Latest

มะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma Stage-1AB จะรักษาด้วยยา Check point inhibitor ดีไหม

(ภาพวันนี้: คัทรียา หอมฟุ้งจากในพง)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 64 ปี เป็นมะเร็งปอดกลีบบนซ้าย ทำผ่าตัดเอาปอดกลีบนั้นออกไปแล้ว ผลตรวจเป็นชนิด adenocarcinoma (ผมส่งผลชิ้นเนื้อมาให้ดูด้วย) หมอผ่าตัดบอกว่าเป็นระยะที่ 1 ตัดออกหมดแล้ว จบแล้ว แต่หมอมะเร็งบอกว่ามันไปถึงเยื่อหุ้มปอดแล้ว ควรจะใช้ยารักษามะเร็งรุ่นใหม่ชื่อ check point inhibitor ไหม ซึ่งพอบอกราคามาแล้วอึ้งเลย แต่ถ้ามันจำเป็นผมก็คงต้องเอา รบกวนถามความเห็นคุณหมอสันต์ว่ามะเร็งชนิดที่เป็นเป็นชนิดร้ายแรงหรือไม่ ควรจะใช้ยาแพงนี้ดีไหม จะมีประโยชน์ไหม มีอะไรอย่างอื่นที่ควรทำไหม

ขอบพระคุณครับ

………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นมะเร็งชนิด adenocarcinoma ที่ปอดเป็นชนิดร้ายแรงไหม ตอบว่าวงการแพทย์แบ่งมะเร็งปอดออกเป็นสองชนิด คือชนิดเซลเล็ก (Small cell lung cancer – SCLC) ซึ่งเป็นชนิดที่ดุหรือร้ายแรงที่สุดรักษากับไม่รักษาก็แปะเอี้ยคือตายในเวลาไม่กี่เดือน กับอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าชนิดเซลไม่เล็ก (Non–small cell lung cancer – NSCLC) ซึ่งถือว่าเป็นชนิดไม่ดุเท่า ยังพอรักษากันได้ ของคุณนี้เป็นมะเร็งจากเซลชนิด adenocarcinoma ถือว่าเป็นพวกเซลไม่เล็ก (NSCLC) ก็เท่ากับเป็นชนิดไม่ร้ายแรงครับ

2.. ถามว่าควรจะใช้ยาในกลุ่ม check point inhibitor ซึ่งมีราคาแพงนี้ไหม (ผมเข้าใจว่าหมอของคุณเขาตรวจยีนพบ target mutation ที่จะสนองตอบต่อยาแล้ว) ตอบว่าถ้ามีเงินซื้อก็ควรใช้ครับ ที่ผมแนะนำอย่างนี้ผมมีเหตุผลสองด้าน

ด้านที่ 1. ในแง่ของระดับการแพร่กระจาย (staging) การที่มะเร็งไปถึงเยื่อหุ้มปอดมันยังเป็นระยะที่ 1 อยู่ก็จริง แต่บางหมอเรียกว่าระยะ 1A บ้าง 1B บ้าง ไม่ใช่ 1 ธรรมดา คือมันมีลุ้นนิดๆว่ามันอาจแพร่ออกไปนอกปอด (ทางน้ำในช่องปอด) โดยเราไม่รู้ตัวแล้วก็ได้เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานว่ามันไปแล้ว นี่เป็นความกลัวในจินตนาการนะ หลักฐานการแพร่กระจายจริงยังไม่มี มันจะมีความคุ้มค่าหรือมีเหตุผลพอควรที่จะให้ยาเคมีบำบัดหรือยารักษามะเร็งหลังการผ่าตัดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลางสังหรณ์ในใจคนไข้เอง เพราะข้อบ่งชี้ในทางการแพทย์ (indication) และหลักฐานวิจัยว่ามะเร็งระยะ 1A, 1B แล้วให้ยานี้แล้วจะดีหรือไม่ดียังไม่มีหรอก

ด้านที่ 2. สมัยก่อน มะเร็งชนิด adenocarcinoma ถูกจัดให้เป็นมะเร็งที่ดื้อยาเคมีบำบัดทั่วไป แต่พอสมัยนี้มียากลุ่ม check point inhibitor ออกมาผลการรักษามันดีขึ้นแบบหนังคนละม้วน คือมันมีการสนองตอบต่อยาขึ้นมาได้มากถึง 30% ของคนไข้ ซึ่งสำหรับมะเร็งปอดการมีคนสนองตอบต่อยาถึง 30% นี่ถือว่าแยะมากแล้ว โดยที่ในคนไข้ที่สนองตอบต่อยาดีนี้ อัตรารอดชีวิตเฉลี่ยยาวขึ้นจากเดิมที่เคยนับกันเป็นเดือนมานับกันเป็นปีๆ มันจึงน่าลองมาก

3. ถามว่าหลังผ่าตัดแล้วและให้ยา check point inhibitor แล้ว ยังมีอย่างอื่นต้องทำไหม ตอบว่ามีครับ คือต้องปรับอาหารการกินอย่างขนาดใหญ่ในระหว่างการให้ยาถ้าคุณอยากหาย เพราะ

งานวิจัยการใช้ยา check point inhibitor รักษามะเร็งเมลาโนมาที่ชิกาโก พบว่ามีทั้งคนไข้ที่สนองตอบและไม่สนองตอบต่อยา และเมื่อเจาะลึกเข้าไปดูอาหารที่กินพบว่าพวกที่สนองตอบต่อยาส่วนใหญ่เป็นพวกกินอาหารพืชเป็นหลักมีกากมากและมีจุลินทรีย์ในลำไส้หลากหลาย

อีกงานวิจัยหนึ่งเอาอุจจาระของคนเป็นมะเร็งที่สนองตอบต่อยา check point inhibitor มาปลูกถ่ายให้คนที่ไม่สนองตอบต่อยา ก็พบว่าการสนองตอบต่อยาของคนที่ได้รับการปลูกถ่ายอุจจาระดีขึ้น นั่นแสดงว่าการสนองตอบต่อยาอย่างน้อยส่วนหนึ่งกำหนดโดยชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้

ในโลกใบนี้ สถาบันรักษามะเร็งที่ใหญ่ที่สุดและดังที่สุดคือ MD Anderson ที่เท็กซัส ตอนนี้ที่นั่นกำลังทำวิจัยขนาดใหญ่โดยแบ่งคนไข้มะเร็งที่ได้ยา check point inhibitor ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารตามที่สมาคมมะเร็งอเมริกันแนะนำ อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารกากมากๆจนถึงมากที่สุดแบบวัวกิน นิยามว่าต้องกินกากหรือเส้นใยให้ได้วันละ 50 กรัมขึ้นไป (คนอเมริกันส่วนใหญ่กินกากวันละเฉลี่ย 5-15 กรัม ขณะที่คำแนะนำสากลแนะนำให้กินวันละ 25 กรัมขึ้นไป) เรียกว่ากินพืชผัก ผลไม้ ถั่ว งา นัท ธัญพืชไม่ขัดสี วันละเป็นถาดๆ ไม่ใช่เป็นชามๆ งานวิจัยนี้กำลังทำอยู่ยังไม่สรุปผล แต่เพื่อนของผมเล่าให้ฟังว่ามีคนไข้คนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มกินกากเป็นถาดๆปากโป้งไปให้ข่าวกับนสพ.วอชิงตันโพสต์ว่าเมื่อเริ่มการวิจัยเขาเป็นมะเร็งแพร่กระจายไปทั่วตัวและมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเท่าลูกมะนาว แต่หลังจากกินกากแบบวัวไปได้ไม่กี่เดือนไปตรวจอีกทีมะเร็งหายหมด ลูกมะนาวก็หายไปด้วย อย่าลืมว่านี่เป็นแค่เรื่องเล่าทางอินเตอร์เน็ทเท่านั้นนะ ไม่ใช่ผลการวิจัย ของจริงจะเป็นอย่างไรต้องรอให้ MD Anderson วิจัยไปจนจบแล้วสรุปรายงานในวารสารการแพทย์ ถึงตอนนั้นถ้าผมยังไม่ลืมจะเอาผลมาเล่าให้ฟัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. สำหรับท่านที่จะจองแค้มป์สุขภาพกรุณาลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลได้ที่

เวลเนสวีแคร์ โทร : 063-6394003 หรือ

Line ID : @wellnesswecare หรือ

คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf 

…………………………………………………………….

บรรณานุกรม

  1. Spencer CN, McQuade JL, et al. Dietary fiber and probiotics influence the gut microbiome and melanoma immunotherapy response. SCIENCE 23 Dec 2021Vol 374, Issue 6575 pp. 1632-1640 DOI: 10.1126/science.aaz7015
  2. Davar D, Dzutsev AK, McCulloch JA, Rodrigues RR, Chauvin JM, Morrison RM, Deblasio RN, Menna C, Ding Q, Pagliano O, Zidi B, Zhang S, Badger JH, Vetizou M, Cole AM, Fernandes MR, Prescott S, Costa RGF, Balaji AK, Morgun A, Vujkovic-Cvijin I, Wang H, Borhani AA, Schwartz MB, Dubner HM, Ernst SJ, Rose A, Najjar YG, Belkaid Y, Kirkwood JM, Trinchieri G, Zarour HM. Fecal microbiota transplant overcomes resistance to anti-PD-1 therapy in melanoma patients. Science. 2021 Feb 5;371(6529):595-602. doi: 10.1126/science.abf3363. PMID: 33542131; PMCID: PMC8097968.
  3. Jain P, Jain C, Velcheti V. Role of immune-checkpoint inhibitors in lung cancer. Ther Adv Respir Dis. 2018 Jan-Dec;12:1753465817750075. doi: 10.1177/1753465817750075. PMID: 29385894; PMCID: PMC5937156.