Latest

เป็นโรคกระดูกบางกระดูกพรุนแปลว่าไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคอะไร

(ภาพวันนี้: ตำลึง บนลวดหนาม)

คุณหมอคะ

ขอรบกวน 2 เรื่องค่ะ

1. พี่เป็นโรคกระดูกบาง และถามแทนคนที่เป็นกระดูกพรุนว่าควรกิน vitaminD ใช่ไหมคะ  ควรกินVitamin D3 หรือ D2 ขนาด 1,000 หรือ 3,000 IU ทุกวัน ใช่ไหมคะ ตอนนี้พี่กิน Vitamin D2 ขนาด 20,000 IU สัปดาห์ละ 1 capsule และยังไม่ได้ไปตรวจเลือดเลยว่า Vitamin D ในเลือดสูงขึ้นหรือเปล่า ก่อนหน้านี้กิน 20,000 IU ทุก 2 สัปดาห์ค่ะ ช่วงนี้มีอาการปวดกระดูกตามข้อศอก ทาVoltaren ก็ดีขึ้น และก็เปลี่ยนไปเจ็บที่นิ้วบ้าง เกิดความรำคาญมากค่ะ

2. ตอนเช้าตื่นมามักมีเสมหะสีขาว และตอนตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางคืนก็จะมีเสมหะเช่นเดียวกัน แต่ตอนกลางวันไม่ค่อยมีเพราะดื่มน้ำบ่อยๆ ตอนกลางคืนก็เอากระติกน้ำร้อนขึ้นไปห้องนอนเพื่อจิบตอนลุกมาเข้าห้องน้ำ จำเป็นต้องกินยาละลายเสมหะไหมคะ และควรกินตัวไหนดีคะ

หวังว่าคุณหมอจะเมตตาตอบคำถาม เพราะไม่อยากไปโรงพยาบาลช่วงนี้ที่เป็นขาขึ้นของโควิตอีกรอบหนึ่งค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

………………………………………………….

ตอบครับ

1.. เป็นโรคกระดูกบางหรือกระดูกพรุน ไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไร ไปหาหมอเอ็กซเรย์กระดูกแล้วบอกว่าเป็นโรคนี้ ถามว่าเป็นโรคนี้แล้วต้องกินวิตามินดีใช่ไหม ฮี่ ฮี่ ตอบว่าไงดีละ ตอบว่ากระดูกบางก็ดี กระดูกพรุนก็ดี มันไม่ใช่โรค หมายความว่ามันไม่ได้ทำให้อายุสั้นลงหรือทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเพราะมันไม่มีอาการอะไร สิ่งที่จะเรียกว่าเป็นโรคได้เต็มปากเต็มคำก็คือการเกิดกระดูกหักในวัยชรา เป็นธรรมดาวงการแพทย์ต้องหาวิธีป้องกันโรค เพื่อจะป้องกันกระดูกหักก็มองย้อนขึ้นมาว่าควรจะต้องป้องกันการลื่นตกหกล้มซึ่งเป็นสาเหตุสูงสุดของการเกิดกระดูกหัก นั่นหมายถึงต้อง

(1) ฝึกสติประสานตาหูเข้ากับการเคลื่อนไหว เรียกง่ายว่าฝึกการทรงตัว (balance exercise) ก็แล้วกัน

(2) ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training)

(3) ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและวิธีใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของการลื่นตกหกล้ม เช่นติดแสงสว่างในที่มืด วางแผ่นกันลื่นในที่ลื่น เอาขอบ หรือเงี่ยง หรืออะไรที่จะทำให้สะดุดออกไปจากทางเดิน และปรับแผนกิจกรรมไม่ทำอะไรห่ามที่จะลื่นตกหกล้มง่าย (เช่นการขึ้นไปซ่อมหลังคาเป็นต้น หิ หิ)

ทั้งสามข้อนั้นเป็นการป้องกันกระดูกหักที่ตรงเป้าที่สุด ส่วน “ความแน่นของกระดูก (bone mass density)” นั้นเป็นคอนเซ็พท์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของการทำยาขาย คอนเซ็พท์ก็มีว่าถ้ามวลกระดูกบางลง น่าจะกระดูกหักง่ายนะ แล้วเราจะเอายาอะไรมาให้คนกินให้มวลกระดูกหนาขึ้น คอนเซ็พท์นี้ตั้งบนสมมุติฐาน “ถ้า” ตัวใหญ่สองตัวนะ

“ถ้า” ตัวที่หนึ่งคือ “ถ้ามวลกระดูกบางจะทำให้กระดูกหักง่าย” วงการแพทย์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า “ถ้า” นี้เป็นจริงหรือเปล่านะ ได้แต่แสดงความสัมพันธ์ว่าคนกระดูกบางเกิดกระดูกหักมากกว่าคนกระดูกหนา แต่มันอาจจะไม่ใช่เหตุและผลของกันและกันก็ได้ หมายความว่าเป็นการพบร่วมกันเฉยๆ สมมุติเช่นการลื่นตกหกล้มเป็นสาเหตุที่แท้จริงของกระดูกหัก คนสะง็อกสะแง็กทรงตัวไม่เก่งกล้ามเนื้อไม่แข็งแร็งซึ่งนำไปสู่การหกล้มง่ายนั้นจะมีมวลกระดูกบางเป็นของตายประจำตัวอยู่แล้ว การที่เรามุ่งไปทำให้มวลกระดูกหนาขึ้นโดยไม่มุ่งลดการลื่นตกหกล้ม ก็ป้องกันกระดูกหักไม่ได้ เพราะมันไม่ได้แก้ที่เหตุ เพราะเหตุของกระดูกหักคือการลื่นตกหกล้ม เป็นต้น

“ถ้า” ตัวที่สองคือ “วิตามินดี แคลเซียม วิตามินเค. ยารักษากระดูกพรุน ทำกระดูกหักน้อยลง” วงการแพทย์ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าถ้าตัวที่สองนี้เป็นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็พิสูจน์ได้แล้วว่าในคนสูงวัยทั่วไปการกินแคลเซียมก็ดี กินวิตามินดี ก็ดี กินสองอย่างควบก็ดี ไม่ได้ทำให้กระดูกหักน้อยลง

ส่วนการกินยาและฉีดยารักษากระดูกพรุนนั้นสัมพันธ์กับการเกิดกระดูกหักน้อยลงเล็กน้อยเฉพาะช่วงที่กินยาฉีดยาอยู่ 5 ปี หลังหยุดยาแล้วตัวใครตัวมันนะ และประเด็นสำคัญคือยากลุ่มนี้ไม่มีรายงานความปลอดภัยหากใช้ติดต่อกันเกิน 5 ปี เออ แล้วมันจะพึ่งได้ไหมเนี่ย ตอนเรากินยาเรายังอายุไม่แก่ได้ขนาดความเสี่ยงกระดูกจึงต่ำ แต่เราหวังพึ่งบารมีของยาเมื่อเราแก่หง่อมและความเสี่ยงกระดูกหักสูงแล้ว แต่ตอนนั้นยาพึ่งไม่ได้นะ เพราะมันเกิน 5 ปีไปแล้วมันไม่มีผลวิจัยเปรียบเทียบ

กล่าวโดยสรุปในประเด็นแรกคุณพี่ถามว่าคนเป็นกระดูกพรุนควรกินวิตามินดีใช่ไหม ตอบว่าวงการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานที่จะตอบคำถามนี้ได้ครับว่าใช่หรือไม่ใช่.. ครับผม

ในประเด็นที่ 2 คุณพี่ถามเรื่องขนาดของวิตามินดีว่ากินเท่าไหร่ดี ตอบว่ามันขึ้นกับจะกินวิตามินดีเพื่ออะไรครับ ซึ่งคนทั่วไปเขากินวิตามินดี.กันเพื่อสามสาเหตุใหญ่ๆ คือ

(1) กินเพื่อความสบายใจ ว่าได้เสริมวิตามินกับเขาแล้ว หากกินเพื่อการนี้วงการแพทย์แนะนำว่าให้กิน (RDA) วันละ 700 IU บางคนไม่ชอบตัวเลขนี้จะกิน 1000 หรือ 2000 หรือ 3000 ก็ได้เลยครับ เอาที่สบายใจ กรณีที่จะกินสัปดาห์ละครั้งก็เอา 7 คูณ กินเดือนละ 2 ครั้งก็เอา 15 คูณ

(2) กินเพื่อรักษาตัวเลข ระดับวิตามินดีให้อยู่ในเกณฑ์ที่วงการแพทย์เรียกว่าปกติ คือวงการแพทย์ได้ขยายตัวไปถึงขนาดที่นอกจากจะรักษาโรคให้คนอายุยืนขึ้นหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังรับรักษาตัวเลขสมมุติที่วงการแพทย์สมมุติขึ้นด้วย เรียกกันในหมู่หมอว่ารักษาแล็บ ไม่ได้รักษาคน หากจะกินเพื่อการนี้จะต้องไปเจาะเลือดดูระดับวิตามินดีในเลือดก่อนว่าต่ำกว่าสะเป๊คไปเท่าไหร่ แล้วก็กินวิตามินดีมากขึ้นๆจนระดับวิตามินดีสูงได้สะเป๊ค ทั้งนี้ต้องทำใจก่อนนะว่าสะเป๊ควิตามินดีของวงการแพทย์นั้นมีถึง 3 มาตรฐาน ให้เลือกเอาอันใดอันหนึ่งที่ชอบ คือ

15 ng/ml (vitamin D deficiency) ระดับที่ต่ำกว่านี้ถือว่าผิดปกติ ค่านี้กำหนดโดยสถาบันการแพทย์สหรัฐ (IOM)

20 ng/ml (vitamin D for healthy bone) ระดับที่ถือทำให้สุขภาพกระดูกเป็นปกติ ค่านี้กำหนดโดยสถาบันการแพทย์สหรัฐ (IOM) เช่นกัน หลังจากที่มีการร้องเรียนว่าระดับเก่ากำหนดไว้ต่ำเกินไป

30 ng/ml (vitamin D adequacy) ระดับที่ถือว่าพอเพียง กำหนดโดยวิทยาลัยแพทย์ต่อมไร้ท่ออเมริกัน (ACCE)

ทั้งสามมาตรฐานนี้ยังเป็นที่ยอมรับนับถืออยู่พอๆกัน ใครชอบแบบไหนก็ยึดแบบนั้น เพราะหลักฐานที่จะมาแยกแยะว่าอันไหนถูกอันไหนผิดยังไม่มี

(3) กินเพื่อรักษาโรคกระดูกอ่อน อันนี้ไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เพราะโรคกระดูกอ่อน (ricket) สมัยนี้ไม่มีแล้ว

คำแนะนำของหมอสันต์ในเรื่องวิตามินดีก็คือให้คุณพี่กินแบบที่ (1) คือเพื่อความสบายใจ กินเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้ออกแดดด้วย เพราะสำหรับร่างกายมนุษย์ ไม่มีอะไรทดแทนแสงแดดได้

2. ถามว่าตอนเช้าตื่นมามักมีเสมหะสีขาว จำเป็นต้องกินยาละลายเสมหะไหม ตอบว่าไม่จำเป็นครับ เพราะเสมหะเหนียวน่ารำคาญเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการมีอายุมาก ยิ่งอากาศแห้งยิ่งมีอาการมาก ถ้านอนห้องแอร์วางกระแป๋งใส่น้ำไว้มุมห้องด้วยให้อากาศชื้นขึ้นหน่อยก็ดี การแก้ไขด้วยการจิบน้ำอุ่นก็โอแล้วครับไม่ต้องใช้ยาครับ การคิดถึงอะไรเปรี้ยวๆก็ช่วยได้ ทั้งประหยัดยาอม ทั้งไม่ต้องแปรงฟันหลังอมยา ตกกลางวันให้ฝึกหายใจลึกๆ (deep breathing) หรือหายใจแบบโยคีก็ได้ 4-4-8 หมายความว่าหายใจเข้านับ 1-2-3-4 กลั้นใจไว้นับ 1-2-3-4 หายใจออกนับ 1-2-3-4-5-6-7-8 ฝึกไอบ่อยๆก็ยิ่งดี ร้องเพลง ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อทรวงอกแข็งแรงเข้าไว้ก็ช่วยได้มาก

หมดคำถาม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์