Latest

หมอสันต์สอน Meditation ชนิดไร้รูปแบบ เรียกว่า “โต๋เต๋คนเดียวในความเงียบ”

(ภาพวันนี้ ; สวนที่เจ้าของทิ้ง มันดูแลตัวเองได้ ต้นคอสมอสที่ปลูกเมื่อหน้าหนาว ทิ้งลูกไว้มาออกดอกเองเมื่อหน้าร้อน)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์ SR)

เช้าวันนี้เราจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง เพราะการเรียนในฮอลล์เรื่องใช้การทำงานสร้างสมาธิ ครูสอนเขาจะต้องเริ่มเวลาเก้าโมงครึ่งเป๊ะ เช้านี้ผมจึงจะเลิกแปดโมง จะได้มีเวลากินข้าวแล้วอาบน้ำอาบท่าได้ทัน

เช้านี้เราจะฝึกปฏิบัติ meditation ในรูปแบบที่ไม่มีพิธีรีตองหรือขั้นตอนปฏิบัติใดๆเลย เป็นการนั่งโต๋เต๋อยู่คนเดียวในความเงียบ พูดแบบบ้านๆได้ว่าเราจะฝึกอยู่กับปัจจุบัน

ก่อนอื่น เรามานิยามคำสำคัญให้เข้าใจตรงกันเสียหน่อยนะ

  1. การทำงานกับการใช้ชีวิ หรือ work life balance มาตกลงกันก่อนนะว่าเราจะแยกการทำงานออกจากการใช้ชีวิต แยกด้วยการแบ่งเวลา ให้เวลาทำงานไปเลยตามความขยัน วันละแปดชั่วโมง หรือเก้าชั่วโมง หรือสิบชั่วโมง เอาไปเลย คงไม่มีใครทำงานเกินสิบชั่วโมงนะ ถ้ามีก็คงจะเป็นคนบ้างานหรือไม่ก็เข้าใจชีวิตผิดไปว่าขณะกำลังบ้าอยู่ในวามคิดนั้นคือการทำงาน

กฎกติกาคือเวลาทำงาน เอาไปเลย แต่เวลาใช้ชีวิต อันได้แก่อาบน้ำแปรงฟันขับรถกินข้าวหรือทำอะไรอื่นๆรวมทั้งนั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ เป็นเวลาใช้ชีวิตอย่าเอางานมายุ่ง ก็คือแบ่งเวลา ถ้าทำไม่ได้ก็จบข่าว การมา spiritual retreat นี้ไม่มีประโยชน์ กลับบ้านได้เลย ถ้าทำไม่ได้ให้ถามตัวเองว่าแล้วทำไมตอนเด็กๆทำได้ ชั่วโมงเรียนเราเรียนชั่วโมงพักเราพัก ทำไมเราทำได้ แถมการแบ่งเวลาหรือตารางสอนในวัยเด็กแบ่งซับซ้อนกว่านี้อีกคือวันหนึ่งต้องแบ่งให้ตั้งหลายวิชา พอโตขึ้นนี่เราแบ่งแค่สองช่อง คือเวลาทำงานกับเวลาใช้ชีวิต ใครที่แบ่งเวลาแค่นี้ไม่ได้ให้กลับไปเรียนรู้จากเด็กประถมว่าทำไมเขาทำได้

2. อดีต คือความคิดที่เราคิดขึ้นเมื่อปัจจุบัน ที่มีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับความเสียใจ เสียดาย โกรธ เกลียด มีน้อยมากที่จะเป็นเรื่องความภาคภูมิใจ แต่ไม่ว่าจะเรื่องเป็นอะไร ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของดี แม้แต่ความภาคภูมิใจก็มีเนื้อแท้เป็นแค่การอวยอัตตาของเราเองให้มันใหญ่ขึ้น ซึ่งสวนทางกับทางที่เราจะเดินไปข้างหน้าที่จะมุ่งลดอัตตาลง

3. อนาคต คือความคิดที่เราคิดขึ้นเมื่อปัจจุบัน ที่มีเนื้อหาเป็นความกลัว ความกังวล ความคาดหวัง อีกนั่นแหละ ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรดี

ทั้งอดีตและอนาคตเป็นความคิดที่เราคิดขึ้นที่ปัจจุบัน อันที่จริงความคิดทั้งหมดมีเนื้อหาไม่เป็นเรื่องอดีตก็เป็นเรื่องอนาคตทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันจะไม่ปรากฎเป็นเนื้อหาอยู่ในความคิด อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่เวลาทำงานนะ เป็นเวลาใช้ชีวิต ในการใช้ชีวิตปัจจุบันปรากฎต่อเราในรูปของการรับรู้ (perception) ที่เดี๋ยวนี้ ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และใจ ถ้าเป็นการโผล่มาของความคิด เราก็รับรู้แค่ว่าความคิดโผล่มา เราไม่ลงเนื้อหา เพราะเมื่อใดที่เราลงไปในเนื้อหา เมื่อนั้นเราทิ้งปัจจุบันไปแล้ว ดังนั้นกฏกติกาในการฝึกปฏิบัติเช้านี้ก็คือห้ามลงไปในเนื้อหาของความคิด เพราะนั่นไม่ใช่ปัจจุบัน แต่เราจะฝึกอยู่กับปัจจุบัน

แล้วการอยู่กับปัจจุบันนี่เป็น verb to be นะ ไม่ใช่ verb to do ดั้งนั้นไม่ต้องทำอะไร แค่ be ซึ่งแปลเป็นไทยว่าเป็น บวกอยู่ บวกคือ หารด้วยสาม

4. ความรู้ตัว ถามว่าอ้าว คิดก็ไม่ให้คิด ทำก็ไม่ให้ทำ แล้วจะเหลืออะไรละ ตอบว่า ก็เหลือความรู้ตัวไง

เรามานิยามคำว่าความรู้ตัวนี้ให้เข้าใจตรงกันสักหน่อย

มีคนถามว่าความรู้ตัวเป็นอันเดียวกับความรู้สึกตัวหรือเปล่า ตอบว่าเออ ภาษามันมีข้อเสียก็ตรงนี้แหละ มันเป็นคนละอันนะ “ความรู้สึกตัว” ภาษาอังกฤษว่า “feeling” ภาษาบาลีว่า “เวทนา” เป็นเรื่องของการรับรู้พลังชีวิตผ่านความรู้สึกทางร่างกายบ้าง (เช่นความรู้สึกยิบยับซู่ซ่า หรือความปวด) ผ่านความรู้สึกทางใจบ้าง เช่นความรู้สึกอึดอัด ความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย ไม่เกี่ยวกับความคิดนะ feeling ไม่เกี่ยวกับ thought เป็นคนละอันกัน feeling เป็นสิ่งที่ปรากฎต่อเราที่ปัจจุบัน เป็นของดี เรารับรู้มันได้ ยอมรับมันได้ อยู่กับมันได้ แต่มันมีธรรมชาติมาแล้วก็ไป ส่วนความคิดหรือ thought นั้นเป็นสิ่งที่ลากเราออกจากปัจจุบันไปหาไม่อดีตก็อนาคต ไม่เสียใจเสียดายผิดหวังก็กลัวกังวลคาดหวังหรือจินตนาการฟุ้งสร้าน ดังนั้น thought เป็นของไม่ดี เราต้องคอยหันหลังให้มัน ไม่เป็นเพื่อนกับมัน และไม่เผลอถูกมันลากไป

ส่วนความรู้ตัวนั้นคือความตื่นและความสามารถรับรู้ (consciousness) บางคนเรียกว่า “ธาตุรู้” มันเป็นตัวเราที่แท้จริง มันเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของความเป็นเรา ดังนั้นเรามาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นสักหน่อย มันก็เป็นพลังงานเช่นเดียวกับความคิดและพลังชีวิตนั่นแหละ แต่มันมีหลายระดับชั้นของความละเอียดลุ่มลึก และหลายระดับชั้นของความแคบความกว้าง

ในแง่ของระดับชั้นความละเอียดลุ่มลึก มีคนแบ่งความรู้ตัวออกอย่างหยาบๆเป็นสามระดับคือ

สัญชาติญาณ (instinct)

เชาวน์ปัญญา (intellect)

ปัญญาญาณ (intuition)

สังเกตว่ามีการใช้คำว่า in นำหน้าหมดนะ ซึ่งสื่อความหมายว่าทั้งสามระดับนี้ล้วนติดตัวเรามาแล้วแต่เกิด ไม่ใช่สิ่งที่จะมาสร้างเสริมพอกพูนเอาได้ มีแต่ว่าเราจะสามารถใช้ส่วนไหนได้แค่ไหนเท่านั้นแหละ

ในแง่ของระดับชั้นของความกว้างแคบ สมมุติว่าลูกโป่งที่ผมถืออยู่ในมือนี่เป็นชีวิตของเราเมื่อเกิดมาใหม่ยังเป็นเด็กเล็กๆนะ มันประกอบด้วยสองส่วน

ส่วนที่หนึ่ง คือผิวลูกโป่งเปรียบได้กับความคิด หรือคอนเซ็พท์ ที่ถักทอขึ้นเป็นอัตตาหรือความเป็นบุคคลของเรา

ส่วนที่สอง คือลมที่อยู่ข้างใน ตอนนี้ไม่ได้เป่าลูกโป่ง แต่ก็มีลมอยู่ข้างในบ้าง ลมนี้เป็นหนึ่งเดียวกับลมที่อยู่ข้างนอก แลกเปลี่ยนกันไปมาได้ เป็นหนึ่งเดียวกัน ลมนี้เปรียบได้กับความรู้ตัว หรือ consciousness

คราวนี้ผมเป่าลูกโป่งแล้วมัดปากมันไว้ ลูกโป่งใบนี้คือชีวิตเราเมื่อเติบโตขึ้นมาแล้ว เราก่อความคิดขึ้นมาเป็นคอนเซ็พท์ต่างๆถักทอสานกันแน่นหน้ากลายเป็นตัวตนหรือ identity ของเรา ก็คือผิวของลูกโป่งใบโตนี้ ส่วนข้างในก็ยังเป็นลม ซึ่งเปรียบได้กับความรู้ตัว แต่คราวนี้ลมนี้ถูกขังไว้ในลูกโป่ง เชื่อมต่อกับลมข้างนอกไม่ได้เสียแล้ว ผมเรียกมันว่าเป็นความรู้ตัวที่ถูกจำกัด (limited self) ก็แล้วกัน

คราวนี้หากเกิดมีเหตุใดก็ตามทำให้ลูกโป่งนี้แตก แล้วลมในลูกโป่งจะไปไหนเสียละ มันไม่ได้ไปไหน มันก็กลับไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับลมข้างนอกลูกโป่งซึ่งความจริงมันก็เป็นหนึ่งเดียวกันมาแต่ดั้งแต่เดิมอยู่แล้ว อุปมาอุปไมย เมื่อคอนเซ็พท์หรือกรอบความคิดที่ถักทอเป็นอัตตาของเราถูกทำลายหายไป ความรู้ตัวที่เคยถูกจำกัดให้รู้ให้เห็นได้แต่ภายในกรอบของอัตตาก็จะกลายเป็นอิสระ (unlimited self) กว้างไกลไร้ของเขต ซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมัน ไม่มีอะไรมาจำกัดการรู้การเห็นอีกต่อไป คือพูดง่ายๆว่าเมื่อหมดความคิด ความรู้ตัวส่วนละเอียดที่เป็นปัญญาญาณที่เราไม่เคยได้รับรู้สัมผัสก็จะโผล่เข้ามาสู่การรับรู้ได้

5. การยอมรับ (acceptance) คือการที่เราดำรงตนอยู่นิ่งๆ อยู่ตรงกลางๆ อะไรจะผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ของเรา เรารับรู้ และยอมรับหมดว่ามันมาแล้ว มาอยู่กับเราแล้ว มันไปจากเราเราก็ยอมรับว่ามันไปแล้ว ไม่แกว่งไปกอดรัดยึดยื้อสิ่งที่ชอบหรือที่อยากได้เอาไว้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่เราไม่ชอบไม่อยากได้ อยู่นิ่งๆตรงกลาง นี่เรียกว่าการยอมรับ การยอมรับเป็นหัวใจของการอยู่กับปัจจุบัน เพราะหากเราไม่ยอมรับสิ่งที่ปรากฎต่อเราที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทางไปที่เหลือทางเดียวของเราคือมุดเข้าไปในความคิดซึ่งจะพาเราหนีไปที่อดีตหรืออนาคต อดีตอนาคตไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง มันเป็นแค่ความคิดที่เราอาศัยให้มันพาเราหนีออกไปจากปัจจุบันซึ่งเรายอมรับไม่ได้ ดังนั้น การจะอยู่กับปัจจจุบันต้องยอมรับทุกอย่างที่ปรากฎต่อเราในปัจจุบันให้ได้ก่อน นี่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของการจะอยู่กับปัจจุบัน

โอเค. เราได้นิยามศัพท์สำคัญให้เข้าใจตรงกันแล้ว คราวนี้ถึงเวลาเล่นเกม “โต๋เต๋คนเดียวอยู่ในความเงียบ”

เรารู้ตัวอยู่ว่าเรานั่งอยู่ที่นี่ บนสนามหญ้านี้ จะนั่งท่าไหนก็ได้ แต่ขอให้หลังตรง จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้

วิธีเล่นเกมก็คือนั่งโต๋เต๋อยู่คนเดียวในความเงียบ ไม่มีพิธีกรรมใดๆทั้งสิ้น เป้าหมายคือให้ได้อยู่กับความรู้ตัวโดยไม่มีความคิดรบกวน เครื่องมือที่ใช้ก็คือเครื่องมือวางความคิดทั้งเจ็ดชิ้นที่เรียนไปแล้วนั่นแหละ อันได้แก่ (1) สติหรือความสนใจ (attention) ของเรา (2) ลมหายใจ (breathing) (3) การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) (4) การรับรู้พลังชีวิตผ่านความรู้สึกบนร่างกาย (body scan) (5) การสังเกตความคิด (thought observation) (6) การกระตุ้นตัวเองให้ตื่น (alertness) (7) การจดจ่อสมาธิ (concentration) ให้หยิบเครื่องมือทั้งเจ็ดขึ้นมาใช้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจะใช้อะไรก่อนอะไรหลัง จะใช้ทีละอันหรือจะใช้ทีละหลายอัน ได้ทั้งนั้น

ผมจะให้เวลาสิบนาทีกับการโต๋เต๋นี้ โดยจะเคาะระฆังเป็นพักๆเพื่อเตือนคนใจลอย เอ้า.. เริ่ม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์