Latest

เจ็บหน้าอกหมอจะให้ตรวจ SPECT MIBI scan

ภาพวันนี้: กล้ากล่ำปลีแดงหมอสันต์จะปลูกให้ ม. ทำผักดองเยอรมัน (sauerkraut)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 72 ปี มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำให้รู้สึกอึดอัดนิดหน่อย เป็นๆ หายๆ ไปโรงพยาบาลตรวจเลือดและความดันปกติ หมอแนะนำให้ตรวจ Heart SPECT MIBI ซึ่งจากการลอง serch เห็นว่าการตรวจวิธีนี้มีการฉีดสารกัมมันตภาพรังสี และจากอาการที่เป็นคิดว่าไม่ได้รุนแรงมาก จึงอยากสอบถามว่าสมควรตรวจด้วยวิธีการนี้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………………

ตอบครับ

โห..ให้ข้อมูลมาจิ๊ดเดียวเนี่ยนะแล้วจะให้หมอสันต์ฟันธงว่าควรหรือไม่ควร มันเสี่ยงต่อความผิดพลาดแหงๆละครับ แต่เอาเถอะ ไหนๆท่านก็ถามมาแล้ว ผมจะตอบให้โดยการเดาประกอบ โดยผมจะเดาว่า (1) ท่านมีอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่จำเพาะเจาะจง (2) อาการเจ็บหน้าอกของท่านไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย พูดง่ายๆว่าเจ็บไม่เลือกสถานที่และเวลา (3) ท่านอาจจะได้ตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการเดินสายพาน (EST) แล้วได้ผลลบ หรือยังไม่ได้ตรวจแต่หมอเขาแนะนำให้ตรวจ SPECT MIBI scan แทนจะด้วยเหตุใดก็ตาม (4) ท่านยังไม่เคยถูกหามเข้าโรงพยาบาล ไม่เคยมีฮาร์ทแอทแทค สโตร๊ค และไม่เคยทำบอลลูนใส่ขดลวดถ่าง คำตอบของผมจะอยู่บนสมมุติฐานแบบนี้นะ

ก่อนจะตอบคำถามผมขอนิยามศัพท์ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปได้ทราบก่อน

SPECT ย่อมาจาก single photon emission computed tomography แปลว่า “การถ่ายรูปอนุภาคแกมม่าโฟตอนเม็ดดียวที่ปล่อยออกมาตรงๆจากโมเลกุลกัมมันตรังสีที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย” แปลแล้วก็ไม่รู้เรื่องใช่ไหมครับ หมอสันต์อธิบายเพิ่มหน่อย ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักคำว่าโทโมกราฟฟี่ (tomography) ก่อน ซึ่งแปลว่าการสร้างภาพแบบที่ช่างภาพเดินวนถ่ายภาพแชะ แชะ แชะ ไปรอบๆตัวนางแบบ แต่ละแชะก็จะได้ภาพสองมิติมาหนึ่งภาพแล้วเอาภาพเหล่านั้นมาสร้างขึ้นมาเป็นภาพใหม่แบบสามมิติโดยคอมพิวเตอร์ บางครั้งจึงเรียกว่า CT ซึ่งย่อมาจาก computer tomography

ส่วนอนุภาคแกมมาโฟตอนเม็ดเดียวนั้นเป็นคำสำคัญตรงที่วิธีตรวจแบบนี้มันโบราณกว่าและมีกลไกแตกต่างจากการตรวจแบบ PET (positron emission tomography) ซึ่งดีกว่าแพงกว่าเพราะอาศัยอนุภาคโพสิตรอน ไหนๆพูดถึง PET แล้วขอพูดถึงโพสิตรอน (positron) ซะอีกหน่อย หิ หิ มันติดลม คือโพสิตรอนนี้เป็นอนุภาค (particle) หรือเม็ดเล็กๆที่อยู่ในอะตอมของสสารต่างๆ โพสิตรอนนี้มีขนาดเล็กเท่ากับอีเล็คตรอน แต่ว่ามีประจุไฟฟ้าตรงกันข้าม เวลาโพสิตรอนที่เปล่งออกไปมาจ๊ะกับอีเล็คตรอนที่อยู่ในเนื้อเยื่ออวัยวะก็จะดูดกันดังจ๊วบแล้วหายชะแว้บไปทั้งคู่แบบต่างก็แปลงร่างกลายไปเป็นพลังงานเรียกว่ารังสีแกมม่าหรือแกมม่าโฟตอนสองเม็ดกระเด็นไปคนละทาง กล้องถ่ายรูปแบบโทโมกราฟฟี่ที่รอจังหวะอยู่แล้วก็จะถ่ายรูปแชะ แชะ แชะ แล้วคอมพิวเตอร์ก็เอารูปเหล่านั้นมาสร้างเป็นภาพหัวใจสามมิติขึ้นมา

มีศัพท์อีกคำที่คุณควรรู้จักคือคำว่า MIBI มันย่อมาจากคำว่า methoxyisobutyl isonitrile ซึ่งเป็นชื่อสารเคมีที่เป็นสารกัมมันตะรังสีที่ฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วก็จะวิ่งไปตามหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทำให้ถ่ายภาพอวัยวะออกมาได้

โอเค. หมอสันต์ได้คลายความร้อนวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ลงไปบ้างแล้ว ค่อยยังชั่ว เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

 1.. ถามว่าหมอชวนให้ตรวจ SPECT MIBI scan จะตรวจดีไหม ตอบว่าการจะตรวจอะไรดีไหม คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าตรวจแล้วจะได้อะไรขึ้นมา หมายความว่าถ้าตรวจได้ผลบวกจะเอาความรู้นั้นไปทำอะไร อย่างในกรณีของคุณนี้ถ้าตรวจได้ผลบวกก็หมายความว่าผนังหัวใจบางด้านเลือดไปเลี้ยงน้อยซึ่งบ่งบอกถึงหลอดเลือดหัวใจตีบไม่มากก็น้อย รู้แล้วคุณจะทำอะไร ถ้าหมอเขาจะให้คุณสวนหัวใจเพื่อทำบอลลูนใส่ลวดถ่างหรือผ่าตัดบายพาสซึ่งเป็นการรักษาแบบรุกล้ำ คุณจะยอมทำหรือเปล่า คุณต้องตอบคำถามนี้ก่อน ถ้าคำตอบคือหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ทำบอลลูนบายพาส แล้วคุณจะตรวจไปทำพรื้อละครับ

1.2 ถามว่า SPECT MIBI scan มีความจำเพาะเจาะจงที่จะบอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบตรงนั้นตรงนี้ต้องทำบอลลูนหรือไม่ทำไหม ตอบว่ามันไม่จำเพาะเจาะจงขนาดนั้น อย่างดีก็บอกว่าผนังหัวใจด้านนี้ทำงานได้น้อยลงซึ่งชี้บ่งว่าเลือดมาเลี้ยงได้น้อยซึ่งชี้บ่งว่ามีหลอดเลือดตีบ หากคิดจะทำบอลลูนบายพาสเข้าจริงๆก็ต้องไปตรวจสวนหัวใจ (CAG) ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

2. ถามว่าการตรวจ SPECT MIBI scan ต้องฉีดสีเป็นพิษต่อไตไหม ตอบว่าสีที่ฉีดเป็นสารกัมมันตรังสีชื่อ methoxyisobutyl isonitrile ยังไม่เคยมีรายงานว่ามันทำให้ไตพังแต่อย่างใด ต่างจากสีที่ฉีดในการสวนหัวใจซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าไอโอดีน พวกนั้นทำลายเนื้อไตชัวร์ๆ อย่างไรก็ตาม MIBI ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเทียบได้กับน้ำเปล่า เพราะมันทำให้แพ้เฉียบพลันชักแด๊กๆได้เหมือนกัน

3. ถามว่าแล้วควรจะตรวจ SPECT MIBI scan ไหม ตอบว่าอันนี้เรื่องของคุณนะครับ ผมได้แต่ให้ข้อมูล

วิธีจัดการโรคหัวใจขาดเลือดในทุกกรณี สำหรับผู้อ่านทุกท่าน ผมแนะนำว่าเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง ให้จับเวลาที่เริ่มเจ็บจนถึงเวลาที่มันหยุด หากนานเกิน 20 นาทีแล้วไม่หายเจ็บ ให้วินิจฉัยว่าตัวเองเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ให้รีบไปโรงพยาบาล

แต่หากเจ็บแป๊บเดียวแล้วหาย ให้วินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน (stable angina) เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงไม่รู้ ให้วินิจฉัยว่าเป็นไว้ก่อน เพราะโดยสถิติของคนไทยวัยนี้แล้วมันมักจะเป็นมากกว่าไม่เป็น เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นแล้วให้ลงมือจัดการโรคนี้ด้วยตัวเองเลยไม่ต้องรอไปหาหมอ ด้วยการ

(1) เปลี่ยนอาหารในทิศทางลดเนื้อสัตว์มากินพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ จนไขมัน LDL ในเลือดลดลงต่ำเป็นปกติ

(2) ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรทุกวัน

(3) จัดการความเครียดให้ดี

ถ้าทำสามอย่างนี้แล้วอาการมันดีขึ้นหรือหายไปก็ทำต่อไปตลอดชีวิต ถ้าทำสามอย่างนี้แล้วอาการเจ็บหน้าอกมันยังรบกวนคุณภาพชีวิตมาก คือออกแรงนิดก็เจ็บ ออกแรงหน่อยก็เจ็บจนทำอะไรที่เคยทำไม่ได้ จึงค่อยไปหาหมอเพื่อตรวจสวนหัวใจ (CAG) โดยมีเป้าหมายตั้งไว้ในใจว่าหากผลตรวจเป็นโรคจริงจะรักษาด้วยวิธีที่รุกล้ำเช่นทำบอลลูนใส่ขดลงดหรือผ่าตัดบายพาสเพื่อบรรเทาอาการให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ทั้งนี้อย่าหวังว่าบอลลูนหรือบายพาสจะทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แค่มันช่วยบรรเทาอาการได้เท่านั้น มันไม่ได้รักษาโรค ถึงบอลลูนบายพาสแล้วโรคก็ยังเดินหน้าต่อไป ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน

แต่ถ้าใจปฏิเสธการทำบอลลูนบายพาสหัวชนฝาตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องไปหาหมอ ให้ทู่ซี้รักษาตัวเองด้วยการทำสามอย่างที่ว่าข้างต้นต่อไป คือเปลี่ยนอาหารให้จริงจังขึ้นและออกกำลังกายให้หนักพอควรแบบเอาให้เต็มที่เท่าที่อาการเจ็บหน้าอกจะเอื้อให้ออกได้ ทำอย่างนี้ไปตลอดชีวิต หายก็หาย ตายก็ตาย

อย่าไปหาหมอเพื่อให้หมอตรวจโน่นตรวจนี่เช่นเข้าอุโมงฉีดสีเพียงเพื่อจะรักษาโรคประสาท แบบว่าหากพบว่าเป็นก็ไม่กล้าทำอะไรต่อ แต่หวังว่าหากตรวจพบว่าไม่เป็นจะได้สบายใจ การทำแบบนั้นจะทำให้ประสาทกินมากขึ้น เพราะผลการตรวจมักออกไปทางร้ายมากกว่าทางดี และมักจะตามมาด้วยการถูกเสนอโดยหมอและการบีบบังคับโดยลูกหลานให้ทำการรักษาแบบที่เจ็บตัวมากขึ้นๆ ช็อตต่อช้อตๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งบางรายถึงกับตายกลางคันก็มี มันไม่คุ้มกันหรอกกับการแค่จะรักษาโรคประสาทชนิดวิตกกังวล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์