Latest

กินยาลดไขมันมา 20 ปีแล้วปวดข้อ

(ภาพวันนี้: ใบของต้นคริสต์มาส ยามแล้ง..ง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ผมเป็นโรคหัวใจ ทำบอลลูนใส่ขดลวดไปแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน กินยาลดไขมันเริ่มด้วย atovarstatin และเปลี่ยนชนิดยาเรื่อยมา แต่ไม่เคยหยุดยาลดไขมันเลยตลอด 20 ปี ผมเป็นโรคเก้าท์เมื่อราว 15 ปีมาแล้ว ตอนนั้นกรดยูริก 7.4 กินยาลดกรดยูริกทุกวันมาสิบกว่าปี ตอนนี้กรดยูริก 5.4 ผมระวังอาหารที่เขาบอกว่าคนเป็นเก้าท์กินไม่ได้ ผมระวังมาก อย่างยอดผักและสัตว์ปีกไม่แตะเลย แต่ระยะหลังมานี้อาการปวดรอบๆข้อเท้าเวลาลงน้ำหนักเป็นบ่อยขึ้นมาก ไม่มีอาการบวมแดง บางครั้งเป็นมากจนผมไปไหนไม่ได้หลายวันทั้งๆที่กินยาแก้อักเสบและยาลดกรดยูริกตลอด บางครั้งผมแอบลดยาลดไขมันลงเพราะกลัวว่ายาลดไขมันจะทำให้ผมเกิดข้ออักเสบหรือปวดรอบๆข้อ ที่ผมอยากถามคุณหมอก็คือยาลดไขมัน statin นี้ทำให้เกิดข้ออักเสบและปวดข้อลงน้ำหนักไม่ได้ได้หรือไม่ครับ เป็นไปได้ไหมว่าผมไม่ได้เป็นโรคเก้าท์แต่ปวดข้อเท้าเพราะยาลดไขมัน ทุกวันนี้ผมรักษากับหมอโรคข้อซึ่งบอกว่าผมเป็นเก้าท์ บอกมาตั้ง 15 ปีมาแล้ว ผมเคยอ่านคุณหมอสันต์บอกว่าการวินิจฉัยโรคเก้าท์ต้องเจาะเอาน้ำในข้อไปตรวจจึงจะวินิจฉัยได้ แต่ผมไม่เห็นหมอเจาะเอาน้ำในข้อผมไปตรวจสักครั้งเลย ส่วนหมอหัวใจก็คอยแต่จี้ให้ผมเพิ่มยาลดไขมัน (ในความเป็นจริงผมแอบลดยาทุกครั้งที่ปวดข้อเท้ามาก)

ขอบคุณครับ

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าปวดรอบๆข้อเท้าเวลาลงน้ำหนัก แต่ไม่มีข้อบวมแดงร้อนให้เห็น ทั้งๆที่กินยาลดกรดยูริกจนกรดยูริกเหลือแค่ 5.4 เป็นไปได้ไหมว่ามันไม่ใช่โรคเก้าท์ ตอบว่าเป็นไปได้ครับ เพราะการวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคเก้าท์โดยไม่เห็นหลักฐานว่ามีข้ออักเสบ (บวมแดงร้อน) ไม่ได้เจาะน้ำในข้อมาตรวจดูว่ามีผลึกกรดยูริกหรือไม่ อาศัยแค่มีอาการปวดข้อร่วมกับกรดยูริกเกิน 7 ก็วินิจฉัยว่าเป็นเก้าท์เลย มีโอกาสวินิจฉัยผิดมากกว่าวินิจฉัยถูกอยู่แล้วครับ เพราะสาเหตุของการปวดข้อโดยไม่มีหลักฐานการเกิดข้ออักเสบให้เห็นนั้นมีสาเหตุได้เยอะแยะแป๊ะตราไก่

2.. ถามว่ายาลดไขมัน statin ทำให้เกิดปวดข้อ ข้ออักเสบได้หรือไม่ ก่อนตอบคำถามนี้ผมอยากจะให้คุณเข้าใจอาการปวดสองแบบก่อน คือ

1.1 ปวดข้อจากข้ออักเสบ (arthritic joint pain) หมายถึงว่ามีการอักเสบของข้อชัดเจนขึ้นมาก่อน กล่าวคือมีข้อบวม ร้อน แดง ปวด ลงน้ำหนักไม่ได้ อาจมีไข้ด้วย เมื่อเจาะน้ำในข้อออกมาดูก็พบว่ามีสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอยู่ในนั้น อาจพบผลึกที่ทำให้เกิดอักเสบด้วยเช่นผลึกของกรดยูริกในโรคเก้าท์ หรือผลึกของแคลเซียมในโรคเก้าท์เทียม หรือพบแต่การอักเสบโดยไม่มีผลึกเช่นกรณีข้ออักเสบจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองแบบต่างๆ หรือพบเชื้อแบคทีเรียกรณีติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

1.2 ปวดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal pain) โดยไม่เกี่ยวกับข้ออักเสบ อาจมีอาการปวดที่ข้อหรือรอบๆข้อเหมือนกัน ลงน้ำหนักแล้วก็อาจจะเจ็บได้เหมือนกัน แต่ไม่มีการอักเสบคือบวมแดงร้อนที่ข้อให้เห็น เจาะน้ำในข้อออกมาตรวจดูก็ไม่พบร่องรอยของการอักเสบ

ทั้งสองแบบนี้ หากเป็นแบบแรก คือ arthritic joint pain งานวิจัยพบว่าไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับยาลดไขมันสะแตติน

แต่หากเป็นแบบที่สองคือปวดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแบบไม่จำเพาะเจาะจง (musculoskeletal pain) นั้นมีความสัมพันธ์กับยาลดไขมันสะแตตินอย่างแน่นอน ในงานวิจัยทั่วไปจะพบการปวดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแบบหลังนี้ถึง 23% ของผู้ใช้ลดไขมันทั้งหมด

ในกรณีที่ไม่มีข้อบวมแดงร้อนให้เห็น การวินิจฉัยแยกสองอย่างนี้ออกจากกันทำได้ยาก จำเป็นจะต้องเจาะเอาน้ำในข้อออกมาตรวจดูจึงจะวินิจฉัยแยกได้ว่ามีข้ออักเสบอยู่จริง หรือว่าแค่ปวดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเฉยๆ

ในกรณีของคุณก่อนที่จะไปถึงขั้นเจาะน้ำในข้อออกมาตรวจ ผมแนะนำให้หยุดยาลดไขมันสะแตตินไปก่อนสัก 3 เดือน แล้วสังเกตดูอาการปวดเวลาลงน้ำหนักว่ามันดีขึ้นหรือหายไปหรือไม่ ถ้ามันไม่หายไปก็แสดงว่ามันไม่เกี่ยวกับยาลดไขมัน ถ้ามันหายไปก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่ามันเกี่ยวกับยาลดไขมัน ในกรณีที่การกินยาลดไขมันแล้วก่ออาการปวดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจนรบกวนคุณภาพชีวิตมากขนาดนี้ ผมแนะนำให้เลิกกินยาลดไขมันไปเลย หันไปโฟกัสที่การปรับอาหารเพื่อลดไขมันในเลือดแทน โดยเปลี่ยนไปกินอาหารแบบกินพืชเป็นหลักโดยไม่ใช้น้ำมันปรุง (low fat plant based diet) ซึ่งงานวิจัยกลุ่มคนที่กินอาหารพืชเป็นหลักแบบต่างๆพบว่าพวกกินทั้งพืชและสัตว์มีไขมัน LDL เฉลี่ย 123.43 มก./ดล. พวกมังสะวิรัติแบบกินนมกินไข่ด้วยมี LDL 101.47 มก./ดล. พวกมังสะวิรัติกินนมไม่กินไข่มี LDL 87.71 มก./ดล. พวกมังสะวิรัติแบบวีแกนมี LDL 69.28 มก./ดล. ดังนั้นปัญหาไขมันในเลือดสูงสามารถแก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารโดยไม่ต้องใช้ยาลดไขมันเลยก็ยังได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ยาลดไขมันก่อผลข้างเคียงมาก เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ที่จะได้จากยาลดไขมันมีน้อยกว่าโทษที่เกิดจากยาลดไขมัน ก็ไม่ควรที่จะทู่ซี้กินยาลดไขมันต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Buettner C, Rippberger MJ, Smith JK, Leveille SG, Davis RB, Mittleman MA. Statin use and musculoskeletal pain among adults with and without arthritis. Am J Med. 2012 Feb;125(2):176-82. doi: 10.1016/j.amjmed.2011.08.007. PMID: 22269621; PMCID: PMC3266514.
  2. De Biase SG, Fernandes SF, Gianini RJ, Duarte JL. Vegetarian diet and cholesterol and triglycerides levels. Arq Bras Cardiol. 2007 Jan;88(1):35-9. English, Portuguese. doi: 10.1590/s0066-782×2007000100006. PMID: 17364116.