Latest

นอนไม่หลับรุนแรง จิตแพทย์ให้กินยาแรง ไม่อยากกินจะทำอย่างไรดี

(ภาพวันนี้ : หมอสันต์ปลูกป่ามิยาวากิที่เขาใหญ่ ต้นอะรูมิไร้ อะไรมิรู้ นี้ออกลูกมา อยากกินแต่ไม่กล้ากิน ใครรู้จักช่วยบอกด้วย)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

หนูนอนไม่หลับรุนแรง หยุดยานอนหลับแล้วเป็นมากขึ้น ไปหาจิตแพทย์ ตอนนี้เริ่มกินยาใหม่ค่ะ (กินยาที่เหลือเองค่ะ ไม่ได้ไปหาหมอ) risperidone 2 mgค่ะพร้อมยานอนหลับ lorazepam 0.5 mg กินแล้วหลับค่ะ

ครั้งสุดท้ายที่พบจิตแพทย์เพื่อขอยามากินเพื่อค่อยๆหยุดยา หมอบอกว่ายังไม่หายนะอาการที่นอนไม่หลับจะกลับมาใหม่ แล้วจะรุนแรงกว่าเก่า โรคนี้กินยากันเป็นปี อย่างเร็วสุดก็ 6 เดือน ถ้าจะหยุดยาก็แล้วแต่คนไข้นะ(ตอนนี้กินยามาได้ประมาณ 3 เดือน) หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรค schizophrenia ให้กินยา risperidone 2 mg 1 เม็ดก่อนนอน lorazepam 0.5mg 1เม็ดก่อนนอน desirel 50mg 1/2 เม็ดก่อนนอน ยา benzhexol 2 mg 1/2 เม็ดก่อนนอน

 อยากขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณหมอค่ะ
1.  อาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรงนี้ เป็นอาการทางจิตหรือทางกายคะ หมอบอกว่าเกิดจากสารเคมีในสมอง ยาที่กินเข้าไปปรับสมดุลสารเคมีในสมอง

2.ไม่อยากกินยาต่อเพราะรู้สึกว่ายาทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ตาพร่ามัว ตากระตุกถี่ๆบ่อยๆ ความจำแย่ลงมากๆ เบลอๆ และมีอาการสั่นๆเล็กน้อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่เป็นไม่มากค่ะ ท้องผูกรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนตัวของลำไส้อาการทั้งหมดที่กล่าวนี้ หมอบอกว่าไม่เกี่ยวกับยาค่ะ

3.มีอาการกระวนกระวายของจิตเป็นๆหายๆ ทั้งวัน มันรู้สึกเหมือนจิตใจถูกบีบคั้น เวลาเกิดจะใช้วิธีผ่อนคลายจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จะค่อยๆดีขึ้น

4.มีอาการซึมเศร้า คือ วันนึงไม่รู้จะทำอะไรดี (นอกจากกิจวัตรประจำวัน) มันไม่อยากไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่สนใจจะดูจะฟังอะไรทั้งสิ้น

5.ไม่อยากไปหาจิตแพทย์คนเดิมแล้วค่ะ ควรทำอย่างไรกับการนอนไม่หลับนี้คะ คุณหมอกรุณาแนะนำด้วยนะคะ หรือควรไปพบแพทย์ใหม่แผนกใดค่ะ
รอคำตอบจากคุณหมอค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ
………………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรงในโรคทางจิตเช่นโรคจิตเภทก็ดี โรคซึมเศร้าก็ดี มันเป็นอาการทางจิตหรือทางกาย ตอบว่าในทางวิทยาศาสตร์ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะตอบ มีแต่สมมุติฐาน (แปลว่าเดาเอา) ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองนี้มันเป็นผลที่เกิดขึ้นตามหลังจากเกิดโรค หรือมันเป็นเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรค ยังไม่รู้เลย

แต่เรารู้แน่ว่าโรคเช่น schizophrenia และโรคซึมเศร้าระดับรุนแรง มีความผิดปกติในกระบวนการคิด (วกวน ซ้ำซาก กังวล หวาดระแวง) ในอารมณ์ (ซึมเศร้า) และในการรับรู้สิ่งเร้าผ่านอายตนะ (ภาพหลอน เสียงหลอน) การใช้ยาจิตเภท (antipsychotic drug) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่วงการแพทย์รู้ ที่จะทอนความคิดผิดปกติก็ดี อารมณ์ผิดปกติก็ดี ที่จะลดภาพหลอนเสียงหลอนก็ดี อย่างน้อยก็ในช่วงแรกที่ความคิด อารมณ์ และการรับรู้สิ่งเร้าอย่างผิดปกติมีปริมาณมากในระดับที่ไม่อาจควบคุมด้วยวิธีพูดคุย (talk therapy) ได้ ความรู้นี้วงการแพทย์ได้มาจากการลองผิดลองถูกมาหมดทุกอย่างแล้ว รวมทั้งการจับผู้ป่วยใส่กรงขัง การเอาไฟฟ้าช็อค เป็นต้น ดังนั้นการตั้งใจใช้ยาเพื่อทอนความแรงของความคิดผิดปกติลงในช่วงแรก เป็นสิ่งจำเป็นแน่นอน

อนึ่ง ในการรักษาอาการนอนไม่หลับของคุณ คุณต้องมุ่งรักษาโรคทางจิตโดยรวมก่อน ไม่ใช่จะมามุ่งรักษาแต่อาการนอนไม่หลับ เพราะอาการนอนไม่หลับเป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือเป็นผลตามหลังโรคทางจิตหรือโรคคิดมากที่ปั่นความคิดคุณให้วกวนซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา

ในทางไสยศาสตร์ แม้หลวงพ่อที่วัดดังๆก็ยังพากันยกธงขาวไม่กล้าเล่นด้วยกับผู้ป่วยจิตเภท แต่หมอสันต์มีประสบการณ์ว่าเมื่อยาได้ทำให้คนไข้เบลอๆซึ่งมีผลทอนความคิดที่เยอะ..แยะ ลงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการบำบัดด้วยกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ผู้ป่วยยอมรับได้และทำให้ผู้ป่วยเกิดสมาธิจดจ่อ เช่น งานอดิเรก ดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทอนความคิดผิดปกติลงได้มากยิ่งขึ้นอีก จนเมื่อความคิดได้ลดลงปริมาณลงมาได้ถึงจุดหนึ่ง มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะสรุปได้ชัดเจนแล้วว่าการฝึกนั่งสมาธิ (meditation) ช่วยให้ลดและเลิกยาได้มากขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น

ดังนั้นแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณตามลำดับก่อนหลังคือ

(1) โฟกัสที่การตั้งใจกินยาก่อน

(2) แล้วเริ่มทำกิจกรรมสร้างสมาธิตามควบคู่ไปด้วยตัวเองทันที ทำอะไรก็ได้ที่คุณชอบและดึงดูดคุณให้จดจ่อได้ เช่นปลูกต้นไม้ ดนตรี ร้องเพลง เขียนภาพ ทำงานศิลปะ

(3) ต่อจากนั้นจึงเริ่มนั่งสมาธิฝึกวางความคิด ด้วยเครื่องมือต่างๆที่ผมเคยสอนไป เช่นการผ่อนคลายร่างกาย การตามดูลมหายใจ การตามดูพลังชีวิต การสังเกตความคิด การจดจ่อสมาธิ เป็นต้น

2.. ถามว่าไม่อยากกินยาต่อเพราะยาทำให้เกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่ามัว ตากระตุกถี่ๆบ่อยๆ ความจำแย่ลงมากๆ เบลอๆ และมีอาการสั่นๆเล็กน้อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ท้องผูก เป็นต้น ควรทำอย่างไรดี ตอบว่าอาการทั้งหมดเป็นอาการที่เกิดจากยาจริงๆ มันน่าระอาจริงๆ อันนี้เป็นของแน่ แต่ประเด็นก็คือยาเป็นทางไปทางเดียวในระยะแรก ประโยชน์ของยามันคุ้มความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงของมัน มาถึงจุดนี้ไม่มีทางเลือกไหนที่จะมีแต่ได้ไม่มีเสีย เราต้องเลือกเอาทางเลือกที่มีทั้งได้ทั้งเสียแต่โหลงโจ้งแล้วได้มากกว่าเสีย ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณต้องกินยาไปในช่วงแรก และเริ่มการบำบัดตนเองด้วยกิจกรรมสร้างสมาธิด้วยตัวเองไปทันทีเป็นขั้นที่สอง ยิ่งคุณขยันทำกิจกรรมสร้างสมาธิมาก คุณก็จะยิ่งเลิกยาได้เร็ว แต่ทางเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลยแล้วจะเลิกยาได้เองนั้น..ยากส์

3.. ถามว่าอาการกระวนกระวายของจิตเป็นๆหายๆ ทั้งวันเหมือนจิตใจถูกบีบคั้น จะทำอย่างไร ตอบว่าก็แค่สังเกตดูมันและยอมรับ แค่นั้นแหละครับ ถ้าสังเกตทีไรก็เผลอไปคิดต่อยอดไปในทางร้ายจนควบคุมไม่ได้ทุกทีก็ให้ใช้กิจกรรมบำบัดอย่างที่ผมแนะนำข้างต้นไปก่อน

4.. ถามว่าอาการซึมเศร้า วันนึงไม่รู้จะทำอะไร ไม่อยากไปไหน ไม่สนใจจะดูจะฟังอะไรทั้งสิ้น ควรทำอย่างไร ตอบว่าไม่ก็ไม่ต้องทำอะไรครับ ไปโฟกัสที่กิจกรรมบำบัดที่เดียว ไม่ต้องคิดวิเคราะห์คาดการณ์อะไรจากอาการที่เกิดขึ้นทั้งนั้น มีอาการอย่างไรก็สังเกต ยอมรับ เศร้าก็ยอมรับว่าเศร้า แค่นั้น และเลือกกิจกรรมที่ไม่ต้องฝืนอาการมากเกินไป เช่นเศร้ามากก็เคาะเปียโนเพลงเศร้าท่อนสั้นๆซ้ำไปซ้ำมา อย่างนี้ก็ดีกว่าเศร้าแล้วคิดโน่นคิดนี่ต่อยอด

5.. ถามว่าไม่อยากไปหาจิตแพทย์คนเดิมแล้วควรทำอย่างไร ตอบว่าก็เปลี่ยนไปหาจิตแพทย์คนอื่นสิครับ

ถามว่าควรไปหาแพทย์แผนกอื่นที่รักษาโรคนอนไม่หลับโดยตรงดีไหม ตอบว่าไม่ดีครับ เพราะอาการนอนไม่หลับของคุณเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณความคิดมันแยะเกิน พูดง่ายๆว่าสติแตก โรคอย่างนี้ต้องจิตแพทย์จึงจะเป็นการไปถูกที่

ประเด็นสำคัญคือสำหรับผู้ป่วยโรคความคิดแยะทั้งหลาย จิตแพทย์คือกัลยาณมิตรที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียว หลวงพ่อที่วัดท่านก็ไม่กล้ายุ่งด้วย คุณจึงเหลือจิตแพทย์เท่านั้นที่จะเป็นกัลยาณมิตรที่จะช่วยดึงคุณให้ขึ้นมาจากหลุมนี้ได้ ดังนั้นอย่าปฏิเสธการรักษากับจิตแพทย์ คุณจะมีแต่ได้กับได้ ผมยังไม่เห็นผลเสียอะไรเลยกับการที่ผู้ป่วยที่ควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้จะไปรับการรักษากับจิตแพทย์ และผมได้เคยเห็นผู้ป่วยของผมเองจำนวนหลายคนที่ได้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความช่วยเหลือของจิตแพทย์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์