Latest

จดหมายจากแพทย์ผู้คิดตั้งต้นชีวิตใหม่

สวัสดีครับอาจารย์ 

ผมติดตามอ่านบทความของอาจารย์มานาน ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าได้ประโยชน์ นำมาใช้ได้กับทั้งตนเอง และคนไข้ด้วยครับ โดยเฉพาะเทคนิคการอ่าน paper ที่อาจารย์สอนแบบอ่านแล้วเข้าใจง่าย (+วิธีหา paper อ่านโดยไม่เสียตังค์ อิอิ) สนุกด้วยครับ เลยตั้งใจเขียน email มาขอบคุณเป็นลายลักษณ์อักษรครับ 

ขออนุญาตเล่าประวัติตัวเองสั้น ๆ ประวัติผม Drama มากครับ อาจารย์ ฮ่า ๆ พลิกผันไปมา จากเด็กเรียนทั่วไปที่สอบติดคณะแพทย์ จากนั้นก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็น transplant surgeon แต่ฝันสลายเพราะ burn out เสียก่อนตอนเรียน gen Sx แต่ก็กัดฟันเรียนจนจบนะครับ สอบบอร์ดผ่านด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็น Surgeon เพราะทำไม่ไหว เลยหันเหตัวเองไปทำงานบริษัทยาอยู่สิบกว่าปี เครียดมากครับ เพราะ commercial pressure หนักมาก ฮ่า ๆ สุดท้ายลงเอยด้วย “ซึมเศร้า” เรียบร้อย (เคยต้อง admit เพราะ high risk for suiside เลยได้ประสบการณ์การนอนโรงพยาบาลจิตเวชที่ต้องโดนค้นตัวก่อนนอนโรงพยาบาล และถ้าต้องการสายฉีดล้างก้นต้องไปขอยืมที่หัวหน้าพยาบาล! เป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงและไม่อยากกลับเข้าไปอีกครับ) สุดท้ายเลยต้องลาออกมา กลับมาเป็นแพทย์ GP ทั่วไป ตอนนี้ทำมาได้เกือบสองปีแล้วครับ

ทีนี้ก็เลยต้องฟื้นฟูความรู้ DM HT DLP และอีกสารพัดโรค รวมถึงทักษะทางคลินิกทั้งหลายกลับมาใหม่ ก็ได้บทความของอาจารย์นี่ล่ะครับ เป็น “ทางลัด” ในการฟื้นฟูวิชาการ ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงจริง ๆ ครับ

โดยรวมแล้วตอนนี้มีความสุขดี เงินน้อยพอประทังชีวิต แต่ก็อยู่ได้ครับ ตั้งใจจะอ่านบทความของอาจารย์ให้หมด ! (แต่ดูแล้วมีเป็นพัน ๆ เลย คงอีกหลายเดือน แต่บ่ยั่นครับ เพราะว่าเป็นคนบ้าตำรามาแต่ไหนแต่ไร ฮ่า ๆ) เพื่อจะฟื้นความเป็นแพทย์กลับมาให้ได้ครับ 🙂 อ่านไปฝึกไปก็รู้สึกว่าน่าจะต่อยอดอีกหน่อย เดี๋ยวผมจะเก็บตังค์และหาทางไปเรียนกับอาจารย์เรื่องการฟื้นฟูและดูแลโรคเรื้อรังต่าง ๆ ให้ได้สักครั้งหนึ่งครับ

สุดท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิิ์ทั้งหลายจงดลบันดาลให้อาจารย์และครอบครับมีความสุข สุขภาพแข็งแรงตลอดไปครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นพ. …

……………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ขอบคุณคุณหมอมากที่เขียนมาเล่าให้ฟัง และขอต้อนรับกลับมาสู่อาชีพแพทย์ใหม่อีกครั้ง

2.. ไหนๆคุณหมอเล่าอดีตให้ฟังแล้ว ผมขอแทรกเสียหน่อยว่าคนเรานี้ไม่ว่าจะเรียนมาทางไหนประกอบอาชีพอะไร การเคยเป็นโรคซึมเศร้าและเคยมีความคิดฆ่าตัวตายมาก่อนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ณ โมเมนต์นี้เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีความสงบเย็นและสร้างสรรค์ ทีละโมเมนต์ ทีละโมเมนต์ โรคซึมเศร้าก็ดี โรคจิตสองขั้วก็ดี โรคจิตย้ำคิดย้ำทำก็ดี ล้วนเป็นสมมุติบัญญัติที่เราตั้งขึ้นมาเรียกความคิดของเราเองที่มุ่งปกป้องเชิดชูสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือ “อัตตา” ของเราเองทั้งนั้น แล้วในการเกิดมาเป็นคนนี้ มีใครหรือที่จะไม่มีความคิดปกป้องเชิดชูอัตตาตัวเอง มันก็มีเหมือนกันหมดทุกคนแหละ มากหรือน้อย ค่อยหรือแรง แตกต่างกันไป คุณหมออย่าไปให้ราคากับอดีต ความเชื่อที่พูดกันบ่อยมากว่าคนเราทุกคนเกิดมาชดใช้กรรมเก่านั้นเป็นความจริงเฉพาะคนที่ลืมอดีตไม่เป็น แต่สำหรับคนที่ลืมอดีตมาอยู่กับแต่ที่นี่เดี๋ยวนี้ได้ กรรมเก่าทำอะไรเขาไม่ได้หรอก เพราะกรรมเก่านั้นตามเขามาในรูปของความคิดที่มากระตุ้นย้ำให้เขาสนองตอบแบบอัตโนมัติซ้ำซากโดยเขาเองไม่รู้ตัว ถ้าเขาอยู่ที่เดี๋ยวนี้และตั้งหลักรับรู้ทุกความคิดที่โผล่ขึ้นมาที่เดี๋ยวนี้ได้และสนองตอบต่อแต่ละความไปอย่างมีสติไม่ใช่อย่างเป็นอัตนโนมัติ กรรมเก่าจะไปทำอะไรเขาได้

3.. ที่คิดจะหาความรู้โดยการคุ้ยบทความเก่าของหมอสันต์ขึ้นมาอ่านนั้นขอให้โชคดีนะครับ เพราะบางครั้งผมเองยังค้นหาบทความที่ผมเขียนไม่เจอ เพราะเขียนมาสิบกว่าปี มากกว่า 2000 บทความ ตัวผมเองไม่รู้ว่าเขียนเรื่องอะไรไว้บ้าง เพราะเป็นการเขียนแบบใครถามอะไรมาก็ตอบไป ผมเองจะหาบทความของตัวเองต้องไปอาศัยอากู๋ สมัยก่อนอากู๋ขึ้นมาให้ทันที แต่สมัยนี้อากู๋ไปขึ้นของคนอื่นที่เขาจ่ายเงินให้อากู๋ก่อน ผมจึงพึ่งอากู๋ได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม การจะฟื้นความเป็นแพทย์กลับมานั้นมันมีอยู่สามส่วน

ส่วนที่ 1. คือความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ ส่วนนี้มันฟื้นฟูไม่ยาก เพราะมันเป็นหลักวิชาที่ตายตัวแล้ว หมายความว่ามันไม่เปลี่ยนแล้ว กายวิภาค สรีรวิทยาของร่างกายที่สรุปไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังใช้ข้อสรุปอย่างนั้น

ส่วนที่ 2. คือความรู้เรื่องการจัดการโรคเรื้อรัง อันนี้แหละที่คุณหมอต้องระวังไม่พลัดหลงไปฟื้นผิดที่ ความเป็นจริงก็คือวงการแพทย์กำลังหลงทางในการรักษาโรคเรื้อรัง ลองไล่ดูไปเถอะ อัตราความสำเร็จในการรักษาโรคอ้วนทุกวันนี้คือ 5% ความสำเร็จในการรักษาโรคเบาหวานคือติดลบ หมายความว่ายิ่งรักษาไป จำนวนคนเป็นเบาหวานยิ่งมากขึ้น ความสำเร็จในการรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคไตเรื้อรังผมไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการให้ แต่ก็มีอัตราสำเร็จต่ำอย่างน่าใจหายไม่แพ้กัน มองในภาพรวมแล้วคุณหมอซึ่งเพิ่งมาจากภาคธุรกิจอาจจะฉงนว่า

“..ด้วยอัตราความสำเร็จที่ต่ำขนาดนี้ธุรกิจนี้มันอยู่ได้อย่างไร”

หิ หิ มันอยู่ได้ด้วยการประชุมแห่งเหตุ เราอย่าไปพูดถึงมันเลยเพราะมันไม่ใช่ประเด็นของเรา ประเด็นของเราคือในเมื่อการรักษาโรคเรื้อรังที่ผ่านมามันล้มเหลว หากเราจะทำงานนี้ต่อไปเราต้องมองหา creativity ใหม่ๆ ซึ่งจุดที่ผมจะแนะนำคุณหมอก็คือให้เรียนรู้ creativity ใหม่ๆเอาจากคนไข้ ค่อยๆสรุปเอาความสำเร็จของคนไข้คนหนึ่งที่เทียบเคียงกับหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในภาพใหญ่แล้วว่ามีความสอดคล้องกันไปใช้กับคนไข้อีกคนหนึ่งต่อๆกันไป ไม่ต้องไปพะวงกับวิธีจัดการโรคเรื้อรังแบบคลาสสิกตามตำราที่เน้นการใช้ยาผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสงดอก เพราะเราอยู่รู้เต็มอกแล้วว่านั่นมันได้ผลน้อย

ส่วนที่ 3. คือการจะเป็นแพทย์นี้ มันต้องใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างแก่คนไข้ด้วย ตรงนี้ผมขอคัดลอกจดหมายของสมเด็จพระราชบิดา ลงวันที่ 4 กพ. 2471 ซึ่งที่มีไปถึงสมาชิกสโมสรแพทย์จุฬาฯ ความตอนหนึ่งว่า

“…ท่านไม่ควรเรียนวิชานี้ขึ้นใจแล้วใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนแก่คนไข้แล้ว จะหาความไว้วางใจจากคนไข้ได้อย่างไร

แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคว๊ค” ถึงแม้ผู้นั้นจะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์

ท่านนายแพทย์บุนเดสเซนได้กล่าวว่านักสุขวิทยาทุกคนจะต้องอยู่กินเป็นตัวอย่างสุขภาพ จึงจะเป็นพ่อค้าความสุขดี..”

ขอให้คุณหมอมีความสุขกับการกลับมาเป็นหมออีกครั้งนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์