Latest

ข้อมูลใหม่ ประโยชน์และความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก

เมื่อ 20 กค. 65 วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เจอร์นาล ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยการใช้วัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ขวบ ที่ประเทศสิงคโปร์ ข้อมูลที่ตีพิมพ์เป็นข้อมูลใหม่ที่ให้ภาพในเรื่องนี้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ครูอาจารย์ และผู้กำหนดนโยบายของรัฐในแง่ที่จะชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนให้เด็กหรือไม่ จึงได้สรุปมาให้อ่าน ในงานวิจัยจริงเขาสรุปท้ายงานวิจัยโดยไฮไลท์ที่อัตราการการติดเชื้อและอัตราต้องถูกรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญ แต่ในการสรุปของผมนี้ผมโฟกัสเอาการติดเชื้อรุนแรงถึงให้ออกซิเจนหรือเข้าไอซียู. (severe infection rate )เป็นตัวชี้วัดสำคัญแทนการติดเชื้อและแทนอัตราการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเราฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงซึ่งเป็นปากทางไปสู่อัตราตาย

ในภาพใหญ่งานวิจัยนี้เป็นการติดตามเด็กสิงคโปร์ จับช่วงเวลาตั้งแต่ 21 มค. 65 ถึง 8 เมย.65 ซึ่งเป็นยุคโอไมครอน 100% ครอบคลุมเด็กจำนวน 255,936 คน ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 66.7% (173,268 คน) ได้แต่ไม่ครบ 12%(30,712 คน) ไม่ได้วัคซีนเลย 20.3% (51,995 คน)

ในแง่ของการรักษาโรค มีการติดเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้น 53,429 ครั้ง ต้องเข้าโรงพยาบาล 288 ครั้ง เด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนมีอัตราการติดเชื้อและอัตราเข้ารพ.มากกว่าเด็กฉีดวัคซีน แต่ประเด็นสำคัญคือในจำนวนทั้งหมดที่ต้องเข้ารพ.นี้เป็นการป่วยหนักถึงต้องให้ออกซิเจนหรือเข้าไอซียู 5 คน ในจำนวน 5 คนที่ป่วยหนักนี้ เป็นคนไม่ได้วัคซีนมาก่อนเลย 1 คน ได้วัคซีนแล้ว 4 คน (ได้ครบ 2 คน ได้ไม่ครบ 2 คน)

ในแง่ของประสิทธิผลของวัคซีนถ้าได้ครบสองเข็มในการป้องกันการติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้วัคซีนพบว่าในหมู่ผู้ได้วัคซีนให้ประสิทธิผลในการป้องกันสูงสุด 48.9% หลังฉีดเข็มสองได้ 7-14 วัน แล้วลดเหลือ 37.6% หลังเข็มสองได้ 15-19 วัน แล้วลดเหลือ 28.5% หลังฉีดเข็มสองได้ 30-59 วัน แล้วลดเหลือ 25.6% หลังฉีดเข็มสองได้ 60 วัน

ในแง่ของผลข้างเคียงของวัคซีน มีการเกิดผลเสียของวัคซีนระดับรุนแรง (severe adverse reaction) ตามนิยามทางการแพทย์ขึ้น 22 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนโด้สที่ฉีด 0.005%

ข้อสรุปของหมอสันต์

เพื่อให้ท่านที่ไม่คุ้นกับการอ่านผลวิจัย ผมสกัดออกมาให้ดังนี้

1.. งานวิจัยนี้ทำในยุคโอไมครอน จึงใช้กับเหตุการณ์วันนี้ได้มากกว่างานวิจัยอื่นๆก่อนหน้านี้ที่ทำในยุคเดลต้า

2.. ความเชื่อแต่เดิมที่เชื่อกันว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กจะป้องกันการป่วยรุนแรงได้นั้นอาจไม่เป็นความจริงในงานวิจัยนี้ เพราะอัตราการป่วยรุนแรงไม่แตกต่างกันระหว่างผู้ได้กับไม่ได้วัคซีน

3.. ความเชื่อแต่เดิมที่เชื่อกันว่าผลเสียระดับรุนแรงของวัคซีนมีน้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการป้องกันการป่วยรุนแรงเพราะโรคนั้นอาจไม่เป็นความจริง เพราะอัตราเกิดผลเสียระดับรุนแรงของวัคซีนสูงกว่าอัตราป่วยรุนแรงถึงขั้นให้ออกซิเจนหรือเข้าไอซียู.จากโรค (ผลเสียรุนแรงของวัคซีนเกิด 0.005% ขณะที่การป่วยรุนแรงจากโรคเมื่อไม่ได้วัคซีนเกิด 0.002% ประมาณว่าฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงโหลงโจ้งมากกว่าไม่ฉีด)

4.. ถ้าจะถือตามเกณฑ์สมมุติบัญญัติของวงการแพทย์ที่ว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้ควรป้องกันโรคได้ 50% ขึ้นไปวัคซีนโควิดในเด็กก็สอบตก เพราะป้องกันโรคสูงสุดได้ไม่ถึง 50% ในช่วงพีคคือสองสัปดาห์แรก และผ่านไปแค่สองเดือนก็ป้องกันได้แค่ 25%

สรุปของสรุป จากงานวิจัยนี้คือประโยชน์ที่พึงได้จากวัคซีนในแง่ป้องกันการป่วยรุนแรงในเด็กไม่ต่างจากการไม่ฉีด ความเสี่ยงระดับรุนแรงจากตัววัคซีนมีมากกว่าการความเสี่ยงจากการติดโรค (ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปจากการสกัดตัวเลขจากงานวิจัยนี้เพียงงานเดียวนะครับ ท่านผู้อ่านต้องใช้ดุลพินิจในการนำไปใช้ประโยชน์)

คำสรุปเพิ่มเติม (24 กค. 65)

ยังมีอีกสองประเด็นที่ผมไม่ได้กล่าวไว้ในข้อสรุปก่อนหน้านี้ แต่ควรเพิ่มไว้ตรงนี้

  1. คณะผู้วิจัยเองสรุปว่าอัตราการติดเชื้อและอัตราเข้ารพ.ของผู้ได้วัคซีนต่ำกว่าผู้ไม่ได้วัคซีน
  2. ในงานวิจัยนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการ MIS-C (การอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก) เกิดขึ้น 6 ราย เป็นผู้ได้วัคซีน 2 ราย ไม่ได้วัคซีน 4 ราย อาการ MIS-C พูดแบบบ้านๆก็คือ long covid ในเด็ก ซึ่งในงานวิจัยนี้ผู้ไม่ได้วัคซีนจะเกิดมากกว่า

คำขอบคุณ

หมอสันต์ขอขอบคุณทีมงานแพทย์ของสิงคโปร์ที่ได้สร้างสรรค์งานวิจัยระดับดีเยี่ยมชิ้นนี้ขึ้นมาซึ่งทำให้คนไทยและคนชาติอื่นๆทั่วโลกได้ใช้ประโยชน์ เมื่อครั้งที่เคยทำงานด้วยกันมาและได้ชี้หน้าด่าปรามาสกันอย่างหยาบๆคายๆลั่นวอร์ดในอดีตนั้นหมอสันต์กราบขออภัย ขอเปลี่ยนเป็นคำชื่นชมว่าพวกท่านเป็นหมออาชีพที่ได้ใช้วิชาชีพรังสรรค์โลกนี้ให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………………………

ตอบจดหมายท่านผู้อ่านหลายท่านแบบเหมารวม(24 กค. 65)

บทความข้างต้นนี้ทำให้มีแพทย์หลายท่านเขียนทักท้วงเข้ามา ผมจับประเด็นรวมและตอบรวมเลยนะครับว่า

ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่เขียนมานะครับ

(1) หมอสันต์ไม่เล่าข้อสรุปของผู้วิจัย ซึ่งผิดมารยาทของการอ้างงานวิจัย ตอบว่าเป็นความจริงครับ ผมมุ่งจะเอาแต่ข้อสรุปของตัวเองได้ไม่เล่าสักคำว่าคณะผู้วิจัยเขาสรุปของเขาว่าอย่างไร อันนี้ผมยอมรับว่าผมเสียมารยาท ผมต้องขออำไพด้วย และเพื่อแก้ไขผมได้เพิ่มเติมใน addendum ท้ายบทความแล้ว

(2) หมอสันต์สรุปว่าอัตราการป่วยรุนแรงอาจไม่ต่างกันระหว่างผู้ได้กับไม่ได้วัคซีนเอาจากข้อมูลเปรียบเทียบในหมู่คนป่วยมากเพียง 5 คนซึ่งไม่มีรายละเอียดเลยว่ากลุ่มไหมมีความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยอยู่ก่อนหน้านั้นกลุ่มละกี่คน ตอบว่านี่เป็นคำทักท้วงที่มีน้ำหนักมากครับ ผมเห็นด้วยทุกประการว่าตรงนี้ไม่ใช่เป้าหมายอย่างเป็นทางการของการวิจัย แต่ในการอ่านงานวิจัย นิสัยของผมชอบแคะอ่านเอา “ระหว่างบรรทัด” ว่ามีอะไรที่อาจแคะเอามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย อย่างไรก็ตามผมได้แสดงข้อมูลดิบที่มีทั้งหมดประกอบด้วยแล้ว ตรงนี้จึงต้องทิ้งไว้ให้เป็นดุลพินิจของท่านผู้อ่านว่าคำสรุปของผมใช้การได้หรือใช้การไม่ได้ครับ

(3) ทำไมหมอสันต์ไม่พูดถึง MIS-C ซึ่งในงานวิจัยนี้เกิดในเด็กไม่ฉีดวัคซีนมากกว่า ตอบว่าตรงนี้ต้องสารภาพว่า miss ไป จึงได้เอามาเพิ่มใน addendum ท้ายบทความครับ

(4) ทำไมต้อง highlight ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำว่ากว่า 50% ทั้งๆมันก็ต่ำไปนิดเดียว อีกอย่างเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าวัคซีนนี้ไม่ได้ผลิตมาสำหรับ Omicron ซึ่งเป็นประเด็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว ตอบว่าก็ไม่ถึงกับไฮไลท์นะครับ แค่เล่าสู่กันฟัง

(5) การเปรียบเทียบความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนโดยเอาอัตราการป่วยรุนแรงไปเทียบกับอัตราการเกิด severe adverse vaccine reaction ซึ่งไม่มีรายละเอียดให้เลยนั้น ไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้ จะทำให้เข้าใจผิดเปล่าๆ ตอบว่า การเปรียบเทียบความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนโควิดทุกวันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากรู้แต่เรายังไม่เคยมีงานจัยระดับ RCT สักงานเดียวนะครับ มันจึงหลีกเลี่ยงยากที่ต้องอาศัยตะแบงเปรียบเทียบหมากับไก่ไปพลางๆก่อน จนกว่าเราจะมีผลวิจัยเปรียบเทียบอัตราตายและอัตราเกิดทุพลภาพแบบตรงๆครับ

ขอขอบคุณแพทย์ทุกท่านที่เขียนมาหานะครับ ซึ่งผู้อ่านได้ประโยชน์เต็มๆทั้งจากเนื้อหาการทั้งท้วงและจากการที่ผมปรับเพิ่ม addendum ของบทความให้ครบถ้วนขึ้น ผมเองก็ได้ประโยชน์ตรงที่ได้เรียนรู้มากขึ้น ผมเอาข้อมูลทั้งหมดขึ้นเปิดเผยในบล็อกยกเว้นชื่อคน ที่เหลือคงต้องปล่อยให้เป็นดุลพินิจของท่านผู้อ่านเลือกหยิบเอาไปใช้ประโยชน์เองแล้วละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ตอบครับ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน2 (23 กค. 65)

  1. “ในภาพใหญ่งานวิจัยนี้เป็นการติดตามเด็กสิงคโปร์ จับช่วงเวลาตั้งแต่ 21 มค. 65 ถึง 8 เมย.65 ซึ่งเป็นยุคโอไมครอน 100% ครอบคลุมเด็กจำนวน 255,936 คน ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 66.7% (173,268 คน) ได้แต่ไม่ครบ 12%(30,712 คน) ไม่ได้วัคซีนเลย 20.3% (51,995 คน)”

จะเห็นว่า คนไข้ในจำนวนที่ฉีดวัคซีนครบ มีจำนวนมากกว่า 3 เท่า ของคนไม่ได้ฉีด ดังนั้น การจะสรุปว่า

“ประเด็นสำคัญคือในจำนวนทั้งหมดที่ต้องเข้ารพ.นี้เป็นการป่วยหนักถึงต้องให้ออกซิเจนหรือเข้าไอซียู 5 คน ในจำนวน 5 คนที่ป่วยหนักนี้ เป็นคนไม่ได้วัคซีนมาก่อนเลย 1 คน ได้วัคซีนแล้ว 4 คน (ได้ครบ 2 คน ได้ไม่ครบ 2 คน)”

จึงไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งงานวิจัยยังบอกด้วยว่า เด็กทั้งหมดไม่มีใครเสียชีวิต และไม่มีรายละเอียดในรายงานว่า ในส่วนที่อาการหนักนั้นเพราะเด็กมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการต้องเข้า ICU ไหม เพราะโดยมากกลุ่มเด็กที่ได้รับวัคซีนครบนั้น น่าจะเป็นเด็กที่อยูในกลุ่มเสี่ยง มากกว่าเด็กทั่วๆไป เพราะแพทย์เองต้องกระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนให้ครบ ข้อนี้จึงไม่ควรไปสรุปนอกงานวิจัย (คิดไปเอง) โดยที่ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง

แต่ในส่วนของงานวิจัยที่บอกว่า การเกิด MIS-C (ที่เรากลัวกันมากกว่าการเป็นโควิด) ทั้งหมด 6 ราย เป็นกลุ่ม ไม่ได้ฉีดวัคซีน 4 ราย , จากกลุ่ม partial vaccine 1 ราย และ กลุ่รับวัคซีนครบ 1 ราย กลับไม่ยกเอามาพูดถึง

2. “ในแง่ของประสิทธิผลของวัคซีนถ้าได้ครบสองเข็มในการป้องกันการติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้วัคซีนพบว่าในหมู่ผู้ได้วัคซีนให้ประสิทธิผลในการป้องกันสูงสุด 48.9% หลังฉีดเข็มสองได้ 7-14 วัน แล้วลดเหลือ 37.6% หลังเข็มสองได้ 15-19 วัน แล้วลดเหลือ 28.5% หลังฉีดเข็มสองได้ 30-59 วัน แล้วลดเหลือ 25.6% หลังฉีดเข็มสองได้ 60 วัน”

จุดนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนโควิดนี้ ไม่ได้ผลิตมาสำหรับ Omicron จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจว่าทำไมไม่ถึง 50% แต่ก็ใกล้เคียงมาก และใกล้เคียงกับงานวิจัยอื่นๆที่ออกมา ผมไม่อยากเอาไปเปรียบเทียบกับวันซีนเชื้อตาย ซึงแทบจะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน Omicron. ได้เลย

3. ผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีด 0.005 = 5 : 100,000 แต่ไม่มีการเสียชีวิต น่าจะเป็นจำนวนปกติจากการรายงานของการรับวัคซีนนี้ที่เราทราบกันไหมครับ แต่ทั้งนี้ การวิจัยนี้บอกว่ามีข้อจำกัดเรื่องอาการและความรุนแรงที่ว่า เลยไม่สามารถบอกได้เต็มปากไหมครับ

4. ข้อสรุปเดียวทางสถิติที่งานวิจัยนี้สรุปออกมามีข้อหลักเดียวคือ ” ระยะเวลาในช่วงที่เชื้อ Omicron ระบาด นี้ วัคซีน BNT162b2 ( Pfizer) ช่วยลด Risk ในการติดเชื้อ Covid -19 และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี “ อันนี้ต้องอย่าลืมสรุป ให้เกียรติคนทำวิจัยด้วยครับ ขอบคุณครับ

……………………………………….

จดหมายจากท่านผู้อ่าน1.(23 กค. 65)

ขอท้วงติงนิดหนึ่งว่าทำไมหมอสันต์อ้างงานวิจัยแล้วสรุปผลวิจัยไม่เหมือนที่คณะผู้วิจัยได้สรุปไว้ มีเจตนาอะไรหืรอเปล่า

ตอบครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาเขียนมาท้วงติง ผมอนุญาตคุยกับอาจารย์แบบแพทย์คุยกับแพทย์นะครับ ผมเชื่อว่าอาจารย์ได้อ่านนิพนธ์ต้นฉบับของงานวิจัยนี้แล้ว ดังนั้นผมคงไม่ต้องฉายตัวเลขในนิพนธ์ต้นฉบับซ้ำอีก แต่หากอาจารย์ได้อ่านเฉพาะ abstract ถ้าผมอ้างถึงตัวเลขไหนแล้วอาจารย์อ่าน abstract แล้วไม่เห็นเจอผมรบกวนอาจารย์ช่วยกลับไปอ่านใน original article เอาเองอีกรอบนะครับ จะได้ไม่ต้องสื่อสารกันไปมาหลายเที่ยว เพราะตัวเลขบางตัวหากอ่านเผินๆจะไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่นอัตราการเกิด severe adverse reaction ของการฉีดวัคซีนในงานวิจัยนี้ ไม่ได้แสดงไว้ในหัวข้อ Result แต่ไปแสดงไว้ในหัวข้อ Discussion เป็นต้น

วิธีที่ผมประเมิน (appraisal) งานวิจัยนี้และการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นคนละประเด็นการการที่คณะผู้วิจัยสรุปไว้ท้ายงานวิจัยนะครับ เพราะผู้วิจัยก็สรุปในประเด็นที่เขาสนใจ แต่ผมประเมินค่าในประเด็นที่ผมสนใจ ยกตัวอย่างเช่น

ประเด็นที่คณะผู้วิจัยสรุป การวิจัยนี้เขาสรุปมาในประเด็นเดียว คือ

(1) เด็กที่ได้กับไม่ได้วัคซีนพวกไหนเกิดการติดเชื้อและเข้าโรงพยาบาลมากกว่ากัน ซึ่งผลวิจัยสรุปได้ว่าเด็กที่ได้วัคซีนติดเชื้อน้อยกว่า เข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า แต่ผมไม่ได้สนใจในประเด็นนี้

ประเด็นที่ผมสนใจในเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็กคือ

(1) เด็กที่ได้กับไม่ได้วัคซีน พวกไหนจบด้วยการติดเชื้อระดับรุนแรงมากกว่ากัน เพราะทุกวันนี้เราพร่ำพูดกันตลอดเวลาว่าเราฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยระดับรุนแรงลง

(2) การชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยง ฉีดวัคซีนในเด็กมันได้ประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงคุ้มกับความเสี่ยงของตัววัคซีนหรือเปล่า ทั้งนี้ไม่นับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจนะครับเพราะผมถือว่าในช่วงเวลาอย่างนี้เราเอาแค่ประโยชน์และความเสี่ยงทางการแพทย์อย่างเดียวก็พอ

(3) วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคแค่ไหน โดยอิงเกณฑ์หยาบๆที่ใช้กันทั่วไปว่าหากประสิทธิผลของวัคซีนนั้นต่ำกว่า 50% ก็ถือกันว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันต่ำ

ผมจึงอ่านเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสรุปในสามประเด็นที่ผมสนใจนี้ และโชคดีที่งานวิจัยนี้มีการเก็บข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน จนผมสรุปทั้งสามประเด็นนี้ได้หมดโดยใช้ตัวเลขจากงานวิจัยนี้ทั้งสิ้น

ประเด็นเจตนา ของผม

ผมมีเจตนาเพียงต้องการให้ข้อมูลความจริงแก่ผู้ป่วยให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่ผมทราบ เมื่อมีงานวิจัยออกมาชิ้นหนึ่ง คนสองคนอ่านย่อมได้ข้อมูลและการเอาไปใช้ประโยชน์ที่ต่างกัน เราซึ่งเป็นแพทย์เราย่อมสนใจมากไปกว่าบทสรุปที่คณะผู้วิจัยสรุปไว้เสมอ เพราะเรารู้ดีที่บ่อยมากทำวิจัยเรื่องหนึ่งไปสรุปอีกเรื่องหนึ่ง แต่งานวิจัยนี้ผมสนใจว่านอกจากบทสรุปท้ายงานวิจัยยังมีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่ซึ่งเราเก็บเอาไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง แล้วเอามาคลี่ให้ผู้ป่วยเห็น ส่วนการตัดสินใจเอาไปใช้ประโยชน์นั้นเป็นเรื่องของผู้ป่วยเอง เพราะนี่เป็นเพียงข้อมูลจากงานวิจัยที่ดีงานหนึ่ง ในจำนวนงานวิจัยทีดีหลายๆงาน ผู้ป่วยเป็นผู้ให้น้ำหนักและนำไปใช้ประโยชน์เอง

อนึ่ง ผมไม่มีเจตนาจะต่อต้านวัคซีน ไม่มีเจตนาต่อต้านนโยบายของชาติ หรือต่อต้านคณะแพทย์หรือคณะผู้เชี่ยวชาญคณะใดๆทั้งสิ้น เพราะผมไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆกับเรื่องวัคซีน หรือเรื่องยา ผลประโยชน์ของผมมีเรื่องเดียว คือหากได้ให้ข้อมูลกับผู้ป่วยในแง่มุมที่ผู้ป่วยควรรู้และจะนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ผมก็มีความสุข

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Tan SHX, Cook AR, Heng D, Ong B. Lye DC, Tan KB. Effectiveness of BNT162b2 Vaccine against Omicron in Children 5 to 11 Years of Age. New Eng J of Med. July 20, 2022 DOI: 10.1056/NEJMoa2203209