Latest

เป็นโรคเอสแอลอี.ลงไต ถ้าหมอก้าวร้าวไม่พอ ให้เปลี่ยนหมอ

(ภาพวันนี้: ทุ่งคอสมอสที่อัธยาวิลเล็จ)

สวัสดีค่ะ คุณลุงสันต์

หนู … ลูกสาวคนโตของคุณพ่อ … ค่ะ อยากจะรบกวนปรึกษาอาการป่วยโรค sle ที่เพิ่งกำเริบเดือน กย ที่ผ่านมา นน.จากอาการไตรั่ว จนได้เจาะชิ้นเนื้อไตตรวจ หนูเป็น SLE ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆค่ะ แรกเริ่มเป็นที่ข้อค่ะ ปัจจุบันเป็นที่ไต เจาะไตมา 2 ครั้ง ปีนี้กำเริบครั้งที่ 2  เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาค่ะนอนโรงพยาบาล 9 วันน้ำหนักขึ้นไป 13 กิโลกรัม รักษาโดยใช้ยาสเตียรอยด์ คลอโรฟิลล์ และคีโม 6 ครั้งค่ะ( ให้ยาแอนดรอกแซน 1,000 mg)

ตอบสนองต่อยาได้ดีผลการรักษาน่าพอใจค่ะ ก็เลยอยากปรึกษาคุณลุงว่าถ้าโรคสงบเราจะรักษาตัวแบบไหนดีคะ มีประเด็นสำคัญอะไร การกิน การออกกำลังกาย การป้องกันโรคอื่นๆ คุณลุงเคยให้คำปรึกษาคนไข้ที่เป็นโรคนี้ไหมคะ ขอคำแนะนำด้วยค่า (หนูไม่เจอโพสต์เก่าที่พูดรายละเอียดของโรคนี้ค่ะ ถ้าคุณลุงเคยตอบแล้ว ช่วยแชร์ให้ดูหน่อยนะคะ หนูแนบผลเลือดครั้งล่าสุดที่โรคกำเริบ (ช่วง admit) ค่ะ

ANA positive

Nucleolar type 3+

Fine speckle type 4+

Homogenous type 4+

Anti dsDNA 1+

ขอบพระคุณมากค่ะ

…………………………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนจะตอบคำถาม ขออธิบายผลเลือดที่ส่งมาก่อนนะ การอ่านผลเลือดมันไม่สำคัญนักก็จริง แต่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม กล่าวคือ

ANA ย่อมาจาก antinuclear antibody แปลว่าภูมิคุ้มกันที่ทำลายใจกลาง (นิวเคลียส) ของเซลของตัวเอง ซึ่งจะตรวจได้ผลบวกในคนเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองทั้งหลาย

Nucleolar type เป็นรูปแบบของการติดสีฟลูออเรสซีนในการส่องกล้องจุลทรรศน์ดูผลหลังจากที่ปล่อยให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายเซลในห้องแล็บแล้ว ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มักสัมพันธ์กับโรคต่างกันไป กรณีรูปแบบ nucleolar type นี้คือคือสีไปจับอยู่รอบๆช่องโบ๋ในนิวเคลียส (nucleoles) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มักพบในโรคหนังแข็ง (sceroderma) หรือโรค Sjögren’s syndrome หรือแม้กระทั่งโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองแบบจับฉ่าย ( mixed connective tissue disease)

Fine speckle type คือติดสีฟลูออเรสซีนแบบเป็นเกล็ดๆละเอียด ซึ่งมักสัมพันธ์กับโรค SLE

Homogenous type คือติดสีฟลูออเรสซีนทั่วนิวเคลียสไปหมด ซึ่งมีความเจาะจงกับโรค SLE

Anti dsDNA ย่อมาจาก Anti double strand deoxyribonucleic acid แปลว่าภูมิคุ้มกันที่เจาะจงทำลายรหัสพันธุกรรมที่เป็นเกลียวคู่ (DNA) โดยตรง มีความจำเพาะเจาะจงกับโรค SLE มากที่สุด

กล่าวโดยสรุปผลเลือดข้างต้นช่วยยืนยันว่าเป็นโรคเอสแอลอี. อีหลี

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่า โรคเอสแอลอีนี้คืออะไร ตอบว่าโรคนี้อยู่ในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (autoimmune disease) ซึ่งไม่ทราบสาเหตุ แต่พออนุมาณได้เลาๆว่าเกิดจากผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นโรคนี้ง่ายอยู่ในตัวก่อนแล้ว จะด้วยยีน หรือฮอร์โมนก็ตาม เมื่อมาได้ตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่นแสงแดด ยา (เช่น hydralazine, procainamide, isoniazid, quinidine) หรือการติดเชื้อ จึงเกิดการอักเสบขึ้นในระบบต่างๆของร่างกาย ทำให้มีไข้ เปลี้ยล้า ไม่สบาย และมีอาการของอวัยวะที่โรคนี้ไปเกี่ยวข้องเช่น

1..ผลต่อระบบผิวหนัง ทำให้เป็นผื่นรูปปีกผีเสื้อที่หน้า หรือผื่นแพ้แสง หรือผื่นเป็นแว่นๆเมื่อถูกแสง

2..ผลต่อระบบกระดูกและข้อ ทำให้มีปวดข้อ ข้ออักเสบ มักเป็นไม่เท่ากันสองข้างซ้ายขวา

3..ผลต่อไตทำให้ไตวาย (CKD) หรือไตรั่ว (nephritic syndrome)

4..ผลต่อระบบเม็ดเลือด ทำให้เป็นโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ

5..  ผลต่อระบบประสาททำให้ปวดหัว ชัก ความจำเสื่อม เป็นบ้า

6.. ผลต่อปอดทำให้เจ็บหน้าออกจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบหรือความดันในปอดสูง (PH)

7..  ผลต่อหัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด

     เกณฑ์วินิจฉัยของวิทยาลัยข้ออักเสบอเมริกัน (ACR) กำหนดว่าต้องตรวจชิ้นเนื้อไตแล้วพบเป็น lupus nephritis หรือต้องมีเกณฑ์อื่นครบ 4 อย่าง จาก 11 อย่างต่อไปนี้ คือ

  1. มีเยื่อหุ้มหัวใจหรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากการตรวจร่างกายหรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  2. มีแผนในปาก
  3. ข้ออักเสบ ข้อบวม สองข้อขึ้นไป
  4. ผื่นแพ้แสง
  5. เม็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกร็ดเลือด
  6. ไตเสียการทำงาน หรือมีโปรตีนรั่ว
  7. เจาะเลือดพบค่าแอนตี้บอดี้ต่อนิวเคลียสเซล (antinuclear antibody – ANA) สูง
  8. เจาะเลือดพบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น dsDNA, หรือตรวจภูมิคุ้มกันซิฟิลิสได้ผลลบเทียม
  9. มีอาการทางระบบประสาท เช่นชัก หรือเป็นบ้า โดยหาสาเหตุอื่นไม่ได้
  10. ผื่นแดงรูปผีเสื้อที่หน้า
  11. ผื่นเป็นแว่นยกนูนที่ผิวหนัง

     เนื่องจากโรคนี้มีหลายระดับความรุนแรงตั้งแต่เบาไปหนัก จึงมีการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันได้มาก  แต่ในภาพรวมก็ยังมีอัตรารอดชีวิตในสิบปีสูงมาก คือประมาณ 90% พูดง่ายๆว่าเป็นโรคนี้ยังอายุยืนกว่าเป็นโรคอื่นอีกหลายๆโรค

2.. ถามว่าเป็นโรคเอสแอลอี.มีประเด็นสำคัญอะไรที่ต้องระวังบ้าง ตอบว่าผมไฮไลท์ประเด็นเดียว คืออย่าปล่อยให้ไตพังไปต่อหน้า ผมหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดก่อนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด กล่าวคือมีคนไข้เอสแอลอี.จำนวนหนึ่งต้องสูญเสียการทำงานของไตไปอย่างถาวรเพราะการวินิจฉัยการเกิดโรคที่ไตทำได้ช้า หมายความว่ารู้อยู่แล้วว่าเป็นเอสแอลอี.แต่ไม่รู้ว่าไตพังไปตั้งแต่เมื่อไหร่ จังหวะที่คนเป็นเอสแอลอี.เริ่มมีการอักเสบของไตนั้นเป็นนาทีทองที่จะโหม (pulse) การรักษาด้วยสะเตียรอยด์ และ/หรือ ยากดภูมิคุ้มกันตัวอื่นเพื่อปกป้องไม่ให้ไตเสียหายไปอย่างถาวร แต่ว่าหลายคนพลาดโอกาสนั้นไปจึงต้องล้างไตไปตลอดชีวิต ความล้มเหลวอันนี้เกิดจากสองด้าน     
     ด้านที่ 1. เกิดจากคนไข้ ที่ไม่รู้ หรือรู้แล้วไม่ใส่ใจติดตามการทำงานของไตของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ คนเป็นเอสแอลอี.ต้องขยันไปตรวจสุขภาพสม่ำเสมอและอย่างน้อยตัองตรวจการทำงานของไตดูค่า eGFR  ของตัวเองอย่างน้อยทุกสามเดือนหกเดือน แม้ว่าจะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม และต้องจดจำค่าการทำงานของไตของตัวเองได้ ของคุณไม่ได้ส่งค่านี้มาให้ ผมจึงไม่รู้ว่าไตคุณพังไปหรือยัง สมมุติว่ายังไว้ก่อนนะ ถึงแม้ว่าผลเลือดที่ส่งมาจะบ่งบอกว่ามีตับอักเสบอยู่อย่างมโหรทึก แต่เดาเอาว่าไตยังดีอยู่ ผมเคยเห็นผู้ป่วยที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรคเอสแอลอี.กินยาแก้ปวดแก้อักเสบประจำ แต่ไม่รู้ว่าไตเสียไปตั้งแต่เมื่อไหร่ มารู้อีกทีตอนตรวจร่างกายจะเอาใบรับรองแพทย์ไปเรียนต่อซึ่งพบว่าไตของตัวเองได้พังไปจนถึงระยะที่ 5 เรียบร้อยแล้ว

     ด้านที่ 2. เกิดจากความอืดของแพทย์เอง คือในส่วนของแพทย์นั้น ทันที่ที่พบว่าโรคเริ่มก่อความเสียหายที่ไต ณ จุดนั้นเป็นข้อบ่งชี้หรือ “นาทีทอง”ที่จะต้องโหมการรักษาด้วยสะเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวทันที หรืออย่างน้อยก็ต้องติดตามดูแบบวันต่อวันว่าโรคจะไปในทิศทางไหน แต่ผู้ป่วยบางรายไตพังไปเพราะความอืดของแพทย์ บ้างก็อืดเพราะจังหวะเวลาไม่พอดีหรือแพทย์ไม่สะดวก เช่นวันนี้หรือก็เป็นวันศุกร์เย็น อย่ากระนั้นเลย เอาไว้วันจันทร์เช้าค่อยมาว่ากันใหม่ก็แล้วกัน เป็นต้น บ้างก็อืดเพราะเป็นความเชื่อส่วนตัวโดยบริสุทธิ์ใจของแพทย์ว่า เออน่า ดูไปก่อนเหอะ อย่าไปรีบร้อนใช้ยาสะเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันเลยมันไม่คุ้มกัน ในความเป็นจริงมีหลักฐานวิจัยยืนยันชัดเจนว่าคนที่โรคเอสแอลอี.มีผลต่อไตแล้ว การเกาะติดและรักษาด้วยสะเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆแบบ “ก้าวร้าว” ต่อเนื่องจะได้ผลที่ดีกว่าการรอดูเชิงไปก่อน ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านท่านใดเป็นเอสแอลอี.แล้วมีหลักฐานว่าไตเสียหาย นอกจากจะต้องขยันตามดูการทำงานของไตตัวเองแล้ว ถ้าเห็นการทำงานของไตออกแนวสาละวันเตี้ยลง ควรจี้ถามหมอบ่อยๆว่า ณ จุดไหนที่หมอจะโหม (pulse) สะเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันตัวอื่นเพิ่ม ถ้าหมอแสดงท่าทีอืดๆเหมือนหมอเองเป็นไฮโปไทรอยด์ ผมแนะนำให้เปลี่ยนหมอหรือเปลี่ยนโรงพยาบาลทันทีให้รู้แล้วรู้รอด เพราะความเกรงใจหมอมันไม่คุ้มกันกับการที่วันข้างหน้าตัวเราเองจะต้องมาล้างไตตลอดชีวิต

3.. ถามว่า เป็นเอสแอลอีควรกินอาหารอย่างไร ตอบว่า หิ..หิ หมอสันต์ก็ไม่รู้เหมือนกัน แม้ว่าจะมีหมอบางคนเช่นหมอ บรู๊ค โกลด์เนอร์ ตั้งหน้าตั้งตารักษาโรคเอสแอลอี.แบบเปิดคลินิกทางอินเตอร์เน็ทเพื่อรักษาเอสแอลอี ด้วยการแนะนำให้กินอาหารพืชเป็นหลักอย่างเดียว เธอเขียนหนังสือด้วย อย่างน้อยผมจำได้เล่มหนึ่งชื่อ Goodbye SLE หรืออะไรทำนองนี้แหละ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของคุณหมอบรู๊คก็ดี ของหมอคนอื่นเช่นหมอโจ ฟอแรน หมอจอห์น แมคดูกอล ก็ดี รวมทั้งประสบการณ์ของผมเองกับคนไข้ของผมเองด้วยก็ดี คือผมเองก็มีคนไข้อยู่สองคนที่หายจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองด้วยการเปลี่ยนอาหารมากินแต่พืชโดยสามารถเลิกยาเคมีบำบัดและยาสะเตียรอยด์ได้หมด แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งที่วงการแพทย์เรียกว่า “หลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal evidence)” ซึ่งวิชาแพทย์แผนปัจจุบันถือว่าไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ หากให้ผมสรุปภาพรวมของความรู้แพทย์แผนปัจจุบันตอนนี้ ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองนี้วงการแพทย์ยังมีความรู้น้อยเกินไป ยังสรุปอะไรไม่ได้ แต่มีผลวิจัยอยู่บ้างบางรายการซึ่งมีระดับชั้นพอเชื่อถือได้ควรค่าแก่การเอามาเล่าให้ฟังสองสามงาน เช่น     
     งานวิจัยหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการโรคไต เอาผู้ป่วยเอสแอลอี.ที่มีไตอักเสบแบบกลับเป็นซ้ำจำนวน 24 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินแคปซูลใส่ผงขมิ้นชัน 500 กรัมหลังอาหารทุกมื้อ (วันละสามแคปซูล) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินแคปซูลหลอก เมื่อตามตรวจประเมินเดือนละครั้งในสามเดือนพบว่าทุกเดือนกลุ่มกินขมิ้นชันมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะลดลงมากกว่า เลือดออกในปัสสาวะน้อยกว่า และความดันเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มที่กินแคปซูลหลอก     
     อีกงานวิจัยหนึ่งทำวิจัยเปรียบเทียบคนไข้ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเช่นกัน) สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้อดอาหาร 7-10 วัน แล้วตามด้วยกินอาหารเจ (vegan) แบบไม่มีกลูเตน นานสามเดือน แล้วตามด้วยกินอาหารมังสะวิรัติแบบดื่มนมได้อีกนาน 9 เดือน เทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่กินอาหารมีเนื้อสัตว์เป็นหลักตามปกติ พบว่ากลุ่มที่กินอาหารมังสะวิรัติมีอาการดีขึ้นมากกว่ากลุ่มกินอาหารเนื้อสัตว์ และพบด้วยว่าบักเตรีในอุจจาระในระยะที่อาการยังไม่ดีขึ้นกับระยะที่ดีขึ้นก็มีลักษณะแตกต่างกัน      
     ตรงที่การกินอาหารพืชทำให้อุจจาระแตกต่างไปจากคนกินอาหารเนื้อสัตว์นี้สำคัญ เพราะเมื่อไม่นานมานี้มีการทำงานวิจัยอีกงานหนึ่งที่คิงส์คอลเลจ ที่มหาลัยลอนดอน ได้วิจัยจนพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุหนึ่งของข้ออักเสบรูมาตอยด์คือเชื้อบักเตรีในปัสสาวะและอุจจาระชื่อเชื้อ “โปรเตียส” ไปแหย่ให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิขึ้นมาทำลายเชื้อนี้ แต่ภูมินั้นแถมทำลายเซลร่างกายตัวเองไปด้วย การที่อาหารพืชเปลี่ยนชนิดของบักเตรีในลำไส้ได้ อาจเป็นกลไกหนึ่งที่อาหารพืชลดการเป็นโรคลงได้     
     แม้ทั้งสามงานวิจัยข้างต้นยังถือว่าเป็นหลักฐานเล็กๆที่สรุปอะไรเป็นตุเป็นตะยังไม่ได้ แต่ก็ผู้ป่วยเอสแอลอี.หรือผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มก้นทำลายตนเองอื่นๆก็พอจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ว่า ขณะรักษาด้วยยา การทดลองปรับอาหารมากินอาหารเจหรือมังสะวิรัติหรืออาหารที่มีพืชเป็นหลักสักหลายๆเดือนก็ไม่เสียหลาย เพราะอย่างน้อยก็มีงานวิจัยบ่งชี้ไปในทางว่ามันอาจจะช่วยทำให้โรคดีขึ้น     
4.. ถามว่า เป็นเอสแอลอี.ควรออกกำลังกายอย่างไร ตอบว่าการออกกำลังกายจำเป็นสำหรับคนเป็นโรคนี้มากเสียยิ่งกว่าคนไม่ได้เป็นโรค เพราะ  (1) การออกกำลังกายทำให้เกิดความยืดหยุ่นและแก้ปัญหากล้ามเนื้อและเอ็นตึงแข็งในโรคนี้ได้  (2) การออกกำลังกายรักษาโรคซึมเศร้าซึ่งพบร่วมเสมอ (60%) (3) การออกกำลังกายบรรเทาอาการเปลี้ยล้า ซึ่งพบบ่อย  (80%) ในคนป่วยโรคนี้ (4) การออกกำลังกายป้องกันภาวะแทรกซ้อนของการใช้ยาในโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระดูกพรุนและโรคอ้วนจากสะเตียรอยด์

คนทั่วไป สมาคมแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาอเมริกันและสมาคมหัวใจอเมริกัน  (ACSM/AHA) แนะนำให้ออกกำลังกายสองแบบ คือ

     (1) การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic หรือ cardio) เช่นเดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โดยมีประเด็นสำคัญว่าต้องให้ถึงระดับหนักพอควร (หอบเหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) นาน 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบกับ

     (2) การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแร็งของกล้ามเนื้อ  (strength training) หรือเล่นกล้าม โดยทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

      แต่สำหรับคนเป็นเอสแอลอีนั้นต้องทำมากกว่าคนทั่วไป กล่าวคือวิทยาลัยโรคข้ออเมริกัน (ACR) แนะนำว่าคนเป็นเอสแอลอี.ควรออกกำลังกายให้ครบสี่แบบ คือ

     (1) การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic หรือ cardio)

     (2) การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแร็งของกล้ามเนื้อ  (strength training)

     (3) การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (flexibility exercise) เพื่อลดความตึงแข็งและเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและเอ็น

     (4) การออกกำลังกายแบบมีสติขณะเคลื่อนไหว (body awareness exercise) เช่น รำมวยจีน จี้กง โยคะ เพื่อปรับท่าร่างและเสริมการทรงตัวขณะเคลื่อนไหวทุกวันด้วย  
     ส่วนประเด็นข้อพึงระวังเฉพาะสำหรับคนเป็นเอสแอลอี. ผมแนะนำว่า (1) ให้ใช้วิธีค่อยๆเพิ่ม หมายความว่าให้หนักกว่าที่ตัวเองทำได้ตามปกติวันละนิดหนึ่งๆ ทุกวันๆ ไม่ใช่โลภมากบังคับตัวเองทำให้ได้เต็มแม็กในวันแรกวันเดียว เพราะหากทำให้ตัวเองเหนื่อยเกินไปจนเกิดความเครียดต่อระบบร่างกาย ก็จะกลายเป็นการไปแหย่ให้โรคกระพือขึ้นมาอีกได้ (2) เลือกการออกกำลังกายที่มีการปะทะหรือกระทบกระทั่งน้อยที่สุด (low impact) เช่นเดินเร็วดีกว่าจ๊อกกิ้ง เล่นกล้ามด้วยอุปกรณ์ง่ายๆเช่นสายยืดหรือดัมเบลเล็กๆข้างละ 1 กก.แล้วทำซ้ำๆ ดีกว่าไปออกแรงกับเครื่องหนักๆหรือยกเวททีละเป็นสิบๆกก. เป็นต้น (3) ทำบันทึกการออกกำลังกาย (exercise journal) ของตัวเองทุกวัน เพื่อให้มีความคืบหน้าไปตามแผน (4) ป้องกันการถูกแสงแดดขณะออกกำลังกายให้มิดชิด สวมหมวกปีก สวมปลอกแขน ยาทากันแดดเปอร์เซ็นต์ SPE สูงๆ อย่างน้อยต้องเกิน 15% ขึ้นไป ทาหนาๆ ทาบ่อยๆ เพราะครีมกันแดดอยู่ได้อย่างมากก็สามสี่ชั่วโมง หรือสั้นกว่านั้นถ้ามีเหงื่อออก ต้องขยันทาซ้ำ (5) หาเพื่อน เพราะการออกกำลังกายนี้มันเป็นกิจกรรมประเภทคนเดียวหัวหาย หมายความว่าทำคนเดียวแล้วจะเบื่อไม่นานก็เลิก ยิ่งคนเป็นเอสแอลอี.ยิ่งต้องเอาชนะอาการเมื่อย เปลี้ย จึงเข็นตัวเองยาก เรียกว่ามีอาการ “สำออยกำเริบ” เป็นประจำ ดังนั้นการมีเพื่อนซี้จะช่วยดึงกันไปและทำได้นาน    

อนึ่ง เนื่องจากงานวิจัยพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการขาดวิตามินดี.ทำให้โรคเอสแอลอี.รุนแรงขึ้น เนื่องจากโรคนี้คนไข้ไม่มีโอกาสโดนแดด และวิตามินดี.เป็นอะไรที่คนเราอาศัยจากแสงแดดลูกเดียว จะได้จากอาหารน้อยมาก ผมจึงแนะนำให้ทานวิตามินดีเสริม แบบไหนก็ได้ เช่นทานชนิดวิตามินดี. 2 ขนาด 20,000 ยูนิต เดือนละ 2 เม็ด คือทุกสองสัปดาห์ทานหนึ่งเม็ด หรือทานทุกวันๆละ 1000 ยูนิต เป็นต้น

5.. ถามว่า การปัองกันโรคต่างๆในคนเป็นโรคเอสแอลอีต้องทำเหมือนคนทั่วไปไหม ตอบว่าคนเป็นเอสแอลอี.ติดเชื้อง่าย โรคอะไรที่ป้องกันได้ต้องฉีดวัคซีนป้องกันให้หมด การให้วัคซีนควรฉีดในช่วงที่โรคสงบ แต่ว่าถ้าจำเป็นก็ให้ร่วมกับยารักษาโรคได้ และไม่ควรใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live vaccine) วัคซีนที่ควรฉีดอย่างยิ่งคือ (1) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (2) วัคซีนป้องกันติดเชื้อปอดอักเสบแบบรุกล้ำ (IPV) (3) วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (ไวรัส HPV) ในผู้หญิงอายุไม่เกิน 26 ปี (4) วัคซีนกระตุ้นบาดทะยัก (5) วัคซีนตับอักเสบบี. เป็นต้น 
  
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.       Rahman A, Isenberg DA. Systemic lupus erythematosus. N Engl J Med. Feb 28 2008;358(9):929-39.

2.       Ritterhouse LL, Crowe SR, Niewold TB, et al. Vitamin D deficiency is associated with an increased autoimmune response in healthy individuals and in patients with systemic lupus erythematosus. Ann Rheum Dis. Sep 2011;70(9):1569-74.

3.       Gladman DD, Urowitz MB. Prognosis, mortality and morbidity in systemic lupus erythematosus In: Wallace DJ, Hahn BH. Dubois’ lupus erythematosus. 7th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007:1333-53.

4.       Petri M, Orbai AM, Alarcón GS, Gordon C, Merrill JT, Fortin PR, et al. Derivation and validation of systemic lupus international collaborating clinics classification criteria for systemic lupus erythematosus. Arthritis Rheum. May 2 2012;

5.       Broder A, Khattri S, Patel R, Putterman C. Undertreatment of Disease Activity in Systemic Lupus Erythematosus Patients with Endstage Renal Failure Is Associated with Increased All-cause Mortality. J Rheumatol. Nov 2011;38(11):2382-9.

6.       van Assen S, Agmon-Levin N, Elkayam O, Cervera R, Doran MF, Dougados M, et al. EULAR recommendations for vaccination in adult patients with autoimmune inflammatory rheumatic diseases. Ann Rheum Dis. Mar 2011;70(3):414-22.