Latest

อายุน้อย เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะรุกล้ำหรือไม่รุกล้ำ แล้วลูกน้อยห้องแข้งจะทำยังไงดี

(ภาพวันนี้: ดอกกล้วยไม้เหลืองจันทร์ ที่บ้านบนเขา)

เรียน  นายแพทย์ สันต์ ใจยอดศิลป์

สิ่งที่ ส่งมาด้วย  ประวัติการรักษา

        เนื่องด้วยกระผม นาย … อายุ  49  ปี น้ำหนัก 74 กก ส่วนสูง  169 มีอาการเดินออกกำลังกายเเล้วช่วงห้านาทีแรกจะเหมือนจุกเสียด พอเดินผ่านช่วงห้านาทีเเรกไปเเล้วเป็นปกติ ตรวจเดินสายพานพบว่าการฟื้นตัวจากการออกกำลังกายช้า ได้รับการวินิจฉัยว่าเส้นเลือดหัวใจตีบหลังจากเดินสายพานเเล้วในช่วงนาที ที่ 6  เครื่องได้ครวจผิดความผิดปกติ  ทางคุณหมอได้วินิจฉัยว่า เส้นเลือดหัวใจตีบ เเนะนำทำการฉีดสี  ซึ่งจากการศึกษาก้อมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่ได้  ซึ่งกระผมมีความคิดเห็นว่าจะลองทางเลือก ปรับพฤติกรรม การทานอาหาร เเละบริหารความเครียดดูก่อน เเต่เนื่องจากการที่เลือกไม่ทำบอลลูน ทำให้ไม่กล้าที่ไปพบเเพทย์ที่เเนะนำทำบอลลูนได้ จึงอยากจะขอคำเเนะนำจากอาจารยว่า สามารถพบอาจารย์สันต์ เพื่อเเนะนำการดูเเล  เเละ การทานยาอะไรเเละปรับพฤติกรรมการทานอาหาร  เพื่อจะรักษาโดยไม่ทำบอลลูน เเละถ้าอาจารย์ไม่ออกตรวจเเล้ว จะมีอาจารยท่านใดที่ ข้าพเจ้าสามารถไปรับคำเเนะนำเเละจ่ายยาเพื่อรักษาอาการพร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หายจากโรคนี้ ซึ่งข้าพเจ้ายังมีลูกสี่คนที่ยังเล็ก ที่ต้องดูเเล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากทานยาละลายไขมัน กระผมสามารถที่จะกลับมาเดินได้ เเต่การขึ้นที่สูงยังไม่กล้าทำ ส่วนน้ำหนักปัจจุบัน ลดลงเหลือ 72 กก  ซึ่งต้องการคำเเนะนำที่ถูกต้องเเละ วางแผนควบคุมการทานอาหารให้ดีพอ  

คุณหมอ ได้ สั่งยา 1) ละลายไขมัน Chlovas 40  mg 2) Aspirin  81 mg 1*1 3) Apolet 75 Mg 1*1 4) Pronolol 50 Mg 1*1     

เเละเรียน สอบถามอาจารย์ว่าบุตรสาวข้าพเจ้าอายุ 14 year เป็นนักกีฬาเเบตมินตัน  มีอาการเหงื่อออกที่มือ  มากกว่าคนทั่วไปควรไปตรวจไหมว่ามีโอกาสเกี่ยวกับเรื่องหัวใจ 

ขอสอบถาม อาจารย์มีออกตรวจ ที่ไหน บ้างครับ หรืออาจารย์ไม่ออกตรวจเเล้วจะมีอาจารย์ท่านใดที่แนะนำการรักษาทางไม่ลุกล้ำ เวลานี้น้ำหนัก 72 กก  

ข้าพเจ้าขอความอนุเคราห์ ในการเเนะนำเพื่อจะวางแผนชีวิตต่อไป 

ด้วยความเคารพอย่างสูง 

นาย ….

………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่ามีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง ไปตรวจวิ่งสายพานแล้วพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจซึ่งแสดงภาวะขาดเลือดกลับคืนตัวช้า แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หมอสันต์เห็นว่าไง ตอบว่าเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนั้นครับ ว่าคุณป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน (stable angina) คำวินิจฉัยนี้แน่นอนชัดเจนแล้ว ไม่ต้องขวานขวายไปตรวจยืนยันอะไรอีก ให้เริ่มดูแลรักษาตัวเองแบบคนเป็นโรคนี้ไปได้เลย ด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไม่ผัดไม่ทอด ออกกำลังกาย และวางความคิดกังวลลงไม่ให้เครียด

2.. ถามว่าหมอแนะนำให้ไปตรวจสวนหัวใจ (CAG) สมควรจะไปตรวจไหม ตอบว่าคนที่เจ็บหน้าอกเพราะหลอดเลือดหัวใจตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้าง โดยที่ระดับการเจ็บหน้าอกไม่มากถึงเกรด 4 (ของคุณนี้เป็นเกรด 1-2) การรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูน บายพาส) กับการรักษาแบบไม่รุกล้ำ ให้ผลไม่ต่างกันในแง่ของอัตราตายระยะยาว

ดังนั้นการคิดจะทำการรักษาแบบรุกล้ำจึงทำเพื่อแก้ไขคุณภาพชีวิต (บรรเทาอาการ) เท่านั้น หากคุณเห็นว่าอาการที่เป็นอยู่นี้มันหนักหนาสาหัสจนรบกวนคุณภาพชีวิตมาก อยากจะบรรเทาอาการด้วยการทำบอลลูนบายพาส ก็ไปสวนหัวใจได้ แต่หากคุณเห็นว่าอาการที่เป็นมันไม่ได้รบกวนอะไรคุณมาก ก็ไม่ต้องคิดรักษาแบบรุกล้ำ จีงไม่ต้องไปตรวจสวนหัวใจ แต่เลือกวิธีรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทน เพราะการตรวจสวนหัวใจจะทำก็ด้วยเหตุผลเดียว คือเพื่อจะคัดเลือกคนป่วยไปทำการรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูน บายพาส) หากหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ทำการรักษาแบบรุกล้ำอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปตรวจสวนหัวใจให้เกิดความเสี่ยงตายจากการตรวจเปล่าๆ (อัตราตายหรือเกิดอัมพาต 1:1,000 ถึง 1:2,000)

การรักษาแบบรุกล้ำยังมีประเด็นต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งอย่าง คือต้องกินยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันตรงที่ใส่ขดลวด (in-stent stenosis) ไปตลอดชีวิต ซึ่งพ่วงมาด้วยยาลดการหลั่งกรดแบบตลอดชีพเพราะหมอคนใส่ขดลวดกลัวเลือดออกจากการระดมอัดยาต้านเกล็ดเลือด โดยที่ยาต้านการหลั่งกรดนี้เป็นยาที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรัง จึงมีโอกาสจะได้โรคไตเรื้อรังแถม

อีกประการหนึ่ง การซื้อบริการรักษาแบบรุกล้ำนี้เป็นการซื้อตั๋วเครื่องบินขาเดียว คือหมอเขารับจ้างเอาขดลวดใส่เข้าไปเท่านั้น ไม่มีหมอคนไหนรับจ้างเอาขดลวดออก มีหลายคนเขียนมาหาหมอสันต์ว่าอยากเอาขดลวดออกเพราะไม่อยากกินยาสาระพัดตลอดกาล คำตอบก็คือใส่แล้วเอาออกไม่ได้ ต้องอยู่กับขดลวดไปจนตายไปด้วยกัน

3.. ถามว่าหมอสันต์ออกตรวจอยู่ไหม ตอบว่าไม่ออกตรวจแล้วครับ เพราะอายุมากแล้วและหมอสันต์เห็นว่าการออกตรวจคนไข้ที่คลินิกทีละคนผลที่ได้ต่อผู้ป่วยทั้งมวลมันไม่คุ้มความเหนื่อยของตัวผมเอง จึงหันมาสอนทางบล็อกและทำแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) ซึ่งสอนคนไข้ได้ทีละมากๆ อย่างการทำแค้มป์สอนได้ทีละยี่สิบคนมันคุ้มความเหนื่อยมากกว่า แถมสอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะมีเวลาอยู่ด้วยกันหลายวันคนไข้ก็จำได้แม่นและเอาไปทำเองเป็น หากคุณอยากพบหมอสันต์ก็มีทางเดียวคือต้องสมัครมาเข้าแค้มป์ RDBY ครับ ถ้ามาไม่ได้ก็ให้อ่านเอาจากบล็อกแล้วเอาไปทำเอง ซึ่งมีคนป่วยจำนวนมากประสบความสำเร็จในการพลิกผันโรคหัวใจด้วยตนเองด้วยการอ่านเอาจากบล็อกนี้แล้วเอาไปทำโดยไม่เคยเจอตัวหมอสันต์เลย ผมทราบเพราะคนเหล่านี้มักเข้ามาทักมาเล่าให้ผมฟังเมื่อเจอกันโดยบังเอิญ

4.. ถามว่าถ้าหมอสันต์ไม่ออกตรวจแล้วจะแนะนำให้ไปหาหมอคนไหนที่รับรักษาแบบไม่รุกล้ำบ้าง ตอบว่าหมอทุกคนมีหน้าที่แค่ให้คำแนะนำทางเลือกการรักษา ส่วนการตัดสินใจจะเลือกวิธีรักษาใดเป็นเรื่องของผู้ป่วย การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยวิธีปรับเปลี่ยนการกินการใช้ชีวิต คนลงมือรักษาคือตัวผู้ป่วยเอง หมอไม่ได้เป็นคนทำ ดังนั้นหมอคนที่สำคัญที่สุดคือตัวคุณเอง อ่านวิธีกินวิธีใช้ชีวิตเอาจากบล็อกนี้แล้วก็เอาไปรักษาตัวเองก็ได้แล้ว ส่วนเรื่องยานั้นไม่ใช่ส่วนสำคัญของการรักษา ยาทุกตัวเปลี่ยนจุดจบอันเลวร้ายของโรคหัวใจได้น้อยมาก น้อยระดับหากนับกันตามจำนวนคนที่ต้องรักษาเพื่อให้เกิดผลดีกับคนหนึ่ง (number need to treat – NTT) เช่นยาลดไขมัน งานวิจัยพบว่าต้องให้คน 104 คนขยันกินยาลดไขมันทุกวันอยู่ 5 ปีจึงจะมีคนได้ประโยชน์ 1 คน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีคนไข้โรคหัวใจเต็มบ้านเต็มเมืองทั้งๆที่เราก็ขายยาสารพัดให้คนไข้กินจนจวนเจียนจะกินยาแล้วอิ่มแทนข้าวได้แล้ว แต่โรคหัวใจก็ยังเพิ่มขึ้นๆ ดังนั้นอย่าไปโฟกัสที่การกินยา ให้โฟกัสที่การเปลี่ยนวิธีกินอาหารและวิธีใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามถ้าคุณต้องการปรึกษาหมอเรื่องยา คุณปรึกษาหมอคนไหนก็ได้ครับเพราะยารักษาโรคหัวใจทุกตัวเป็นยาพื้นๆมีกลไกการออกฤทธิ์ง่ายๆซึ่งหมอทุกคนรู้ และยาทุกตัวมีคุณสมบัติเท่าเทียมกันอย่างหนึ่งคือไม่มีผลรักษาโรคหัวใจให้หายได้เลยแม้แต่ตัวเดียว

5.. ถามว่าลูกสาวอายุ 14 เป็นนักแบตมินตันมีอาการเหงื่อออกที่มือมากกว่าคนทั่วไปควรไปตรวจว่ามีโอกาสเกี่ยวกับเรื่องหัวใจดีไหม ตอบว่าไม่จำเป็นหรอกครับ ไม่เกี่ยวกันเลย คนปกติทั่วไปบางคนเหงื่อออกที่มือมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ถ้ากังวลเรื่องเหงื่อออกที่มือมากก็ไปตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับหัวใจ

6.. ตรงนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ คือความทุกข์กังวลว่าตัวเราเองนี้อายุยังน้อยก็จะมาตายด้วยโรคหัวใจเสียแล้ว มีคนที่ยังหวังพึ่งพิงเราอยู่อีกมาก อันได้แก่เมียและลูกๆเป็นต้น ช่างน่ากังวลเสียจริงๆ ผมเข้าใจที่คุณปริวิตกดี เพราะตอนผมเริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดผมก็ยังมีลูกที่ไม่พ้นอกและมีความวิตกกังวลเช่นเดียวกับคุณนี้แหละ

แต่ผมจะบอกความจริงทางการแพทย์อย่างหนึ่งว่าความคิดวิตกกังวลเป็นปัจจัยใหญ่ที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานขาเร่ง (sympathetic) มากขึ้น และเป็นตัวเปิดสวิสต์ของยีนก่อโรคเรื้อรัง ปิดสวิสต์ของยีนรักษาโรคเรื้อรังผ่านการที่ยีนเหล่านั้นกระตุ้นเซลให้สร้างโมเลกุลตัวกระตุ้นต่างๆขึ้นในร่างกายเป็นพันๆชนิด (วิชาแพทย์รู้จักอยู่ราว 2,600 ชนิด) อันจะทำให้เกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจได้ง่ายและเร็วขึ้น เพราะระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นแค่ความคิด อะไรเป็นเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตแล้วจริงๆ ดังนั้นในการจัดการโรคนี้ การฝึกวางความคิดกังวลถือเป็นขาใหญ่ขาหนึ่งของการจัดการโรค คุณต้องฝึกหัดวางความคิด หันไปใช้ชีวิตอยู่กับความรู้ตัวซึ่งมีธรรมชาติเป็นสงบเย็นอยู่เนืองๆ ผมเขียนเรื่องการฝึกวางความคิดไปบ่อยมาก คุณหาอ่านย้อนหลังเอาเองแล้วเอาไปฝึกทำเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

บรรณานุกรม

1. Ray KK, Seshasai SR, Erqou S, Sever P, Jukema JW, Ford I, Sattar N. Statins
and all-cause mortality in high-risk primary prevention: a meta-analysis of 11 randomized controlled trials involving 65,229 participants. Arch Intern Med. 2010 Jun 28;170(12):1024-31. Review. PubMed PMID: 20585067.

2. Thavendiranathan P. Primary prevention of cardiovascular disease with statin therapy. Arch Int Med. 2006; 166: 2307-13. CTT Collaborators. Efficacy and safety of cholesterol-lowering treatment: prospective meta-analysis of data from 90 056 participants in 14 randomised trials of statins. Lancet. 2005; 366: 1267-1278.

3. Brugts JJ, Yetgin T, Hoeks SE, Gotto AM, Shepherd J, Westendorp RG, de Craen
AJ, Knopp RH, Nakamura H, Ridker P, van Domburg R, Deckers JW. The benefits of statins in people without established cardiovascular disease but with cardiovascular risk factors: meta-analysis of randomised controlled trials. BMJ. 2009 Jun 30;338:b2376. doi: 10.1136/bmj.b2376. Review. PubMed PMID: 19567909; PubMed Central PMCID: PMC2714690.

4. Mills EJ, Rachlis B, Wu P, Devereaux PJ, Arora P, Perri D. Primary prevention
of cardiovascular mortality and events with statin treatments: a network meta-analysis involving more than 65,000 patients. J Am Coll Cardiol. 2008 Nov 25;52(22):1769-81. PubMed PMID: 19022156.

5. Taylor F, Ward K, Moore TH, Burke M, Davey Smith G, Casas JP, Ebrahim S.
Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2011 Jan 19;(1):CD004816. Review. PubMed PMID: 21249663.

6. Sattar N, Preiss D, Murray HM, Welsh P, Buckley BM, de Craen AJ, Seshasai SR,
McMurray JJ, Freeman DJ, Jukema JW, Macfarlane PW, Packard CJ, Stott DJ, Westendorp RG, Shepherd J, Davis BR, Pressel SL, Marchioli R, Marfisi RM, Maggioni AP, Tavazzi L, Tognoni G, Kjekshus J, Pedersen TR, Cook TJ, Gotto AM, Clearfield MB, Downs JR, Nakamura H, Ohashi Y, Mizuno K, Ray KK, Ford I. Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials. Lancet. 2010 Feb 27;375(9716):735-42. Epub 2010 Feb 16. PubMed PMID: 20167359.

7. Taylor F, Huffman MD, Macedo AF, et al. Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2013 Jan 31;1:CD004816.