Latest

การแต่งงานเป็นสัญญาปีต่อปี แต่การมีลูกเป็นสัญญา 20 ปีเป็นอย่างต่ำ

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันเป็นแม่เต็มเวลา เลี้ยงลูกชายอายุ 8 ขวบมาตั้งแต่แรกคลอด ลูกมีประวัติพูดช้า พูดได้ตอน 2 ขวบ 8 เดือน คุณแม่พาไปพบกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการตั้งแต่ 2 ขวบ และมีตรวจรักษา/ติดตามพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอค่ะ คุณหมอแจ้งว่าลูกมีความบกพร่องทางภาษาและการสื่อสาร คุณหมอให้ลูกฝึกพูดกับนักฝึกการพูดเป็นระยะเๆ แต่มีช่วงที่งดการฝึกพูดไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประมาณ 2-3 ปีค่ะ คุณหมอเด็กเห็นว่าเขามีความเก่งและรักในวิชาคณิตศาสตร์มากค่ะ เป็น gifted child

ลูกชายเรียนอนุบาลในโรงเรียนแนวบูรณาการ ก็ร่าเริงดี แต่พอขึ้นชั้นประถมศึกษา คุณแม่เปลี่ยนเป็นโรงเรียนคาทอลิก (แนววิชาการ) พอเข้าเรียนป. 1 ไปได้สักพัก ลูกเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของคุณครูผู้สอนที่ตีนักเรียนมาตีคุณพ่อคุณแม่ค่ะ จนตอนนี้ลูกอยู่ชั้นป.3 ก็ยังเลียนแบบพฤติกรรมของคุณครูอยู่ คุณแม่พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนโรงเรียนแต่โรงเรียนแนวบูรณาการที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาด้วย เริ่มมีน้อยลง โรงเรียนอยู่ไกลบ้าน ส่วนใหญ่ไปตั้งอยู่ชานเมือง คุณแม่ควรตัดสินใจอย่างไรคะ

อีกปัญหาใหญ่ในชีวิตคือสามีไม่ค่อยยอมรับในผลวินิจฉัยของกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็ก เขามองว่าลูกเป็นตัวปัญหา แทนที่จะมองว่าลูกมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ สามีมีทำร้ายร่างกายลูกด้วยค่ะในยามที่เขาโมโหลูก ครอบครัวดิฉันกำลังอยู่ในสภาพวิกฤต ดิฉันตัดสินใจว่าจะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวในอนาคต และต้องหาทางเพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูกกับตัวเอง และต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดด้วย ดิฉันเพิ่งผ่านเหตุการณ์การสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตคือเสียคุณแม่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ อยากเรียนปรึกษาคุณหมอว่าดิฉันจะพาชีวิตตัวเองกับลูกให้รอดไปได้อย่างไรสองแม่ลูก

กราบขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้าค่ะ

………………………………………………………………………………………….

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. ที่คุณกำลังคิดจะถอยออกมาเป็น solo mum เพื่อเลี้ยงลูกด้วยตัวเองนั้น การถอยจากการแต่งงานไม่มีปัญหา เพราะมันเป็นเหมือนสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปี เมื่อครบปีแล้วหากคู่สัญญาไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นสัญญาก็มีผลต่อไปอีกหนึ่งปีโดยอัตโนมัติ แต่หากเจตนาเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา ก็ไม่ต่อสัญญาได้ แต่การมีลูกด้วยกันมันเป็นสัญญาที่ผูกพันกันแน่นหนาอย่างน้อย 20 ปี การเลิกสัญญากลางคันจะเกิดความเสียหายกับทุกฝ่ายอย่างมาก

เป็นความจริงที่ว่าผมไม่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีลูก แต่หากใครก็ตามคิดจะมีลูก มันไม่มีทางอื่นนอกจากจะต้องทำผ่านการแต่งงาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากตั้งแต่แรกเกิด หมายความว่าเมื่อเกิดมาแล้วต้องประคบประหงมนานหลายปีกว่าจะดูแลตัวเองต่อไปได้ อย่างที่ผมจั่วหัวไว้ว่า 20 ปีเป็นอย่างต่ำนั่นแหละ ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นที่เกิดมาแล้วจะอิงอาศัยแม่อยู่ไม่นานก็ปร๋อเองได้

การแต่งงานเป็นรูปแบบที่เวอร์คดีที่สุดในการประคบประหงมดูแลลูกมนุษย์ให้เติบใหญ่จนเข้มแข็งพอที่ไปใช้ชีวิตต่อไปเองได้ ทั่วโลกล้วนใช้รูปแบบนี้ มีบางชุมชนในอเมริกาได้ทดลองใช้ระบบคอมมูนเลี้ยงลูก หมายความว่าเด็กเกิดมาเป็นลูกของชุมชน แต่ท้ายที่สุดระบบก็เจ๊ง มันสู้ระบบการแต่งงานแบบคลาสสิกไม่ได้ เพราะภาระการเลี้ยงลูกมันเป็นภาระหนักหนาสาหัสที่ต้องอาศัยผู้มีส่วนได้เสียสูงสุดคือพ่อและแม่ช่วยกันทำอย่างไม่เกี่ยงงอน จะทิ้งให้คนเดียวทำหรือให้คนอื่นทำมันไม่เวอร์ค ความสาหัสนี้จะทวีคูณหากเผอิญได้ลูกที่พิการ

การมองการแต่งงานว่าแต่งได้ก็หย่าได้นั้นโอเคหากยังไม่มีลูก แต่หากมีลูกแล้วการชิ่งหนีภาระการเลี้ยงดูลูกร่วมกันผ่านการหย่าร้างก็ดี หรือผ่านลูกเล่นอื่นๆแม้กระทั้งการหนีไปบวชเป็นพระเป็นชีก็ดี ใครจะมีความเห็นอย่างไรก็สุดแต่เขา แต่หมอสันต์ไม่เห็นด้วย..ล้านเปอร์เซ็นต์

ผมแนะนำว่าตอนนี้คุณมีลูกแล้ว คุณกระโจนเข้ามาทำโปรเจ็คนี้แล้วเต็มตัว ฝรั่งเรียกว่าคุณ commit แล้ว ชอบหรือไม่ชอบคุณควรต้องแถกเหงือกทำไปจนโปรเจ็คนี้จบ นั่นคือจนลูกของคุณเติบใหญ่พึ่งตัวเองได้ คำว่าแถกเหงือกผมอาจจะพูดให้เท่ขึ้นหน่อยก็ได้ว่าคุณต้องเปิดรับ creativity ใหม่ๆอะไรก็ได้มาทำให้ภาระการดูแลลูกของคุณกับสามีทำไปได้ตลอดรอดฝั่ง เปล่าประโยชน์ที่จะมามัวลำเลิกเบิกประจานว่าที่ผ่านมาตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนถูกหรือผิด แต่ตอนนี้ได้กระโจนเข้ามาแล้วมีลูกแล้ว เหมือนมุดเข้าถ้ำมาแล้วถูกหินถล่มปิดปากถ้ำ มันก็มีแต่ต้องเดินหน้าตามแสงสว่างไรๆไปจนไปโผล่ที่อีกข้างหนึ่ง การ “ไขก๊อก” ล้มสัญญากลางคันนั้นถ้ามันจำเป็นจะต้องทำจริงๆก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียเลย แต่ผมขอให้ประวิงหรือชลอไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อได้ลองทางเลือกอื่นหมดแล้วก็แล้วกัน

ประเด็นที่ 2. การศึกษาของเด็ก 8 ขวบ เป็นที่รู้กันทั่วว่าเด็กอายุ 0-8 ขวบเรียนรู้เอาจากการสังเกตสิ่งรอบตัว (perception) แล้วก่อคอนเซ็พท์ (thought) ขึ้นมาจากสิ่งที่เห็นหรือได้ยินหรือได้สัมผัส เขาไม่ได้เรียนเอาจากคอนเซ็พท์สำเร็จรูปที่ครูหรือผู้ใหญ่หรือสังคมยัดเยียดให้ ยกตัวอย่างเช่นเขาไม่สนหรอกว่าคอนเซ็พท์เรื่องผิดถูกยุติธรรมเสมอภาคที่ครูสอนเป็นอย่างไร แต่เขาเรียนรู้เอาจากการที่ครูแอบโปรดเพื่อนบางคนและแอบรำคาญเพื่อนบางคน เป็นต้น คือพูดง่ายๆว่าเด็กวัยนี้เรียนรู้เอาระหว่างบรรทัดได้เก่งกว่าผู้ใหญ่

ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่เด็กทุกคนนั่งหันหน้าไปทางเดียวกันและมองไปที่ครูคนเดียว จะมีอะไรให้เขาสังเกตลอกเลียนหรือฟอร์มคอนเซ็พท์เกี่ยวกับชีวิตขึ้นมาได้มากมายละครับ การที่เขาลอกเลียนอากัปกริยาของครูนั่นก็เป็นธรรมดาเพราะมันไม่มีอะไรให้เขาเรียนรู้หรือทดลองลอกเลียนแล้วจริงๆ และพูดก็พูดเถอะ นักการศึกษาร้อยทั้งร้อยก็ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าเด็กวัยนี้ไม่ควรต้องไปนั่งจุมปุกอยู่ที่โรงเรียน แต่พวกนักการศึกษาเองนั่นแหละกลับพากันตั้งโรงเรียนรับเอาเด็กอายุตั้งแต่ 1-2 ขวบมานั่งเข้าแถวเรียนในห้องเรียน ด้านผู้ปกครองซึ่งต้องสาละวนทำงานเป็นหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในออฟฟิศกันจนไม่มีเวลาอยู่กับลูกก็สมยอมแบบผีกับโลง แล้วใครจะมาแก้ปัญหานี้ได้ละครับ

หากเลือกโรงเรียนได้ก็ดี แต่บ่อยครั้งมันเลือกไม่ได้อย่างที่คุณก็แจงให้ฟังแล้ว ดังนั้นอย่าหวังพึ่งโรงเรียน ในการให้การศึกษาแก่ลูกวัยนี้ผมแนะนำให้คุณขยันพาเขาออกจากบ้านไปสัมผัสเรียนรู้ความหลากหลายของธรรมชาติ เช่นพาเขาไปเดินป่าหรือทุ่งหญ้าสังเกตปฏิสัมพันธ์ของชีวิตในรูปแบบต่างๆตามธรรมชาติในดินในพงหญ้าในท้องฟ้า ไปตั้งเต้นท์นอนกลางดินกินกลางทรายบ้าง ให้รู้ว่าโลกนี้ไม่ใช่มีแต่มนุษย์นะ ยังมีสัตว์มีพืชอีกมากมายที่ทุกชีวิตก็มีมิชชั่นในชีวิตของตัวเองและมีวิธีที่จะอยู่รอดของตัวเอง นั่นเป็นเวทีที่เขาจะได้ฟอร์มคอนเซ็พท์เกี่ยวกับชีวิตได้ใกล้เคียง (relevant) กับชีวิตจริงมากที่สุด ส่วนโรงเรียนนั้นก็ให้เขาไปพอไม่ให้ตำรวจจับว่าหนีเกณฑ์ อย่าไปหวังว่าโรงเรียนจะให้อะไรเขาได้มากไปกว่าการได้หัดอยู่กับคนอื่นโดยไม่้ต้องชกต่อยจิกตีกันมากเกินความจำเป็น แค่นั้นก็พอแล้ว แค่โรงเรียนไม่ทำลายสิ่งที่ได้เขาเรียนรู้มาจากธรรมชาติมากเกินไปก็ถือว่าเป็นโรงเรียนที่ดีพอแล้ว อย่าไปเป็นปลื้มกับที่หมอเด็กว่าลูกเป็นเด็กมีพรสวรรค์ และอย่าไปผิดหวังกับที่สามีมองคำวินิจฉัยของหมอเด็กและหมอจิตเวชว่าไร้สาระ และอย่าไปคาดหวังว่าชีวิตของลูกจะต้องเติบโตไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความคิดที่ชงขึ้นมาจากอัตตาของเราผู้เป็นแม่ ไม่ใช่ชีวิตจริงสำหรับลูก ให้คุณโฟกัสที่ทำอย่างไรจะเปิดโอกาสให้ลูกได้รู้จักชีวิตจริงตามธรรมชาติให้มากที่สุด นั่นคือการศึกษาที่ดีที่สุดที่คุณจะให้กับลูกได้ในช่วงเวลานี้

ประเด็นที่ 3. สามีชอบหงุดหงิดแล้วตีลูก ผมอยากให้คุณเข้าใจว่าความทุกข์ของพ่อแม่ก็คือการมีลูกแล้วลูกไม่ได้อย่างใจ รากของความคิดแบบนี้มันมาจากการที่เราซึ่งเป็นพ่อแม่จมอยู่ในความคิดที่จะปกป้องสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออัตตาของเราผู้เป็นพ่อแม่เองอย่างไม่รู้ตัว เราจึงมองการมีลูกว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยปกป้องเชิดชูอัตตาของเราให้สูงเด่น บนคอนเซ็พท์นี้มันรับไม่ได้ที่พ่อที่มีสะเป๊คสูงอย่างเราจะได้ลูกที่ตกสะเป๊คอย่างลูกงี่เง่าคนนี้ การหงุดหงิดและตีลูกจึงเกิดขึ้น

แนวทางแก้ปัญหาให้คุณทำสามอย่าง คือ

(1) เฉพาะหน้านี้ให้ค่อยๆใช้ลูกล่อลูกชนลดการปะทะกันไปแบบวันต่อวัน

(2) ฉวยโอกาสใช้มาดดุดันของพ่อสร้างวินัยที่จำเป็นให้ลูกเสียเลยในบางครั้งไม่ใช่คอยปกป้องลูกตะพึดจนลูกไม่ได้เรียนรู้ขอบเขตที่จะทำให้อยู่ในสังคมกับคนอื่นได้

(3) ขณะเดียวกันก็หาจังหวะชวนคุยกับสามีถึงแนวคิดเรื่องการยอมรับ (acceptance) ผมหมายถึงให้ยอมรับลูกตามที่เขาเป็น ยอมรับว่าลูกก็เป็นคนตัวเป็นๆอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจที่เราจะไปดลบันดาลอะไรในตัวเขาได้ แค่มีบ้านให้เขาอยู่มีอาหารที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีให้เขากินก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่พื้นฐานของพ่อแม่แล้ว อย่าไปหวังอะไรตอบแทนจากลูกในการทำหน้าที่พ่อแม่ให้เขา อย่าไปตั้งสะเป๊คการยอมรับไว้สูงแล้วให้ลูกสอบให้ผ่านสะเป๊ค การทำอย่างนั้นจะพากันทุกข์ทั้งพ่อแม่ลูก แลกกับสิ่งที่จะได้มาคือการได้อวยอัตตาของตัวพ่อแม่เองซึ่งอัตตานั้นเป็นเพียงแค่มายา มันไม่คุ้มกันเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์