Latest

อายุ 68 กินยาความดันแล้วน่องบวม หัวใจเต้นช้า และหัวทิ่ม

(ภาพวันนี้ : เอื้องผึ้ง ยามแล้งและโหยหาฝนแบบสุดๆ)

เรียนคุณหมอสันต์ค่ะ

ดิฉันทานยาคุมความดันสูงมาตั้งแต่อายุ 40 ปี  ปัจจุบันอายุ 68 ปีค่ะ ก่อนหน้าจะกินยา Valsartan 80mg  ดิฉันกินยา 2 ตัว คือ Prenolol 25mg กับ Amlopine 10mg  กิน 2 ตัวนี้มาหลายปีค่ะ  ปกติหมอที่ดิฉันไปหาประจำตามนัดคือหมอตา แล้วก่อนพบหมอก็จะมีการวัดความดันก่อน  ความดันก็ปกติทุกครั้ง และมีบ้างที่ จนท จะพูดว่า หัวใจเต้นช้านะคะ  ดิฉันก็เฉยๆ เพราะไม่เคยรู้สึกมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ   ดิฉันก็กินยา 2 ตัวนั้น และก็ไม่ได้คิดจะไปปรึกษาหมอเรื่องความดันหากไม่มีอะไรผิดปกติ  จนเมื่อปีที่แล้ว ช่วงเดือนมีนาคม  ดิฉันสังเกตว่าช่วงน่องจะตึงๆบวมๆ เหมือนบวมน้ำ แต่ไม่มีอาการปวดอะไร  ก็หาความรู้อ่านจากกูเกิ้ลก่อน  พบว่าน่าสงสัยที่สุดคือยาความดันที่กินอยู่น่าจะมีส่วน  ก็เลยไปหาหมอหัวใจคนที่เคยไปพบและปรึกษาเรื่องยาความดันครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2559

ก่อนพบหมอคนเดิมตั้งแต่ปี 59 คือคุณหมอ … (ที่ … ค่ะ) พยาบาลวัดความดันก็บอกว่าความดันปกติ แต่หัวใจเต้นช้ามาก  พอเจอคุณหมอๆ ก็พูดเรื่องหัวใจเต้นช้า ถามว่ามีอาการอะไรเกี่ยวกับหัวใจมั๊ย ก็ตอบไม่มีค่ะ  แล้วคุณหมอก็ให้ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  หลังจากนั้นคุณหมอสรุปว่าที่น่องบวมเกิดจากยาความดัน  และเปลี่ยนยาวาลซาแทน 80mg  แทนยา 2 ตัวเดิม  โดยบอกว่ายาตัวนี้จะช่วยเรื่องหัวใจด้วย  ดิฉันตกลงนัดคุณหมออีก 3 เดือนต่อมา นอกจากมีอะไรผิดปกติก็จะมาพบก่อนหน้าวันนัด

ครบ 3 เดือน  ดิฉันเล่าให้คุณหมอฟังว่าช่วงอาทิตย์แรกที่กินยา ลุกจากเตียงแล้วหัวจะทิ่มเลย มึนงงมาก  แต่ตอนหลังดีขึ้น คุณหมอก็พยักหน้ารับทราบคล้ายว่าเป็นเรื่องปกติ  แล้วดูผลความดันที่ให้ดิฉันบันทึกไว้-ก็บอกว่า ดี..ความดันโอเค  เสร็จแล้วสั่งยาเหมือนเดิม นัดครั้งต่อไปอีก 6 เดือน

ปัญหาคือช่วงเดือน 2 เดือนนี้  ดิฉันพบว่าตัวเองมีอาการมึนๆ เวียนหัวบ่อยครั้งมากขึ้นจนรู้สึกกังวลว่าจะไปล้มลงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  ลุกขึ้นแล้วมึนๆต้องจับอะไรข้างตัวไว้  บางทีเวียนหัวจนเหมือนอยากจะอาเจียนนะคะ  ครั้งสุดท้ายที่พบหมอ คือเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ดิฉันก็ปรึกษาเรื่องผลข้างเคียงนี้  เค๊าบอกว่าเป็นอาการของคนแก่  และอีกประโยคคือ ถ้าไม่ใช่ยาตัวนี้-ผมก็ไม่รู้จะแนะนำยาตัวไหนให้แล้ว ตัวนี้ดีที่สุดแล้ว

ตอนนี้ดิฉันเลยคิดแต่ว่าจะไปหาหมอหัวใจที่ไหนปรึกษาดี  คือมันไม่มียาอื่นนอกจากวาลซาแทนแล้วจริงๆหรือคะ   ก็พอดีวันนี้เฟซบุ๊คขึ้นหน้าโพสของคุณหมอมาให้อ่าน  พออ่านเสร็จไม่รู้อะไรดลใจให้เช็คกูเกิ้ลว่าคุณหมอเป็นหมอด้านไหน    อ้าว..คุณหมอสันต์เป็นคุณหมอด้านโรคหัวใจนี่นา   เลยตัดสินใจเขียนมาปรึกษาคุณหมอค่ะ  หวังอย่างยิ่งว่าคุณหมอจะกรุณาให้คำแนะนำด้วย  เช่น ยาตัวอื่น หรือคุณหมอท่านอื่น เป็นต้น  และดิฉันขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ปล. ดิฉันเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คของคุณหมอค่ะ ชอบอ่านที่คุณหมอเขียนมากๆเลย  ชอบดูต้นไม้ดอกไม้ของคุณหมอด้วย  คนที่ดิฉันติดตามเค๊านำเรื่องที่คุณหมอเขียนมาแชร์  พอได้อ่านก็กดไลค์ติดตามตั้งแต่นั้นมา  เพราะสิ่งที่คุณหมอเขียนให้ความรู้และมีประโยชน์มากๆดิฉันคิดว่าเป็นโชคดีของตัวเองที่ได้อ่านเรื่องของคุณหมอนะคะ

ขอแสดงความนับถือค่ะ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินยาความดันแล้วน่องบวม หัวใจเต้นช้า เมาหัวทิ่ม ทั้งหมดนี้เป็นผลจากยาลดความดันถูกต้องไหม ตอบว่า ถูกต้องแล้วคร้าบ..บ

ยา Prenolol เป็นยาในกลุ่มยากั้นเบต้า มีผลข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นช้า

ยา Amlodipine เป็นยาในกลุ่มต้านช่องลำเลียงแคลเซียม (CCB) ทำให้น่องบวมตีนบวม

ยาความดันทุกตัวทำให้เมาหัวทิ่มได้ทั้งนั้น รวมทำเพิ่มอุบัติการลื่นตกหกล้มและกระดูกหักในผู้สูงอายุได้

2.. ถามว่าเมื่อกินยาลดความดันแล้วเกิดอาการเมาหัวทิ่มควรทำอย่างไร ตอบว่าต้องหยุดยาทันที เมื่อหายเมาแล้วหากความดันไม่สูงก็เลิกกินยาไปเลย แต่หากความดันยังสูง (คือความดันตัวบนสูงกว่า 150 มม.กรณีผู้สูงวัย) ค่อยเอายากลับมากินใหม่ในขนาดครึ่งหนึ่งของยาเดิม แล้ววัดความดันซ้ำในเวลาสัก 2 สัปดาห์ ในทุกกรณีหากเป็นผู้สูงอายุห้ามกินยาความดันจนความดันตัวบนลงต่ำกว่า 110 มม. เพราะจะทำให้ตายและทุพลภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่ตายสืบเนื่องจากมหากาพย์ลื่นตกหกล้ม ขาหักสะโพกหัก นอนรพ.นาน ติดเชื้อในกระแสเลือด แล้ว ตาย..ย

แพทย์เราเคยเชื่อว่าอย่าปล่อยให้ความดันตัวบนสูงเกิน 140 นะมันไม่ดี จนกระทั่งเมื่อพวกหมอญี่ปุ่นได้ทำงานวิจัยครั้งใหญ่ชื่องานวิจัย  JATOS  (Japanese trial to assess optimal systolic blood pressure in elderly hypertensive patients)  โดยเอาคนเป็นความดันเลือดสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมาราว 4,400 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 2200 คน กลุ่มหนึ่งคุมเข้มให้ความดันตัวบนต่ำกว่า 140 มม. อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยให้ขึ้นไปสูงกว่า 140 มม. แต่ไม่เกิน 150 มม. แล้วติดตามการป่วยและการตายไปสองปี ปรากฏว่าการป่วยและการตายไม่ได้ต่างกันเลย แถมดูเหมือนว่าพวกที่หมอปล่อยให้ความดันสูงขึ้นไปถึง 150 ดูจะป่วยและตายน้อยกว่าเสียอีก

และก็มีอีกงานวิจัยหนึ่งทำโดยกลุ่มหมอญี่ปุ่นเช่นกัน ชื่องานวิจัย VALISH  (Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension study) เขาเอาคนเป็นความดันสูงอายุเกิน 60 ปีมาสามพันกว่าคน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 1,630 คน กลุ่มหนึ่งกดความดันไว้ไม่ให้เกิน 140 มม.อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยขึ้นไปได้ถึง 150 เช่นกัน แต่คราวนี้ตามดูถึงสามปี คราวนี้ผลแตกต่างกันชัดเจนว่าพวกที่หมอปล่อยให้ความดันสูงขึ้นไปได้ถึง 150 มม.ป่วยและตาย “น้อยกว่า” พวกที่หมอกดความดันไว้ต่ำกว่า 140 มม. อัตราตายลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังเริ่มการวิจัยได้ไม่กี่เดือนจนเข้าป้ายตอนครบสามปี

     ทั้งสองงานวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่วงการแพทย์มีตอนนี้ ว่าคนสูงอายุอย่าเอายากดยากดความดันให้ต่ำตะพึด เพราะจะทำให้ตายมากขึ้น สู้ปล่อยให้ความดันขึ้นไปสูงได้ถึง 150 เลยโดยไม่ใช้ยากดจะดีกว่า

3.. ในการรักษาความดันเลือดสูงยาไม่ได้ทำให้ความดันเลือดสูงหาย แต่ความดันเลือดสูงจะหายจากการปรับเปลี่ยนวิธีกินและวิธีใช้ชีวิต ได้แก่

(1) ลดน้ำหนักถ้าอ้วน

(2) กินอาหารพืชเป็นหลัก กินผักผลไม้ถั่วนัทธัญพืชไม่ขัดสีมากๆ กินเนื้อสัตว์น้อยๆหรือไม่กินเลย

(3) ออกกำลังกายทุกวัน

(4) ลดเกลือในอาหารลงเหลือจืดสนิท

(5) จัดการความเครียดให้ดี ฝึกวางความคิด ถ้านอนไม่หลับให้แก้ไขก่อน เพราะความดันสูงจะไม่หายไปไหนถ้ามีความคิดมากและนอนไม่หลับ

4.. กล่าวโดยสรุป เฉพาะในกรณีของคุณนี้ผมแนะนำว่า

4.1 ให้หยุดยาที่หมอให้มาไว้ก่อน

4.2 แล้ววัดความดันเมื่อหยุดยาได้ครบ 2 สัปดาห์

4.3 ถ้าความดันตัวบนไม่เกิน 150 มม. ก็เลิกกินยาไปเลย

4.4 แต่ถ้าความดันตัวบนสูงเกิน 150 มม.ก็เอายาวาลซาทานกลับมากินในขนาดครึ่งหนึ่ง คือ 40 มก.ต่อวัน อย่าไปกังวลว่ากินยาไม่เต็มโด้สเพราะคนแต่ละคนตอบสนองต่อขนาดยาไม่เท่ากัน อีกอย่างหนึ่งโด้สที่เขาวิจัยมามันเป็นโด้สฝรั่งยังไงก็ต้องเอามาปรับกับคนไทยเป็นรายคน

4.5 หลังจากลดยา 2 สัปดาห์ ให้ติดตามวัดความดันอีกครั้ง หากตัวบนไม่เกิน 150 มม.ก็กินยาขนาดนั้นไป แล้วไปเข้มกับเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การลดเกลือ การจัดการความเครียด สักหลายๆสัปดาห์ แล้วค่อยทดลองเลิกกินยาดูสักอีก 2 สัปดาห์แล้ววัดความดันใหม่ ถ้าความดันไม่เกิน 150 มม.ก็เลิกกินยาไปเลย

4.6 เมื่อจะครบกำหนดนัดไปหาหมอ ห้ามเปลี่ยนหรือลดยาในช่วงเวลา 2 สปด.ก่อนพบหมอ และให้บอกหมอตามความเป็นจริงว่าได้กินยาขนาดเท่าใดตั้งแต่เมื่อไหร่ แพทย์จะใช้ดุลพินิจจากขนาดที่กินตอนนั้นกับความดันที่วัดได้ตอนนั้นมาประกอบการกำหนดแผนการรักษาใหม่ให้คุณเอง

5.. ถามว่าหมอสันต์จะช่วยแนะนำคุณหมอท่านอื่นให้ได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ แพทย์สภาเขาห้ามไว้ว่า “แพทย์ไม่พึงโฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณการประกอบวิชาชีพของตนเอง ” แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่า..ห้ามแพทย์ส่งลูกค้าให้กันและกัน หิ หิ

อีกประการหนึ่ง หมอรักษาความดันสูงที่ดีที่สุดคือตัวคุณนั่นแหละ เพราะงานวิจัยของฮาร์วาร์ดซึ่งทำที่โรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีแมน พบว่าหากให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านดูแลตัวเองมีอะไรสงสัยก็สื่อสารกับทีมงานดูแลผ่านออนไลน์ไม่ต้องมาโรงพยาบาล วิธีนี้จะคุมความดันได้ดีกว่าเมื่อมารักษากับหมอที่โรงพยาบาลในระดับ 81% : 53% เลยทีเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.       JATOS Study Group.  Principal results of the Japanese trial to assess optimal systolic blood pressure in elderly hypertensive patients (JATOS). Hypertens Res. 2008;31(12):2115-2127.

2.      Ogihara T, Saruta T, Rakugi H, Matsuoka H, Shimamoto K, Shimada K, Imai Y, Kikuchi K, Ito S, Eto T, Kimura G, Imaizumi T, Takishita S, Ueshima H, for the Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension Study Group. Target blood pressure for treatment of isolated systolic hypertension in the elderly: Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension study. Hypertension.2010; 56: 196–202

3. James PA, Oparil S, Carter BL, Cushman WC, Dennison-Himmelfarb C, Handler J, Lackland DT, LeFevre ML, MacKenzie TD, Ogedegbe O, Smith SC Jr, Svetkey LP, Taler SJ, Townsend RR, Wright JT Jr, Narva AS, Ortiz E. 2014 evidence-based guideline for the management of high blood pressure in adults: report from the panel members appointed to the Eighth Joint National Committee (JNC 8). JAMA. 2014;311(5):507-20. doi: 10.1001/jama.2013.284427.

4. Naomi D.L. Fisher, Liliana E. Fera, Jacqueline R. Dunning, Sonali Desai, Lina Matta, Victoria Liquori, Jaclyn Pagliaro, Erika Pabo, Mary Merriam, Calum A. MacRae, Benjamin M. Scirica. Development of an entirely remote, non-physician led hypertension management program. Clinical Cardiology, 2019; DOI: 10.1002/clc.23141