Latest

เวลาของหนูเหลือไม่มาก คุณหมอมีอะไรจะแนะนำไหมคะ

เวลาของหนูเหลือไม่มาก คุณหมอมีอะไรจะแนะนำไหมคะ หนูเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ลามไปเต้านมและกระดูก การรักษาทำมาหมดทุกอย่างแล้วจนหนูตัดสินใจหยุดการรักษาเอง ตอนนี้เกือบจะติดเตียงอยู่แล้วแต่ว่าหนูยังพยายามพยุงตัวนั่งรถเข็นออกไปนอกสนามทุกเช้า หนูเป็นนักวิชาชีพทำงานด้าน … มาตลอด ไม่เคยสนใจเรื่อง spiritual ตอนนี้หนูรู้ว่าเวลาของหนูเหลือไม่มาก คุณหมอมีอะไรจะแนะนำหนูแบบสำหรับคนที่อ่อนหัดด้าน spiritual ไหมคะ

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

ไม่ว่าจะแก่หัดหรืออ่อนหัด ไม่ว่าจะมีเวลาเหลือมากหรือเหลือน้อย (who knows?) คำแนะนำของผมก็เหมือนกันหมดละครับ ว่า..

ขั้นที่ 1. ต้องรู้จักกับความรู้ตัวก่อน เมื่อออกไปนอกสนามหญ้าในตอนเช้า ให้นั่งลงแบบปล่อยทุกอย่างไป แบบนั่งธรรมดา หรือนั่งฝึกสมาธิ (meditation) ก็ได้ คือถอยความสนใจออกจากความคิดมาสนใจลมหายใจแทน เมื่อมีความคิดแทรกเข้ามาก็รับรู้ว่ามีความคิดแล้วรีบดึงความสนใจออกจากความคิดนั้นกลับมาสนใจลมหายใจใหม่ ไม่ว่านั่งยืนเดินนอนหรือทำกิจอะไรอยู่ก็ทำแบบเดียวกัน คือแค่ปล่อยทุกอย่างไป ไม่สนใจความคิด แต่สนใจลมหายใจแทน รู้ว่าตัวเองกำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกจากการที่มีลมผ่านรูจมูก หรือที่หน้าอกกระเพื่อมขึ้นลง หรือที่ท้องพองออกยุบเข้า ขยันทำอย่างนี้ไปทุกวันทุกเวลา ความคิดที่โผล่ขึ้นมาถี่ๆจะค่อยๆห่างออกไป ช่องว่างระหว่างความคิดที่ผ่านไปแล้วกับที่ยังไม่โผล่มาจะกว้างขึ้นๆ ตรงช่องว่างระหว่างความคิดนี่แหละ ซึ่งผมเรียกมันว่าความรู้ตัว มันเป็นโมเมนต์ที่สบายๆ ไม่มีความคิด แต่ตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ คุณต้องรู้จักตรงนี้ก่อน ต้องรู้จักความรู้ตัวก่อน เพราะมันสำคัญมาก เพราะการใช้ชีวิตต่อแต่นี้ไปคุณต้องใช้ชีวิตจากตรงนี้ จากความรู้ตัว ไม่ใช่ใช้ชีวิตจากความคิด การจะเข้ามาให้ถึงความรู้ตัวเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะความรู้ตัวเป็นธรรมชาติชั้นในของเรา เพียงแค่วางความคิดซึ่งเป็นของชั้นนอกไปและตื่นอยู่ไม่หลับ เราก็มาอยู่ในความรู้ตัวแล้วเรียบร้อย แต่จะอยู่ได้แค่แป๊บเดียวก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักแล้ว

ขั้นที่ 2. ให้เริ่มสังเกตและตีทะเบียนความคิด คราวนี้คุณปักหลักอยู่ที่ความรู้ตัวและที่ลมหายใจแบบผ่อนคลายสบายๆ ถ้ามีความคิดโผล่ขึ้นมา แทนที่จะรีบหันหลังให้มันทันทีแต่คราวนี้ให้คุณสนใจมันขึ้นอีกหน่อย อย่างน้อยก็สนใจว่ามันเป็นเรื่องอะไร คือจับหัวเรื่องของมันได้ ถึงแม้คุณจะทันเห็นความคิดแค่เห็นก้นมันไวๆเท่านั้นก็ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาที่เมื่อเราสนใจสังเกตดูมันความคิดมันจะฝ่อหายไป เมื่อจับหัวเรื่องหรือ title ของแต่ละความคิดเป็นแล้ว คราวนี้ให้เพิ่มอีกหน่อย คือให้จัดหมวดหมู่ให้มันด้วย เช่นถ้าเป็นเรื่องเก่าๆก็จัดเข้าในหมวด “ความทรงจำ” ถ้าเป็นความกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็จัดเข้าในหมวด “จินตนาการ” ถ้าเป็นเรื่องมุ่งจะปกป้องหรือเชิดชูองค์ของตัวเองจ๋ามาเลยก็ใส่เข้าหมวด “ตัวกูของกู” ถ้าเป็นความคิดเปะปะจนไล่ตามดูไม่ทันก็จัดเข้าหมวด “ฟุ้งสร้าน” ทุกวันเวลาที่ผ่านไปแต่ละนาที ให้ขยันสังเกตและจัดหมวดตีทะเบียนความคิด ความคิดไหนที่จัดเข้าหมวด ความทรงจำ หรือจินตนาการ หรือตัวกูของกู หรือความคิดฟุ้งสร้าน ให้ดีดทิ้งคือเลิกยุ่งด้วยทันที เพราะทั้งสี่หมวดนี้ล้วนเป็นความคิดไร้สาระที่เราไม่ควรไปเสียเวลาด้วย ทุกความคิดให้สังเกตตั้งชื่อจัดหมวดหมู่ตีทะเบียนเพียงความคิดละหนึ่งครั้งเท่านั้น ครั้งต่อไปถ้าความคิดเดิมนั้นกลับมาอีกเราก็รู้แล้วว่าชื่ออะไรอยู่หมวดไหน ถ้าเป็นคนหน้าเดิมในสี่หมวดนี้ก็ดีดทิ้งทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปสอบสวนอีก ทำอย่างนี้ไปทุกวัน กับทุกความคิด ความคิดที่ถูกดีดทิ้งไปจะค่อยๆห่างออกไปไม่กลับมาเสนอหน้าถี่อย่างเคย จนในที่สุดจะมีความคิดโผล่ขึ้นมาในความรู้ตัวน้อยลงๆ ชีวิตในแต่ละวันจะอยู่กับความรู้ตัวและอยู่กับลมหายใจได้มากขึ้นๆ

ขั้นที่ 3. ให้สนใจเมื่อลมหายใจหายไป หรือเมื่อกำลังจะหลับ คนเราเมื่อสนใจติดตามดูลมหายใจต่อเนื่องไปแบบสบายๆโดยไม่ยุ่งกับความคิด แค่เกาะติดลมหายใจไม่ยอมปล่อย ลมหายใจจะแผ่วลงๆ ในที่สุดลมหายใจจะหายไป แต่ความรู้ตัวยังอยู่ บางครั้งการรับรู้ร่างกายก็ดูเหมือนจะรับรู้ไม่ได้ด้วย แต่ลมหายใจยังอยู่ ให้ปล่อยให้รู้ตัวอยู่แบบว่างๆอย่างนี้แหละไปนานเท่าที่มันจะไปของมันได้ ตรงนี้มันมีประโยชน์สองอย่าง หนึ่ง คือมันทำให้เราคุ้นเคยกับการรู้ตัวอยู่โดยไม่มีร่างกาย ทำให้เราไม่กลัวที่จะไม่มีร่างกายนี้ ไม่กลัวเมื่อร่างกายนี้ต้องตายไป สอง คือการรู้ตัวอยู่ในภาวะที่ไม่มีความคิดนานๆ ความสนใจจะได้อยู่กับความรู้ตัว (aware of awareness) ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ดี ควรให้ได้อยู่ในโมเมนต์อย่างนี้อย่างน้อยให้นานสักเกือบๆชั่วโมง มันจะเป็นการเปิดประตูให้พลังงานในอีกรูปแบบหนึ่งไหลเข้ามา ซึ่งนอกจากจะเป็นพลังงานที่ทำให้เราตื่นยิ่งขึ้นกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นพลังงานที่จะให้ความรู้ใหม่ๆแก่เราด้วยโดยไม่เกี่ยวกับความทรงจำหรือสิ่งที่เราเรียนรู้มาในอดีตเลย ผมเรียกพลังงานชนิดนี้ว่าปัญญาญาณ ซึ่งจะช่วยให้เราได้รู้เห็นอะไรที่มีประโยชน์อีกมาก

อีกวิธีหนึ่งคือให้สนใจโมเมนต์ที่เราหลับไป คือเมื่อเราเข้านอน ให้เอาความสนใจอยู่กับลมหายใจ ตามดูลมหายใจไปขณะที่มันแผ่วลงๆ พอลมหายใจหยุดเหลือแต่ความรู้ตัวก็สนใจแต่ความรู้ตัวนั่นต่อไปอีก สนใจว่าเมื่อไหร่ความรู้ตัวจะถูกปิดสวิสต์คือหลับไป ดำมืดหรือว่างไปแล้วไปโผล่รู้ตัวอีกทีในความฝัน ถ้าก่อนหลับยังมีความคิดมากมาย มันก็จะไปว่ากันต่อในความฝัน วิธีนี้ก็มีประโยชน์ตรงที่จะทำให้เราคุ้นเคยกับกลไกขณะเราหลับไปซึ่งมีกลไกเหมือนกับการตาย ทำให้เราพร้อมที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

เวลาที่เหลืออยู่ ทำแค่นี้แหละครับ แล้วคุณจะอยู่ได้อย่างสงบเย็น หากยังมีพลังงานเหลือเฟือก็ทำอะไรที่สร้างสรรค์ หมายความว่าทำอะไรที่ไม่ใช่เพื่อปกป้องหรือเชิดชูสำนึกว่าเป็นบุคคลของตัวเอง เช่นการทำอะไรเพื่อชีวิตอื่น หรือเพื่อโลก สโลแกนสำหรับเวลาที่เหลืออยู่คือ.. “สงบเย็น และสร้างสรรค์”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์