Latest

ฝันร้าย และความรู้เรื่องผลของเบียร์ ไวน์ กัญชา ต่อ Cycle และ Stage ของการนอนหลับ

(ภาพวันนี้: ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำเขาจันทร์งาม สีคิ้ว)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

ก่อนอื่นผมขอขอบพระคุณคุณหมอสันต์ที่อุทิศเวลาตัวเองมาให้ความรู้คนทั่วไป ตัวผมเองได้ใช้ประโยชน์ในการดูแลตัวเองมาหลายปี จากเดิมผมต้องกินยาลดความดันหลายตัวทั้ง amlodipine prazosin dihydrochlorothiazide มาเดี๋ยวนี้ผมเลิกยาได้หมดแล้ว แต่ผมมีปัญหาอยากปรึกษาเนื่องจากว่าในอดีตผมมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับตัวเอง (ขอไม่เล่า) ผมลืมมันได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่ถ้าลืมไม่ได้มันจะมาหลอนผมในความฝัน สองสามปีหลังมานี้มันหายไปซึ่งผมก็ดีใจ แต่ไม่กี่เดือนมานี้มันกลับมาอีกแล้ว ทั้งๆที่ผมก็อายุ 65 ปีแล้ว ผมฝันร้ายเรื่องเดิมบ่อยๆ ตื่นแล้วไม่มีความสุขเลย ไปรักษากับคุณหมอ … ท่านจัดเวลาทำจิตบำบัดให้และให้ยา sertraline มากิน รักษาอยู่เดือนกว่าจนผมเบื่อก็ไม่ดีขึ้นจึงเลิก ผมหันเข้าหาแอลกอฮอล์ (เบียร์) กลับเกิดอาการนอนไม่หลับกลางดึกผสมเข้าไปอีกทั้งๆที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีคนแนะนำให้ผมใช้น้ำมันกัญชา ขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ด้วยครับ

ขอบพระคุณอีกครั้ง

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

ถามว่าแก่แล้วกลับมาฝันร้ายถึงเรื่องที่ตัวเองถูกทำมิดีมิร้ายเมื่อตอนหนุ่มๆซ้ำๆซาก ตื่นมาแล้วสุขภาพจิตเสีย มันมีความหมายอะไร จะทำอย่างไรกับมันดี ตอบว่า ฮะ ฮ้า วันนี้หมอสันต์ได้เป็นหมอทำนายฝันซะแล้ว เรื่องฝันนี้มันเยอะนะ ทนฟังเอาหน่อย แต่ผมจะคุยแค่ตามหลักวิชาแพทย์จริงๆ ไม่เอาวิชาทำนายฝัน

กลไกการหลับสัมพันธ์แนบแน่นกับกลไกการทำงานของสมอง เซลล์ประสาทและสมองนั้นเมื่อเครียดจะผลิตสารเชื่อมต่อชื่อ norepinephrine (NE) ออกมาใช้ ยิ่งเครียดมากก็ยิ่งมี NE ในสมองมาก เรียกว่ามันเป็นฮอร์โมนเครียดในส่วนของสมองขณะที่คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนเครียดในส่วนของร่างกาย

ทางด้านการนอนหลับนั้นงานวิจัยคลื่นสมองทำให้เราทราบว่าการนอนหลับปกติของคนเราแบ่งออกเป็นรอบๆ (sleep cycle) วนกันไปเรื่อยคืนละประมาณ 4-6 รอบ แต่ละรอบจะวิ่งวนอยู่ 4 ระยะ คือ

ระยะไม่ฝัน1 (N1) นาน 1-5 นาที

ระยะไม่ฝัน2 (N2) นาน 10-60 นาที

ระยะหลับลึก (N3) นาน 20 – 40 นาที

ระยะหลับฝัน (REM sleep) นาน 10-60 นาที

อาจเหมาโหลพูดแบบบ้านๆก็ได้ว่าการนอนหลับแบ่งเป็นระยะไม่ฝัน (NREM) กับระยะฝัน (REM) ก็ได้ งานวิจัยพบว่าระยะไม่ฝันสมองไม่ได้อยู่ว่างๆแต่ยังสาละวนปล่อยไฟฟ้ามากในส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความจำราวกับว่ากำลังจัดไฟลข้อมูลเข้าโฟลเดอร์แล้ว SAFE ไว้งั้นแหละโดยมี NE ซึ่งสื่อถึงความเครียดออกมาเล่นด้วย แต่พอเข้าระยะหลับฝันระดับ NE จะลดลงไปมากจนถึงไม่ปล่อยออกมาเลย ราวกับว่าการฝันนี้เป็นการเอาข้อมูลที่เซฟไว้แล้วออกมา edit ใหม่ งานวิจัยเนื้อหาของความฝันพบว่ามีเพียง 5% ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความจำเดิมจากตอนตื่นเมื่อวันก่อนนอน ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอารมณ์และความกังวล ประมาณว่าฝันเป็นผู้เอาความจำออกมาตัดเอาส่วนที่ดรามาวี้ดว้ายกระตู้วู้ทิ้งไปเพื่อให้เหลือแต่เรื่องราวส่วนที่จะเอาไปใช้งานในชีวิตจริงได้ ดังนั้นความฝันจึงสำคัญในแง่เป็นตัวก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และเป็นตัวช่วยปรับแต่งอารมณ์ของเรื่องในอดีตไม่ให้เวิ่นเว้อน่ากังวลเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าหากความจำที่เก็บมาจากการหลับระยะไม่ฝันมันมีประเด็นความเครียดหรืออารมณ์มาก ฝันนั้นก็ย่อมจะออกแนวดราม่ามากตามไปด้วย

ในกรณีของคุณนี้มีเหตุพิเศษ คือยา Minipress ที่คุณได้มาเพื่อลดความดันมาหลายปีนั้น ชื่อจริงของมันคือ prazosin ซึ่งมีฤทธิ์ระงับฮอร์โมน norepinephrine (NE) ซึ่งเป็นตัวบีบหลอดเลือดทำให้ความดันสูง ฮอร์โมน NE นี้จะผลิตออกมาเมื่อเครียด และเป็นตัวสื่อความเครียดตัวหลักในสมองด้วย ปกติยาส่วนใหญ่ที่เรากินจะไม่สามารถผ่านจากเลือดไปหาสมองได้เพราะมีเยื่อกั้นชื่อ blood brain barrier (BBB) แต่ยา prazosin นี้มันผ่าน BBB ได้ มันจึงไปลดฤทธิ์ของ NE ในสมองและลดความเครียดในสมองลงได้ ทำให้สมองไม่บันทึกอารมณ์เครียดๆในช่วงหลับไม่ฝัน ส่งผลให้ช่วงหลับฝ้นมีแต่ฝันดี นั่นเป็นเหตุผลที่จิตแพทย์ฝรั่งบางคนใช้ยานี้รักษาโรคประสาทสงคราม (PTSD) ให้ทหารผ่านศึก พอคุณหยุดยาพรวดพราด NE ก็จะกระพือส่วนของอารมณ์ที่แทรกอยู่ในความจำร้ายๆเก่าๆเดิมๆออกมา

เพื่อแก้ปัญหานี้ผมแนะนำว่าให้แบ่งเป็นสองขั้น

ขั้นแรก ให้คุณเอายา prazosin กลับมากินใหม่ แม้ว่าความดันจะไม่สูงแล้ว แต่กินเพื่อรักษาโรคประสาทสงคราม ไม่ได้รักษาความดัน

ขั้นที่สอง ให้คุณเริ่มฝึกวางความคิดเข้าสู่ความรู้ตัวอย่างจริงจัง อ่านบล้อกเก่าๆของผมแล้วฝึกตาม ฝึกไปทั้งวันทั้งคืนจากตื่นจนชนนอนหลับ ฝึกจนถึงจุดหนึ่งที่ความรู้ตัวของคุณเริ่มจะกำกับความฝันของคุณได้ นั่นแหละคุณบรรลุแล้ว ถึงตอนนั้นก็ค่อยๆเลิกยา prazosin โดยจะไม่กลับมาฝันร้ายอีก

ส่วนเบียร์ก็ดี กัญชาก็ดี ซึ่งคนส่วนใหญ่หลงเข้าใจว่ามันช่วยให้หลับดีนั้น งานวิจัยคลื่นสมองขณะใช้สารสองตัวนี้กลับพบว่าทั้งสองตัวเป็นแค่มีฤทธิ์กล่อมประสาท (sedative) ซึ่งอาจทำให้ถูกตัดขาดจากความคิดชั่วคราวแล้วหลับลงได้ง่าย แต่มันไม่มีฤทธิ์ให้นอนหลับได้ดีขึ้นหรือยาวขึ้นแต่อย่างใด และเมื่อวิเคราะห์คลื่นสมองขณะนอนหลับภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์พบว่าเป็นการหลับแบบหลับๆตื่นๆโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว และเมื่อดูระยะของการหลับฝันพบว่าทั้งแอลกอฮอล์และกัญชาไปทำให้ระยะหลับฝันหรือ REM sleep สั้นลง นี่ไม่ใช่ความลับอะไร ใครๆเขาก็รู้กันทั่ว ประเด็นสำคัญคือวงการแพทย์ทุกวันนี้เห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่าระยะหลับฝัน (REM sleep) เป็นระยะการนอนหลับที่สำคัญและจำเป็นต่อการมีสุขภาพจิตดีเมื่อตื่นขึ้น ดังนั้นใครจะสรรเสริญว่า เบียร์ ไวน์ กัญชา ดีต่อการนอนหลับอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ แต่หมอสันต์แนะนำว่า..อย่าใช้ดีกว่า

แต่สิ่งที่พึงทำตลอดการคือการปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) นอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา (2) จัดเวลานอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมง (3) เตรียมความพร้อมก่อนนอน ผ่อนคลาย ไม่รับรู้เรื่องตื่นเต้น ทำท้องให้ว่าง (4) จัดห้องนอนให้ มืด เงียบ เย็น และใช้นอนอย่างเดียว ไม่ใช้ทำงาน (5) เลิกสารกระตุ้นและยา รวมทั้งชา กาแฟ ใกล้เวลานอน (6) ทำสมาธิแบบผ่อนคลาย วางความคิดให้หมด ก่อนล้มตัวลงนอน (7) ตื่นเช้าออกกำลังกายให้หนัก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์