Latest

“ความคิด” คือผู้เปิดปิดสวิสต์ยีนก่อโรค หรือยีนรักษาโรคเรื้อรังทุกโรค

ภาพวันนี้: กลางคืน จอดรถแล้วเงยหน้าดูดอกไม้ป่าสีขาวไม่รู้ชื่อ ออกดอกสะพรั่งตัดกับสีดำของท้องฟ้ามืดมิด

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกที่มาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat)

ปกติในแค้มป์นี้เราจะไม่พูดไม่อธิบายเหตุผลกลไกอะไรกันมากนัก จะมุ่งหน้าฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดกันเป็นหลัก เพราะผู้มาแค้มป์นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ “อิน” กับแนวทางนี้ดีแล้ว หรือพูดอีกอย่างว่าส่วนใหญ่เป็นสาย “ศรัทธา” หรือสาย “มู” ไม่ต้องพูดอะไรก็เอาด้วยแล้ว

แต่วันนี้ผมขอพูดหน่อย เพราะแค้มป์นี้เป็นแค้มป์พิเศษถึงสองอย่าง อย่างแรกคือเป็นแค้มป์ของคนทำงานออฟฟิศที่มากันเป็นหมู่คณะไม่เหมือนแค้มป์อื่นที่สมาชิกล้วนเป็นผู้แสวงหาอย่างโดดเดี่ยวลำพังมาโชกโชนแล้ว อย่างที่สองก็คือมีสมาชิกที่เป็นผู้ชายมาก ขึ้นชื่อว่าผู้ชายก็มักจะเกี่ยงหาเหตุผลว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเหตุผลไม่เข้าท่า..ข้าก็จะไม่ทำ

สิ่งที่ผมจะพูดก็คือกลไกการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ว่าตัวกำหนดว่าใครจะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ใครจะหายจากโรคเรื้อรังวิทยาศาสตร์เรารู้ชัดแล้วว่าคือ “ยีน (gene)” หรือรหัสพันธุกรรมของเราเอง รู้ว่ายีนเป็นผู้บงการให้เซลสร้างโมเลกุลโปรตีนและฮอร์โมนแบบต่างๆขึ้นซึ่งหากสร้างผิดเพี้ยนหรือไม่ได้ดุลโรคก็จะเกิดตามมา ความรู้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันเรารู้จักทุกท่อนทุกชิ้นของยีนมนุษย์ซึ่งมีทั้งหมดราว 25,000 ยีน เรารู้หมดแล้วว่าแต่ละท่อนมันเอาโมเลกุลอะไรมาต่อกับโมเลกุลอะไร ตอนที่เราได้ความรู้นี้มาเราก็ได้ปลื้มว่าต่อไปนี้การจัดการโรคจะอยู่ในอวยของเราแล้วเพราะเรารู้จักยีนหมดแล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือเหนือฟ้ายังมีฟ้า เราเพิ่งมารู้เอาตอนหลังนี้ด้วยแขนงวิชาใหม่ชื่อ epigenetics ว่ายีนแต่ละตัวมันต้องรอจังหวะที่จะออกฤทธิ์ (expression) โดยต้องมีผู้มาเปิดสวิสต์ (up regulation) ให้มันออกฤทธิ์ หรือปิดสวิสต์ไม่ให้มันออกฤทธิ์ (down regulation) ซึ่งเรารู้ด้วยว่าผู้มาปิดเปิดสวิสต์นั้นคือปัจจัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือสารเคมีที่เรารู้จักแล้วราว 2600 ตัวในร่างกายเรานี่เอง หากตัวนั้นเพิ่มขึ้นหรือตัวนี้ลดก็จะมีผลเปิดหรือปิดสวิสต์ยีนทันที แน่นอนว่าอาหารและการออกกำลังกายมีผลต่อการเปิดปิดสวิสต์ยีน แต่ที่มีผลต่อโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคมะเร็งมากกว่าอาหารและการออกกำลังกายก็คือดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เพราะมันเชื่อมโยงแนบแน่นกับระบบต่อมไร้ท่อซึ่งผลิตฮอร์โมนทุกตัว ตัวระบบประสาทอัตโนมัตินี้หน้าที่มันคือจับสัญญาณ “คุกคาม” ต่อการดำรงอยู่ของชีวิตหรือร่างกายเรา เมื่อมันได้สัญญาณคุกคามมันก็จะเอียงไปข้าง “เร่ง” ซึ่งในระยะสั้นจะช่วยให้เราเอาตัวรอดจากสิ่งคุกคามได้ แต่หากเป็นการ “เร่ง” แบบเรื้อรังก็จะกลายเป็นการเปิดสวิสต์ยีนก่อโรคเรื้อรังต่างๆได้แทบจะทุกโรครวมทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคติดเชื้อโควิด เป็นต้น

สิ่งคุกคามเจ้าประจำในชีวิตของเราทุกวันนี้คือ “ความคิด” ของเราเอง ความคิดที่คุกคามเรามีสองรูปแบบ คือ “ความจำ” ของเราในรูปของความเสียดายเสียใจรู้สึกผิดกับสิ่งแที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต กับ “จินตนาการ” ของเราในรูปของความกลัวความวิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคต

ข้อเสียของระบบประสาทอัตโนมัติก็คือมันจำแนกไม่ออกดอกว่าสิ่งคุกคามไหนเป็นแค่การรีไซเคิ้ลความจำหรือเป็นแค่จินตนาการ สิ่งคุกคามไหนเป็นภยันตรายที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆต่อหน้าจะๆ เพราะมันเป็นระบบที่คิดไม่เป็น มันทำงานแบบวงจรสนองตอบอัตโนมัติเหมือนหุ่นยนต์เป็ดสมัยยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์ กล่าวคือสมัยก่อนเกิดคอมพิวเตอร์ในยุโรปมีคนทำตุ๊กตาเป็ดชื่อ automatron ซึ่งก็คือหุ่นยนต์นั่นเอง การจะเล่นต้องไขลานที่ก้นมัน แล้วปล่อยมันเดินเตาะแตะไป เตาะแตะ เตาะแตะ เลี้ยวซ้าย แคว้ก แค้วก เตาะแตะ เตาะแตะ เลี้ยวขวา แคว้ก แค้วก ประมาณนั้น มีเฟืองกำกับอยู่ในท้องมันเพียงไม่กี่ตัวมีวงจรทำงานแบบง่ายๆ ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายเราก็มีวิธีการทำงานประมาณเดียวกันนี้

มันจึงสนองตอบแบบไม่ว่าจะเป็นแค่การฟื้นความจำหรือจินตนาการก็เป็นสิ่งคุกคามเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหมด ดังนั้นอารมณ์ร่าเริง หรือโศกเศร้า กลัว กังวล ของเรานี่แหละที่เป็นตัวเปลี่ยนฮอร์โมนและสารเคมีในร่างกายเรา รวมทั้ง oxytocin, dopamine, cortisol เป็นต้น และเป็นผู้เปิดปิดสวิสต์ยีนก่อโรคหรือยีนรักษาโรคเรื้อรังต่างๆให้ทำงานหรือให้หยุดทำงาน

นั่นเป็นเหตุผลว่าหมอสันต์เป็นหมออยู่ดีไม่ว่าดี ทำไมถึงมาเปิดโปรแกรม spiritual retreat ขึ้นหลังจากเปิดแค้มป์ “สุขภาพดีด้วยตนเอง” และ “พลิกผันโรคด้วยตนเอง” มาแล้วได้สองปีกว่า เพราะเมื่อผ่านไปแล้วสองปีจึงได้เรียนรู้ว่าถึงตั้งใจแก้ไขเรื่องอาหารและการออกกำลังกายดีอย่างไรก็ตามแต่หากความคิดและอารมณ์ของเรายังเป็นลบ โรคเรื้อรังมันไม่หายไปไหนดอก หรือหายไปแล้วมันก็จะกลับมาใหม่ เนื่องจากยีนอันเป็นผู้บงการโรคยังออกฤทธิ์ได้อยู่เพราะมีความคิดลบเป็นหัวเชื้อคอยเปิดสวิสต์ให้

สี่วันที่เราจะอยู่ด้วยกันนี้ เราจะโฟกัสไปที่การฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือในการวางความคิด เมื่อเราวางความคิดเป็น กลไกการเปิดปิดยีนก่อโรคหรือยีนรักษาโรคก็จะเปลี่ยนไป การจัดการโรคเรื้อรังให้หายจึงจะเป็นไปได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องมาอยู่ด้วยกันที่นี่สี่วัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์