Latest

เจ็บจิ๊ดๆที่หน้าอกข้างซ้าย สวนหัวใจดีไหม?

(ภาพวันนี้: หงอนไก่ โผล่ขึ้นมาเอง)

เรียน คุณหมอสันต์

          ผมอายุ 60 ปี สูง 181ซม. นน. 63 กก. เมื่อเดือนกค. 65 มีอาการเจ็บหน้าอกซ้ายจี๊ดๆ อยู่ 2 สัปดาห์ อาการคงที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง แม้เดินขึ้นลงสะพานลอย ไปพบ

อายุรแพทย์หัวใจ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง  พอซักประวัติ แพทย์สั่งการดังนี้ 

     1) จ่ายยาต้านเกล็ดเลือด 2 ตัว ยาลดไขมัน ยาลดความดัน

     2) สั่งเจาะเลือดและเอคโค่หัวใจ ในอีก 1 สัปดาห์

     3) ผลเลือดและผลเอคโค่หัวใจ ดังไฟล์แนบครับ

     4) เมื่อพบแพทย์พร้อมผลเลือดและผลเอคโค่หัวใจ แพทย์แจ้งว่าผลเลือดปกติ ให้หยุดกินยาต้านเกล็ดเลือด ผลเอคโค่ดี เพียงแต่หัวใจหนึ่งห้องมีผนังหนา 

      5) แพทย์สั่งให้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ +ฉีดสีเพื่อดูว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบ ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

       ผมตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามข้อ 5 ครับ และไม่เคยกินยาลดไขมันที่แพทย์สั่งเลย  จึงขอคำแนะนำจากคุณหมอสันต์ครับ ว่าสิ่งที่ผมตัดสินใจ มีความเหมาะสมเพียงใด พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอสันต์ครับ

        ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ 

…………………………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเจ็บหน้าอกจี๊ด จี๊ด ที่หน้าอกข้างซ้าย เป็นโดยไม่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย เป็นอาการของอะไร ตอบว่ามันเป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจง (non specific symptom) ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะใดๆทั้งสิ้นครับ คำแนะนำก็คือรับรู้มัน ยอมรับมัน มันมา แล้วมันก็จะไป ถ้ามันจะไปๆมาๆ ก็ชั่งหัวมัน

2.. ถามว่าเอ็คโคพบกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวต้องฉีดสีตรวจหัวใจถูกต้องไหม ตอบว่าก่อนจะกระโดดไปสรุปว่ากล้ามเนื้อหนาตัวผิดปกติ เวลาตรวจเอ็คโคให้คุณหัดอ่านผลเอ็คโคเองให้เป็นก่อน วิธีอ่านให้คุณสนใจแค่สามประเด็น คือ (1) การทำงานของลิ้นทั้งสี่ (2) การบีบตัวของกล้ามเนื้อ (3) ความหนาตัวของกล้ามเนื้อห้องล่าง โดยอ่านทั้งการวัดและคำบรรยายสรุป

ในกรณีของคุณนี้ลิ้นหัวใจทำงานปกติหมด การบีบตัวของกล้ามเนื้อซึ่งรายงานมาเป็นค่า EF (ejection fraction) คนปกติควรได้ 50-75% ของคุณได้ 69 ซึ่งก็ถือว่าดีมาก ส่วนกล้ามเนื้อที่ว่าหนาตัวนั้นผมอ่านจากทั้งคำบรรยายสรุปและคำบรรยายละเอียดและผลการวัดเป็นมิลลิเมตรและดูภาพตัวอย่างที่ให้มาประกอบแล้วก็ไม่เห็นจะมีตรงไหนที่บอกว่ากล้ามเนื้อหนาตัวผิดปกติเลยนะครับ สรุปว่าคุณไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ หัวใจของคุณปกติดี

ในกรณีที่พบว่ามีกล้ามเนื้อหนาตัวผิดปกติ หมายถึงในคนอื่นนะ ไม่ใช่ในกรณีของคุณ..ย้ำ แพทย์จะต้องวินิจฉัยโดยการซักประวัติและหาหลักฐานเพิ่มเติมว่ามันหนาตัวจากอะไร ซึ่งเหตุที่พบบ่อยก็ได้แก่ (1) เป็นนักกีฬาหรือทำงานหนักอยู่นานๆ (2) ความดันเลือดสูงอยู่นานๆ (3) โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการแต่กำเนิด (4) โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแคบอยู่นานๆ การพิสูจน์ว่าเป็นอะไรในทั้งสี่สาเหตุนี้ไม่ได้พิสูจน์ด้วยการตรวจสวนหัวใจนะครับอย่าเข้าใจผิด ความดันสูงพิสูจน์ด้วยการวัดความดัน ลิ้นหัวใจตีบพิสูจน์ด้วยการตรวจเอ็คโค่นี่แหละ กล้ามเนื้อหัวใจพิการก็พิสูจน์ด้วยการตรวจเอ็คโค่แหละ การตรวจสวนหัวใจทำเมื่อต้องการวินิจฉัยแยกว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วยหรือไม่เท่านั้น

3.. ถามว่าเจ็บจี๊ดที่หัวใจต้องตรวจหัวใจฉีดสีไหม ตอบว่า..บ้า ไม่มีใครเขาทำอย่างนั้นดอก มันผิดหลักวิชา การตรวจสวนหัวใจฉีดสีเราจะทำเมื่อมองข้ามช็อตไปว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ (อาการป่วย) ด้วยการรักษาแบบรุกล้ำคือทำบอลลูนใส่ลวดถ่างหรือผ่าตัดบายพาส หากไม่มีแผนจะแก้ปัญหาด้วยวิธีรุกล้ำ ก็ไม่ควรตรวจสวนหัวใจ เพราะมันเป็นการตรวจที่มีอัตราตาย (0.1-0.2%)

ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการไม่จำเพาะเจาะเช่นเจ็บหน้าอกแบบจี๊ด จี๊ด นี้ การรักษาตามหลักวิชาคือ

3.1 บอกว่ามันเป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจง ไม่ต้องกังวล ให้รับรู้ และยอมรับ แค่นั้น

3.2 สังเกตว่าคนไข้กังวลเรื่องอะไรแล้วช่วยดับความกังวลนั้น เช่นถ้าคนไข้กังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็ไล่ดูปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดให้เห็น อันได้แก่ บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น แล้วแนะนำให้จัดการปัจจัยเสี่ยงด้วยตนเอง เน้นที่การออกกำลังกาย เพราะได้ประโยชน์สองเด้ง เด้งหนึ่ง คือเป็นการเฝ้าระวังและช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดระยะแรกไปด้วย เหมือนการวิ่งสายพานในโรงพยาบาลทุกวัน เด้งสอง คือช่วยรักษาโรคประสาท ซึ่งวงการแพทย์ทุกวันนี้ยังเชื่อ (แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยัน) ว่าความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บหน้าอกแบบจี๊ด จี๊ด

3.3 การตรวจหัวใจชุดใหญ่ (รวมทั้งการตรวจสวนหัวใจ) ไม่ใช่วิธีจัดการอาการเจ็บหัวใจแบบจี๊ด จี๊ด อย่างถูกหลักวิชา มันเป็นวิธีรักษาโรคประสาทแบบขี่ช้างจับตัีกแตน และมักจบลงแบบเสียมากกว่าได้ คือเสียเงิน เสียสุขภาพจิต ต้องกินยาหรือรับการรักษาแบบรุกล้ำโดยไม่จำเป็น เพาะการตรวจสวนหัวใจ เป็นปากทางของปรากฎการณ์น้ำตก (cascade phenomenon) แบบว่า

“เอ มันมีรอยตีบที่หลอดเลือดนะ แม้จะไม่ก่ออาการแต่หมอเห็นว่าน่าจะใช้บอลลูนขยายและใส่ขดลวดถ่างไว้” แล้วก็

“การมีขดลวดถ่าง (stent) อยู่ในตัวมันจำเป็นที่คุณจะต้องกินยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดการหลั่งกรด ยาคุมความดัน ยาลดไขมัน ไปตลอดชีวิตนะ” หรือไม่ก็ กรณีดวงซวย

“หมอขอแจ้งว่าการใส่ขดลวดมีปัญหาหลอดเลือดทะลุ จำเป็นต้องทำผ่าตัดบายพาสฉุกเฉิน” ซึ่งอาจจบด้วย

“หมอเสียใจด้วยนะ การผ่าตัดเสร็จแล้ว แต่หัวใจคนไข้ไม่กลับมาเต้นเลย”

หิ..หิ ขอโทษ ฉายภาพเว่อร์ไปหน่อย จุดประสงค์ก็เพื่อให้คุณเข้าใจคอนเซ็พท์ cascade phenomenon ในทางการแพทย์ ว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าเข้าไปไกล้ปากทางของมันเชียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์