Latest

หมอสันต์รายงานผลวิจัยฟ้าทะลายโจรขั้นสุดท้าย

งานวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด 19 ที่ทำมาตั้งแต่ปีกลายบัดนี้ได้ทำวิจัยเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว อยู่ในระหว่างรอการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ โดยมารยาทการเปิดเผยข้อมูลผลวิจัยอย่างละเอียดก่อนการตีพิมพ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ขั้นตอนการตีพิมพ์ของวารสารการแพทย์จะใช้เวลาเป็นปี ผมจึงได้ขออนุญาตคณะผู้วิจัยแปลเฉพาะบทคัดย่อของนิพนธ์ต้นฉบับที่ส่งไปตีพิมพ์มาไว้ให้ท่านผู้อ่านในฐานะผู้บริจาคเงินสนับสนุนการทำวิจัยได้อ่านในที่นี้ ดังนี้

“..บทคัดย่อ

งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด19ระยะเริ่มติดเชื้อ

Prospective randomized trial to compare using Andrographis paniculata powder and Favipiravir in treatment of early COVID-19

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในรูปของผงบดมีประสิทธิผลในการรักษาโรคโควิด-19 ได้แตกต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งเป็นยามาตรฐานที่ใช้รักษาโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะทำวิจัยนี้หรือไม่อย่างไร

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) โดยคัดเลือกอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 18 ปีถึงต่ำกว่า 60 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจ RT-PCR test ได้ผลบวก เป็นผู้ป่วยสีเขียว และถูกรับไว้ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินิจฉัยโรคได้ โดยภาพเอกซเรย์ปอดแรกรับไม่มีอาการแสดงของปอดอักเสบ ไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ไม่เป็นโรคเรื้อรังอันได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไม่อยู่ในระหว่างกินยาวาร์ฟาริน แล้วนำผู้ป่วยทั้งหมดมาสุ่มตัวอย่างแบบจัดบล็อก เพื่อรับการรักษาที่ต่างกันสามแบบคือ กลุ่มที่ 1. ให้กินผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร (400 มก.ของผงบด ต่อหนึ่งแคปซูล (มีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 11.35 mg) ครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg/day x 5 days ) กลุ่มที่ 2. ให้กินผงบดจากเฉพาะส่วนใบของฟ้าทะลายโจร (400 มก. ผงบดต่อหนึ่งแคปซูล (มีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 24 mg) ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg/day x 5 days) กลุ่มที่ 3. ให้กินยาฟาวิพิราเวียร์ 3600 มก.ในวันแรก และ 1600 มก.ต่อวันในวันที่ 2-5 (รวม 10,000 มก./คน) แล้วติดตามผู้ป่วยนาน 10 วัน โดยใช้การเปลี่ยนสีบ่งชี้ความรุนแรงของโรค การเกิดปอดอักเสบขึ้นใหม่ และการลดลงของปริมาณไวรัส ในวันที่ 0, 5, 10 เป็นตัวชี้วัดหลัก

ผลวิจัยพบว่าจากอาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัย 231 คน แบ่งเป็นสามกลุ่มๆละ 77 คน เป็นชาย 47.2% เป็นหญิง 52.8% อายุ 18-58 ปี (เฉลี่ย 32.2 ปี) ดัชนีมวลกาย 13.8 – 31.2 (เฉลี่ย 22.9 กก./นน.2) ทุกกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนสีความรุนแรงทางคลินิก ทุกกลุ่มเกิดภาวะปอดอักเสบขึ้นในระหว่างการวิจัยไม่แตกต่างกัน (p0.07) เกิดภาวะตับอักเสบไม่แตกต่างกัน (p0.7) มีการลดลงของปริมาณไวรัส (viral load) ที่นับในหน่วย log 10 copies/ml ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือในวันที่ 5 กลุ่มที่ 1 ซึ่งกินผงบดจากส่วนเหนือดินไวรัสลดลงเฉลี่ย 4.063 (S.D. = 1.352)ในป กลุ่มที่ 2 ซึ่งกินผงบดเฉพาะส่วนใบลดลงเฉลี่ย 4.068 ( S.D. = 1.392) กลุ่มที่ 3 ซึ่งกินฟาวิพิราเวียร์ลดลง 4.050 (S.D. = 1.313) ซึ่งไม่แตกต่างกัน (p=0.996) ในวันที่ 10 กลุ่มที่ 1 ไวรัสลดลงเฉลี่ย 3.960 (S.D. = 1.354) กลุ่มที่ 2 ลดลงเฉลี่ย3.943 (S.D. = 1.414) กลุ่มที่ 3 ลดลงเฉลี่ย 3.994 (S.D. = 1.284) ซึ่งไม่แตกต่างกัน (p =0.966)

คณะผู้วิจัยสรุปว่าผงบดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรทั้งจากส่วนเหนือดินและจากเฉพาะส่วนของใบ เมื่อใช้รักษาโรคโควิด -19 โดยเปรียบเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ไม่พบความแตกต่างจากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งในแง่การเกิดปอดอักเสบ การเปลี่ยนสีความรุนแรงทางคลินิก และการลดปริมาณไวรัสตลอดการรักษา 10 วัน”

ย้อนหลังที่มาของการวิจัย

เผื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาก่อน ผมขอเล่าให้ฟังย้อนหลังถึงที่มาของการวิจัยนี้สักเล็กน้อย คือตอนที่โควิด-19 สายพันธ์เดลต้ากำลังระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการยอมรับให้เป็นมาตรฐานของชาติในการใช้รักษาโรคโควิด-19 ขณะที่ประชาชนทั่วไปต้องการทราบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ผลหรือไม่ แต่ ณ ขณะนั้นยังไม่มีงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ที่เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบตีพิมพ์ไว้เลย ผมและทีมนักวิจัยจากรพ.มวกเหล็ก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 และศูนย์เวลเนสวีแคร์จึงได้ร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นเพื่อตอบคำถามนี้ โดยได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากท่านผู้อ่านบริจาคเงินผ่านบล็อกนี้คนละมากบ้างน้อยบ้างรวมเป็นเงิน 2,906,031.56 บาท

เมื่อเริ่มขออนุมัติทำวิจัยนั้น ได้ขอทำวิจัยโดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็นสี่กลุ่มโดยมีกลุ่มที่ให้กินยาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม แต่คณะกรรมการจริยธรรมไม่อนุมัติให้มีกลุ่มกินยาหลอก ด้วยเหตุผลว่า ณ ขณะนั้นยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยามาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติแล้ว การให้มีกลุ่มกินยาหลอกจะไม่ชอบด้วยจริยธรรมการวิจัย จึงทำวิจัยได้แค่เปรียบเทียบสมุนไพรผงบดฟ้าทะลายโจรกับฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลออกมาว่าไม่พบความแตกต่างกันในผลของการรักษาทั้งสองแบบ

สรุปค่าใช้จ่ายในการวิจัย

ฝ่ายการเงินของรพ.มวกเหล็กได้สรุปค่าใช้จ่ายในการวิจัยครั้งนี้ มาดังนี้

1.. รับเงินบริจาคมารวม 2,906,031.56 บาท

2.1 จ่ายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นค่าน้ำยาและอุปกรณ์การตรวจนับไวรัสและแล็บอื่นๆ 2,030,323.16 บาท

2.2 ค่าตอบแทนผู้ช่วยนักวิจัยจัดการกับอาสาสมัคร 200 รายๆละ500 บาท รวม 100,000.00 บาท

2.3 ค่าบริหารจัดการในส่วนของ รพ. 200 รายๆละ 200 บาท รวม 40,000.00 บาท

2.4 ค่าตอบแทนอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 231 ราย รวม 97,620.00 บาท

2.5 ค่าตอบแทนผู้ประสานจัดการเอกสาร  18,800.00 บาท

2.6 ค่าจ้างเหมาเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูล 35,000.00 บาท

2.7 ค่าตอบแทนผู้ที่บันทึกข้อมูลเป็นกรณีพิเศษ 6,750.00 บาท

2.8 ค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ 820.00

2.9 ค่าตอบแทนนักวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ  20,000.00 บาท

รวมรายจ่าย 2,349,313.16 บาท

3. ยอดเงินคงเหลือ 556,718.40 บาท

แผนการใช้จ่ายเงินคงเหลือ 556,718.40 บาท

คณะผู้วิจัยได้ประชุมเต็มคณะเมื่อวันที่ 21 มิย.65 แล้วมีมติว่าให้มอบเงินคงเหลือ 556,718.40 บาทแก่กองทุนวิจัยโรงพยาบาลมวกเหล็ก เพื่อใช้ทำวิจัย “การรักษาโรคเบาหวานโดยใช้อาหารแทนยา” ตัวหมอสันต์เองจะร่วมเป็นคนหนึ่งในคณะผู้วิจัยชุดใหม่นี้ด้วย และจะคอยรายงานความคืบหน้าให้ท่านผู้อ่านทราบ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดระเบียบวิธีการวิจัย การอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรม การรายงานผลวิเคราะห์ครึ่งทาง และการรายงานผลลัพธ์สุดท้ายของการวิจัย

หมอสันต์ขอขอบคุณผู้บริจาคเงิน

ทั้งในนามของคณะผู้วิจัย ทั้งในนามของผู้ป่วยที่จะใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ให้ตัวเองในอนาคต และทั้งในนามของตัวผมเอง ผมขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านบล็อกนี้ทุกท่านที่ได้ช่วยบริจาคเงินสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ จนการวิจัยในผู้ป่วยจำนวน 231 คนสำเร็จได้ทันเวลาที่กำหนดไว้คือ 6 เดือน

ขอให้แฟนบล็อกหมอสันต์จงเจริญ!

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์