Latest

อยากให้ลูกออกไปจากบ้าน จะทำอย่างไร

ภาพวันนี้: คลอเดีย

เรียน คุณหมอสันต์ ที่นับถือ

ขอรบกวนเรียนปรึกษาเรื่องการกินการอยู่ในบ้าน ลูกชายอายุ 31 ปี เรียนจบวิศวะฯแล้วหลายปี มีงานการทำแล้ว แต่เป็นคนติดบ้าน เพื่อนน้อย ไม่เที่ยว ไม่กินเหล้าหรือสูบบุหรี่ คบเพื่อนสมัยเรียนม.ปลาย 2-3 คน เที่ยวด้วยกันไม่บ่อยนัก และก็ไม่พากันไปเที่ยวกลางคืนอะไรแบบนั้น ลูกชายเป็นคนสุภาพ ใจอ่อน อ่อนโยน แต่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง กลัวคน ไม่กล้าสู้คน ถูกแม่ติหรือบ่นมากๆก็ยังมีร้องไห้

ปัญหาของดิฉันคือ อยากให้เขาออกไปใช้ชีวิตเอง ไปซื้อคอนโดหรือเช่าบ้านอยู่เอง รับผิดชอบตัวเอง พูดตามตรงคือ ดิฉันเบื่อหาข้าวหาปลา เก็บห้องนอนล้างห้องน้ำให้แล้ว บ้านเราอยู่กันเองไม่มีคนรับใช้มาแต่ไหนแต่ไร ดิฉันบริการงานในบ้านให้หมดทุกคน จนตอนนี้ลูกชายก็เรียนจบกันไปแล้ว อยากให้เขาพ้นอกไปเสียทีค่ะ นิสัยเสียของเขาคือ ใช้ของไม่รู้คุณค่า เช่น ทิ้งทิชชูลงถังขยะทีเป็นม้วนๆ สบู่ก็ทิ้งทั้งๆ ที่ก้อนยังใหญ่ๆ ใช้ของ (ซึ่งดิฉันหาไว้ใช้ในบ้าน) แบบไม่ประหยัดเลย และอื่นๆ ประมาณนี้ค่ะ บอกเตือนหลายครั้งแล้วค่ะ จนดิฉันก็อ่อนใจ และเบื่อตัวเองด้วยเหมือนกันที่ต้องไปคอยพูดเตือน

ดิฉันมีความคิดอย่างนี้ ดิฉันผิดไหมคะ ใจร้ายไหมคะ เป็นแม่ที่ไม่ดีไหมคะ

ดิฉันจะมีวิธีบอกกับลูกอย่างไรดีคะ (โดยบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น) ให้เขาไปหาที่อยู่ข้างนอกเอง รับผิดชอบค่าอาหาร ค่าของใช้จิปาถะ สบู่ ยาสีฟัน กระดาษทิชชู ฯลฯ จะได้ทราบว่าของใช้เหล่านี้มันก็ซื้อหามา และเดี๋ยวนี้มันก็แพง ข้าวของแพงขึ้น กลับมาบ้านตอนเย็นก็ต้องหาข้าวอาหารไว้ให้ เสาร์อาทิตย์ต้องดูแล 3 มื้อ แถมทำห้อง ดูแลเสื้อผ้าให้ด้วย

ปัญหาก็มีเรื่องนี้ค่ะ ที่อึดอัด ที่ต้องการเรียนปรึกษาอาจารย์ ซึ่งจริงๆ ดิฉันก็ไม่ทราบเลยนะคะว่าบ้านอื่นๆ เขาทำอย่างไร ดิฉันเองก็ไม่มีเพื่อนค่ะ พี่น้องก็ไม่มีลูก พวกเขาเป็นโสด ดิฉันพอมีลูกก็เป็นแม่บ้านเต็มตัวเลี้ยงลูกค่ะ ปีนี้ 62 ปีแล้วค่ะ สามี 68 ปี แต่ยังไม่อยากเลิกทำงาน ยังขอบริษัททำไปเรื่อยๆค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเลี้ยงลูกมาจนโตควรพ้นอกได้แล้วแต่ลูกไม่ยอมออกจากบ้าน มีความคิดอยากให้ลูกออกจากบ้านไปเสีย เป็นแม่ที่ใจร้ายไหม ตอบว่าไม่ได้เป็นแม่ที่ใจร้ายหรอกครับ พ่อแม่ทุกคนในโลกนี้เลี้ยงลูกมาก็อยากให้ลูกออกไปตั้งตัวเป็นผู้เป็นคนได้ด้วยตัวเองทั้งนั้น คุณไม่ได้เป็นแม่ที่ไม่ดีแต่อย่างใด

2.. ถามว่าแม่คนอื่นเขามีปัญหานี้กันบ้างไหม ตอบว่าเขาก็มีปัญหานี้กันมากอยู่นะครับ ของฝรั่งเขาจะมีสถิติให้อ้างอิงได้ ที่อังกฤษ 8 ใน 10 ของคนหนุ่มสาวอายุ 18-24 ปียังสิงอยู่กับพ่อแม่ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่า 1 ใน 3 ของคนหนุ่มสาวอายุ 25 – 34 ปียังสิงอยู่กับพ่อแม่แบบว่าไม่ยอมไปไหน คนไทยถึงจะไม่มีสถิติแต่ก็ไม่น้อยหน้าหรอกครับ โดยเฉพาะคนมีเงิน ผมรู้เพราะคนไข้ของผมมีจำนวนมากที่มีปัญหานี้กับลูกหลานตัวเอง ดังนั้นคนหัวอกแบบคุณนี้ไม่ใช่มีแต่คุณคนเดียว

3.. ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรดี ตอบว่ามันก็มีวิธีอยู่นะครับ แต่ก่อนทึ่จะลงไปถึงวิธีแก้ ลองมามองถึงเหตุก่อนนะ เราซึ่งเป็นพ่อแม่เลี้ยงลูกมาด้วยวิธีที่ทำให้ลูกเข้าใจว่าโลกนี้สะดวกสบายและยุติธรรม ถ้าตรงไหนติดขัดบอกนะลูก เดี๋ยวพ่อกับแม่จะไปจัดการให้ ภายใต้วัฒนธรรมนี้สมองของคุณลูกหยุดการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาชีวิตไปนานแล้วเพราะพ่อกับแม่เข้ามาจัดการให้หมด และภายใต้วัฒนธรรมนี้พ่อกับแม่ได้เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้เลี้ยงดู” ไปเป็นขี้ข้าของลูกบังเกิดเกล้าโดยสมบูรณ์ ขึ้นชื่อว่าเป็นขี้ข้าเขา ก็มีหน้าที่ชัดอยู่แล้วคือตัวเองไปทำแทนนาย ไม่ใช่สอนให้นายทำ ภายใต้วัฒนธรรมนี้ผู้คนจะต้องไม่มีใครต้องทนทุกข์อกไหม้ไส้ขมอะไร ทุกคนต้องมีแต่แฮปปี้ตลอดกาล คุณพ่อคุณแม่จะทำทุกอย่างเพื่อให้คุณลูกแฮปปี้ แทรกแซงชีวิตคุณลูกไปทุกเรื่องที่แทรกแซงหรือคุ้มกันได้ ผลก็คือคุณลูกโตขึ้นมาแบบโตวัวโตควาย อาจจะมีปริญญาเต็มผนังแต่ไม่มีไอเดียว่าจะทำอะไรดีกับชีวิตตัวเอง ไม่มีความพร้อม (coping skill)  แม้แต่น้อยที่จะเผชิญหรือฟันฝ่าความทุกข์ยากทางกายและทางใจในสภาวะที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ช่วย ทักษะเดียวที่เขาหรือเธอมีอยู่คือทำตัวให้พ่อแม่ต้องมาช่วย

การที่จะเบรกออกจากวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้ก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยๆเปลี่ยนบทบาทจากเป็นขี้ข้าไปเป็นครู ค่อยๆเพิ่มการสร้างโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะในการรับมือกับปัญหาด้วยตัวเขาเอง ยากอยู่นะครับ เพราะเป็นขี้ข้าใช้แต่อารมณ์ก็ทำงานได้แล้ว ไม่ต้องใช้สมอง แต่เป็นครูต้องใช้สมอง ต้องรู้จังหวะจะโคน และต้องใจแข็งมีน้ำอดน้ำทนเพื่อให้ลูกศิษย์ก้าวหน้า ห้ามใช้เงินเพราะเงินใช้ไม่ได้ในเรื่องนี้ คนไข้ของผมบางคนซื้อคอนโดอย่างดีให้ลูกไปอยู่ แต่ลูกไปอยู่แล้วก็กลับเอาผ้ามาให้ซักและมาขนเอาอาหารไปกินแทบจะวันเว้นวัน คือเสียเงินซื้อคนโดแล้วแต่หน้าที่ขี้ข้าก็ยังไม่พ้น ดังนั้นให้ยอมรับเสียเลยว่าการแก้ปัญหานี้มันเป็นเรื่องยาก แต่ถึงจะยากแค่ไหน คุณก็ต้องทำ เพราะทำไงได้ละ คุณทำให้เขาเกิดมาแล้วนี่ ผมก็แนะนำได้แต่ทางเลือกให้คุณทดลองทำ ซึ่งมี 3 ทาง ดังนี้

ทางเลือกที่ 1. ปรับตัวให้อยู่กับลูกไปจนตลอดชีวิตได้ ทางเลือกนี้ไม่ใช่เลวร้าย เพราะงานวิจัยพบว่าชุมชนที่ผู้คนมีอายุยืนเกือบทั้งหมดมีวัฒนธรรมครอบครัวแบบอยู่ด้วยกันหลายรุ่นแบบว่าปู่ย่าตายายลูกหลานเหลนยัดอยู่ในบ้านเดียวกันหมด แสดงว่ารูปแบบของครอบครัวแบบนี้มันก็มีข้อดีของมันเพียงแต่เราไม่รู้จักใช้

ในทางเลือกนี้คุณต้องเปลี่ยนบ้านจากสถานที่ที่มีคุณเป็นคนรับใช้ชั่วนิรันตร์มาเป็นโรงฝึกงานให้คนในบ้านอยู่แบบพึ่งตัวเองได้โดยไม่มีคุณ หมายความว่าวันหนึ่งคุณก็ต้องตายและจะไม่มีใครมารับใช้พวกเขาแล้ว ก็เริ่มมันเสียเลยตั้งแต่วันนี้

ขั้นที่ 1. ส่งสัญญาณแรกก่อนด้วยการแจ้งให้ทุกคนทราบว่าคุณจะต้องจากบ้านไปปฏิบัติธรรมที่ไหนสักแห่งนานหนึ่งเดือน ให้ทุกคนช่วยตัวเองนะ คุณไม่ต้องซื้อของอย่างอาหารหรือทิชชูเข้าบ้านก่อนไป ไม่มีการเอาเงินทิ้งไว้ให้ดอก ใครอยากได้อะไรควักเงินตัวเองซื้อ ห้องใครสกปรกก็ทำความสะอาดเอาเอง อย่าหวังว่าจะกองผ้าไว้รอกลับมาซักให้ บอกไปเลยว่าหากกลับมาแล้วถ้าเห็นว่าดีคุณก็อาจจะออกไปอีกรอบคราวนี้จะนานหลายเดือนก็เป็นได้ ประกาสล่วงหน้าสักเจ็ดวัน เพื่อให้มีเวลาสอนให้ทุกคนรู้วิธีใช้เครื่องซักผ้า วิธีต้มไข่ เป็นต้น แล้วคุณก็ไปจริงๆ ไปแอบเช่าโฮมสะเตย์ต่างจังหวัดที่ไหนสักแห่งนอนกบดานโดยไม่ต้องโทรศัพท์กลับบ้านจนครบเดือนจึงค่อยกลับมา

ขั้นที่ 2. เมื่อคุณกลับมาแล้ว อย่าแปลกใจที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่กันครบโดยไม่มีใครตายเพราะขาดคุณ และอย่าตกใจที่บ้านรกรุงรังจนอดใจไม่ไหวต้องรีบเข้าไปทำความสะอาด อย่าทำอย่างนั้น แต่ให้คุณสำรวจอย่างละเอียดว่าบ้านเมื่อไม่มีคุณมันลงตัวของมันอยู่ได้อย่างไร ให้ยอมรับความลงตัวนั้น เพราะถ้าคุณตายไปบ้านมันก็จะเป็นประมาณนี้แหละ อย่างมากคุณก็ทำแต่ส่วนที่คุณจะต้องอยู่ต้องกินต้องใช้ อย่าไปยึดห้องครัวหรือเครื่องซักผ้ากลับมาอยู่ใต้อำนาจตัวเองอีก ทิ้งให้มันเป็นพื้นที่ร่วมรกๆไว้งั้นแหละ ส่วนไหนที่คนอื่นเขาทำของเขาอยู่แล้วก็อย่าไปหวังดีทำแทนให้ ให้เริ่มกลับมาอยู่ด้วยกันใหม่แบบนี้นะ แล้วก็คอยหาจังหวะชิ่งออกจากบ้านอีกเป็นพักๆ บ่อยๆและนานๆเท่าที่คุณเห็นว่าจำเป็น เป้าหมายก็คือให้ทุกคนเขาอยู่กันได้โดยไม่มีคุณ เมื่อเป้าหมายนี้บรรลุ คุณก็จะกลับมาเป็นสมาชิกของบ้านที่ทุกคนอยู่ร่วมกันต่อไปได้โดยไม่มีใครต้องเป็นภาระให้ใคร

ทางเลือกที่ 2. .ใช้เมื่อคุณทำใจไม่ได้ที่จะอยู่ในบ้านรกๆ ก็ให้คุณนั่นแหละเป็นผู้ย้ายออกจากบ้านไป ชวนสามี ถ้าเขาไปด้วยก็ไปด้วยกัน ทิ้งบ้านไว้ให้ลูก ถ้าเขาไม่ไปคุณก็ไปเอง ถ้าคุณเป็นคนต่างจังหวัดก็กลับไปใช้ชีวิตย้อนยุคแบบรากกำเนิดที่คุณเติบโตมา วิธีนี้มันง่ายกว่าจะผลักไสลูกให้ออกไปจากบ้าน เพราะคุณสอนเขามาแบบทำให้เขาไม่มีความพร้อม ไม่มีทักษะที่จะรับมือ แต่คุณมีความพร้อมมากกว่า การให้คุณเป็นฝ่ายออกจากบ้านจึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่า คนบางชาติบางภาษา เช่นอินเดีย เขาก็ทำกันแบบนี้ คือพอบ้านชักแน่นอยู่ไม่สนุกพูดกันชักจะไม่รู้เรื่องแล้ว รุ่นพ่อแม่จะเลือกออกจากบ้านไป เรียกว่าไปแสวงหาโมกษะ แปลว่าอะไรไม่รู้ รู้แต่ว่าอยู่มิสู้ไป ไปดีกว่า

ทางเลือกที่ 3. พูดกับลูกตรงๆ ว่าพ่อกับแม่ก็แก่จวนเข้าโลงแล้ว สิ่งที่หวังจะเห็นเป็นครั้งสุดท้ายก็คืออยากเห็นลูกพึ่งตัวเองได้ก่อนที่พ่อกับแม่จะตาย ลูกจะทำให้แม่เห็นได้ไหม โดยการออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองพึ่งตัวเองในทุกเรื่อง ให้แม่เห็นเพื่อที่แม่จะได้ตายตาหลับ ไม่พูดเปล่า เขียนกลอนแปะฝาบ้านตัวโตๆไว้ด้วย ว่า

“….พ่อกับแม่ มีแต่ จะแก่เฒ่า

จะเลี้ยงเจ้า เรื่อยไป นั้นอย่าหมาย

ใช้วิชา ช่วยตน ให้ทุกข์คลาย

เจ้าสบาย แม่กับพ่อ ก็ชื่นใจ..”

วิธีสุดท้ายนี้คุณจะลองดูก็ได้ แต่ให้ทำใจเผื่อด้วยนะว่ามันอาจจะไม่เวอร์ค เพราะผมเดาว่าหากคุณเลี้ยงลูกมาแบบทำให้เขาไม่มีความพร้อมไม่มีทักษะที่จะรับมือ (coping skill) คุณพูดให้ตายเขาก็ไม่กล้าออกจากอกคุณไปไหนดอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์