Latest

วิตามินอี.รักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ (NASHLD) ได้หรือไม่

(ภาพวันนี้: ดอกบวบ)

เรียนคุณหมอสันต์

เป็นตับอักเสบจากไขมันแทรกตับอยู่ค่ะ SGPT 156 หมอที่รักษาอยู่ใช้วิตามินอี.รักษาโดยแจ้งว่ามีหลักฐานวิจัยเปรียบเทียบว่าได้ผลดีแน่นอนและแนะนำให้หนูตั้งใจรักษาไปให้ต่อเนื่อง หนูขอถามคุณหมอสันต์ว่าวิตามินอี.รักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับได้จริงไหมคะ

……………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าวิตามินอีรักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ (NASHLD) ได้จริงไหม ตอบว่ายังไม่มีใครทราบครับ..จบข่าว

เรื่องนี้มันเป็นมหากาพย์ แปลว่าเป็นนิยายเรื่องใหญ่และเรื่องยาว นับตั้งแต่วงการแพทย์คิดคอนเซ็พท์ว่าสารต้านอนุมูลอิสระซ่อมแซมร่างกายได้ทุกส่วนขึ้นมา ก็มีงานวิจัยการใช้สารต้านอนุมูลอิสระ (ในรูปของยาเม็ด) รักษาโรคเรื้อรังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทำวิจัยกันแยะ ทำวิจัยกันนาน บางงานวิจัยทำอยู่นานถึง 15 ปี แต่ในภาพใหญ่แล้วยังไม่มีผลสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแม้แต่ประเด็นเดียว แม้แต่สารต้านอนุมูลอิสระ (เป็นเม็ด) ตัวใดตัวหนึ่งแม้เพียงตัวเดียวก็สรุปไม่ได้ แม้แต่โรคใดโรคหนึ่งเพียงโรคเดียวที่ใช้สารต้านอนุมูลอิสระรักษาได้ผลก็สรุปไม่ได้ ไม่มี..บ๋อแบ๋ ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระในอาหารธรรมชาตินะ)

ที่คุณหมอของคุณยืนยันว่ามีหลักฐานระดับแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบยืนยันว่าวิตามินอีรักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับได้ผลนั้นท่านพูดความจริง เพราะท่านอ้างถึงงานวิจัยหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เมื่อปี 2010 ซึ่งเอาผู้ป่วยอย่างคุณนี้มา 247 คน แบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินวิตามินอี. 800 มก. กลุ่มหนึ่งกินยาเบาหวานชื่อ pioglitazone 30 มก. อีกกลุ่มหนึ่งกินยาหลอก ตามดูนาน 96 สปด. โดยเอาเอ็นไซม์ตับและภาพการอักเสบของเซลตับเป็นตัวชี้วัดพบว่าพวกกินวิตามินอีทำให้ตับอักเสบดีขึ้น 43% ขณะที่กลุ่มกินยาหลอกดีขึ้น 19% ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปว่าวิตามินอีรักษาตับอักเสบได้ดีกว่ายาหลอก

ซึ่งเป็นข้อสรุปที่โอเคมากและควรจะเป็นงานวิจัยระดับที่เปลี่ยนคุณค่าของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดเม็ดอย่างครึกโครม แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในปีต่อมา (2011) ก็มีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งทำงานวิจัยแบบเดียวกันในเด็กกลับพบว่าวิตามินอีไม่ได้แตกต่างจากยาหลอกเลยในการรักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ พูดง่ายๆว่าหลักฐานชั้นดีสองชิ้นหักล้างกันเอง ตั้งแต่นั้นมาก็มีการวิจัยซ้ำอีกมากมายหลายงานคนละหนุบคนละหนับ จนกระทั่งหมาดๆเมื่อปีกลายนี้ (2021) หอสมุดโค้กเรนได้ทำการสังคายนา (meta analysis) ครั้งใหญ่โดยคัดเองแต่งานวิจัยเกรดเอระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จำนวน 202 งานวิจัย มีคนไข้รวม 14,200 คน แล้วคณะผู้วิจัยก็สรุปผลไว้ให้ผมอ้างตอบคุณที่ข้างต้นไงว่า

“คณะผู้วิจัยไม่สามารถสรุปผลได้ว่าวิตามินอีรักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับได้ผลหรือไม่”

แป่ว..ว

มันคงเกินเป้าหมายของบล็อคนี้หากจะเจาะลึกไปถึงว่าทำไมการวิจัยตั้งสองร้อยกว่าครั้งแล้วยังสรุปอะไรไม่ได้เพราะบล็อคนี้ไม่ได้เขียนให้แพทย์หรือนักวิจัยอ่าน แต่เขียนให้คนทั่วไปอ่าน เอาเป็นว่ามันสรุปไม่ได้ก็แล้วกันนะ ดังนั้นใครจะใช้วิตามินอี.รักษาตับอักเสบจากไขมันแทรกตับหรือไม่ใช้ก็โปรดเลือกเอาแบบที่ชอบ ที่ชอบ ไม่ต้องมาหาหลักฐานสนับสนุนในภาพใหญ่ เพราะมันยังไม่มี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Sanyal AJ, Chalasani N, Kowdley KV, McCullough A, Diehl AM, Bass NM, Neuschwander-Tetri BA, avine JE, Tonascia J, Unalp A, Van Natta M, Clark J, Brunt EM, Kleiner DE, Hoofnagle JH, Robuck PR; NASH CRN. Pioglitazone, vitamin E, or placebo for nonalcoholic steatohepatitis. N Engl J Med. 2010 May 6;362(18):1675-85. doi: 10.1056/NEJMoa0907929. Epub 2010 Apr 28. PMID: 20427778; PMCID: PMC2928471.
  2. Lavine JE, Schwimmer JB, Van Natta ML, Molleston JP, Murray KF, Rosenthal P, Abrams SH, Scheimann AO, Sanyal AJ, Chalasani N, Tonascia J, Ünalp A, Clark JM, Brunt EM, Kleiner DE, Hoofnagle JH, Robuck PR; Nonalcoholic Steatohepatitis Clinical Research Network. Effect of vitamin E or metformin for treatment of nonalcoholic fatty liver disease in children and adolescents: the TONIC randomized controlled trial. JAMA. 2011 Apr 27;305(16):1659-68. doi: 10.1001/jama.2011.520. PMID: 21521847; PMCID: PMC3110082.
  3. Komolafe O, Buzzetti E, Linden A, Best LM, Madden AM, Roberts D, Chase TJ, Fritche D, Freeman SC, Cooper NJ, Sutton AJ, Milne EJ, Wright K, Pavlov CS, Davidson BR, Tsochatzis E, Gurusamy KS. Nutritional supplementation for nonalcohol-related fatty liver disease: a network meta-analysis. Cochrane Database Syst Rev. 2021 Jul 19;7(7):CD013157. doi: 10.1002/14651858.CD013157.pub2. PMID: 34280304; PMCID: PMC8406904.