Latest

เป็นโรคกังวลเกินเหตุ (GAD) มาหกปี ฝึกสมาธิมาหลายปี แต่วางไม่ได้

(ภาพวันนี้: ฟาแลนสีขาว)

สวัสดีครับคุณหมอครับ

ผมขออนุญาตสอบถามหน่อยนะครับพอดีผมมีอาการไม่มีแรงท้องอืดเวียนหัวมึนหัววิตกกังวลมีความกลัวนอนไม่หลับหลับไม่ลึกเหมือนรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลามีการใจสั่นตกใจง่ายผมไปตรวจมาหลายโรงพยาบาลแล้วครับทางโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนเอกซเรย์แล้วปกติตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วปกติส่องกล้องหมอบอกว่าปกติตรวจเลือดผลเลือดเป็นปึกๆแล้วครับแต่หมอก็บอกว่าปกติแต่มันมีอาการใจสั่นวิตกกังวลมีความกลัวกลัวการกินกลัวกินนั่นจะแพ้อาหารกลัวกินนี่ก็จะแพ้ทั้งที่เมื่อก่อนกินทุกอย่างไม่เคยแพ้อะไรแต่อยู่ๆมันมากลัวแพ้ได้ไงก็ไม่รู้ครับซื้ออาหารเสริมมาก็ไม่กล้ากินกลัวแพ้แต่ก็อยากซื้อซื้อมาเก็บไว้จนหมดอายุเพราะไม่กล้ากินหมอที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้ให้ยาอะไรมากินแล้วครับหมอเขาบอกว่าให้ทำ 2 อย่างทำบุญกับทำใจแล้วก็ไม่ได้นัดอะไรแล้วครับผมเป็นแบบนี้มา 5-6 ปีแล้วครับผมควรทำอย่างไรดีครับพอดีผมตามมาจากรายการเจาะใจครับที่อาจารย์ไปออกรายการเจาะใจครับสิ่งที่อยากจะทำตอนนี้คืออยากเอาชนะใจตนเองอยากออกจากความกลัวผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเฝ้ากลัวอะไรนักหนาครับผมควรทำอย่างไรดีครับตอนนี้ผมฝึกนั่งสมาธิมาได้หลายปีแล้วครับแต่ก็ยังวางความกลัวไม่ได้ครับ

………………………………………………………………….

ตอบครับ

เดาเอาจากคำบอกเล่า หมอต่างๆที่คุณไปหาได้วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคกังวลเกินเหตุ หรือ GAD (ย่อมาจาก gerneralized anxiety disorder) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความกังวลซ้ำซาก เกินเหตุ ไม่สมจริง และบั่นทอนร่างกายจิตใจ ซึ่งก่ออาการไปทุกระบบเช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันขึ้น) ระบบกล้ามเนื้อกระดูก (เปลี้ยล้า ปวดกล้ามเนื้อ) ระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ท้องร่วง) ระบบหายใจ (หายใจไม่อิ่ม หอบหืด ภูมิแพ้ ) จิตประสาท (กลัวเกินเหตุ ตั้งสติไม่ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า) เป็นต้น เป็นกันทุกเพศทุกวัย สาเหตุของโรคนี้แท้จริงแล้วไม่มีใครทราบ ได้แต่เดาเอาว่าส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ อีกส่วนมาจากการเลี้ยงดูหรือประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา

การรักษาตัวเอง คุณต้องลงไปให้ถึงรากของปัญหา ผมจะชี้แนะ คุณต้องอ่านอย่างอดทนนะ เพราะมันอาจจะเข้าใจยากอยู่ คือต้องทำความเข้าใจกับสมองของเราก่อน ความกังวลก็คือความคิดนั่นแหละ โดยธรรมชาติเมื่อได้รับสิ่งเร้า (stimulus) สมองจะเอาข้อมูลนี้ไปผสมกับความจำในอดีตแล้วก่อร่างความคิดหรือความรู้สึกใหม่ (though formation) ขึ้นมา สิ่งเร้าที่ว่านี้บางทีก็เป็นข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับรู้เช่นตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง บางทีก็เป็นความคิดที่ป๊อบขึ้นมาในสมองเองดื้อๆแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยโดยเราไม่ได้ตั้งใจคิด เมื่อก่อเป็นความคิดใหม่ขึ้นมาแล้ว สมองก็จะบันทึกไว้ในความจำ แล้วความคิดนั้นก็ฝ่อไป ถูกแทนที่ด้วยความคิดที่ใหม่กว่าอีกๆๆ โดยที่ความจำที่บันทึกไว้นั้น จะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อความคิดครั้งใหม่ๆในอนาคต เป็นเช่นนี้วนเวียนอยู่ไม่รู้จบ คนที่กังวลจึงมักคิดกังวลซ้ำๆซากๆ กลไกการก่อความคิดกังวลนี้เกิดขึ้นแบบเป็นอัตโนมัติ ความคิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไปมีผลต่อพฤติกรรม นั่นก็คือความคิดนั้นจะเป็นนายเรา จนดูเผินๆคล้ายกับเป็นวงจรการเกิดพฤติกรรมในสัตว์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมใดๆ

แต่อันที่จริงสมองยังมีความสามารถอีกแบบหนึ่งคือสามารถเฝ้ามองการเกิดขึ้นและการฝ่อไปของความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าสมองมีความสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งแบบไหน ไม่จำเป็นต้องสนองตอบออกไปแบบอัตโนมัติเสมอไป จิตแพทย์ชาวยิวชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล ได้อธิบายกลไกนี้ว่าเมื่อมีสิ่งเร้าเข้าสู่การรับรู้ของสมอง ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาสนองตอบออกไป จะมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ฝึกทักษะความรู้ตัวมาดีพอ จะสามารถแทรกเข้าไปในช่องว่างนี้เพื่อเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นแบบใด เช่นเมื่อตัวหมอวิคเตอร์เองถูกนาซีทรมานเอาตัวเขาไปทดลองผ่าตัดท้องโดยไม่ให้ดมยาสลบ แทนที่เขาจะสนองตอบด้วยการโกรธแค้น กลัว หรือโศกเศร้า แต่ด้วยการมีทักษะความรู้ตัวที่ดี เขาสามารถเลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง คือเขาสมมุติว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เขาใช้ประกอบการสอนนักเรียนแพทย์ว่านาซีทรมานเชลยอย่างไร สมมุติให้ตัวเขาออกไปยืนเป็นผู้ยืนบรรยายเหตุการณ์นี้อยู่ที่หน้าห้องสอน ขณะที่ร่างกายของเขากำลังถูกพวกนาซีทรมานอยู่นั้น คือเขาเปลี่ยนวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้าเดิมที่เคยทำให้เขาโกรธ กลัวหรือเศร้า ไปเป็นการรู้สึกยินดีที่ได้เผยแพร่ความรู้แทน

การที่เราจะพลิกบทบาทจากการเป็นทาสของความคิดที่ก่อตัวขึ้นในหัวของเราได้นั้น กุญแจสำคัญคือต้องมีทักษะที่จะสังเกต (observe) ว่า ณ ขณะนั้นมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นสมอง หรือสมองก่อความคิดอะไรขึ้นมา เมื่อเราพลิกกลับขึ้นมาเป็นผู้ดูการเกิดความคิดได้สำเร็จ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนมาเป็นเราคือผู้รู้ทันความคิดนั้น ไม่ใช่เป็นทาสของความคิดนั้นโดยไม่ทันรู้ตัวอีกต่อไป

ทั้งหมดนั้นเป็นคอนเซ็พท์ แต่ปัญหาของคุณคือการขาดทักษะปฏิบัติการ เหมือนคุณอ่านคู่มือการว่ายน้ำแล้วยังว่ายน้ำไม่เป็น ตราบใดที่คุณไม่เคยลงน้ำตราบนั้นคุณก็จะยังว่ายน้ำไม่เป็น เพราะการว่ายน้ำต้องใช้ทักษะปฏิบัติการ ไม่ใช่มีแต่คอนเซ็พท์แล้วจะว่ายได้ ที่ว่าฝึกสมาธิมาหลายปีแต่ยังวางความคิดไม่ได้ก็หมายความว่าที่ฝึกมานั้นมันไม่เวอร์ค ก็ต้องไปตั้งต้นที่สนามหลวงเริ่มฝึกใหม่ ไม่ได้ซีเรียสอะไร

ผมแนะนำให้คุณวางเป้าแค่ขอให้เห็นมองความคิดของตัวเอง “บ้าง” ก่อน โดยการใช้เครื่องมือสองอย่าง คือ “การผ่อนคลายร่างกาย” และ “การสังเกต” สิ่งที่โผล่ขึ้นมาที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ซึ่งรวมถึงความคิดด้วย วันที่ผมไปออกรายการคุณดู๋นั้นผมได้สอนให้คุณดู๋ใช้เครื่องมือสองตัวนี้ในเวลา 1-2 นาที คุณฝึกทำตามนั้นเลย ฝึกทุกวัน วันละหลายๆครั้ง ครั้งละ 1-2 นาที ขยันฝึกไป ยังไม่ต้องไปคาดการณ์ว่ามันจะได้ผลไม่ได้ผล หรือมันจะยังไงต่อไป เลิกคิด หันมาสนใจปฏิบัติการสังเกตความคิด มันไม่มีทางลัด มีแต่ต้องเพียรพยายามฝึกทำไป ลงมือฝึกเบื้องต้นนี้ไปสักสองสามเดือนให้มองเห็นความคิดของตัวเองให้ได้ “บ้าง” ก่อน อย่าเพิ่งไปโลภถึงจะเอาชนะใจตัวเองหรือเอาชนะความกลัว อย่าเพิ่งไปไกลถึงขนาดนั้น เอาแค่มองเห็นความคิดของตัวเองบ้างก่อน เอาแค่กลัวก็รู้ว่ากำลังกลัวก่อน ย้ายจากการเป็น “ผู้คิด” มาเป็น “ผู้สังเกต” ให้ได้บ้างก่อน ขั้นต่อไปค่อยว่ากัน แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้เลย ให้หาโอกาสมาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์