Latest

นพ.สันต์ให้สัมภาษณ์แมกกาซีน Elite

(บทแปล คำสัมภาษณ์นพ.สันต์ ซึ่งให้สัมภาษณ์แมกกาซีนภาษาอังกฤษ Elite โดย Mr.Jame R. Haft บก.เป็นผู้สัมภาษณ์)

อาหารพืชเป็นหลักและการปรับวิธีใช้ชีวิตจะนำพาไปสู่การมีอายุยืน

คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ เป็นแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยการใช้อาหารพืชเป็นหลักและการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต เมื่อไม่นานมานี้อิลลีทได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับคุณหมอสันต์ เพื่อถกปรัชญา “สุขภาพดีด้วยตนเอง” ของคุณหมอ และคุยถึงการประชุมออนไลน์ “ Asian Plant-based Nutrition Health Care Conference” ซึ่งคุณหมอจะคนหนึ่งในจำนวนผู้บรรยายที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายคน

หลังจากได้นั่งใต้ต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ละเลียดกับขนมจีนน้ำยามังสวิรัติคลุกถั่วงอกและสารพัดผักจนอิ่มกันแล้ว เราก็เริ่มคุยกันถึงว่าไปยังไงมายังไงคุณหมอจึงมาลงเอยที่ตรงนี้ได้

“ผมเกิดในครอบครัวชาวนาทางภาคเหนือและก็ตั้งใจจะสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษด้วยการไปเข้าเรียนวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ ที่เชียงใหม่ แต่ว่าเมื่อน้องสาวป่วยก็เกิดความรู้สึกอยากจะเป็นแพทย์ขึ้นมา จึงเข้าเรียนจนจบแพทย์ที่ ม. สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ พร้อมกับความใฝ่ฝันที่จะไปเป็นหมอทั่วไปฝังตัวอยู่ในชนบทที่ห่างไกลโดยหมายตาไว้ที่อำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แต่เผอิญวันหนึ่งขณะที่มาฝึกอบรมอยู่ในกรุงเทพ ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลศัลยแพทย์หัวใจที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากประเทศนิวซีแลนด์ท่านหนึ่งซึ่งมาเล็คเชอร์ให้การประชุมแพทย์ระดับนานาชาติที่กรุงเทพ ด้วยความประทับใจในตัวศัลยแพทย์ท่านนั้น ผมจึงตามท่านไปฝึกอบรมเพื่อเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่นิวซีแลนด์ กลับมาเมืองไทยก็ทำงานอยู่สระบุรีได้พักหนึ่งแล้วเข้าทำงานเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถีตั้งแต่ปีค.ศ. 1993 จากนั้นก็ออกมารับงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์หัวใจพญาไท-ฮาร์วาร์ด แล้วก็เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของรพ.พญาไทในอีกไม่กี่ปีต่อมา”

ผมเข้าใจว่าช่วงนี้แหละที่คุณหมอป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้วตัดสินใจเลิกงานอาชีพเดิมและเปลี่ยนชีวิตเสียใหม่ คุณหมอช่วยอธิบายตรงนี้หน่อยครับ

 “ผมมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรงหรือเวลาเคร่งเครียดในงาน ซึ่งเป็นอาการคลาสสิกของโรคหัวใจขาดเลือด ความที่เป็นหมอหัวใจเสียเองผมก็ใจเสีย ผมเพิ่งอายุ 55 ปีเองในตอนนั้น ยังไม่พร้อมที่จะตาย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเข้ารับการรักษาแบบรุกล้ำไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดบายพาสหรือทำบอลลูนก็ตาม จึงแอบหาทางออกเองด้วยการใช้เวลากลางคืนทบทวนวรรณกรรมทางด้านการแพทย์อย่างขนาดใหญ่ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการโรคนี้ในแบบที่ผมแม้จะเป็นหมอหัวใจเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน คือจัดการโรคด้วย “การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยของดีน ออร์นิช ซึ่งได้ทำวิจัยแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบแล้วใช้การตรวจสวนหัวใจซ้ำหลายๆครั้งเป็นตัวชี้วัด คือหลักฐานวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนแน่นอน ผมก็เลยตัดสินใจเลิกอาชีพบริหาร เปลี่ยนอาหารการกิน เริ่มการออกกำลังกายจริงจังทุกวัน ถึงมีวันนี้ได้ไง 15 ปีผ่านไป ผมยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องกินยาลดไขมันลดความดันซึ่งสมัยโน้นผมต้องกินทุกวัน

คุณหมอเล่าหน่อยสิว่า 15 ปีมานี้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

พอเลิกทำงานบริหาร เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ ก็เปลี่ยนมาทำงานเป็นหมอตรวจสุขภาพที่เน้นการแนะนำให้ผู้ป่วยเอาชนะโรคเรื้อรังของเขาด้วยการเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเอง แล้วห้าปีให้หลังมานี้ ตั้งแต่ได้พบกับคุณวิเวก ดาวัน ผมก็มาเปิดแค้มป์สอนผู้ป่วยอยู่ที่นี่ แต่ละกลุ่มมาพักกันคนละสองวันสามวันเจ็ดวันสุดแล้วแต่ เพื่อเรียนรู้การมีสุขภาพดีด้วยตนเองและเรียนรู้การพลิกผันโรคเรื้อรังเช่นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน ด้วยตนเอง

คุณวิเวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเมก้าไลฟ์ไซแอนซ์ ซึ่งมีบริษัทลูกอีกหลายบริษัทเช่นบริษัทเมก้าวีแคร์เป็นต้น ธุรกิจของเขาคือทำวิตามินขาย และทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแนวพืชเป็นหลักเช่น Dr.Drink และ Natural We Care Baby Food ด้วย

ทั้งผมกับคุณวิเวกมีความเชื่อเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง ว่าระบบดูแลสุขภาพของชาติไทยเรากำลังมุ่งหน้าไปผิดทาง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมที่มุ่งไปหาการรักษาโรคและผ่าตัดในโรงพยาบาล หลักฐานวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนแน่นอนแล้วว่าทิศทางนั้นมันไม่เวอร์คสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มันจะต้องหันมาสู่ทิศทางให้ผู้คนดูแลตัวเองด้วยการเปลี่ยนอาหารและวิธีใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเอง

วิธีการมันง่ายมากนะ โฟกัสที่สามอย่างเท่านั้น คือกินอาหารพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดให้ดี ที่นี่ผมใช้ดัชนีเจ็ดตัวเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละคน เรียกว่า “ง่ายๆเจ็ดอย่าง” ได้แก่ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การไม่สูบบุหรี่

แค่ทำให้ดัชนีทั้งเจ็ดตัวของตัวเองอยู่ในเกณฑ์ปกติ แค่นั้นแหละ โอกาสตายก่อนเวลาอันควรก็จะลดได้จากเดิมหากขยันไปโรงพยาบาลลดได้แค่ 30% แต่หากดูแลให้ดัชนีทั้งเจ็ดตัวนี้ปกติจะลดได้ถึง 91%

ประเทศชาติของเราจะต้องเปลี่ยนวิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพเสียใหม่ จากการมุ่งสู่การรักษาในโรงพยาบาลมามุ่งป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง

และนั่นจึงเป็นเหตุให้คุณหมอมาทำที่นี่ ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

ถูกต้องแล้วครับ เมื่อห้าปีก่อนคุณวิเวกเขามาหาผมที่คลินิกในกรุงเทพ เขามุ่งมั่นจะเปลี่ยนทิศทางของการดูแลสุขภาพนี้ให้ได้เพราะเขาบอกว่ามันจำเป็น เรานั่งคุยกันจริงจังอยู่สองสามชั่วโมง แล้วก็ตกลงกันตั้งเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์นี้ขึ้นมาในลักษณะของกิจการที่ไม่แสวงกำไรที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเมก้าวีแคร์ โดยใช้สโลแกนว่า “ป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง” แล้วก็ลงมือโปรโมทโภชนาการในทิศทางกินพืชเป็นหลักอย่างจริงจังแต่นั้นมา

โปรแกรมที่คุณหมอทำให้ลูกค้าที่นี่มีอะไรบ้าง

ก็มีอย่างเช่น (1) โปรแกมพลิกผันโรคด้วยตัวเอง ซึ่งตามดูกันเป็นปี เริ่มด้วยการมาอยู่ที่นี่หลายวัน ให้พบกับแพทย์ก่อนเพื่อ ประเมินสุขภาพโดยรวม แล้วเรียนรู้ความรู้และทักษะที่จำเป็นด้วยกันเป็นกลุ่ม ทั้งการฝึกทำอาหาร ฝึกออกกำลังกาย ฝึกจัดการความเครียดด้วยสมาธิ โยคะ ไทชิ เป็นต้น และเรียนรู้ที่จะใช้ดัชนีง่ายๆเจ็ดอย่างในการติดตามดูสุขภาพของตัวเอง (2) โปรแกรมสุขภาพดีด้วยตัวเองสำหรับคนที่ยังไม่ป่วย (3) โปรแกรมฟื้นฟูร่างกายสำหรับคนที่เพิ่งเกิดสโตรค หรือฮาร์ทแอทแทค หรือเพิ่งผ่าตัดใหญ่มา (4) โปรแกรมเฉพาะโรคเช่น แค้มป์มะเร็ง แค้มป์ลดน้ำหนัก (5) รีทรีตทางจิตวิญญาณ ซึ่งสอนการจัดการความเครียดแบบเจาะลึกลงไปถึงการวางความคิด (6) หลังปีใหม่นี้เราจะเปิดคลินิกออนไลน์ให้แพทย์ได้ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยแบบตัวต่อตัวออนไลน์ เพื่อให้ผู้ป่วยป้องกันและพลิกผันโรคของตัวเองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางมาที่เวลเนสวีแคร์

ในภาพรวม ทุกโปรแกรมของเรามีหลักว่าต้องนำทางโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน และต้องอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์

เท่าที่ผมทราบ คุณหมอได้รับเกียรติให้เป็นบุคคลคุณภาพแห่งปี 2021 โดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย งานส่วนไหนของคุณหมอบ้างหรือครับที่นำไปสู่รางวัลนี้

ผมเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมให้ความรู้สาธารณชนในเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตและสนับสนุนอาหารพืชเป็นหลักเป็นสำคัญ ผมเขียนบล็อกด้วยซึ่งมีคนอ่านไปแล้วเกิน 10 ล้านครั้งขึ้นไป ที่เหลือก็คงเป็นงานที่ผมเคยเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตเป็นกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต และเป็นกรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็กซึ่งทำผ่าตัดหัวใจให้เด็กด้อยโอกาสฟรี

ผมทราบมาด้วยว่าคุณหมอจะเป็นผู้บรรยายหลักคนหนึ่งของการประชุม Asian Plant-based Nutrition Healthcare Conference ที่กำลังจะมีขึ้นด้วย

ครับ คือเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ในฐานะที่เป็นความริเริ่มเพื่อสังคมอันหนึ่งของบริษัทเมก้าวีแคร์ จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ The Plantician Project ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้ขึ้นแบบออนไลน์ในวันเสาร์ที่ 22 มค. 2022 เดิมทีเราวางแผนจะประชุมกันในโรงแรมสักแห่งหนึ่งที่กรุงเทพ แต่พอเจอโควิดก็ต้องหลบมาเป็นออนไลน์ ซึ่งก็ดีเหมือนกันเพราะผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเก็บไว้ดูต่อเนื่องไปได้อีกหนึ่งปี คือดูเมื่อใดก็ได้ที่ตนเองมีเวลา

The Plantician Project เป็นองค์กรที่จัดประชุม Plant-based Nutrition Healthcare Conference ในอเมริกามาทุกปีนาน 9 ปีแล้วซึ่งมีผลให้ทั้งยุโรปและอเมริกาเกิดการเคลื่อนไหวไปสู่โภชนาการแบบพืชเป็นหลักได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมกับคุณวิเวกคิดว่าตอนนี้น่าจะเป็นเวลาที่เราควรจะให้ข้อมูลแก่แพทย์และนักวิชาชีพด้านสุขภาพในเอเชียในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที จึงได้ประสานงานกับ Dr.Scot Stoll ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Plantician Project จัดให้มีการประชุมครั้งนี้ขึ้น ในการประชุมนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในเรื่องการใช้โภชนาการแบบอาหารพืชเป็นหลักในการดูแลสุขภาพมาพูดกันอย่างคับคั่ง รวมทั้งนพ.ดีน ออร์นิช แพทย์และนักวิจัยอาหารรักษาโรคหัวใจและโรคมะเร็ง นพ.ดีนและพญ.อาเยสชา เชอร์ไซ สองสามีภรรยาอายุรแพทย์ประสาทและสมองผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในการทำวิจัยใช้อาหารรักษาโรคอัลไซเมอร์ ดร.ไซรัส แคมแบตตา ซึ่งเป็นทั้งผู้ป่วยเองและผู้หันมาเผยแพร่การใช้อาหารพืชรักษาเบาหวานอย่างจริงจังและได้ผล นพ.คิม วิลเลียม ประธานวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน นพ.อาลัน เดสมอนด์ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงเรื่องอาหารพืชกับสุขภาพทางเดินอาหาร พญ.เรชามา ชาห์ กุมารแพทย์ผู้ชำนาญเรื่องอาหารพืชเป็นหลักสำหรับเด็ก เป็นต้น

ทราบว่าตัวคุณหมอเองก็จะร่วมเป็นวิทยากรผู้บรรยายในการประชุมนี้ด้วย

ครับ ผมเองรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ได้ร่วมบรรยายครั้งนี้ด้วย ผมจะพูดถึงเรื่องอาหารพืชเป็นหลักกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

นอกจากงานเขียนบทความ งานวิจัย แล้วคุณหมอยังเขียนหนังสือไว้หลายเล่มด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

ครับ หนังสือเล่มสุดท้ายที่เขียนก็หลายปีมาแล้วนะ ชื่อ “สุขภาพดีด้วยตนเอง” ซึ่งเขียนเพื่อมุ่งโปรโมทสิ่งที่ผมสอนอยู่ที่เวลเนสวีแคร์ เนื้อหามันค่อนข้างละเอียด แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจและสามารถเอาสาระไปปรับอาหารและวิธีใช้ชีวิตของตนเองได้

ก่อนจบ คุณหมอมีคำแนะนำอะไรจะฝากให้ผู้อ่านของเราบ้างไหมครับ

ผมก็แค่ขอย้ำอีกครั้งว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดของเรา ผมหมายถึงทั้งแพทย์และนักวิชาชีพด้านการแพทย์และคนธรรมดาทั่วๆไป ว่าวิธีมุ่งไปสู่การรักษาในโรงพยาบาลแบบเดิมๆนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันไม่เวอร์ค เราต้องหันมาหาทิศทางใหม่ที่โฟกัสที่การปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนอาหารมาสู่แนวทางกินพืชเป็นหลัก เมืองไทยเรากำลังจะเริ่มขยับ ตัวเราเองต้องเปลี่ยนตัวเราก่อน คนอื่นเห็นดีเขาก็จะเปลี่ยนตาม ทั้งชุมชนก็จะค่อยๆเปลี่ยน แล้วมันก็จะขยายออกไปในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ถ้าไปถึงจุดนั้นประชากรไทยก็จะมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์