Latest

จุลินทรีย์ในลำไส้ กับจุลินทรีย์ที่กินเข้าไป

(ภาพวันนี้: มองออกนอกหน้าต่าง)

กราบเรียนอาจารย์สันต์

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้มีโอกาสไปกราบครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นพระอาวุโสที่จังหวัด … พอจ.ท่านมีความสนใจเรื่องการบำบัดโรคโดยใช้สมุนไพรธรรมชาติและจุลินทรีย์ในร่างกาย พอจ. ภาวนาอยู่รูปเดียวและได้ปลูกสมุนไพรไทยหลายชนิดที่บริเวณกุฏิ พอจ. ได้อ่านบทความของคุณหมอและมีความสนในอย่างมาก พอจ. ได้ฝากให้ถามคำถามคุณหมอดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ร่างกายคนเรามีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กี่ชนิด ชื่ออะไรบ้าง
2. แต่ละชนิดเราจะหาได้จากแหล่งอาหารอะไร
3. จะตรวจสอบได้ไหมว่าตอนนี้ร่างกายเรามีจุลินทรีย์ตัวไหนเท่าไร

ส่วนตัวตอนนี้กินprobiotica ของ … และคิดว่าจะลองส่งไปให้พอจ.ด้วย คุณหมอคิดว่ามีข้อไม่ดีอะไรไหมคะ?

ขอบพระคุณมากค่ะ

……………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าร่างกายคนเรามีจุลินทรีย์กี่ชนิด ตอบจากความรู้การวิเคราะห์ยีน (genome sequencing) หากนับเป็นสายพันธ์ (gene type) มีอยู่ประมาณ 3,300,000 gene type ขณะที่เซลทุกเซลในร่างกายรวมกันยังมียีนแค่ 25000 gene type เท่านั้นเองนะ กลับมาพูดถึงจุลินทรีย์ หากนับเป็นตัวๆมีอยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า 30,000,000,000 เซลล์ (30 ทริลเลียน) ครับ ฮี่ ฮี่..เยอะนะ

2.. ถามว่าร่างกายคนเรามีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กี่ชนิด ตอบในภาพใหญ่ก่อนนะว่าความรู้แพทย์ตอนนี้ที่สรุปได้แน่นอนแล้วมีแต่ว่ายิ่งสายพันธ์จุลินทรีย์มีความหลากหลาย ยิ่งทำให้สุขภาพดี ยิ่งจำนวนจุลินทรีย์มีจำนวนมาก ยิ่งสุขภาพดี ในภาพใหญ่สรุปได้แค่นี้ ส่วนความรู้ที่ว่าสายพันธ์ไหนเป็นคนดีสายพันธ์ไหนเป็นคนเลวนั้นความรู้แพทย์ยังสรุปไม่ได้ เพราะการทำงานของจุลินทรีย์ต้องอาศัยพวกหรืออาศัยบรรยากาศแวดล้อม ไม่ใช่ว่าจะทำงานด้วยตัวเองโดดๆได้ แถมจุลินทรีย์บางชนิดบัดเดี๋ยวเป็นคนดีบัดเดี๋ยวเป็นคนร้ายขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเจ้าของ เพราะวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่าชนิดของจุลินทรีย์กำกับความคิดและอารมณ์ ขณะเดียวกันความคิดและอารมณ์ก็เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในลำไส้และเปลี่ยนนิสัยของจุลินทรีย์ ข้อสรุปชัดๆว่าตัวไหนดีตัวไหนเลวที่หลวงพ่ออยากจะทราบคงจะยังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ อย่างน้อยก็ผมเดาว่าในสิบปีข้างหน้านี้คงยังไม่เกิด

แต่ถ้ามองจากมุมของความปลอดภัย วิทยาศาสตร์ทราบแน่ชัดแล้วว่าจุลินทรีย์ 23 ตัวต่อไปนี้ปลอดภัยแน่ คือ

บาซิลลัส โคแอกกูแลน Bacillus coagulans

บิฟิโดแบคทีเรียม อะโดเลสเซนทิส Bifidibacterium adolescentis
บิฟิโดแบคทีเรียม อะนิมอลิส Bifidobacterium animalis
บิฟิโดแบคทีเรียม บิฟิดัม Bifidobacterium bifidum
บิฟิโดแบคทีเรียม เบรเว Bifidobacterium breve
บิฟิโดแบคทีเรียม อินฟานทิส Bifidobacterium infantis
บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส Bifidobacterium lactis
บิฟิโดแบคทีเรียม ลองกัม Bifidobacterium longum
บิฟิโดแบคทีเรียม ซูโดลองกัม Bifidobacterium pseudolongum
เอ็นเทอโรค็อกคัส ดูแรน Enterococcus durans

เอ็นเทอโรค็อกคัส เฟเซียม Enterococcus faecium

แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส Lactobacillus acidophilus
แล็กโทบาซิลลัส คริสปาทัส Lactobacillus crispatus

แล็กโทบาซิลลัส แก็สเซอรี Lactobacillus gasseri
แล็กโทบาซิลลัส จอห์นโซนอิ Lactobacillus johnsonii
แล็กโทบาซิลลัส พาราคาเซอิ Lactobacillus paracasei

แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี Lactobacillus reuteri
แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส Lactobacillus rhamnosus
แล็กโทบาซิลลัส ซาลิวาเรยสี Lactobacillus salivarius
แล็กโทบาซิลลัส ซีอี Lactobacillus zeae
โพรพิโอนิแบคทีเรียม อะราไบโนซัม Propionibacterium arabinosum
สแตปฟิโลคอคคัส ไซน์ยูรี Staphylococcus sciuri
แซ็กคาโรไมซีส เซรีวิซิอีสับสปีชีย์บัวลาดิอิ Saccharomyces cerevisiae subsp. Boulardii

ทั้งหมดนี่มองจากมุมความปลอดภัยนะ ทั้ง 23 ตัวนี้ปลอดภัยถึงระดับเอาใส่อาหารขายให้คนกินได้ แต่เป็นละประเด็นกับประโยชน์ซึ่งยิ่งหลากหลายยิ่งได้ประโยชน์ดี

ตัวที่มีหลักฐานว่าสัมพันธ์กับการเป็นคนรูปร่างดี (ไม่อ้วน) คือ Akkermansia muciniphila แต่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมและเพื่อนบ้านอย่างไรมันจึงจะทำตัวดีรู้แต่ว่ามันชอบกินอาหารพวกโพลีฟีนอลเช่นทับทิมเป็นต้น

ส่วนทางด้านตัวเลวนั้น ตัวที่เลวที่สุดเป็นเอกฉันท์คือ Clostridium difficile เพราะทำให้ตายได้ และวิทยาศาสตร์รู้ว่าปกติมันเป็นชนกลุ่มน้อยหือไม่ขึ้นซ่าไม่ออก แต่เมื่อใดที่ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ลดลงเช่นเมื่อได้ยาปฏิชีวนะอยู่นานๆ มันจะหือขึ้นมาทันทีทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบเนื้อตายรุนแรงและจบชีวิตได้ง่ายๆ ถึงตอนนั้นยาอะไรก็เอาไม่ค่อยอยู่ ต้องหันไปหาวิธีเอาอุจจาระคนอื่นมาปลูกถ่ายให้ถึงจะเอาอยู่

ตัวเลวอื่นๆก็เป็นตัวที่วงการแพทย์รู้จักดีอยู่แล้วว่าเป็นผู้จะก่อโรคในทางเดินอาหารเมื่อใดก็ตามที่สบโอกาส เช่นพวก Salmonella พวก E. coli เป็นต้น

3. ถามว่าจุลินทรีย์ที่ดีแต่ละชนิดเราจะหาได้จากแหล่งอาหารอะไร ตอบว่าวงการแพทย์ยังไม่มีความรู้ลึกไปถึงว่าอาหารอะไรเลี้ยงจุลินทรีย์ชนิดไหนเพราะมันเป็นบรรยากาศอยู่กินกันแบบมั่วๆ จะไปใช้มุมมองแบบย่อส่วน (reductionism) ไม่ได้ รู้แต่ว่าการจะธำรงรักษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ให้มีสุขภาพดีในภาพใหญ่ ให้กินดังนี้

3.1 Prebiotic ได้แก่กากทั้งหลาย พืช ผัก ผลไม้ ถั่ว งา นัท ธัญพืชไม่ขัดสี

3.2 Probiotic อาหารหมักๆบูดๆเน่าๆ ซึ่งมีจุลินทรีย์ตัวเป็นๆอยู่

3.3 Polyphenol ซึ่งเป็นโมเลกุลออกสีม่วงๆแดงๆคล้ำๆเป็นส่วนใหญ่ในพืชต่างๆ รวมพืชสีออกเขียวบางชนิด เช่น ชาเขียว น้ำมันมะกอก

3.4 ห้ามกินสารที่ทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้ เช่นยาปฏิชีวนะ สารกันบูด สารเคมีที่ใช้แต่งกลิ่น แต่งรส ทำสีให้อาหาร และน้ำตาลเทียม

4.. ถามว่าจะตรวจสอบได้ไหมว่าตอนนี้ร่างกายเรามีจุลินทรีย์ตัวไหนเท่าไร ตอบว่าถ้าอยู่ในอังกฤษหรืออเมริกาจะตรวจสอบได้โดยการสมัครเข้างานวิจัยของ ZOE (เสียเงินเป็นหมื่นนะ) เขาจะส่งจอบเสียมอุปกรณ์เก็บอึส่งไปให้เขาทางแกร๊บ เขาก็จะเอาไปศึกษายีน (genome sequencing) โครงการนี้เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่เพื่อดูความสัมพันธ์ของอาหารกับชนิดของจุลินทรีย์ เมืองไทยเข้าร่วมยังไม่ได้ เพราะค่าส่งอึทางไกลมันแพงเกินไป

5.. ถามว่าซื้อโปรไบโอติดเป็นยาเม็ดกินดีไหม ตอบว่าหลักฐานว่ายาเม็ดโปรไบโอติกไปขยายชนิดและจำนวนของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้นั้น ยังไม่มีเลย ไม่มีเลยนะ มีแต่หลักฐานว่าโปรไบโอติกในอาหารธรรมชาติ ขยายชนิดและจำนวนของจุลินทรีย์ในลำไส้ตามชนิดที่กินเข้าไปได้

6.. ถามว่าจะเอาโปรไบโอติกเป็นเม็ดไปถวายหลวงพ่อดีไหม ตอบว่าก็ในเมื่อมันยังไม่มีหลักฐานว่ามันดีหรือไม่ดี ผมก็จึงตอบคำถามนี้ไม่ได้ คุณใช้วิจารณาญาณเอาเอง

ความจริงคุณไม่ต้องห่วงหลวงพ่อดอก วัตรปฏิบัติของท่านเอื้อต่อการมีจุลินทรีย์ในลำไส้ที่หลากหลายอยู่แล้ว ท่านเล่นสมุนไพรก็มีพืชที่หลากหลายฉัน หยูกยาที่แวดวงพระป่าใช้กันก็โปรไบโอติก ในพระไตรปิฎกระดับเรื่องเล่ากันต่อมาตอนหนึ่ง ชื่อ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ (จตุกกนิปาตวัณณนา) และ ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย (มหาธัมมสมาทานสุตตวัณณนา) เขียนเล่าประมาณว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธออาพาธ จงทำยาดองด้วยลูกมะขามป้อมและลูกสมอ โดยพวกเธอนำลูกมะขามป้อมและลูกสมอมาทุบให้แตกแล้วใส่ลงในภาชนะและใส่น้ำปัสสาวะลงไปในภาชนะนั้น นาน 7 วัน ก็เอามาฉัน อาพาธของเธอก็จะหาย” 

นี่ผมตั้งชื่อให้ว่าสูตรผลไม้ดองด้วยน้ำมูตรเน่า ซึ่งหากทำอย่างมีฝีมือก็จะไม่ฉุนไม่เหม็น

สูตรนี้ก็คือคล้าย Kambucha ที่ฮิตๆกันนั่นเองเพราะอาศัยกรดอาเซติกเป็นตัวคัดกรองแบคทีเรีย เขียนมาถึงตอนนี้ขอเล่านอกเรื่อง ตอนที่ ม. หัดทำคัมบูฉะใหม่ๆ เธอยังมือหนักอยู่ ผมดื่มแล้วรู้สึกว่า อื้อ หือ นี่มันฉี่ดีๆนี่เอง แต่ไม่กล้าพูดออกมา ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

(ปล.คัมบูฉะของ ม. เดี๋ยวนี้พัฒนาแล้ว อร่อยกว่าดื่มเบียร์อีกนะ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์