Latest

สุนทรียะ (Aesthetic) จปฐ. สำหรับการเป็นผู้สูงวัย

(ภาพวันนี้ : ฮอลลี่ ฮอค ต้นฤดูร้อน)

วันนี้ของดตอบคำถามหนึ่งวัน เพื่อเขียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ก่อนอื่นโปรดสังเกตว่ามีคำใหม่เพิ่มเข้ามาสองคำ คือ “สุนทรียะ” กับ “จปฐ.”

ขอขยายคำว่า จปฐ. ก่อนนะว่ามันคืออะไร คำนี้ย้อนหลังไปประมาณปีพ.ศ. 2532 รัฐบาลได้กำหนด “ความจำเป็นพื้นฐาน” เขียนย่อว่า จปฐ. ขึ้นมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาชนบท โดยนิยามว่าเกิดเป็นคนไทยต้องได้ จปฐ. ครบถ้วนซึ่งแยกเป็นหมวดสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา การมีงานทำ และการมีค่านิยมในชีวิตที่ดี รายละเอียดกว่านี้ผมจำไม่ได้แล้วและไม่ใช่สิ่งที่ผมจะเขียนถึง เพราะผมแค่ยืมคำว่า จปฐ. มาใช้เพราะเห็นว่ามันเท่ดีเท่านั้นเอง

อีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำหลักของวันนี้ “สุนทรียะ” มันคืออะไร

ผมนิยามว่าสุนทรียะ (aesthetic) คือการเกิดความรู้สึกดีๆ (good feeling) เมื่อเห็นสิ่งสวยๆงามๆ

ฟังดูเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับผู้สูงวัย แต่มันเกี่ยวแบบเกี่ยวต่อๆกันมาเป็นทอดๆ ท่านต้องตั้งใจอ่านจึงจะเข้าใจ

ทำไมคนแก่ต้องสนใจสุนทรียะ

กล่าวคือปัญหาของผู้สูงวัยคือการป่วยเป็นโรคเรื้อรังสารพัด ต้องกินยาเป็นกำมือ และสะง็อกสะแง็ก เดินเหินลำบาก หรือไม่ก็ติดเตียง มีชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ

ซึ่งโรคเรื้อรังทั้งหมดนั้นมันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลในร่างกายที่เรียกรวมๆว่า metabolites จำนวนเท่าที่วงการแพทย์รู้จักแล้วอย่างน้อยก็ 2,600 ตัว บางตัวเร่งให้เป็นโรคเรื้อรัง บางตัวเร่งให้หายจากโรคเรื้อรัง

ซึ่งโมเลกุลเหล่านั้นล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยเซลล์ต่างๆของร่างกายเอง โดยสร้างขึ้นตามคำสั่งของรหัสพันธุกรรมหรือยีนที่กำกับเซลล์นั้นอยู่

ซึ่งสวิสต์ประจำรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ถูกเปิด (upregulate) หรือปิด (down regulate) โดยปัจจัยแวดล้อม อันได้แก่อาหาร เชื้อโรค สารพิษ/สารเคมีจากภายนอก และความคิดและอารมณ์ของเจ้าของร่างกายนั้นเอง

งานวิจัยพบว่าอารมณ์ลบเช่น กลัว กังวล โกรธ เกลียด หงุดหงิด เศร้า เสียใจ ทำให้เซลล์ของร่างกายช่วยกันผลิตฮอร์โมนเครียดเช่นคอร์ติซอล และสารเร่งการอักเสบต่างๆที่จะไปมีผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้ทุกโรค

ขณะเดียวกันอารมณ์บวกเช่นการผ่อนคลาย ความรัก ความเมตตา เอื้ออาทร โอนอ่อนผ่อนปรน จะชักนำให้เซลล์ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่จะไปมีผลดีต่อการรักษาโรคเรื้อรังเช่น เอ็นดอร์ฟิน ออกซีโตซิน โดปามีน ไนตริกออกไซด์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการออกฤทธิ์ผ่านยีนของแต่ละเซลล์นั่นเอง

เซลล์ร่างกายของคนป่วยเป็นโรคเรื้อรังเกือบร้อยทั้งร้อยได้ผ่านการฝึกซ้อมการสนองตอบต่ออารมณ์ลบและบ่มความเครียดให้เกิดขึ้นซ้ำๆซากๆมานานหลายสิบปีจนทำได้เก่ง ทำได้คล่อง โดยไม่รู้ตัว ขณะที่อารมณ์บวกนั้นทำไม่เป็นเพราะไม่ได้ฝึกซ้อมมา

ผลสรุปโหลงโจ้งก็คือชีวิตที่วนเป็นลูกข่างสาละวันเตี้ยลง หรือจะเรียกว่ามันเป็นปรากฎการณ์ “กรรมเก่า” ก็ได้ คือยิ่งบ่มอารมณ์ลบมามาก เมื่อแก่ตัวก็ยิ่งมีอารมณ์ลบมากขึ้น โรคเรื้อรังก็จึงยิ่งมากขึ้นตาม

การแก้ไขโรคเรื้อรังจึงต้องแก้ที่ต้นเหต คือต้องเริ่มฝึกบ่มอารมณ์บวกเสียแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป อารมณ์บวกที่สร้างขึ้นวันนี้ นอกจากจะให้ผลดีทันทีในวันนี้แล้ว ยังจะฝังเป็นความจำ หรือเป็น “กรรมดี” ไปโผล่เป็นอารมณ์บวกในวันข้างหน้า

นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้สูงอายุต้องรู้จักสุนทรียะ และรู้จักใช้ประโยชน์จากสุนทรียะ

ธรรมชาติที่แท้จริงของสุนทรียะเป็นอย่างไร

ผมได้ให้นิยามไปแล้วว่าสุนทรียะคือความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นเมื่อพบเห็นสิ่งสวยๆงามๆ

เราพูดถึงความรู้สึก (feeling) นะ เราไม่ได้พูดถึงความคิด (thought)

สุนทรียะมันเป็นธรรมชาติประจำเผ่าพันธ์มนุษย์ มันมาก่อนภาษา อย่าลืมว่าภาษาเป็นที่มาของคอนเซ็พท์หรือความคิด แต่สุนทรียะมันเป็นลักษณะประจำตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ทำไมคนทุกชาติทุกภาษาจึงมีความรู้สึกเบิกบานคล้ายๆกันเมื่อเห็นตะวันขึ้น เมื่อเห็นตะวันตก เมื่อเห็นหยาดฝนค้างบนใบไม้หลังฝนตกใหม่ๆ หรือเมื่อเห็นลูกของสัตว์ตัวเล็กๆที่น่ารัก ทำไมพ่อแม่จึงรักและผูกพันกับลูก ทำไมเมื่อเห็นคนเศร้าแล้วเรามีเมตตาธรรมอยากปลอบโยน นี่มันเป็นลักษณะร่วมที่คนทุกชาติทุกภาษามีเหมือนกันหมด

ส่วนสำนึกว่าเราเป็นบุคคลหรืออีโก้ก็ดี คอนเซ็พท์ต่างๆก็ดี มันเป็นภาษา มันมาทีหลัง

การฝึกเปลี่ยนความคิดจึงไม่สำคัญเท่าการฝึกเปลี่ยนความรู้สึก เพราะความรู้สึกเป็นรากเหง้ารองรับการเกิดความคิด ความรู้สึกที่ดีจะชักนำให้เกิดความคิดดีแทบจะเป็นอัตโนมัติ ขณะที่ความคิดดีๆนั้นบ่มขึ้นในใจตรงๆได้ยากเพราะต้องมีตรรกะของเหตุผลและความเป็นห่วงที่จะต้องปกป้องตัวตนมาคอยขัดแย้งทำให้ความคิดดีๆเกิดไม่ได้ แต่ความรู้สึกดีๆจากการเห็นสิ่งสวยๆงามๆเกิดขึ้นได้ทันทีโดยไม่ขัดผลประโยชน์ของตัวตน เพราะมันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์

ย้ำอีกทีว่าสุนทรียะมันเกิดขึ้นจากภาวะปลอดความคิดนะ เมื่อสงัดจากความคิด เหลือแต่ความรู้ตัวอยู่ในความว่าง อาจจะแว้บหนึ่ง แว้บนี้แหละจะมีพลังงานจากข้างนอกไหลเข้ามาสู่เราในรูปของความรู้สึกดีๆ ส่วนหนึ่งเป็นความเบิกบาน อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญญาญาณที่จะช่วยชี้นำให้เราเข้าถึงสุนทรียะต่อสิ่งรอบตัว ดังนั้นต้องปลอดความคิดก่อน สุนทรียะจึงจะเกิดขึ้นได้

สังคมไทยไม่เคยพูดถึงสุนทรียะ ทั้งๆที่มันมีความจำเป็น ชีวิตผู้คนทุกวันนี้มัวไปขลุกอยู่ในความคิด ในรูปของการปากกัดตีนถีบทำมาหากินหรือการไล่ตามความต้องการเชิงวัตถุ การไปทางนั้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จในแง่ของการได้เงินได้วัตถุ แต่สุดท้ายมันก็จะเป็นทางตันอยู่ดีเพราะความเบิกบานในชีวิตไม่ได้เกิดจากการได้ครอบครองอะไร การลำพองว่าได้ครอบครองอะไรนั้นมันเป็นเพียงความคิด แต่ความเบิกบานมันเป็นความรู้สึก มันเป็น feeling มันคนละเรื่องกับความคิด ท้ายที่สุดจึงจะพบว่าทางนั้นเป็นทางตันเสมอ ถึงตรงนั้นแล้วจึงค่อยรู้สึกว่าชีวิตมันควรจะมีอะไรมากกว่าการมาหมักเม่าอยู่กับความคิดเชิงวัตถุนิยมอย่างนี้ การจะผ่าทางตันนี้ มันต้องวางความคิดแล้วถอยกลับมาสู่รากของความเป็นมนุษย์ของเรา นั่นก็คือสุนทรียะ คนไทยจึงควรจะหันมาพูดถึงสุนทรียะและทดลองปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสุนทรียะกันให้มากขึ้น

วิธีใช้ประโยชน์จากสุนทรียะ

มันมีอยู่สองประเด็น

ประเด็นที่ 1. หัดมองให้เห็นสุนทรียะในทุกสิ่งรอบตัว

แค่มี แสง ความสวยงามก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตก แสงจันทร์ แสงดาว นอกจากแสงแล้วเงาก็เป็นความสวยงาม ความจริงสำหรับนักเรียนศิลปะ ครูมักจะสอนว่าแสงและเงาคือทุกสิ่งทุกอย่างของการสร้างสรรค์งานศิลปะ

นอกจากแสงแค่มี เสียง ความสวยงามก็เกิดขึ้นได้แล้ว สรรพเสียงในธรรมชาติมีความไพเราะ ประณีต บรรจง และสอดประสานกันอย่างลงตัวของมันเอง หากรู้จักสนใจจับประเด็นก็จะจับความไพเราะนั้นได้ เสียงดนตรีก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสุนทรียะ

แค่มี การเคลื่อนไหว ความสวยงามก็เกิดขึ้นได้แล้ว จึงไม่แปลกเลยที่ความพริ้วไหว (vertuosity) เป็นแง่มุมหลักอันหนึ่งของสุนทรียะ ทำไมเราชอบดูทีวีถ่ายทอดแข่งบัลเลต์โอลิมปิกทั้งๆที่เรายังไม่รู้กติกาของเขาด้วยซ้ำไป หรือทำไมเรามองเห็นความสวยงามของภาพเขียนภู่กันจีนที่ตวัดแค่สองสามที ในภาพมีแค่กิ่งไผ่ลู่ลมกิ่งเดียวและใบไผ่ปลิวลมสองสามใบเท่านั้น

นอกจากแสง เงา เสียง และการเคลื่อนไหวแล้ว สไตล์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชีวิตก็เป็นความสวยงามโดยตัวของมันเอง แค่เรามองเห็นกระรอกลุกลี้ลุกลนอุ้มผลไม้ไปซ่อนเราก็เกิดความรู้สึกดีๆได้แล้ว หรือเวลาเรามองภาพเขียนของจิตรกร บางคนเขียนภาพซะเรียบร้อยละเอียดด้วยความพากเพียร เราเห็นแล้วยังชอบไม่มากเท่าอีกคนหนึ่งที่ป้ายโน่นป้ายนี่เปะปะแต่มีสไตล์ของตัวเองมากกว่า เพราะสไตล์ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของสุนทรียะ

ขั้นแรกนี้คือให้หัดมองเห็นสุนทรียะจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เพื่อให้ความรู้สึกดีๆได้มีโอกาสเกิดขึ้นในใจก่อน

ประเด็นที่ 2. แต่ละครั้งให้หัดบ่มความซาบซึ้งในสุนทรียะให้อยู่ในใจนานๆ

เมื่อเกิดความรู้สึกดีๆอะไรขึ้นในใจครั้งหนึ่ง ให้บ่มความรู้สึกนั้นไว้อย่างน้อยสัก 20 นาที เช่นพบวิวสวยๆก็ให้หยุดมองอย่างซาบซึ้งพักใหญ่ เพราะประสบการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นในใจเรานี้มันเหมือนกับการแพนหรือการส่ายกล้องวิดิโอไปเรื่อยเปื่อย เวลาเรากรอม้วนวิดิโอกลับเพื่อเลือกดูตอนสำคัญ เราหาตอนสำคัญไม่เจอเพราะมันเหมือนกันไปหมด การบันทึกประสบการณ์ไว้เป็นความจำของใจเราก็เช่นเดียวกัน แต่หากเราบ่มความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นไว้ในใจนานๆ มันเหมือนกับเราฟรีซเฟรมของวิดิโอให้เป็นภาพนิ่งไว้พักหนึ่งก่อนที่จะแพนกล้องผ่านไป ทุกครั้งที่เรากรอวิดิโอกลับมาดูเราก็จะเห็นเฟรมที่ฟรีซไว้นี้

โดยธรรมชาติของการรีไซเคิลความจำ ความรู้สึกดีๆที่เราทำเป็นฟรีซเฟรมไว้นี้จะถูกฉายขึ้นเป็นความรู้สึกดีๆซ้ำๆ อีกในอนาคต นั่นคือเราสร้างความรู้สึกดีไล่ที่ความรู้สึกลบที่เป็นเจ้าประจำอยู่ในหน่วยความจำของเราได้สำเร็จ

ผมจึงบอกว่าการรู้จักสุนทรียะ รู้จักใช้ประโยชน์จากสุนทรียะ เป็น จปฐ. สำหรับการเป็นผู้สูงวัยและการเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกคน เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะเปลี่ยนตัวเองด้วยการสร้างอารมณ์บวกไล่อารมณ์ลบได้สำเร็จ ซึ่งจะมีผลไปเปลี่ยนการทำงานของยีนที่เคยแต่จะทำให้เราเป็นโรคให้กลายเป็นยีนที่ทำให้เราหายจากโรคได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์