Latest

การยอมรับ (Acceptance) แปลว่าเหยียบคลัทช์ก่อนแล้วค่อยเข้าเกียร์

(หมอสันต์พูดกับสมาชิก Spiritual Retreat)

หนุ่มคนนี้ขับรถเลียบหน้าผามาดีๆ กำลังเข้าโค้งก็เผอิญมีรถสวนโผล่พรวดเข้ามาหาแบบมาผิดเลน เขาจำใจต้องหักหลบจนรถของตัวเองกลิ้งลงบ่อโคลนข้างถนน ตัวเองกระเด็นออกมาจากรถลงไปอยู่ในขี้โคลน พอลุกขึ้นยืนได้ก็ร้องด่ารถคันนั้นด้วยความโกรธ ถีบและเตะโคลนระบายอารมณ์ มือก็ดึงกระชากเถาวัลย์เหนือศีรษะขาดกระจุยเพราะอารมณ์โกรธ กว่าจะรู้ตัวว่าโคลนที่ตัวเองยืนอยู่นั้นเป็นโคลนดูด ตัวเองก็จมลงมาจนถึงระดับคอแล้ว จะคว้ากิ่งไม้เหนือศีรษะก็คว้าไม่ถึง เพราะเถาวัลย์ที่น่าจะเป็นเชือกช่วยดึงตัวเองไว้ได้ก็ถูกกระชากขาดไปเสียแล้ว

ลักษณะที่หนุ่มคนนี้สนองตอบต่อสถานะการในชีวิตครั้งนี้เรียกว่าเป็นการ “ไม่ยอมรับ” หรือ Non-Acceptance และปฏิกริยาสนองตอบนั้นเป็นไปแบบอัตโนมัติซึ่งเกือบจะร้อยทั้งร้อยจะถูกบอกบทหรือถูกกำกับด้วยความโกรธ หรือความกลัว หรือสัญชาติญาณดั้งเดิมของคนซึ่งเป็นสัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง

ลองมองในทางกลับกัน ถ้าหากเขาจะสนองตอบแบบยอมรับหรือ Acceptance ละ จะต้องสนองตอบอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องยอมรับว่าเราติดหล่มจมโคลนดูดแล้ว อย่าดิ้นรนไปเลย อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ใช่นะครับ ไม่ใช่อย่างนั้น

ก่อนอื่นผมขอเปรียบเทียบให้ฟังก่อน สมัยก่อน หลายท่านอาจจะเกิดไม่ทัน รถยนต์สมัยโน้นยังไม่มีเกียร์อัตโนมัติ เวลาจะเปลี่ยนเกียร์เราต้องเหยียบคลัทช์ก่อน เมื่อเหยียบแป้นคลัทช์ลงไปแล้ว มันจะไปผลักให้แผ่นคลัทช์ซึ่งยึดเฟืองเกียร์กับมู่เล่ที่กำลังหมุนติ้วด้วยแรงเครื่องยนต์ให้แยกห่างออกจากกัน ผลของการเหยียบคลัทช์ก็คือตัวมู่เล่ของเครื่องยนต์ก็หมุนติ้วไปตามปกติของมัน แต่เฟืองเกียร์จะนิ่งไม่หมุนตาม เปิดโอกาสให้ผู้ขับเลือกเข้าเกียร์ที่เหมาะสมได้โดยง่าย ถ้าหากไม่เหยียบคลัชเฟืองเกียร์ก็จะหมุนตามมู่เล่ไม่หยุดก็จะสับเปลี่ยนเกียร์ไม่ได้

การสนองตอบต่อสถานะการณ์ใดๆในชีวิตแบบยอมรับหรือ Acceptance ก็คือการเปลี่ยนเกียร์แบบเหยียบคลัทช์ก่อน ปล่อยให้มู่เล่ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ภายนอกหมุนติ้วไป แต่เฟืองเกียร์คือความคิดที่ภายในของเรานั้นนิ่งอยู่ก่อน ตั้งหลักก่อน ยอมรับก่อนว่าสิ่งนี้ที่ตรงหน้าเรานี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ยอมรับมันก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตั้งหลักก่อน จะสนองตอบด้วยการคิดพูดทำอย่างไรค่อยว่ากัน ซึ่งการสนองตอบหลังจากการหยุดนิ่งตั้งหลังแล้วนี้จะไม่ใช่แบบกำกับโดยกลไกการสนองตอบแบบอัตโนมัติหรือสัญชาติญาณแล้ว แต่จะเป็นแบบกำกับโดยความคิดอ่าน (intellect) และปัญญาญาณ (intuition)

ผมจะอธิบายกลไกที่ปัญญาญาณเข้ามากำกับการสนองตอบต่อสถานะการณ์ในชีวิตเมื่อเราเหยียบคลัทช์ตั้งหลักได้เป็นอย่างไรให้ท่านฟัง โดยนิยามปัญญาญาณก็คือวิธีไขปัญหาที่ปรากฎต่อใจเราได้แบบมาตรงประเด็นพอดีและมาทันเวลาพอดีซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อใจเราว่างพร้อมรับคลื่นนี้ หมายความว่าใจเรากำลังว่างไม่มีความคิดใดๆอยู่ หากกำลังมีความคิด ความรู้ตัวจะไปคลุกอยู่ในความคิด จะไม่ว่างที่จะรับรู้ปัญญาญาณ ปัญญาญาณก็จะโผล่ออกมาไม่ได้ อุปมาอุปไมย เปรียบเหมือนบุรุษไปรษณีย์เอาพัศดุลงทะเบียนมาส่ง พอเขากดกริ่งหน้าบ้านแล้ว หากเราอยู่บ้านเราก็ออกไปเซ็นชื่อรับพัศดุได้ แต่หากเราไม่อยู่บ้าน บุรุษไปรษณีย์ก็ส่งมอบพัศดุไม่ได้เพราะไม่มีคนเซ็นรับ เขาก็ได้แต่เอาพัศดุนั้นกลับไป การเหยียบคลัทช์แล้วหยุดรอดูเชิงก่อน เป็นการเปิดใจให้ว่างก่อนเลือกการสนองตอบ จังหวะนี้แหละ ที่ปัญญาญาณจะสอดแทรกนำสิ่งดีๆมาเสนอได้

ดังนั้นการยอมรับหรือ Acceptance ไม่ใช่การเอาหัวมุดทรายต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าโดยไม่สนองตอบใดๆทั้งสิ้น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการเหยียบคลัทช์ หยุดนิ่ง รอพักหนึ่งก่อน รอให้ใจสงบจนปลอดความคิดใดๆก่อน ยอมรับว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วก่อน แล้วค่อยบรรจงคิดอ่านสนองตอบออกไป ไม่ต้องรีบร้อนลนลาน ในการใช้ชีวิตหรือการสนองตอบต่อสถานะการณ์ใดๆในชีวิตนี้คุณอย่ารีบร้อน เมื่อวานนี้ผมบอกพวกเราท่านหนึ่งไปว่าในการใช้ชีวิตคุณจะรีบไปไหน ไม่ต้องรีบเอาให้ได้ที่หนึ่งหรอก เพราะเราทุกคนล้วนกำลังวิ่งไปหาเชิงตะกอน การวิ่งไปถึงก่อนมันจะมีความหมายอะไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์