Latest

กินหรือไม่กินอาหารเช้าไม่สำคัญ สำคัญที่รู้หลักสังเกตทดลองกับตัวเอง (Personalization)

(ภาพวันนี้: นั่งสมาธิรับแดดอุ่น)

คุณหมอคะ

ถ้าไม่ทานอาหารเช้ามีผลอย่างไรต่อสุขภาพบ้างคะตอนนี้อายุประมาณ 60 ปีค่ะ

………………………………………………………..

คำถามแบบนี้มีเยอะมาก ไม่กินเช้าดีไหม ไม่กินเที่ยงดีไหม ไม่กินเย็นดีไหม กินของว่างดีไหม ไม่กินของว่างดีไหม กินมื้อเดียว สองมื้อ สามมื้อ สี่มื้อ ดีไหม ดื่มน้ำวันละสี่แก้วดีไหม สี่ขวดดีไหม กินข้าวก่อนกินผลไม้ดีไหม กินผลไม้ก่อนกินข้าวดีไหม กินขนมก่อนกินข้าวได้ไหม หรือกินขนมหลังกินข้าวดี ฯลฯ ผมไม่ได้ถือว่าเป็นคำถามไร้สาระนะ เป็นคำถามที่ดี แต่มันสื่อถึงความไม่เข้าใจหลักสำคัญอันหนึ่งในทางการแพทย์ คือหลักแต่ละร่างกายไม่เหมือนกัน (personalization) เอาแค่คนไข้ที่มาเข้าแค้มป์หมอสันต์นี่ทุกชั้นเรียนก็มีปัญหาแบบนี้ประจำ เพราะคนมาเข้าแค้มป์แบ่งง่ายๆเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือคนอ้วนอยากผอม กับคนผอมอยากอ้วน แต่มาเรียนหลักสูตรเดียวกัน ถ้าไม่เข้าใจหลักการที่ว่าแต่ละร่างกายไม่เหมือนกันแล้วจะดันทุรังเอาคำแนะนำการกินที่หมอสันต์สอนไปใช้เหมือนกันหมดตะพึด คุณว่ามันจะเวอร์คไหม

เออ.. วันนี้พูดถึงเรื่องนี้สักครั้งก็ดีเหมือนกัน

ร่างกายมนุษย์นี้ดูเผินๆเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เราอาจจะคิดว่ายีนของเราทำให้เราไม่เหมือนกัน นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่ายีนของเราซึ่งมีอยู่ราว 25,000 แบบนั้นเหมือนกันเสีย 97% ยกเว้นฝาแฝดไข่ใบเดียวกันที่มียีนเหมือนกัน 100% แต่งานวิจัยฝาแฝดไข่ใบเดียวกันก็พบว่าร่างกายของคู่แฝดไม่ได้เหมือนกัน อย่าว่าแต่ 100% เลย แค่ 50% ก็ยากแล้ว เพราะคู่แฝดบางคู่ทั้งๆที่เติบโตมาในบ้านเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน กินอาหารเหมือนกัน แต่คนหนึ่งอ้วน อีกคนหนึ่งผอม เออ.. แล้วอะไรละที่ทำให้ร่างกายคนเราไม่เหมือนกันทั้งๆที่ยีนก็เหมือน อาหารก็เหมือน สิ่งแวดล้อมก็เหมือน งานวิจัยพบว่าสิ่งที่ไม่เหมือนกันคือชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้ของคู่แฝด งานวิจัยพบว่าที่เหมือนกันมีเพียง 25% อีก 75% ไม่เหมือนกัน ทำให้การสนองตอบต่ออาหารและปัจจัยแวดล้อมต่่างกัน ดังนั้นการเกิดมาเป็นคนเมื่อคิดจะดูแลสุขภาพด้วยตนเองต้องเข้าใจบทที่ 1 ก่อนว่าร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำแนะนำของหมอสันต์คำเดียวไม่อาจใช้ได้กับทุกคนทุกที่ทุกเวลาได้ ดังนั้นแฟนบล็อกหมอสันต์ซึ่งล้วนมีเป้าหมายจะดูแลตัวเองโดยไม่พึ่งใครทุกคนอย่าหวังเอาแค่ฟังหมอสันต์แล้วเอาไปปฏิบัติตะพึดไม่ได้ จะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่งคือเข้าให้ถึงหลัก personalization อาศัยหมอสันต์แค่ช่วยให้เข้าใจความรู้พื้นฐานในเรื่องร่างกายมนุษย์ว่ามันทำงานอย่างไร ในเรื่องข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าการกินการใช้ชีวิตมันมีผลต่อโรคในภาพใหญ่อย่างไร ในเรื่องตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆว่าวงการแพทย์เขาใช้ประโยชน์มันอย่างไร แล้วเอาความรู้เหล่านี้ไปทำการปฏิบัติทดลองกับตัวเอง ติดตามวัดผลดูว่าวีธีนี้ได้ผลไหม ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนไปทดลองวิธีใหม่ แฟนบล้อกหมอสันต์ทุกคนต้องเป็นนักวิจัยสุขภาพตนเองอย่างนี้ ไม่ต้องห่วงเรื่องการตรวจประเมินเพราะอุปกรณ์ดีๆจะมีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าแค่ผูกนาฬิกาข้อมือไว้ก็จะรู้หมดว่าน้ำตาลในเลือดขณะนี้เท่าไหร่ ไขมันในเลือดเท่าไหร่ จะขาดก็เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ “กึ๋น” ที่จะเป็นนักวิจัยกับร่างกายตัวเอง เพราะสมองของคนไข้ถูกวงการแพทย์ครอบให้เชื่อฟังโดยไม่ต้องคิดอะไรเสียจนเคย พอวงการแพทย์มาถึงทางตันรักษาโรคเรื้อรังให้ไม่ได้ คนไข้ก็เหมือนถูกตัดหางปล่อยไปต่อไม่เป็นเสียแล้ว

โอเค.. เกริ่นจบละ คราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าไม่กินอาหารเช้าได้ไหม ตอบว่าได้ครับ ตำรวจไม่จับดอก งานวิจัยชนเผ่า Hansa ที่ประเทศแทนซาเนียพบว่าเผ่านั้นไม่มีศัพท์คำว่าอาหารเช้า เพราะตื่นเช้าแต่ละคนก็ไปทางใครทางมัน ผัวฉวยหน้าไม้เข้าป่าไปล่าสัตว์เจอลูกเบอรี่ริมทางก็เด็ดกินไปไม่ได้ดูนาฬิกาหรอกว่าถึงเวลาอาหารเช้าหรือยัง ส่วนเมียนั้นก็ตักน้ำผ่าฟืนอยู่จนสาย หิวมากก็เอาลูกเบาบับมาคุ้ยๆคลุุกๆจนเละเหมือนข้าวต้มแล้วกิน ไม่ได้ดูนาฬืกาเหมือนกัน เพราะว่าไม่มีนาฬิกาให้ดู หิ..หิ

2.. ถามว่าไม่กินอาหารเช้ามีผลต่อร่างกายอย่างไร ตอบว่าขึ้นอยู่กับร่างกายของคนๆนั้นว่าเดินเครื่องตามตะวันในลักษณะเดินนำหรือเดินตาม หมายความว่าเข้านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง ก่อนเข้านอนกินอะไรบ้างตอนกี่โมง กลไกควบคุมการหิวการอิ่มอยู่ในระยะไหน หมายความว่าเช้าๆหิวหรือเปล่า ลมค้างในระบบย่อยอาหารเยอะไหม การเคลื่อนไหวร่างกายก่อนนอนและในช่วงเช้ามากหรือน้อย นอนหลับหรือนอนไม่หลับ ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนๆนั้นเป็นแบบไหน หลากหลายหรือไม่หลากหลาย ถนัดย่อยอาหารแบบมีกากหรือไร้กาก ผลต่อร่างกายก็จะแตกต่างหลากหลายไปตามปัจจัยเหล่านี้ คนที่จะรู้ได้มีคนเดียว คือเจ้าตัว ด้วยการสังเกตทดลองกับตัวเอง ลองกิน แล้วติดตามดูผล ลองไม่กิน แล้วติดตามดูผล กรณีเป็นโรคอยู่และมีเครื่องมืออยู่แล้วเช่นเป็นเบาหวานการติดตามดูผลก็เจาะน้ำตาลในเลือดดูเอง กรณีไม่มีเครื่องมืออะไรมากก็ใช้ตัวชี้วัดง่ายๆเช่นเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความดัน เรื่องที่ต้องไปเจาะเลือดดูเช่นน้ำตาลในเลือดไขมันในเลือดก็ตั้งรอบของการประเมินไว้ห่างหน่อยเช่นทำการทดลองให้นานสามเดือนหกเดือนค่อยไปเจาะเลือดดูที่คลินิกปากซอยทีหนึ่ง ทำอย่างนี้จึงจะตอบคำถามของคุณได้ และเป็นคำตอบที่จะใช้ได้กับคุณคนเดียว คนอื่นก็ต้องทดลองกับตัวเองจึงจะได้คำตอบ

ผมตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ ก่อนจากกันอย่าลืมว่าวาระของวันนี้คือ..personalization

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. สำหรับท่านที่จะจองแค้มป์สุขภาพกรุณาลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลได้ที่

เวลเนสวีแคร์ โทร : 063-6394003 หรือ

Line ID : @wellnesswecare หรือ

คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf