Latest

สารกันบูด (Preservatives) และสารแต่งอาหาร (Additives) กับจุลชีวิตในลำไส้ (Microbiotomes) ของหญิงมีครรภ์

(ภาพวันนี้: ดอกพลาสติก ถ่ายเพราะชอบแสงยามเช้าที่ตกกระทบ)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูกำลังจะมีน้อง คือท้องได้ 6 เดือน กำลังมีปัญหาคือเด็กทำงานที่บ้านลาออกไปทำให้ไม่มีคนทำอาหาร หนูกับสามีต้องทำงานทั้งคู่ ทุกวันนี้ต้องอาศัยอาหารกล่องอาหารถุงและกระป๋อง ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารกล่องสำเร็จรูปจากซูปเปอร์เพราะไม่มีเวลาพอที่จะไปยืนรอซื้ออาหารสดปรุงใส่ถุงจากแม่ค้า หนูพยายามจะเลือกอันที่ healthy ให้มากที่สุด อ่านฉลากให้ได้คุณค่าอาหารครบ เสริมโปรตีนผง วิตามิน และแร่ธาตุ แต่หนูยังเป็นห่วงลูกว่าหนูกินอย่างนี้ตลอดช่วงตั้งครรภ์แล้วจะมีปัญหากับสุขภาพของลูกไหมคะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

อาหารบรรจุเสร็จ ภาษาทั่วไปเรียกง่ายว่า processed food ซึ่งก็ยังมีความแตกต่างกันในแง่ดีกรีของการแปรรูปอาหาร ถ้าเป็นกระบวนการแปรรูปแบบจิ๊บๆเช่นจับอาหารแช่แข็งแล้วใส่ซองขาย หรือเอาผลไม้อบแห้งแล้วใส่ซองขาย อย่างนี้มันมีความใกล้เคียงกับอาหารธรรมชาติมากจนจะถือว่าเหมือนอาหารธรรมชาติก็ยังได้ แต่อาหารที่ขายอยู่บนหิ้งส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการแปรรูปอาหารระดับซับซ้อน เรียกว่าเป็นการแปรรูประดับ ultra-processed food ได้แก่อาหารที่มีการใส่สารกันบูด (preservatives) หรือพูดแบบบ้านๆก็คือใส่ยาฆ่าเชื้อโรคเข้าไปเพราะสารกันบูดก็คือยาฆ่าเชื้อโรคนั่นแหละ และมีการใส่สารเคมีที่ไม่ใช่อาหารเข้าไปอีกสารพัดเพื่อให้อาหารมีรส มีกลิ่น มีสีสันที่ถูกใจผู้บริโภค สารในกลุ่มหลังนี้เรียกรวมๆว่า additives ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องจาระไนไว้ที่ฉลากว่าใส่อะไรบ้าง เพราะกฎหมายบังคับแค่ว่าให้บอกสัดส่วนของแคลอรี่ โคเลสเตอรอล น้ำตาล เกลือ ต่อหน่วยบริโภค ดังนั้นอย่างซื่อสัตย์ที่สุดผู้ผลิตก็จะเขียนแค่ว่า “ใช้ preservatives และ additives” แต่ไม่มีผู้ผลิตรายไหนหรอกที่จะจาระไนว่าตัวเองใส่สารเคมีอะไรเข้าไปในอาหารเป็นรายตัวให้เห็นครบถ้วน เพราะยิ่งเขียนละเอียดก็ยิ่งขายอาหารไม่ออก

ประเด็นสำคัญก็คือ preservatives ก็ดี additives ก็ดี เกือบทั้งหมดเป็นสารที่จะมีผลทำลายดุลยภาพของชุมชนจุลชีวิตในลำไส้ (microbiomes) ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง

สมัยก่อนวิชาแพทย์จะเน้นว่าจุลชีวิตอันได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส และรา คือเชื้อโรคที่ต้องคอยระวังไม่ให้มันบุกรุกเข้ามาในร่างกายเรา แต่สมัยนี้คอนเซ็พท์นั้นเปลี่ยนเป็นว่าในร่างกายเรานี้มันมี “ชุมชนจุลชีวิตในทางเดินอาหาร” คำว่าชุมชนจุลชีวิตนี่เป็นคำที่ผมแปลจากคำว่า microbiomes คือผมจะให้หมายถึงระบบนิเวศน์วิทยา(ecosystem) ในลำไส้ นึกภาพเวลาเราไปดำน้ำดูปะการังเราจะเห็นสารพัดสัตว์น้ำและพืชน้ำอยู่ด้วยกันทั้งกุ้งหอยปูปลาหลากสีหลากรูปร่าง ม้าน้ำ ปะการัง สาหร่ายแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างลงตัว ในทางเดินอาหารเราก็มีจุลชีวิตทั้งหลายทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ จำนวนมากอยู่อาศัยเป็นชุมชนในลำไส้ในลักษณะเดียวกันเดียวกับที่เราเห็นสัตว์และพืชเมื่อไปดูปะการังที่อยู่ก้นทะเลนี่แหละ มันมีกันเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามากถึง 38 ทริลเลี่ยนชีวิต ส่วนใหญ่มันจะอยู่ในร่างกายเราแบบอยู่ดีๆ ช่วยเจ้าบ้านทำโน่นทำนี่ จนมีแพทย์บางคนเรียกร่างกายเรานี้ว่าเป็น Holobiome หรือชุมชนสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เซลร่างกายของเรานะ แต่จุลชีวิตอื่นก็อาศัยอยู่ในนี้อีกเพียบโดยไม่รู้ว่าเจ้าของร่างกายนี้ที่แท้จริงคือใคร รู้แต่ว่าถ้าบรรดาผู้อาศัยทะเลาะกันเมื่อไหร่ทั้งร่างกายก็พังทันที เพราะจุลชีวิตในลำไส้นี้มันดำรงชีวิตและสื่อสารประสานงานอย่างแนบแน่นกับเซลของระบบต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบภูมิคัุมกันโรค เพราะอย่าลืมว่า 80% ของเซลที่เป็นกำลังพลของระบบภูมิคุ้มกันมีที่ตั้งอยู่ในลำไส้นั่นแหละ หากบรรดาจุลชีวิตในลำไส้อยู่ไม่สุข ก็อย่าได้หวังว่าร่างกายของเราจะได้อยู่สุข

microbiome นี้มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งที่เริ่มมีการก่อร่างสร้างชุมชนกันตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ มันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้อย่างลงตัวและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ผมจะเล่าให้ฟังถึงผลวิจัยที่เรารู้แน่แล้ว เช่น

(1) ในระหว่างตั้งครรภ์ แบคทีเรียจากทางเดินอาหารของแม่จำนวนหนึ่ง จะอพยพมาตามกระแสเลือด ผ่านรกแม่ เข้ามาอยู่ในลำไส้ทารกก่อนคลอด

(2) เมื่ออายุครรภ์ได้ราวเก้าเดือน แบคทีเรียในลำไส้แม่จะสื่อสารให้เม็ดเลือดขาวของร่างกายของแม่มารับเอาตัวแบคทีเรียไปปล่อยที่น้ำนม เพื่อให้ทารกดูดเอาไปตั้งหลักแหล่งในลำไส้ของทารก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในน้ำนมแม่จึงมีแบคทีเรียหลายชนิดรวมทั้งแล็คโตบาซิลลัสอยู่ด้วย

(3) ในน้ำนมแม่มีโมเลกุลอาหารชนิดหนึ่งชื่อโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่ธรรมชาติใส่ไว้ในนมแม่ก็เพื่อเตรียมไว้เป็นอาหารแก่แบคทีเรียที่จะตั้งรกรากอยู่ในลำไส้ของทารก เด็กที่ดื่มนมวัวแทนนมแม่ตั้งแต่อายุน้อยจะมีอุบัติการณ์ของโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (เช่นเบาหวานประเภทที่1) สูงขึ้น เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วว่าเซลระบบภูมิคุ้มกันนั้น 80% อยู่ในลำไส้ และทำงานแนบแน่นกับจุลชีวิตในลำไส้

(4) พอเข้าสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แบคทีเรียในช่องคลอดของแม่จะค่อยๆเปลี่ยนไปคล้ายแบคทีเรียในสำไส้ เพื่อให้ทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดได้กินแบคทีเรียพวกนี้เข้าไป ตรงนี้สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ไปหัดทำคลอด ผมก็สงสัยอยู่ครามครันว่าทำไมสารคัดหลั่งในช่องคลอดของแม่มีกลิ่นคล้ายอึทั้งๆที่ในการทำคลอดผมก็ป้องกันไม่ให้อึเข้ามาแปดเปื้อนอย่างเข้มงวดสุดๆ ตอนนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนชนิดของแบคทีเรียนี่เอง

(5) แบคทีเรียในสำไส้ สามารถสื่อสารกับเซลสมอง เซลผิวหนัง เซลเส้นผม และมีส่วนร่วมกำกับการทำงานของเซลและเนื้อเยื่อเหล่านั้นด้วย รวมทั้งการร่วมกำกับอารมณ์ทั้งเชิงบวกเชิงลบด้วย ทำให้ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อความจำ อารมณ์ ภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ความผุดผ่องของผิวหนัง และความมันของเส้นผม กลไกที่จุลชีวิตในลำไส้มีอิทธิพลต่อการทำงานของเซลร่างกายนั้นทำผ่านการที่มันผลิตโมเลกุลชนิดกรดไขมันสายโซ่สั้น (short chain fatty acid – SCFA) ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่างๆต่อเซลต่างๆของร่างกายได้

(6) งานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีวิตในทางเดินอาหารปัจจุบันนี้ได้ก้าวหน้าไปจากสมัยก่อนมากจนหากแพทย์รุ่นเก๋าระดับรุ่นผมไม่ตามข่าวก็จะตกยุคไปเลย เพราะสมัยที่คนรุ่นผมเรียนแพทย์ การจะศึกษาชนิดและนับจำนวนจุลชีวิตต้องเอามันมาเพาะเลี้ยงในจาน petri dish ซึ่งเป็นจานเพาะเลี้ยงเชื้อที่มีวุ้นเป็นอาหารของมันก่อน เพาะแล้วก็ขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง แล้วจึงตักเอาที่เพาะขึ้นออกมาดูมาตรวจแยกชนิดในห้องแล็บ อย่างเก่งตรวจอุจจาระครั้งหนึ่งจะแยกแบคทีเรียได้อย่างมากก็ยี่สิบสามสิบตัว แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว อาศัยข้อมูล genome mapping การศึกษาชนิดและจำนวนแบคทีเรียแค่ใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรม (DNA) ในสารคัดหลั่ง เยื่อบุ และในอุจจาระ ดูแค่นี้ก็รู้หมดแล้วว่ามีจุลชีวิตอยู่กี่ชนิดทั้ง แบคทีเรีย รา ไวรัส ชนิดไหนมีจำนวนเท่าไร ตรวจครั้งเดียวได้ถึงระดับห้าหมื่นชนิด ปัจจุบันนี้ ฐานข้อมูล ZOE มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของไมโครไบโอมใหญ่มากพอจนหากตรวจทราบชนิดของแบคทีเรียในลำไส้แล้วสามารถใช้ฐานข้อมูลทำนายได้ว่าคนคนนั้นจะมีดัชนีวัดสุขภาพตัวอื่น (เช่น ความดัน น้ำหนัก น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด) ว่าเป็นอย่างไร เพราะจุลชีวิตแต่ละชนิดต่างก็มีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังแต่ละโรค

ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ก็เพื่อขมวดมาถืงประการสำคัญสำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์สองประการ คือ

ประการที่ 1. ไมโครไบโอมในทางเดินอาหารนี้จะอ่อนไหวและถูกทำลายโดยสารในกลุ่ม preservative เช่นสารกันบูด กละสารในกลุ่ม additives ได้แก่สารแต่งกลิ่น สารแต่งรสต่างๆ ที่ใส่เข้าไปเป็นจำนวนมากในอาหารสำเร็จรูประดับ ultra-processed food ผลของมันจะเหมือนกับเอาน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างพื้นเทลงในโถส้วม คือมันจะทำลายจุลชีวิตที่ช่วยย่อยสลายสิ่งปฏิกูลในถังบำบัดของส้วม ทำให้ส้วมที่ไม่เคยมีกลิ่นเน่าเกิดมีกลิ่นเน่าขึ้นมาได้

ประการที่ 2. ไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของเรานี้ จะเปลี่ยนแปลงไปทางดีหรือทางร้ายได้ ตามอาหารที่เรากิน เพราะมันกินอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นแหละแต่อาหารของพวกมันเป็นส่วนที่ร่ายกายของเราย่อยไม่ได้ ไมโครไบโอมกินอาหารที่มีกากมากและหลากหลาย กากหมายถึงอาหารพืชเท่านั้น เพราะอาหารเนื้อสัตว์ไม่มีกาก ดังนั้นเท่าที่ความรู้ของวงการแพทย์มีอยู่ขณะนี้ อาหารที่จะสร้างสรรค์ไมโครไบโอมดีที่สุดคืออาหารพืชที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่ว นัท เมล็ดพืช ธัญญพืช ถ้าเป็นไขมันก็ควรเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชเช่นน้ำมันมะกอก การได้กินอาหารพืชธรรมชาติที่หลากหลายจึงมีความสำคัญ งานวิจัยความหลากหลายการกินพืชในแต่ละเดือนของคนอเมริกันพบว่าส่วนใหญ่ 70% กินพืชไม่เกิน 20 ชนิด มีเพียง 15% เท่านั้นที่กินพืชเกิน 30 ชนิดขึ้นไป

การที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะยังชีพด้วยอาหารกล่องอาหารถุงตลอดการตั้งครรภ์นั้นย่อมต้องส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาวอย่างแน่นอนโดยผ่านกลไกการทำลาย microbiomes นี้ แม้ว่าจะตั้งใจกินโปรตีนผงวิตามินแร่ธาตุเสริมมันก็ไม่เวอร์คเพราะจุลชีวิตในลำไส้ไม่ได้ยังชีพอยู่ด้วยโปรตีนผงหรือวิตามินเกลือแร่เสริม มันต้องการกาก ซึ่งจะได้จากเมื่อคุณแม่กินอาหารพืชธรรมชาติที่ปลอด preservatives และ additives เท่านั้น ดังนั้นผมแนะนำว่าให้ลดการกินอาหารกล่องอาหารถุงลงให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นให้เลือกอันที่เขียนไว้บนฉลากชัดเจนว่า

“..No Preservatives, No Additives”

ถ้าไม่เขียนไว้อย่างนี้ให้เดาไว้ก่อนว่า..ใส่มาเพียบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์