Latest

หลอดเลือดหดตัว ถึงตายได้เลยหรือ?

(ภาพวันนี้: ศรีตรังกับเฟื่องฟ้าที่หลังห้องนอนเวลเนสวีแคร์)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 51 ปี เมื่อพย.65 หลังอาหารเย็นนั่งดูไอแพ็ดอยู่ ผมมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาทันที รอดูตามที่คุณหมอแนะนำนาน 20 นาทีแล้วก็ยิ่งแย่เหมือนใกล้จะตาย เมียบอกผมหน้าซีดเหงื่อแตกเต็มหน้า จึงรีบไปโรงพยาบาล … หมอตรวจคลื่นหัวใจและว่าเป็น Acute MI จึงสวนหัวใจทันทีโดยให้ผมยินยอมใส่ขดลวดหรือทำบายพาสถ้าจำเป็น แต่พอสวนหัวใจไปแล้วกลับไม่พบอะไร ผมบอกหมอว่าอาการเจ็บหน้าอกผมลดลงแล้ว แต่หมอให้รีรออยู่บนเตียงผ่าตัดราวครึ่งชั่วโมงผมก็เจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาอีก หมอก็ฉีดสีอีก คราวนี้พบว่าหลอดเลือดข้างหน้าหดตัวตีบแคบจนสีเข้าไปไม่ได้ หมอฉีดยาขยายหลอดเลือดแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น ผมนอนโรงพยาบาล 7 วันจึงได้กลับบ้านพร้อมกับยาอีกเพียบจากเดิมที่ไม่เคยกินยาเลย (หมดไปสี่แสน) หมอบอกว่าผมเป็นโรค Syndrome X มีการหดตัวของหลอดเลือดหัวใจ และบอกผมว่าอย่าเครียดแต่ผมเองไม่เห็นว่าผมจะเครียดอะไร ผมอยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าโรคของผมนี้ควรจะปฏิบัติตัวต่อไปอย่างไรดี เพราะที่หมอโรงพยาบาลสั่งเสียมาก็มีแค่กินยาลดไขมัน ลดความดัน ยาขยายหลอดเลือด ยาแก้เจ็บหน้าอก ยาแอสไพริน ให้ลดความอ้วน และห้ามเครียด แล้วนัดทุกเดือนเหมือนการรักษาโรค heart attack ทั่วไป แต่ผมรู้สึกว่าน่าจะมีอะไรที่ผมควรทำมากกว่านั้นและผมอยากมีความรู้เรื่องนี้มากขึ้นด้วย จึงขอรบกวนคุณหมอครับ

ขอบพระคุณครับ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าโรค Syndrome X คืออะไร ตอบว่าชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าไม่รู้ว่ามันคืออะไร วงการแพทย์ได้แต่เดาเอาว่าคืออาการเจ็บแน่นหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากโรคในระดับหลอดเลือดฝอยที่ฉีดสีวินิจฉัยไม่ได้เพราะเรามองไม่เห็นหลอดเลือดฝอยด้วยตาเปล่า นี่เป็นมั้งศาสตร์นะ สาเหตุแท้จริงไม่มีใครทราบ

ยังมีอึกวินิจฉัยอีกคำหนึ่งอาจจะเหมาะกับกรณีของคุณมากกว่าคือคำว่า coronary spasm ซึ่งแปลว่าหลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรง เพราะในกรณีของคุณนี้การสวนหัวใจครั้งที่สองมีหลักฐานชัดว่าหลอดเลือดเกิด spasm ขึ้นพอแก้ด้วยยาขยายหลอดเลือดก็หายไปชั่วคราว

2.. ถามว่าอะไรเป็นเหตุให้หลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรงหรือ spasm ตอบว่าอาจแบ่งได้เป็นสามเหตุใหญ่ๆนะ คือ

2.1 กลไกการบีบและขยายหลอดเลือดโดยระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าผนังหลอดเลือดซึ่งมีสามชั้น ชั้นกลางชื่อ tunica media เป็นชั้นของกล้ามเนื้อบีบหลอดเลือดซึ่งควบคุมโดยเส้นประสาทอัตโนมัติ ซึ่งทำงานถ่วงดุลกันระหว่างขา “เร่ง (sympathetic)” และขา “หน่วง (parasympathetic)” ปัจจัยใหญ่สองตัวที่จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติบีบหลอดเลือดก็คือภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ (dehydration) กับภาวะเครียดหรือถูกคุกคามใกล้เลือดตกยางออก

2.2 กลไกการขยายหลอดเลือดโดยไนตริกอ๊อกไซด์ กลไกนี้เป็นกลไกที่อาจจะสำคัญที่สุดแต่คนทั่วไปไม่ทราบ กล่าวคือผนังชั้นในสุดของหลอดเลือดชื่อ endothelium ทำหน้าที่ผลิตสารเคมีชื่อไนตริกออกไซด์ ( nitric oxide) ออกมาทำให้หลอดเลือดขยายตัว ฤทธิ์ของไนตริกออกไซด์เป็นฤทธิ์ขยายตัวหลอดเลือดที่แรงที่สุดในบรรดาสารเคมีทุกชนิดที่ร่างกายมี และวงการแพทย์ใช้ไนตริกออกไซด์แก้ปัญหาวิกฤติให้แก่ผู้ป่วยหัวใจในไอซียูมานานแล้ว การที่ร่างกายจะทำการผลิตไนตริกออกไซด์ได้ดีต้องอาศัยเซลเยื่อบุที่ทำงานได้ดี มีสารอาหารที่เป็นโมเลกุลตั้งต้นการผลิตที่เพียงพอ และอาศัยการสร้างเซลต้นกำเนิดเยื่อบุใหม่ชื่อ endothelial progenitor cell (EPC) ซึ่งสร้างที่ไขกระดูกแล้วเอามาทำงานที่เยื่อบุหลอดเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้จากการกินอาหารแบบพืชเป็นหลัก

งานวิจัยหนึ่งทำที่ญี่ปุ่นตีพิมพ์ในวารสาร Atherosclerosis เอาคนญี่ปุ่นที่เกาะโอกินาวามาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินปกติ อีกกลุ่มหนึ่งส่งผักพื้นบ้านโอกินาวาให้กินถึงบ้านวันละห้าเสริฟวิ่งทุกวันนาน 2 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มกินผักมีการเพิ่มปริมาณของเซล EPC มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มระดับโปตัสเซียม แมกนีเซียม โฟเลท และลดระดับของเสียโฮโมซีสเตอีนซึ่งเป็นอีกเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดได้มากกว่าอีกด้วย

2.3 การกระตุ้นโดยสารพิษที่เยื่อบุหลอดเลือด เช่น บุหรี่ ยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลง ไขมันในเลือดในปริมาณสูง เกลือ (sodium) ในเลือดในปริมาณสูง เป็นต้น

สรุปว่า นอกจากที่หมอเขาแนะนำให้ลดความเครียดและกินยาแล้ว สิ่งที่คุณจะทำได้ก็คือการเปลี่ยนอาหารจากการกินเนื้อสัตว์เป็นหลักมากินพืชเป็นหลัก หรือกินมังสวิรัติได้ยิ่งดี เพราะคนอย่างคุณนี้ชีวิตแขวนอยู่กับกลไกการทำงานของไนตริกออกไซด์เป็นสำคัญซึ่งกลไกนั้นต้องการอาหารพืช นอกจากนั้นยังควรระวังปัจจัยกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอันได้แก่ (1) ร่างกายขาดน้ำ (2) ความเครียด (3) สารพิษเช่นบุหรี่ ยาฆ่าหญ้า (4) ไขมันในเลือดสูง (5) กินเกลือมาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Mano R, Ishida A, Ohya Y, Todoriki H, Takishita S. Dietary intervention with Okinawan vegetables increased circulating endothelial progenitor cells in healthy young women. Atherosclerosis. 2009 Jun;204(2):544-8. doi: 10.1016/j.atherosclerosis.2008.09.035. Epub 2008 Oct 11. PMID: 19013573.

……………………………………………………….