Latest

“โอไมครอน” จะไล่ “เดลต้า” เอง โดยเราไม่ต้องเต้นแร้งเต้นกาอะไรมาก

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณหมอ???? 

ขอบพระคุณข้อมูลของคุณหมอค่ะ แถวบ้านหนูน้อง Omicron มา พี่ Delta ก็ยังอยู่ ไม่เครียดๆ เชื่อคุณหมอค่ะ กินพืช ออกกำลังกาย ตากแดด ค่ะ

……………………………………………………………………..

ตอบครับ

จดหมายแบบของคุณนี้มีเข้ามาแยะมาก บ้างก็เป็นของแพทย์ที่กังวลว่าบทความของผมคนอ่านแยะๆแล้วจะ “การ์ดตก” แล้วทำให้เดลต้ากระฉูดขึ้นมาอีก บ้างก็กังวลว่าในท้องที่ของเธอ (แพทย์) ซึ่งมีเดลต้าเด่นเป็นสง่าเป็นเจ้าประจำอยู่ถ้าโอไมครอนมาอีกแล้วเธอจะทำอย่างไร ไม่ต้องอื่นไกล ดูที่มวกเหล็กนี่ก็ได้ เดิมเคสโควิด-19ค่อยๆแห้งไปจนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรที่ผมช่วยทีมงานทำอยู่ถึงขั้นเกิดอาการขาดคนไข้มาทำวิจัยเลยทีเดียว แต่อยู่ๆเจ้าเดลต้าก็กลับโผล่พรวดขึ้นมาอีกทำให้งานวิจัยเดินหน้าไปได้อีก ในบางชุมชนเช่นอย่างเช่นที่คุณเล่าถึงบ้านของคุณเองซึ่งผมไม่รู้ว่าอยู่จังหวัดไหน มันมาคู่กันเลย แล้วจะไม่แย่หรือเพราะโอไมครอนเบาก็จริง แต่เดลต้านั้นชัดเจนอยู่แล้วว่ารุนแรงและมีอัตราตายสูง ตอบว่าไม่แย่หรอกครับ เพราะหลักฐานที่มีบ่งชี้ว่าโอไมครอนจะไล่ที่เดลต้าจนเข้าแทนที่เดลต้าได้เกือบทั้งหมดในเวลาไม่กี่สัปดาห์

คำตอบของผมมีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานสองชิ้น

หลักฐานชิ้นแรก คืองานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วรอตีพิมพ์ซึ่งเปิดเผยโดยสถาบันวัจัยสุขภาพอัฟริกา ที่ประเทศอัฟริกาใต้ ซึ่งได้ทำวิจัยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอนจนถึงระดับมีอาการ โดยมุ่งตรวจดูความสามารถในการสร้างแอนตี้บอดี้ (neutralizing antibody) ต่อเชื้อโอไมครอนและต่อเชื้อเดลต้า โดยทำการเจาะเลือดตรวจดูสองครั้ง คือ

ครั้งที่ 1. ตรวจในวันแรกที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครทำวิจัยเลย (ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีอาการมาได้ 4 วัน) เจตนาก็เพื่อดูว่าก่อนที่ร่างกายจะสร้างแอนตี้บอดี้ใหม่ มีแอนตี้บอดี้เก่า (จากวัคซีนหรือการติดเชื้อมาก่อน) อยู่มากเท่าใด

ครั้งที่ 2. ตรวจหลังจากครั้งแรก 14 วัน เจตนาเพื่อดูว่าตัวเชื้อโอไมครอนที่ติดมาทำให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้เพิ่มขึ้นได้มากเท่าใด

ผลการวิจัยพบว่าร่างกายผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นในสองสัปดาห์ได้ 14 เท่า และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดลต้าเพิ่มขึ้นในสองสัปดาห์ได้ 4 เท่า

แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าเมื่อคนติดเชื้อโอไมครอนแล้ว ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งภูมิคุ้มกันนั้นนอกจากจะใช้ทำลายเชื้อโอไมครอนได้ดีแล้ว ยังใช้ทำลายเชื้อเดลต้าได้ดีอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีเชื้อสองสายพันธ์ระบาดอยู่ในชุมชน เชื้อโอไมครอนจะแพร่เร็วกว่าแบบพรวดพราด แล้วคนที่ป่วยเป็นโอไมครอนแล้วจะมีภูมิต่อเชื้อเดลตาด้วย ทำให้ไม่ป่วยเป็นเดลตา ประมาณนั้น

หลักฐานชิ้นที่สอง คือรายงานสถิติการป่วยด้วยเชื้อสองแบบในชุมชน เนื่องจากตั้งแต่โรคโควิด-19ระบาดมาสามปีนี้ อังกฤษเป็นประเทศที่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีระบบข้อมูลสถิติดีที่สุด ผมจึงจะใช้สถิติของอังกฤษมาอธิบายให้ท่านฟัง ความจริงอัฟริกาใต้ก็มีสถิติที่คล้ายกัน แต่ฝีมือในการเก็บสถิติยังสู้ของอังกฤษไม่ได้

การระบาดคู่กันของสองเชื้อที่อังกฤษ สีเขียวคือเดลต้า สีม่วงคือโอไมครอน

ท่านดูกร๊าฟข้างบนนี้ประกอบนะครับ กร๊าฟนี้เป็นของสำนักงานสถิติสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ข้อมูลนี้นับถึงวันที่ 31 ธค. 64 คือวันส่งท้ายปีเก่า แต่ละแท่งคือการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ในแต่ละแท่งมีสองสี สีเขียวคือส่วนที่ติดเชื้อเดลต้า ส่วนสีม่วงคือการติดเชื้อโอไมครอน ส่วนกร๊าฟเส้นสีม่วงคือจำนวนคนไข้โอไมครอนสะสม จะเห็นว่าภายในหนึ่งเดือนโอไมครอนได้ไล่ที่เดลต้าจากเดิมที่เป็นเจ้ายุทธจักรอยู่จนหายไปมาก ถ้าดูกร๊าฟของเฉพาะบางชุมชนเช่นของเมืองลอนดอน การไล่ที่จะเกิดขึ้นจนเดลต้าแทบไม่เหลือเลย นี่เป็นหลักฐานเชิงสถิติที่สอดคล้องตัองกันเป็นอันดีกับงานวิจัยข้างต้น ว่าโอไมครอนติดง่ายกว่าติดเร็วกว่าเดลต้า ติดแล้วสร้างภูมิคุ้มกันต่อเดลต้าได้ด้วย ทำให้โอไมครอนไล่ที่เดลต้าได้ คนที่ป่วยเป็นโอไมครอนแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะป่วยเป็นเดลต้าอีก

กล่าวโดยสรุป ถ้าชุมชนของท่านมีสองเชื้อ และตัวท่านเองฉีดวัคซีนครบสองโด้สแล้ว ท่านไม่ต้องวอรี่หรือเต้นแร้งเต้นกาอะไรเลยครับ แค่ทำตัวเป็นพลเมืองดี ใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองให้ท็อปฟอร์ม แล้ววันหนึ่งโอไมครอนจะมาหาท่านเองถึงบ้านโดยท่านไม่ต้องออกไปหามัน แต่ท่านจะป่วยไม่รุนแรงเพราะท่านดูแลระบบภูมิคุ้มกันของท่านมาอย่างดีแล้ว หลังจากนั้นท่านจะมีภูมิคุ้มกันต่อทั้งโอไมครอนและเดลต้า แล้วชีวิตปกติของท่านก็จะเดินหน้าต่อไปได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Omicron infection enhances neutralizing immunity against the Delta variant. Khadija Khan, Farina Karim, Sandile Cele, James Emmanuel San, Gila Lustig, Houriiyah Tegally, Mallory Bernstein, Yashica Ganga, Zesuliwe Jule, Kajal Reedoy, Nokuthula Ngcobo, Matilda Mazibuko, Ntombifuthi Mthabela, Zoey Mhlane, Nikiwe Mbatha, Jennifer Giandhari, Yajna Ramphal, Taryn Naidoo, Nithendra Manickchund, Nombulelo Magula, Salim S. Abdool Karim, Glenda Gray, Willem Hanekom, Anne von Gottberg, COMMIT-KZN Team, Bernadett I. Gosnell, Richard J. Lessells, Penny L. Moore, Tulio de Oliveira, Mahomed-Yunus S. Moosa, Alex Sigalmed. medRxiv 2021.12.27.21268439; doi: https://doi.org/10.1101/2021.12.27.21268439