายนี้ ขอให้คุณหมอมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ
(ชื่อ) …..

…………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาหารวีแกนซึ่งไม่ได้กินเนื้อสัตว์เลยนี้สัมพันธ์กับการเป็นกรดไหลย้อนหรือไม่ ตอบว่าไม่สัมพันธ์กันเลย ไม่เลย ในทางตรงข้ามงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าอาหารเนื้อสัตว์สัมพันธ์กับการเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น ขณะที่อาหารพืชเป็นหลักสัมพันธ์กับการเป็นกรดไหลย้อนน้อยลง เช่นงานวิจัยหนึ่ง[1] ทำที่อินเดียดูความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับกรดไหลย้อนพบว่าคนกินอาหารวีแกนเป็นกรดไหลย้อนน้อยกว่าคนกินเนื้อสัตว์ อีกงานวิจัยหนึ่ง[2]เป็นการเปรียบเทียบพระภิกษุพุทธที่เกาหลีซึ่งกินวีแกนกับฆราวาสที่มีขนาดร่างกายเพศและอายุพอๆกันแต่กินเนื้อสัตว์ พบว่าพระพุทธเป็นกรดไหลย้อนน้อยกว่าฆราวาส เป็นต้น

2. ถามว่าการใช้ยาลดการหลั่งกรด (PPI) ซึ่งชื่อลงท้ายด้วยคำว่า azole ทั้งหลายนี้มันมีปัญหาอะไรไหม ตอบว่าระยะสั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะอย่าลืมว่ายานี้วิจัยมาให้ใช้ในระยะไม่เกิน ุ6 สัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้าใช้นานไปจะมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรัง การติดเชื้อชนิดรุนแรง (Clostridium difficile) ในลำไส้ และการเกิดสมองเสื่อม ดังนั้นหมอสันต์ไม่แนะนำให้กินยาลดการหลั่งกรดติดต่อกันจนสิ้นชาติอย่างที่นิยมกินกันทุกวันนี้เลย

มันมีทางเลือกที่ไม่ต้องใช้ยาลดการหลั่งกรดก็ได้นะ เช่นงานวิจัย[3]ย้อนหลังดูคนป่วยเป็นโรคสำรอกกรดขึ้นมาถึงกล่องเสียงสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินยาลดการหลั่งกรด อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารพืชเป็นหลักแบบเมดิเตอเนียนร่วมกับดื่มน้ำด่าง พบว่าทั้งสองกลุ่มบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้พอๆกัน

3. ถามว่าควรจะทานอาหารพืชอย่างไรดีไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องโรคกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน ตอบว่าเอาทีละโรคนะ โรคกระเพาะอาหารนั้นเป็นปัญหาของการหลั่งกรดออกมามากซึ่งสัมพันธ์กับความเครียดและการมีแบคทีเรียนิยมกรด (H. pyroli) สิงสู่อยู่ในกระเพาะมากเกินไป การแก้ปัญหาต้องแก้ที่การจัดการความเครียดและใช้ยาปฏิชีวนะทำลายเชื้อแบคทีเรีย H. pyroli

ส่วนโรคกรดไหลย้อน (GERD) นั้น คุณต้องรู้จักอาหารที่สัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อนที่วงการแพทย์ทราบแล้วก่อนว่าได้แก่ อาหารไขมันสูงทุกชนิด น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ ช็อกโกแลต พริก หอมหัวใหญ่ดิบๆ เกลือ นม แอลกอฮอล์ และสะระแหน่ คุณก็ต้องลดการกินอาหารเหล่านี้ เท่าที่เล่ามาคุณกินพืชไขมันสูงเยอะอยู่ อาจจะต้องเพลาๆลงบ้าง แล้วไปกินอาหารให้พลังงานในรูปของธัญพืชไม่ขัดสีแทนให้มากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสาเหตุกรดไหลย้อนที่ไม่ใช่อาหารได้แก่ความเครียด ความอ้วน อายุมาก การเข้านอนโดยยังมีอาหารค้างในกระเพาะ และการนอนในท่านอนหงายแบบราบเสมอกันตั้งแต่บ่า ไหล่ หลัง เอว (ซึ่งทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย) ดังนั้นคุณก็ต้องจัดการปัจจัยเหล่านี้ก่อนคือ (1) จัดการความเครียดให้ดี อย่าให้มีความคิดมากระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (2) ่เอาอิฐหรือหนังสือหนุนขาเตียงให้ด้านศีรษะสูงกว่าด้านเท้าสัก 8-9 นิ้ว หรือไปซื้อฟูกป้องกันกรดไหลย้อนมาปูทับฟูกเดิมเพื่อให้ส่วนหน้าอกอยู่สูงกว่าส่วนท้องเวลานอนหงาย (3) ออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายทั้งวันให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระเพาะลำไส้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่านั่งจุมปุกนานเกินหนึ่งชั่วโมงเพราะอาหารจะเคลื่อนออกจากกระเพาะได้ช้า (4) กินอาหารมื้อเล็กๆบ่อยๆอย่ากินจนเต็มกระเพาะ และงดอาหารทุกชนิดสามชั่วโมงก่อนนอน เข้านอนตอนกระเพาะว่างพอดี

4.. ถามว่ากินอาหารพืชเป็นหลักอย่างไรไม่ให้ขาดสารอาหาร ตอบว่างานวิจัยพบว่าสารอาหารที่คนทั่วไปขาดคือวิตามิน แร่ธาตุ และกาก ส่วนโปรตีนและแคลอรีนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ขาดไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นสัตว์กินพืชหรือสัตว์กินเนื้อ เว้นเสียแต่จะอ้าปากกินอะไรไม่ได้เอาเลย ในแง่ของวิตามินและแร่ธาตุ อาหารพืชเป็นหลักเป็นอาหารอุดมวิตามินแร่ธาตุและกากอยู่แล้ว ยกเว้นวิตามินบี.12 ดังนั้นคุณควรจะกินวิตามินบี.12 เสริมด้วย ในกรณีที่คุณเป็นคนผอมแห้งแรงน้อย มีโอกาสมากเหลือเกินที่คุณจะขาดแคลอรี่ ให้คุณเพิ่มอาหารให้พลังงานเช่นธัญพืชไม่ขัดสีให้มากขึ้น หรือถือหลักกินให้อิ่ม ควบคู่กันไปก็ควรจะเล่นกล้ามด้วยเพื่อให้มีการสร้างมวลกล้ามเนื้อทดแทนกล้ามเนื้อที่ถูกสลายไปเป็นพลังงานในช่วงที่คุณผอมซึ่งเดาเอาว่าคุณกินอาหารให้พลังงานไม่พอ

ส่วนโปรตีนนั้นคุณไม่ต้องกลัวขาด เพราะโปรตีนที่เราเรียกกันว่าเป็นโปรตีนคุณภาพสูงหรือกรดอามิโนจำเป็น (essential amino acid) ผู้ผลิตที่แท้จริงคือพืช พวกสัตว์เช่นช้างม้าวัวควายเขาก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนเรา ร่างกายของเขาก็สร้างกรดอามิโนจำเป็นไม่ได้หรอก เขาต้องกินเอามาจากพืชเช่นกัน ดังนั้นคุณกินอาหารพืชให้หลากหลายคุณไม่ต้องกลัวขาดโปรตีน และไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์แม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการกินอาหารวีแกนทำให้ขาดโปรตีน

ในแง่ของอาหารที่ทำให้สุขภาพดี อาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบไขมันต่ำทุกนิกายไม่ว่าจะเป็นวีแกน มังกินไข่ มังกินนม มังกินปลา (pesco) หรือแม้กระทั่งเจเขี่ย (flexitarian) ล้วนทำให้สุขภาพดีหมดไม่แตกต่างกันในแง่ความยืนยาวของชีวิต คุณเลือกเอานิกายใดนิกายหนึ่งที่คุณชอบ ได้ทั้งนั้น

ในแง่ของอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็ง เนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รวมทั้งนมวัว) และเนื้อที่ผ่านการบ่มเช่นไส้กรอก เบคอน แฮม สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น ดังนั้นหากคุณอยากจะกินเนื้อสัตว์บ้างก็ควรหลีกเลี่ยงเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งนมและเนยที่ทำจากนมวัว และหลีกเลี่ยงไส้กรอก เบคอน แฮม ด้วย

5. ถามว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่มีผลดีผลเสียอะไรไหม ตอบว่าหากถือตามหลักฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ การสวนล้างลำไส้ใหญ่หรือดีทอกซ์ไม่มีผลดีอะไรเลยสักอย่างเดียว แต่ผลเสียมีแน่คือ (1) มีโอกาสทำให้บาดเจ็บทวารหนักและลำไส้ใหญ่ (2) มีโอกาสทำให้ร่างกายสูญเสียดุลของน้ำและอีเล็กโตรลัยท์ โดยเฉพาะในคนเป็นหัวใจล้มเหลวหรือโรคไตเรื้อรัง (3) ข้อมูลวิทยาศาสตร์ปัจจุบันให้ความสำคัญกับแบคทีเรียที่อยู่อาศัยเป็นปกติในลำไส้ใหญ่ (gut microbiotome) การขยันล้างเอามันออกมาก เป็นการขยันทำลายดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งไปภายหน้ายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

กล่าวโดยสรุปใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ แต่หมอสันต์ไม่สนับสนุนให้สวนล้างลำไส้ใหญ่..เลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Zalvan CH, Hu S, Greenberg B, Geliebter J. A Comparison of Alkaline Water and Mediterranean Diet vs Proton Pump Inhibition for Treatment of Laryngopharyngeal Reflux. JAMA Otolaryngol Head Neck Surg. 2017;143(10):1023–1029. doi:10.1001/jamaoto.2017.1454
  2. Bhatia SJ, Reddy DN, Ghoshal UC, Jayanthi V, Abraham P, Choudhuri G, Broor SL, Ahuja V, Augustine P, Balakrishnan V, Bhasin DK, Bhat N, Chacko A, Dadhich S, Dhali GK, Dhawan PS, Dwivedi M, Goenka MK, Koshy A, Kumar A, Misra SP, Mukewar S, Raju EP, Shenoy KT, Singh SP, Sood A, Srinivasan R. Epidemiology and symptom profile of gastroesophageal reflux in the Indian population: report of the Indian Society of Gastroenterology Task Force. Indian J Gastroenterol. 2011 May;30(3):118-27. doi: 10.1007/s12664-011-0112-x. Epub 2011 Jul 27. PMID: 21792655.
  3. Jung JG, Kang HW, Hahn SJ, Kim JH, Lee JK, Lim YJ, Koh MS, Lee JH. Vegetarianism as a protective factor for reflux esophagitis: a retrospective, cross-sectional study between Buddhist priests and general population. Dig Dis Sci. 2013 Aug;58(8):2244-52. doi: 10.1007/s10620-013-2639-4. Epub 2013 Mar 19. PMID: 23508985.
  4. Jaynes M, Kumar AB. The risks of long-term use of proton pump inhibitors: a critical review. Ther Adv Drug Saf. 2018;10:2042098618809927. Published 2018 Nov 19. doi:10.1177/2042098618809927