Latest

ความสัมพันธ์ระหว่างกัญชากับอุบัติเหตุรถยนต์

(ภาพวันนี้: ลั่นทม)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอยากทราบว่าการสูบกัญชาแล้วขับรถจะมีผลเสียหรือทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นอย่างการดื่มแอลกอฮอล์ไหมครับ แล้วคุณหมอมีข้อมูลไหมครับว่าประเทศที่เขาปล่อยให้สูบกัญชากันได้ คนสูบกัญชาเขาขับรถกันมากแบบคนดื่มแอลกอฮอลไหมครับ

ขอบพระคุณคุณหมอตรับ

………………………………………………………………….

ตอบครับ

ระยะนี้มีจดหมายเรื่องกัญชาเข้ามามากแต่ผมไม่ได้ตอบเพราะส่วนใหญ่เนื้อหาซ้ำซ้อนกับที่ผมเคยตอบไปสองครั้ง เมื่อสามปีก่อน และ เมื่อปีที่แล้ว แต่ประเด็นที่คุณถามมานี้เป็นของใหม่ เรามาพูดถึงกันสักหน่อยก็น่าจะมีประโยชน์

1.. ถามว่าคนสูบกัญชาชอบขับรถกันมากแบบคนดื่มแอลกอฮอล์ไหม ตอบว่ามันก็แล้วแต่ท้องถิ่นนั้นมีคนสูบกัญชากันมากหรือเปล่า อย่างงานวิจัยหนึ่งทำที่ฝรั่งเศษเอาข้อมูลอุบัติเหตุทางหลวงที่ถึงตายทั้งหมดมาดูว่าคนขับที่ชนกันถึงตายมีดื่มแอลกอฮอล์กี่เปอร์เซ็นต์ มีสูบกัญชามากี่เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีคนขับที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 2.1% ขณะที่มีคนขับที่ตรวจพบกัญชาในเลือด 3.4% พูดง่ายๆว่าในฝรั่งเศสพวกที่พี้แล้วขับชนมีมากกว่าพวกที่ดื่มแล้วขับชน

2.. ถามว่าถ้าสูบกัญชาแล้วขับจะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ดื่มไม่สูบอะไรเลยไหม ตอบว่าข้อมูลในงานวิจัยที่ฝรั่งเศสซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Plos One พบว่าการสูบกัญชาแล้วขับจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุถึงตายสูงกว่าจากปกติเมื่อไม่สูบไม่ดื่มอะไรเลย 1.6 เท่า

นิวซีแลนด์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนชอบสูบกัญชา งานวิจัยแบบเปรียบเทียบย้อนหลัง (case control) ที่นั่นพบว่าคนที่ขับรถภายใน 3 ชั่วโมงหลังสูบกัญชามีโอกาสขับรถชนถึงขึ้นมีคนถูกหามเข้าโรงพยาบาลหรือตายสูงขึ้นกว่าคนทั่วไปขับ 3.9 เท่า แต่ว่าหากแยกเอาปัจจัยกวนที่เกิดจากความประมาทในการขับเช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด หลับในขณะขับ และดื่มแอลกอฮอล์ ทิ้งไปให้หมดเหลือแต่ปัจจัยกัญชาอย่างเดียวก็พบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ต่างจากคนทั่วไปขับ แปลไทยให้เป็นไทยก็คือตัวกัญชาเองอาจไม่ได้ลดความสามารถในการขับขี่ แต่คนพื้นเพชอบพี้กัญชานี้อาจเป็นคนกลุ่มเดียวกับคนที่พื้นเพมีนิสัยขับรถโดยประมาทอยู่แล้วด้วยก็ได้ อุปมาเหมือนคนชอบสูบบุหรี่มักเป็นคนดื่มกาแฟจึงจะไปเหมาโทษกาแฟว่าทำให้เป็นโรคหัวใจย่อมจะไม่ได้ ข้อสังเกตของผมนี้ยืนยันจากข้อมูลอีกด้านหนึ่งของงานวิจัยนี้ซึ่งสรุปตัวเลขที่วิเคราะห์จากมุมของผู้ที่สูบกัญชาเป็นอาจิณพบว่าผู้ขับรถที่สูบกัญชาเป็นอาจิณขับรถแล้วจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าคนทั่วไป 9.5 เท่า

ในภาพใหญ่ทั่วโลก ความสัมพันธ์ระหว่างการสูบกัญชากับอุบัติเหตุรถยนต์นี้มีผลวิจัยชี้สะเปะสะปะไปคนละทิศคนละทางโดยส่วนใหญ่ชี้ไปทางว่าทำให้อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Epidemiologic Review ซึ่งคัดเลือกงานวิจัยที่ดีที่สุด 9 งานมาวิเคราะห์รวมพบว่าหากแยกผลวิจัยทีละชิ้น ความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากกัญชามีได้ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุต่ำกว่ากรณีทั่วไปเล็กน้อยไปจนถึงเกิดอุบัตเหตุสูงกว่ากรณีไม่สูบถึง 7.16 เท่า แต่เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดรวมกันแบบเมตาอานาไลซีสแล้วพบว่าการสูบกัญชาเพื่มอุบัติเหตุรถยนต์มากกว่ากรณีไม่สูบ 2.07 เท่า ผมเห็นว่าในท่ามกลางผลวิจัยที่สะเปสะปะนี้ งานวิจัยเมตาอานาไลซีสชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่น่าจะเรียกได้ว่าเชื่อถือได้มากที่สุดในปัจจุบัน

3.. มีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งคุณไม่ได้ถามถึงแต่เกี่ยวข้องกันผมจึงขอพูดด้วยเสียเลย คือระดับของกัญชา (THC) ในเลือดที่สัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ หลายประเทศพากันกำหนดระดับกัญชาในเลือดเท่านั้นเท่านี้ว่าเป็นเส้นแดงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุและผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่กำหนดกันที่ 1-9 ng/ml ผมได้ศึกษาดูหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ชี้บ่งความสัมพันธ์ของระดับกัญชาในเลือดกับการเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่พบว่ามีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะยืนยันได้ว่าระดับในเลือดแค่ไหนจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ การกำหนดค่าเพื่อให้ตำรวจใช้จับและปรับในแต่ละประเทศล้วนเป็นการกำหนดแบบนั่งเทียนขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับทั้งสิ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Martin JL, Gadegbeku B, Wu D, Viallon V, Laumon B. Cannabis, alcohol and fatal road accidents. PLoS One. 2017 Nov 8;12(11):e0187320. doi: 10.1371/journal.pone.0187320. PMID: 29117206; PMCID: PMC5678710.
  2. Blows S, Ivers RQ, Connor J, Ameratunga S, Woodward M, Norton R. Marijuana use and car crash injury. Addiction. 2005 May;100(5):605-11. doi: 10.1111/j.1360-0443.2005.01100.x. PMID: 15847617.
  3. Li, Mu-Chen & Brady, Joanne & Dimaggio, Charles & Lusardi, Arielle & Tzong, Keane & Li, Guohua. (2012). Marijuana Use and Motor Vehicle Crashes. Epidemiologic reviews. 34. 65-72. 10.1093/epirev/mxr017.